top of page
  • Black Facebook Icon
  • Instagram

Welcome to the world where truth doesn't hurt

หอศิลป์ BACC แสดงงานโสเภณีเด็กแบบไม่ปิดหน้าคาดตา และเราคิดว่าไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง

ด้วยประโยค “คุณค่าของศิลปะขึ้นอยู่กับสายตาของผู้ดู” จึงทำให้การถกเถียงเรื่องศิลปะไม่มีวันจบสิ้น ในแง่หนึ่งมันก็ดีที่ทำให้เกิดการถกเถียงกัน แต่ในแง่หนึ่งมันก็ทำให้มีคนใช้งานศิลปะเป็นข้ออ้างในการทำอะไรก็ได้ แม้แต่การถ่ายภาพโสเภณีเด็กข้างทาง แล้วเอาไปจัดแสดงต่อสาธารณะแบบเห็นหน้าชัดๆ พร้อมมีชื่อ นามสกุลกำกับครบถ้วน


เรื่อง: โน้ต พงษ์สรวง

 

พระราชบัญญัติ คุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖ “เด็ก” หมายความว่า บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ แต่ไม่รวมถึงผู้ที่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส

ตอนนี้หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หรือ BACC นำผลงานวิดีโอของโอม พันธุ์ไพโรจน์มาฉายที่ชั้น 7 งานนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการสนทนาสัปตสนธิ ผลงานวิดีโอ Underage (ผู้เยาว์) ของโอมเป็นงานเก่าจากปี 2010 เป็นวิดีโอความยาว 7.07 นาที สัมภาษณ์เด็กชายขายตัวแถววังสราญรมณ์ประมาณสิบคน พวกเขาอายุระหว่าง 13-17 ปี ไม่มีการเบลอหน้าน้องๆ เหล่านั้น พวกเขาพูดเรื่องพ่อแม่ ร้องไห้ พูดเรื่องความฝัน ที่ผมดูแล้วก็รู้สึกว่านี่คืองานดราม่าราคาถูกที่หากินบนความเดือดร้อนของเยาวชนผู้ไม่มีทางเลือก แล้วบอกว่า “นี่คือศิลปะ”


วิดีโอตัวนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการภาพถ่ายของโอมที่ H Gallery เมื่อปี 2010* ที่เขาจัดแสดงภาพถ่ายโสเภณีเด็กชายหลายสิบชีวิต ใต้ภาพมีชื่อ นามสกุลจริงของเด็ก ตามด้วยวันเดือนปีเกิด อาชีพพ่อแม่ ขายตัวมาแล้วกี่เดือน รับแขกมาแล้วกี่คน ความหวังและความฝันของเด็ก *หมายเหตุ: ทาง H Gallery ติดต่อผมมาตอน 18.00 ของวันที่ลงบทความนี้ (13 ธ.ค. 19) เพื่อชี้แจงว่า ตอนจัดแสดงที่ H Gallery เมื่อปี 2010 นั้น ทางแกลเลอรี่จัดแสดงโดยไม่ได้ลงชื่อ นามสกุลของเด็กในภาพ และที่ทางแกลเลอรี่ตัดสินใจแสดงงานนี้เพื่อชี้ให้เห็นภาพปัญหาในภูมิภาคนี้ ต่อมาได้รับการทักท้วงจาก The Child Watch Group ทางโทรศัพท์ และแกลเลอรี่ก็ได้อธิบายจุดประสงค์การจัดแสดงกับทางหน่วยงาน


 

ภาพที่ตามหลอกหลอน


ความหวังและความฝันเป็นเรื่องของอนาคต แต่ในนาทีที่ภาพเหล่านั้นถูกเผยแพร่ในอินเตอร์เน็ต ภาพถ่ายได้ทำให้ความหวัง ความฝันและอนาคตของเด็กเหล่านี้แปดเปื้อนไปแล้ว รวมถึงความปลอดภัยในชีวิตและศักดิ์ศรีของพวกเขาด้วย นี่เรายังไม่พูดถึงความถูกต้องตามกฏหมายของการถ่ายภาพผู้เยาว์ในเนื้อหาล่อแหลมแบบนี้ ซึ่งหลายข้อเขียนชัดเจนว่าต่อให้ผู้ปกครองยินยอมก็ห้ามทำ


ลองคิดว่าถ้าวันหนึ่งเด็กชายเอ (นามสมมุติ) กลับใจเลิกอาชีพขายตัวแล้วไปเป็นครูอย่างที่เขาเคยฝัน มีลูกมีเมีย แล้วจู่ๆ วันหนึ่งดันมีคนเอาภาพจากอินเตอร์เน็ตตอนเขาเป็นโสเภณีเด็กมาแฉ มีรายละเอียดยืนยันตัวตนครบถ้วน พร้อมบอกว่ารับแขกมาแล้ว 80 คนในสี่เดือน คุณคิดว่าโรงเรียนไทยจะเอาเขาไว้ไหม? ผู้คนจะนินทาเขาไหม? หรือถ้าไปสมัครงานแล้วผู้ว่าจ้างไปกูเกิ้ลชื่อเขาแล้วเจอภาพเก่า?


หรือถ้าเขาจูงลูกเมียมาเที่ยว BACC แล้วเจอหน้าตัวเองบนจอ?

ผมเสิร์ชเจอเด็กบางคนในเฟซบุ๊กและพยายามติดต่อสัมภาษณ์แต่ตอนนี้เขาก็ยังไม่ได้อ่านข้อความ ไปส่องดูก็พบว่าปัจจุบันบางคนอายุ 26 ปีและโปรไฟล์ระบุว่าแต่งงานแล้ว บทสนทนาคุยเล่นกับเพื่อนและภาพถ่ายต่างๆ ก็ดูเหมือนเขาเลิกวิถีชีวิตแบบที่เคยเป็นไปแล้ว


ย้อนเวลาไปก่อนงาน Underage ประมาณยี่สิบปี ศิลปินอเมริกัน ฟิลิป ลอร์ก้า ดิคอร์เซีย (Philip-Lorca diCorcia) จัดแสดงผลงานภาพถ่ายของเขาที่พิพิธภัณฑ์ MoMa ในนิวยอร์ก นิทรรศการนั้นชื่อว่า "Hustlers" (โสเภณี) ซึ่งเป็นการขับรถตระเวนไปทั่วย่านฮอลลีวู้ดอยู่สองปี เพื่อถ่ายภาพโสเภณีชายที่มาจากทั่วอเมริกาด้วยความฝันว่ามา L.A. แล้วจะมีชีวิตที่ดีขึ้นที่ ภาพถ่ายชุดนั้นก็มีการระบุชื่อ นามสกุล อายุ บ้านเกิด และค่าตัวของคนที่โดนถ่ายเช่นกัน จะต่างกันตรงที่โสเภณีชายของฟิลิปล้วนอายุ 20 ปีขึ้นไป ไม่ใช่ผู้เยาว์ 13-17 ปี

Philip-Lorca diCorcia: Eddie Anderson; 21 Years Old; Houston, Texas; $20
Philip-Lorca diCorcia: Ike Cole, 38 years old; Los Angeles, California; $25
Philip-Lorca diCorcia: Marilyn, 28 years old; Las Vegas, Nevada; $30

(ภาพผลงาน Philip Lorca diCorcia จาก MoMa.org )

 

ศิลปะกับพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก


พระราชบัญญัติ คุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖ มาตรา ๒๗ ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศประเภทใด ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครอง โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็กหรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ

ป้ายคอนเซ็ปต์ในห้องฉายหนัง เขียนว่า


"หนังสั้นที่ถูกสร้างขึ้นโดยนักถ่ายภาพ โอม พันธุ์ไพโรจน์ เรื่องนี้ เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวของการค้าประเวณีเด็กที่แผงตัวอยู่ภายในระบบ โดยเป็นการเล่าเรื่องราวในรูปแบบการสารภาพและเปิดโปงความจริงอันโหดร้ายผ่านเลนส์กล้อง และแสดงให้เห็นถึงความดิ้นรน ความกล้าหาญ และสัญชาตญาณการอยู่รอดของมนุษย์"


นี่ไปอยู่ที่ไหนมา? เรื่องเมืองไทยมีการค้าประเวณีเขารู้กันตั้งนานแล้ว คาราบาวแต่งเพลงแม่สาย (นกน้อยจากท้องนาราคาถูก) นางงามตู้กระจก ฮิตระเบิดระเบ้อมาเป็นสามสิบปี


แต่ปัญหาการค้าประเวณีเด็กก็ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่สังคมควรพูดถึง และพูดอย่างละเอียดอ่อนเพราะเจ้าทุกข์คือผู้เยาว์


คือทำยังไงก็ได้ที่ไม่ใช่การประจานหน้าเด็กอล่างฉ่าง ซึ่งมันก็มีวิธีตั้งหลายวิธี จะถ่ายแค่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเด็กก็ได้ หรือจะถ่ายเฉพาะด้านหลัง หรือจะถ่ายห้องที่เด็กเคยรับแขก หรือจะถ่ายแค่เงาน้องเขาก็ยังได้ คือถ้าอยู่กับประเด็นนี้อย่างลึกซึ้งและนานพอจนเกิดความหวังดีกับน้องๆ โดยสุจริตใจ ก็ย่อมต้องคิดหาวิธีนำเสนอที่ไม่เป็นอันตรายต่อ subject ให้ได้ใช่ไหม?


ผมหวังว่าขั้นตอนการสร้างงานชุดนี้จะไม่ใช่แค่ชักภาพหรือถ่ายวิดีโอแล้วจากไป ผมพยายามหาหลักฐานที่ชี้ว่างานชุดนี้มีความพยายามผลักดันประเด็นการค้าประเวณีเด็กในเชิงลึกหรือไม่ เช่นการร่วมงานกับองค์กรด้านสิทธิเยาวชนหรือการค้ามนุษย์ หรือนำเงินที่ได้จากการขายผลงานกลับไปมอบให้เด็กในภาพ แต่ผมก็หาไม่เจอ และผมออกจะมั่นใจว่าไม่มีการติดต่อผู้ปกครองเด็กให้เซ็นยินยอมรับทราบก่อนนำภาพล่อแหลมของลูกเขาไปจัดแสดงต่อสาธารณชนและใช้เผยแพร่ในอินเตอร์เน็ต เจอแต่สัมภาษณ์ในนิตยสาร BK เมื่อปี 2010 ตอนที่งานถูกแสดงเป็นครั้งแรก ว่าเด็กที่มาถ่ายได้ค่าตอบแทนคนละ 100-500 บาท


...จ่าย 500 บาท แต่ได้ภาพไปแสดงตั้งราคาขายรูปละเป็นหมื่น แถมยังเอามารวมเล่มเป็นหนังสือขายเล่มละเป็นพันได้อีก เป็นศิลปินนี่มันดีจริงๆ และผมไม่คิดว่าภาพเหล่านี้จะทำให้ไอ้หื่นที่ชอบซื้อประเวณีเด็กอยู่แล้วกลับใจ ตรงกันข้าม หนังสือรวมภาพที่ว่ามันอาจจะดูเป็นแคตตาล็อคโสเภณีเด็กสำหรับคนกลุ่มนั้นด้วยซ้ำ เผลอๆ จะทำให้ไอ้หื่นบางคนซื้อไปใช้ชักเว่าแล้วกดบุ๊คตั๋วมาเมืองไทยแบบไม่ต้องคิดเลย


 

อะไรๆ ก็เป็นศิลปะ

สิ่งที่ผมเห็นว่าน่าสนใจที่สุดของงานชุดนี้ คือความพังทางจรรยาบรรณของสื่อและคนในแวดวงศิลปะ คุณคิดว่ามันเป็นการเหมาะสมหรือไม่ที่แกลเลอรี่หรือหอศิลป์จัดแสดงงานโชว์หน้าโสเภณีเด็กเหล่านี้ต่อสาธารณะ? คุณคิดว่าการที่สื่อเขียนโปรโมทงานพร้อมลงรูปเด็กเหล่านี้แบบไม่เซ็นเซอร์เป็นเรื่องสมควรหรือไม่? คุณว่าศิลปะมันควรทำให้ชีวิตคนดีขึ้นหรือเลวลง?


แต่ก็นั่นล่ะ ถ้าคุณอยากเป็นศิลปินดังในประเทศนี้ สิ่งที่คุณต้องทำหลักๆ ไม่ใช่งานศิลปะ แต่คือการทำความรู้จักคนในวงการศิลปะ ซึ่งไม่ยากหรอก เพราะผ่านมาสิบปีแล้ว key player ในแวดวงศิลปะไทยก็ยังคงมีอยู่ไม่กี่ชื่อ อย่างนักวิจารณ์ศิลปะก็ยังคงมีอยู่ประมาณห้าคนได้มั้ง ก็ให้ดีๆ กับคนพวกนี้ไว้แล้วกัน หรือไม่ก็ไปดังเมืองนอกให้เสร็จๆ แล้วเดี๋ยวคนอาร์ตๆ ในเมืองไทยเขาก็จะรักคุณกันเอง


ตอนที่ผลงาน Underage จัดแสดงครั้งแรกที่ H Gallery ในปี 2010 ผมอีเมลล์ไปแจ้งมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ เขียนเม้นต์ประท้วงบรรณาธิการ BK ที่เสนอข่าวในตอนนั้นว่าไม่เหมาะสมแต่ก็ไม่ได้รับการตอบกลับ ตอนนี้ผมเพิ่งทำเรื่องขอให้กูเกิ้ลลบภาพและคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้อง แต่กูเกิ้ลก็คือกูเกิ้ล คุณไม่รู้ว่าจะมีใครได้อ่านคำร้องของคุณหรือเปล่า


มันจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในการเขียนบทความนี้ เพราะถ้าคุณได้อ่าน ผมคิดว่าคุณก็อยากไปกูเกิ้ลดูภาพและวิดีโอเหล่านั้น ซึ่งก็จะเป็นการขุดอดีตของน้องๆ เขาขึ้นมาอีก ผมจึงต้องขอร้องคุณว่าถ้าได้ดูรูปเหล่านั้น ก็อย่าเซฟหรือแชร์ใดๆ แล้วถ้าคุณไม่เห็นด้วยที่ BACC เอาวิดีโองานนี้มาจัดแสดง คุณก็สามารถประท้วงได้โดยการไม่ไป BACC จนกว่าเขาจะถอดงานวิดีโอตัวนี้พร้อมชี้แจงเหตุผลว่าคิดอย่างไรจึงนำมาจัดแสดงตั้งแต่แรก

ดราม่าคือเชื้อเพลิงเพิ่มความดังให้ดาราและศิลปินมากมาย ไอ เว่ยเว่ย ติดคุกเพราะหนีภาษี แต่ด้วยอะไรก็ไม่รู้ที่ทำให้คนเข้าใจกันไปว่าเขาคือฮีโร่ที่ติดคุกเพราะทำงานศิลปะท้าทายรัฐบาลจีน (ซึ่งที่จริงรัฐบาลจีนไม่ระคายกับอะไรพวกนี้มานานแล้ว) ถ้าคุณอยากรู้ว่างานศิลปะที่เล่นประเด็นสังคมชิ้นไหนกลวงไม่กลวง ก็ให้ดูว่าศิลปินมีความจริงใจกับประเด็นที่เขาพูดหรือเปล่า เช่น ศิลปินที่ทำเรื่องชาวนาเคยลงพื้นที่จริงบ้างไหม ศิลปินที่ทำเรื่องการเมืองเคยร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองบ้างหรือไม่ หรือสร้างงานเพราะแค่อยากบ่นเฉยๆ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ทำได้แน่นอนอยู่แล้ว แต่ผมก็มองว่าคุณค่ามันก็ไม่ได้ยิ่งใหญ่ไปกว่าตอนที่คุณนั่งตั้งสเตตัสบ่นรัฐบาลบนเฟซบุ๊คหรอก


“คุณค่าของศิลปะขึ้นอยู่กับสายตาของผู้ดู” ก็ยังคงเป็นจริงตามนั้น และมันก็ขึ้นอยู่กับว่าสายตาดูคู่นั้นมีสามัญสำนึกแค่ไหน เพราะอย่างที่บอกว่ามันมีศิลปินมากมายที่ไม่ได้จริงใจกับประเด็นที่ทำ แต่ทำเพราะคิดว่ามันแรงดี ทำแล้วต้องได้ดังเพราะดราม่า ต้องถูกพูดถึงเพราะโดนด่า หรือทำเพราะรู้ดีว่าภาพน่าสังเวชใจจากประเทศโลกที่สามมันขายฝรั่งได้เรื่อยๆ


บางทีเราก็ต้องยอมรับกันเสียทีว่า bad art มันมีจริง แล้วก็มีสถานที่ๆ คอยอ้าแขนรับแสดงผลงานพรรค์นั้นเสมอ แต่ศิลปินก็ไม่ได้เป็นอาชีพที่วิเศษวิโสกว่าอาชีพอื่น และไม่มีสิทธิทำร้ายใครแล้วบอกว่า ‘มันเป็นงานศิลปะ’

 

Update: BACC ยกเลิกการฉายงานชิ้นนี้แล้วตอนเวลาประมาณ 13.00 น. ของวันที่ลงบทความนี้ (13 ธ.ค. 2019)

bottom of page