โดย โน้ต พงษ์สรวง
จูดิธกำลังตัดคอโฮโลเฟอร์เนส
หล่อนไม่กลัวความผิด หล่อนไม่กลัวบาป อย่างเดียวที่หล่อนกลัวคือขออย่าให้เสื้อเลอะ ความรู้สึกนั้นสื่อผ่านท่าแอ่นหลังให้พ้นเลือดที่กำลังกระฉูดจากคอแม่ทัพชาวแอสซีเรียน คิ้วหล่อนขมวด แต่แววตาเย็นชาคู่นั้นฟ้องว่านี่ไม่ใช่การฆ่าครั้งแรกของหล่อนแน่ๆ ส่วนอับบรา หญิงรับใช้กำลังจ้องเขม็งที่คมมีดโชกเลือด นางเม้มปากด้วยความสาใจดังปิศาจคอแห้ง มือทั้งสองขยุ้มผ้าเนื้อหนาเตรียมเก็บศีรษะของเหยื่อที่อ้าปากคว้าลมหายใจเป็นเฮือกสุดท้าย ก่อนหัวจะหล่นจากบ่าในอีกไม่เกินสามวินาที นางช่างเป็นลูกมือนักฆ่าผู้รู้งาน
คาราวัจโจโด่งดังด้วยการวาดดวงตาที่เต็มไปด้วยเรื่องราวและความรู้สึก ต่อให้ภาพที่เขาเขียนจะมีคนสิบคนในรูป เขาก็สามารถทำให้เราก็รับรู้ถึงบุคลิกและปูมหลังที่ต่างกันของแต่ละชีวิตที่มีต่อสถานการณ์เดียวกันได้ ผ่านแววตาของแต่ละคนในภาพ
มันจึงเป็นเรื่องจำเป็น ที่หากอยากดื่มด่ำกับพรสวรรค์ของคาราวัจโจอย่างลึกซึ้ง คุณ ต้อง ได้ ดู งาน จริง ได้มองเข้าไปในดวงตาเหล่านั้น ได้ยื่นหน้าเข้าไปใกล้งานที่สุด เพื่อเห็นการตวัดมือตอนแต้มไฮไลท์สีขาวบนลูกตา หรือเห็นความบรรจงวาดความเกร็งของกล้ามเนื้อ ที่บางทีคุณอาจจินตนาการเสียงหายใจถี่ระทึกของคาราวัจโจตอนกำลังเพ่งวาดความกลัวได้เลย
ข่าวดี! เดือนนี้หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ (BACC) เอางานชั้นเอกของคาราวัจโจมาแสดงให้คุณดูกว่า 40 ชิ้น แต่ที่แย่หน่อยก็คือ ความรู้สึกเลอค่าที่เราแพล่มมาทั้งหมดนั้น งานนี้ไม่มีให้ เพราะงานทั้งหมดพิมพ์ด้วยอิ๊งค์เจ๊ตแปะบนกล่องไฟ
BACC แถลงว่า “กระบวนการทั้งหมดเป็นการผลิตด้วยคุณภาพภายใต้การควบคุมจากนักประวัติศาสตร์ศิลป์ทั้งชาวอิตาเลียนและต่างประเทศ” --- ก็ไม่รู้ QC กันอีท่าไหน ภาพหลายภาพสีถึงได้เป็นลอนเหมือนปริ๊นเตอร์หมึกใกล้หมดแบบนี้ สีดำก็ไม่ดำสนิท
นิทรรศการครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการฉลองวาระครบรอบ 150 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศอิตาลีและประเทศไทย --คบกันมา 150 ปี มิตรภาพเบ่งบานเป็นอิ๊งค์เจ๊ตสี่สิบกว่ารูปนี่ล่ะ thank you very mush ti amo me love you long time na 😘
ด้วยความเกรงใจ แต่อยากกระซิบบอกเกลอจังเลย ว่า เนี่ย เราก็คบหากันมาตั้งนานแล้ว มันคงน่าชื่นใจดีนะ ถ้าอิตาลีจะใจดีให้ยืมงานจริงของคาราวัจโจสัก 1 ภาพ (หนึ่งภาพ) เพื่อให้มิตรสหายชาวไทยได้ชื่นชมความอัจฉริยะของศิลปินหนุ่มอายุสั้นผู้นี้ (เขาตายตอนอายุแค่ 38 บ้างก็ว่าโดนฆ่า บ้างก็ว่าเพราะสูดสารตะกั่วในสีมากเกินไป จนมีผลต่อร่างกายและระบบประสาท) ถ้าเป็นอย่างนั้น ต่อให้ชั้น 7 ของ BACC ทั้งฟลอร์ จะมีผลงานผู้ยิ่งใหญ่ท่านนี้เพียงชิ้นเดียว ก็ยังคุ้มค่าแม้ต้องต่อคิวดู เหมือนที่ผู้คนยอมต่อคิวกันเป็นชั่วโมงที่พิพิธภัณฑ์ลูว์ฟ เพื่อเข้าไปดูภาพโมนาลิซ่า
BACC อวดว่า "ผลงานกว่า 40 ชิ้นถูกรวบรวมจากการสะสมของพิพิธภัณฑ์สำคัญทั่วโลก เช่น จาก หอศิลป์อุฟฟิซี เมืองฟลอเรนซ์ พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ กรุงปารีส พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ในกรุงลอนดอน หอศิลป์บอร์เกเซ กรุงโรม หรือกระทั่งพิพิธภัณฑ์เมโทรโพลิทัน เมืองนิวยอร์ก เป็นต้น โดยทั้งหมดนี้เป็นการรวบรวมผลงาน จากที่ต่างๆ เข้ามาไว้ด้วยกัน เพื่อให้เห็นความต่อเนื่องของผลงานและการทำงานของศิลปิน
นอกจากนี้นิทรรศการยังได้รวบรวมผลงานชิ้นสำคัญที่สุดของศิลปิน เช่น “Bacchus” และ “Medusa" รวมถึงผลงานที่หาชมได้ยาก เช่น "Boy Bitten by a Lizard" หรือผลงาน "Saint Matthew and the Angel” ซึ่งปกติติดตั้งอยู่ในโบสถ์ซานลุยจิ เด ฟรานเชสิ กรุงโรม ที่สามารถชมได้จากระยะไกลและด้วยแสงสว่างที่เพียงพอเท่านั้น"
...เหอะ ไม่จริงอ่ะ ถ้าจะให้มาเดินดูอิ๊งค์เจ๊ตหมึกไม่แน่นแบบนี้ มีที่หนึ่งที่รวบรวมงานได้มากกว่า และสีแจ่มกว่า ที่นั่นเรียกว่า Google Images
ส่วนที่ดีที่สุดของนิทรรศการนี้ คือแถลงคอนเซ็ปต์งานบนกำแพง (wall text) เพราะตัดสติ๊กเกอร์ได้เนี้ยบมาก บนนั้นมีเนื้อหาน่าสนใจท่อนหนึ่ง เขียนว่า "ด้วยกระบวนการผลิตนี้ นิทรรศการ Caravaggio OPERA OMNIA เปิดโอกาสให้กับการตีความผลงานคลาสสิกของศิลปิน มิเกลันเจโล เมรีซี ดา คาราวัจโจ นี้ด้วยสื่อใหม่ ที่เอื้อให้กับการดึงบริบท องค์ประกอบ ความงาม และคุณค่าที่แฝงอยู่ในผลงานของศิลปินออกมาให้ได้สำรวจและเรียนรู้ศึกษาต่อสาธารณชน"
ตีความอะไร? งานของคาราวัจโจถูกตีความและวิเคราะห์จนทะลุปรุโปร่งไปแล้วเป็นล้านรอบในสี่ร้อยปีที่ผ่านมา การผลิตซ้ำผลงานด้วย 'สื่อใหม่' ซึ่งในกรณีนี้คงหมายถึงการปริ๊นต์อิ๊งค์เจ๊ต (ซึ่งที่จริงก็ไม่ใหม่แล้ว) การสำรวจที่ถามหาก็ออกมาอย่างที่เห็น คือเทคนิคดังกล่าวไม่สามารถดึงบริบท คุณค่า และความงามของงานระดับนี้ออกมาได้ ถ้าอยากจะสำรวจเรื่อง "ศิลปินมาสเตอร์กับการสร้างงานด้วยสื่อสมัยใหม่" ก็น่าจะเอาประติมากรรมยุคเรเนซองส์มาสร้างใหม่ด้วย 3D Printer ไปเลย แบบนั้นน่าจะเปิดโอกาสให้เกิดประเด็นต่อยอดให้วิพากษ์ถึงความลักลั่นและย้อนแยงในทุกบริบทของกระบวนการผลิตซ้ำคุณค่าความงามเชิงอนุรักษ์โดยสื่อใหม่ นี่ นั่น โน่น ฯลฯ
แต่เรากำลังพูดกันถึงการนำภาพเขียนสองมิติมานำเสนอด้วยเทคนิคด่วนได้ เพื่อ "ดึงบริบท องค์ประกอบ ความงาม และคุณค่าที่แฝงอยู่ในผลงานของศิลปินออกมาให้ได้สำรวจและเรียนรู้ศึกษาต่อสาธารณชน" ถ้าจะเอาอย่างนั้น ยิงโปรเจ็คเตอร์ลงผนังไปเลยก็ค่าเท่านะ เพราะยังไงความออริจินัลมันก็ไม่มีอยู่แล้ว แต่ถ้าต้องการใช้เทคนิคอิ๊งค์เจ๊ตจริงๆ สถานที่ๆ น่าจะตอบสนองคอนเซ็ปต์นั้นได้ดีคงไม่ใช่หอศิลป์ แต่เป็นป้ายรถเมล์หรือบิลบอร์ดทางด่วน
สี่ภาพข้างล่างนี้ เราลองโฟโต้ช็อปเล่นๆ ดู ว่าถ้านำงานคลาสสิคของคาราวัจโจมานำเสนอด้วยวิธีแมสๆ แบบที่ศิลปะป๊อปอาร์ตชอบทำ ว่าความดาร์คของงานจะมีผลต่อการเรียนรู้ศึกษาต่อสาธารณชนตามจุดประสงค์ของ BACC หรือไม่ อย่างไร
เดินออกจากมิวเซียมระดับชาติด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจ ว่าทำไมหนอ โอกาสการได้ดูงานของศิลปินระดับมาสเตอร์ของโลกในประเทศนี้มันจึงอับเฉาได้เบอร์นี้ เขาเอางบประมาณส่งเสริมศิลปะไปไว้ไหนกันหมด?
อยากบินไปดูงานจริงที่อิตาลี แต่ก็ต้องมีเงินในบัญชีอย่างน้อยแสนนึงเพื่อเอาไปยื่นวีซ่า ซึ่งไม่มี และถึงมีก็ไม่การันตีว่าวีซ่าจะผ่าน แต่คิดในแง่ดี ก็...เอาวะ อย่างน้อยเขาก็อุตส่าห์ปริ๊นต์งานขนาดเท่าจริงมาให้ดู ค่าไฟ ค่าแอร์เขาก็ไม่ใช่ถูกๆ ค่าเข้าเขาก็ไม่คิด ไม่อยากดูก็ไม่ต้องดู ไม่มีใครบังคับ
ทั้งหมดนี้เราไม่ได้พยายามเถียงกับคุณว่า "แล้วอิ๊งค์เจ๊ตเป็นงานศิลปะไม่ได้เหรอ" ได้สิ ได้แน่นอนอยู่แล้ว ศิลปินร่วมสมัยอย่าง Wade Guyton หรือ Barbara Kruger ก็ใช้อิ๊งค์เจ๊ตสร้างงานจนโด่งดังมาเป็นสิบๆ ปี ส่วนงานนี้ ถ้าคุณเป็นคนชอบดูกล่องไฟติดอิ๊งค์เจ๊ตสวยๆ อย่างตามป้ายรถเมล์หรือสถานีรถไฟฟ้า คุณก็น่าจะชอบแหละ เราแค่คิดว่า ไหนๆ ก็มาขนาดนี้แล้ว นิทรรศการอิ๊งค์เจ๊ตครั้งนี้คงจะสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ถ้ามีบริการตัดสติ๊กเกอร์และพิมพ์นามบัตรด่วนด้วย
นิทรรศการ Caravaggio OPERA OMNIA จัดแสดงระหว่างวันที่ 4 พฤษภาคม - 10 มิถุนายน 2561 (ปิดวันจันทร์) ที่ห้องนิทรรศการชั้น 7 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) BTS: สนามกีฬา www.bacc.or.th
Comments