top of page
  • Black Facebook Icon
  • Instagram

Welcome to the world where truth doesn't hurt

ปิดประเด็นนิทรรศการตู้ไฟคาราวัจโจ เราเอากล่องไฟที่เราทำเองไปมอบให้ ผ.อ. BACC จัดแสดงบ้าง

พอบทความ "นิทรรศการคาราวัจโจที่ BACC ทำให้เรารู้สึกเศร้าใจแทนคนรักศิลปะประเทศนี้" เผยแพร่ การถกเถียงประเด็นตู้ไฟก็ตามมา หลายคนใช้คำว่า 'ดราม่า' ดราม่งดราม่าอะไรกัน นี่คือการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่มีประโยชน์ทางศิลปะทั้งนั้น


วันนี้ Third World เอากล่องไฟมามอบให้ BACC ไปพิจารณาจัดแสดงบ้าง ขอเท้าความกลับไปหน่อย ว่าเรื่องเกิดจากที่เราไม่ชอบนิทรรศการนี้ ด้วยเห็นว่าเอามาทำไมกล่องไฟแบบนี้ ป้ายรถเมล์ก็มี และต้องการพิสูจน์ว่าคุณค่าของงานก๊อปปี้ มีเท่างานต้นฉบับจริงหรือ เราจึงจัดนิทรรศการกล่องไฟของเราเอง เป็นกล่องไฟภาพเขียนของวินเซ็นต์ ฟาน ก๊อก สองภาพ ขนาดเท่าจริงตามคอนเซ็ปต์ที่ BACC ทำ แต่ของเราจัดแสดงหน้าร้านอิงค์เจ็ตข้างถนนเป็นเวลาสามวัน และเมื่อแสดงเสร็จ จะเอาไปมอบให้ BACC เพื่อจัดแสดงบนชั้น 7 บ้าง ส่วนอีกชิ้นจะมอบให้สถานฑูตอิตาลี เพื่อฉลอง 150 ความสัมพันธ์ไทย-อิตาลี

ผลคือมีคนมาดูน้อยมาก งานจัดสามวัน แต่มีคนที่ตั้งใจเดินทางมาดูงานนี้โดยเฉพาะไม่เกิน 30 คน ไรเนี่ย ไหนว่างานจริงงานปลอมก็คุณค่าเท่ากันไง (สามารถกลับไปตามเรื่องทั้งหมดบน Dudesweet Facebook ช่วงวันที่ 7 - 14 พฤษภาคมได้)


วันนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปวิตร มหาสารินันทน์ ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ให้เกียรติมาพูดคุยกับ Third World ในประเด็น "คุณค่าของงานศิลปะของจริงของปลอมมันเท่ากันไหม" เราจึงถือโอกาสนี้เรียนถามอาจารย์เรื่องทิศทางของ BACC, อุดมการณ์ของ ผ.อ. คนใหม่ และการจัดการกับงบประมาณที่ไม่ค่อยจะมีของ BACC ไปด้วยเลย


แต่ลงทั้งหมดมันจะยาวไป บทความนี้จึงจะแบ่งเป็นสองตอน ที่คุณกำลังอ่านอยู่นี้เป็น Part 1/2 ที่มุ่งประเด็นไปเรื่อง "คิดยังไงถึงเอาตู้ไฟมาให้ดู" ตามที่เราวิจารณ์เขาไว้เป็นหลัก ส่วน Part 2/2 จะมาอาทิตย์หน้า ซึ่งจะไม่เกี่ยวกับคาราวัจโจแล้ว แต่เป็นเรื่องงบประมาณของหอศิลป์อันเป็นหน้าเป็นตาและศักดิ์ศรีของประเทศนี้นี้ ที่น้อยยยยยยยยนิดจนน่าตกใจ เราถึงกับต้องไปหยอดกล่องบริจาคก่อนกลับบ้าน

ศิลปะยืนยาว แต่งบ BACC สั้น

ถ้านายรักศิลปะ นายไม่ต้องทำอะไร นายหยอดกล่องบริจาค BACC

แต่วันนี้เอาเรื่องตู้ไฟคาราวัจโจก่อน

 

สัมภาษณ์โดย โน้ต พงษ์สรวง @dudesweetworld

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปวิตร มหาสารินันทน์ ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)​ (ภาพ: มนัส ชินวงศ์เวท)

พอเปิดประตูห้องรับรองชั้นห้า ก็เจออาจารย์ปวิตรนั่งรออยู่ก่อนแล้ว ท่านเป็นหนุ่มผมยาว ไว้หนวด ท่านเพิ่งมารับตำแหน่งที่สำคัญมากต่อศิลปะร่วมสมัยของไทยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา


อาจารย์ปวิตรสอนด้านการละครมากว่า 20 ปี ท่านเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย / เป็นนักวิจารณ์ละครของหนังสือพิมพ์ The Nation / เป็นประธานชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดง / และเป็นคนไทยคนที่ 3 ที่ได้รับเหรียญอิสริยาภรณ์สาขาศิลปะและอักษรศาสตร์ ชั้นอัศวิน (Chevalier de l'Ordre des Arts et des Lettres) เมื่อปี 2014


ด้วยประสบการณ์การทำงานด้านศิลปะร่วมสมัยที่ว่ามาทั้งหมด ก็ชัดเจนแล้วว่าท่านมีคุณบัติเหมาะสมกับตำแหน่งผู้อำนวยการหอศิลป์ที่สำคัญที่สุดของกรุงเทพฯ อย่างไม่ต้องสงสัย แต่ที่สำคัญกว่าตำแหน่งและชื่อรางวัลอ่านยากอันนั้น คือมีความเป็นไปได้ว่าท่านจะเป็นชาวร็อค อันนี้ผมแอบคิดเหมาเอาเอง เพราะเห็นวันนี้อาจารย์เขาใส่ยีนส์ขาเดฟ กับรองเท้าหนังเหมือนพวกเด็กในปาร์ตี้ Dudesweet บางทีท่านอาจจะฟัง Arcade Fire หรือ The National ก่อนนอน มันสดชื่นดีจริงๆ ที่ได้เห็นข้าราชการไทยในลุคนี้บ้าง


แต่ที่แน่ๆ ท่านร็อคพอที่จะให้สัมภาษณ์กับคนที่เขียนวิจารณ์แบบไม่ยั้งปาก ต่อนิทรรศการที่ BACC จัดได้อย่างชิลล์ๆ

 

วันนี้ผมมาอย่างสันตินะครับอาจารย์ เพราะจริงๆ ผมก็รัก BACC สิบปีที่ผ่านมา ผมมาที่นี่บ่อยมาก ผมว่าคนที่มาบ่อยๆ นี่ คือคนที่รัก แต่คนที่รักก็ต้องวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งผมว่าคุณน่ะคือคนแบบนั้น เหมือนอย่างผมน่ะ เวลาผมไปดูละครเวทีเรื่องไหนที่ผมเห็นว่ามันไม่เวิร์ค ผมก็วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ซึ่งคนก็มาด่าผมเหมือนกัน บางทีผมเขียนอะไรไป เพื่อนก็จะโทรมา เออ เดี๋ยวกูจะไปดูอะไรที่มึงเขียนด่า อันนี้คือสังคมประชาธิปไตย ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เราจะต้องสร้างวัฒนธรรมอย่างนี้ขึ้นมา การที่เราเห็นไม่ตรงกัน มันไม่ได้แปลว่าเราจะเป็นเพื่อนกันไม่ได้ การที่คุณโน้ตบอกว่าคุณโน้ตมาที่นี่บ่อยๆ มันก็เห็นแล้วว่าคุณโน้ตเป็นคนรักศิลปะ ซึ่งผมต้องการให้ทุกคนเป็นแบบนั้น ต้องการให้ทุกคนมา แล้วศิลปะร่วมสมัยมันต้องมีความเห็น มันไม่ใช่แค่สวย-ไม่สวยอย่างเดียว มันก็ต้องบอกว่ามันเวิร์ค ไม่เวิร์ค มันควรจะลงทุนหรือไม่ลงทุน เพราะมันคือภาษีของเรา

จริงๆ แล้วความเห็นแบบคุณโน้ตน่ะ ถ้าเป็นที่อเมริกาที่ฝรั่งเศสคือเป็นเรื่องปกติมาก เพราะมันคือสุดท้ายแล้วคนก็จะเข้าใจว่ามันคือความเห็นของคนๆ นึง ซึ่งเราก็คือความเห็นของคนคนนึง แล้วทุกคนก็มีความเห็น


นิทรรศการ [คาราวัจโจ] วันเสาร์ที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้างครับ คนก็เยอะมากครับ ถ้าจำไม่ผิดวันเสาร์ที่ผ่านมาน่าจะ 2,500 คน วันอาทิตย์ก็ 2,000 แต่ไม่มีวันไหนที่ต่ำกว่า 2,000 คนเลย


อาจารย์คาดหวังคนที่มาเขาจะได้อะไรกลับไปบ้างครับ? นิทรรศการนี้เขาวางแผนไว้ตั้งแต่ก่อนที่ผมจะมาทำงานที่นี่ พอผมรู้ว่านิทรรศการนี้จะเป็นนิทรรศการใหญ่อันหนึ่งที่ช่วงที่ผมเป็น ผ.อ. ผมก็เป็นห่วงว่าคนไทยจะไม่ค่อยรู้จักคาราวัจโจ ก็เลยคิดว่าจะมีเหตุผลอะไรให้คนเขามาบ้าง เราก็คิดถึงภาพรวมทั่วๆ ไป ว่าเราจะทำอย่างไรให้คนเขามา ก็เลยคิดกิจกรรมต่างๆ มากมาย อย่างเช่นจะมีดนตรีมาเล่นทุกเย็นวันอังคาร โดยน้องนักศึกษาดุริยางคศิลป์ ศิลปากร คือเราดูว่าช่วงไหนที่คนน้อย ซึ่งวันอังคารปกติคนจะน้อย เราก็ไปเชิญเขามาเล่นวันอังคาร จะได้มีสีสันมากขึ้น ปรากฏว่าคนก็เลยชอบมาวันอังคาร


แล้วก็จะมีลูกศิษย์ของอาจารย์ ดร. สายัณห์ แดงกลม ที่เราเชิญมาบรรยาย ลูกศิษย์เขาก็มาช่วยเป็นอาสาสมัครนำชม แล้วเขาก็บรรยายได้ละเอียดมาก พอเป็นอย่างนั้นคนก็จะเช็คกันว่าพี่คนนี้จะมาวันไหนบ้าง ซึ่งเขามาวันอังคาร ฉะนั้นถ้ามาวันอังคารก็จะได้ทั้งข้อมูลความรู้คาราวัจโจคืออะไรต่างๆ นาๆ บวกกับได้ฟังดนตรีด้วย คือเราก็พยายามหาวิธีการที่ทำให้คนรู้สึกสนใจอยากจะมาชม เหมือนเป็นการเพิ่ม value ให้กับงานอะไรอย่างนี้

พี่ๆ จาก BACC พาน้องๆ นำชมนิทรรศการ (ภาพจากเฟซบุ๊ก BACC)

คราวนี้เรามาที่หัวข้อของนิทรรศการคาราวัจโจกันนะครับ สิ่งที่คนพูดกันเยอะมากคือ BACC ไม่พร้อมที่จะแสดงงานระดับมาสเตอร์ เพราะด้วยพื้นที่และอื่นๆ อ๋อ เรื่องพื้นที่นะครับ แล้วก็ด้วยเรื่องระบบรักษาความปลอดภัย มาตรฐานเรายังไม่ถึงขั้นนั้นนะครับ ถ้าจะเอางานจริงมา ระบบโครงสร้างเรายังไม่พร้อม ยกตัวอย่างง่ายๆ เลย อย่างงานพี่วสันต์ที่มันจะมีผนังหนึ่งที่เป็นเสื้อยืดเยอะๆ น่ะครับ ก็เพิ่งมีนักท่องเที่ยวจีนขโมยไปตัวนึง 

แล้วจับได้ไหมครับ คือรู้แค่ว่าเป็นนักท่องเที่ยวจีน แต่ว่ากล้องเรามันก็ไม่ได้คุณภาพดีขนาดจะเห็นหน้า เพราะกล้องมันก็อยู่สูงและไกลมาก รู้แค่ว่ากลุ่มนี้นักท่องเที่ยวจีนแน่ๆ หรือแม้แต่งานศิลปกรรมช้างเผือกที่ชั้น 9 เมื่อเร็วๆ นี้ก็มีนักท่องเที่ยวจีนอีกเหมือนกัน ที่พยายามถ่ายรูปภาพวาดอันหนึ่งแล้วถอยไปชนงานตกแตกทั้งชิ้น นี่คือสภาพของพิพิธภัณฑ์ หลายที่ก็กำลังหาวิธีการแก้ปัญหา แล้วจากประวัติ [มีงานหายงานพัง] อะไรแบบนี้ ก็ไม่มีใครเขาอนุญาตให้เราเอาเข้ามาหรอก แล้วจริงๆ ความสนใจหลักของเราคือศิลปะร่วมสมัย อย่างงานคาราวัจโจมันก็เป็นสื่อใหม่ในการนำเสนอศิลปะที่มันเป็นออริจินัลอะไรอย่างนี้ 

เสื้อยืดการเมือง ส่วนหนึ่งของนิทรรศการ 'I Am You' ของวสันต์ สิทธิเขตต์ (ภาพจากเฟซบุ๊ก BACC)

แต่กล่องไฟนี่มันก็ไม่ใหม่แล้วนะครับ มันก็ไม่ได้ใหม่อะไรขนาดนั้น แต่ว่ามันก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งครับ 

ที่จริงผมก็สงสัยตั้งแต่ทีแรกที่รู้ว่าจะมีคาราวัจโจ เพราะที่ผ่านมา งานที่ BACC เป็นศิลปะร่วมสมัยมาตลอด แต่ทำไมจู่ๆ เป็นคาราวัจโจได้ หรือว่าเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ผมเข้าใจดีว่าอาจารย์ไม่ได้เป็นคนเริ่มโครงการนี้ แต่อยากทราบว่าเมื่อย้อนกลับไป อาจารย์ทราบไหมครับว่าแนวความคิดการนำมาแสดงนี้ เกิดจากอะไร อย่างไรครับ? ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน แต่ถ้า...ผมเป็นคนพูดตรงๆ นะ แต่ถ้าผมเป็น ผ.อ. ตอนนั้นผมคงไม่เลือกอันนี้มา 

ซึ่งเป็นคำถามที่ผมกำลังจะถามพอดีเลย ใช่ ผมตอบก่อนเลย ผมก็ไม่เลือกมา เพราะถ้าผมจะเลือกงานต่างประเทศผมจะดูว่ามันเคยไปที่ไหนมาแล้ว อย่างคาราวัจโจมันเคยไปเวียดนามมา แล้วมันก็ไปตุรกี ไปอุซเบกิสถาน แล้วก็ทาจิกิสถาน หรือเติร์กเมนิสถาน

อาเซอร์ไบจัน อะไรทำนองนั้น ซึ่งมันไม่ใช่ผมอะ ผมต้องการอะไรที่มันมากกว่านั้น อย่างตอนที่ผมทำละครเวที และร่วมงานกับสถานทูตฝรั่งเศส ผมเลือกนักเขียนบทละครหรือผู้กำกับที่เขาไม่เคยแสดงงานใน Southeast Asia มาก่อน คือผมต้องการ Southeast Asia Premier ผมถึงจะทำ

แต่ผมก็ยอมรับการตัดสินใจของทีมนิทรรศการของผม แล้วผมก็ยังเห็นข้อดีของงานนี้ เพราะอย่างแรกที่บอกว่าคนมาเยอะ และสอง คนก็ได้รู้จักคาราวัจโจมากขึ้น แล้วเราก็มาเน้นที่การให้ข้อมูลครับ เช่นตอนนี้ผมกำหนดเป็นนโยบายเลยว่าทุกงานต้องมี QR Code ด้วยผมเห็นว่าปัญหาอย่างหนึ่ง คือคู่มือชมนิทรรศการมันไม่พอ คราวนี้ก็เลยมี QR Code ให้สแกนได้ แล้วลิงค์มาที่เว็บไซต์ BACC เป็นไฟล์ PDF เลย คุณจะขยายใหญ่แค่ไหนก็ได้ มีรูปให้เรียบร้อย ซึ่งบางคนก็โหลดมาตั้งแต่ที่บ้านแล้ว ทำการศึกษาก่อนจะมาดูงานจริง


นิทรรศการ Caravaggio OPERA OMNIA (ภาพ: มนัส ชินวงศ์เวท)

ส่วนงานนี้ เข้าใจว่าสภาพก็ไม่สมบูรณ์ ก็น่าจะเห็นได้ตั้งแต่แรกแล้ว ตอนนั้นอาจารย์... ก็มาช้าด้วยไง (หมายถึงชิ้นงานมาถึงไทยแบบกระชั้นจนไม่มีเวลาซ่อมแซม) อันนั้นก็ต้องยอมรับ มันก็เป็นความจริงที่เห็นอยู่ ซึ่งผมว่ามันด้วยงบประมาณด้วยแหละ คือถ้าเรามีเงินเยอะ เราก็คงเลือกได้มากกว่านี้ แต่บางคนก็เรียกว่านี่คือ impossible exhibition หมายความว่า คุณไม่สามารถที่จะเอางานคาราวัจโจ --ถ้าเป็นของจริงน่ะนะครับ คุณไม่สามารถเอางานของจริงทั้งหมดในโลกมาอยู่ที่เดียวกันได้ ไม่มีทาง เพราะบางอันก็อยู่ในผนังวิหาร ถอดออกมาไม่ได้ ซึ่งมันก็ฟังขึ้น แต่ก็อย่างที่บอก ว่าคุณภาพของการปรินต์งานบางชิ้นมันก็ยังไม่ได้มาตรฐาน

ก็เลยมาที่ข้อโต้แย้งที่ผมเขียนไปนะครับ ที่ว่า โอเค--งานจริงทั่วโลกมันมาอยู่รวมกันไม่ได้ แต่ Google Images ทำได้ อันนี้ก็เลยขอเรียนถามครับ ว่าอาจารย์คิดว่าคุณค่าของงานจริงกับงาน re-production มันมีอะไรที่ต่างกัน ที่ดีหรือด้อยกว่าบ้าง? มันก็ต่างกันเยอะครับ ก็ต้องบอกอีกทีว่าภาพทุกภาพเป็นขนาดจริง ถึงคุณจะ Google Images มันก็ยังแล้วแต่ว่าขนาดจอคอมพิวเตอร์ของคุณจะใหญ่ได้แค่ไหน แต่กูเกิ้ลก็เป็นช่องทางการเรียนรู้วิธีหนึ่ง แต่ประสบการณ์มันก็ไม่เท่ากับการที่ได้ดูภาพเท่าขนาดจริงถึงแม้มันจะเป็น re-production ก็ตาม แล้วก็อย่างที่บอกว่าภาพบางภาพมันก็อยู่ในตำแหน่งที่เราไม่สามารถที่จะดูในระยะขนาดนี้ได้ มันก็เป็นการทดลอง ซึ่งเวิร์คไม่เวิร์คก็อีกเรื่องหนึ่ง



ผมเข้าใจเรื่องคุณค่าในเชิงนามธรรมที่ได้จากการดูงานนี้นะครับ เช่นการได้ความรู้ว่าศิลปินคนนี้เป็นใครหรือทำงานอย่างไร หรือขนาดมันใหญ่แค่ไหน แต่ในเชิงรูปธรรมเช่นการเรียนรู้เทคนิคการเขียนภาพ อย่างผมก็เป็นคนวาดรูปพอได้ ก็อยากจะรู้บ้าง ว่าความรู้สึกขณะวาดนั้นเป็นอย่างไร แต่ในขณะเดียวกันอาจารย์นที (อุตฤทธิ์) ก็เพิ่งบรรยายไป ว่างานโบราณพวกนี้มันผ่านการซ่อมแซมมาหลายรอบจนไม่เหลือฝีแปรงดั้งเดิมแล้ว และล่าสุดก็มีข่าวว่ามิวเซียมฝรั่งเศสหลายที่ก็โชว์งานปลอม เมื่อเป็นแบบนี้กันหมด อาจารย์คิดว่าเรายังจำเป็นต้องดูงานจริงกันอยู่หรือเปล่าครับ? ผมว่าคนมามิวเซียมด้วยเหตุผลต่างๆ กัน บางทีการจัดวางมันก็ทำให้เราสงสัยว่าเป็นงานจริงหรือเปล่า ผมจำได้ตอนเด็กๆ ที่ผมไปพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติครั้งแรกแล้วผมก็เห็นหลักศิลาจารึกอยู่ในระยะประมาณนี้ (ทำท่าเอื้อมแขนไปข้างหน้า) ประมาณขวดนำ้บนโต๊ะนี้ ผมไม่เชื่อว่าของจริง เพราะดูสิ่งที่เขากั้นอยู่หรืออะไรผมไม่เชื่อหรอก ผมไม่เชื่อว่านี่ 700 ปี 

แล้วของจริงหรือเปล่าครับ? ไม่รู้เหมือนกัน คือป่านนี้ก็ยังไม่รู้ไง แม้แต่โมนาลิซ่าเอง แต่ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันก็คงพิสูจน์ได้ แต่บางคนก็บอกว่า แทนที่จะเอาของจริงมาเสี่ยงตั้งไว้ เอาไปเก็บไว้สักที่ๆ หนึ่งดีกว่า คนก็เข้าใจอยู่ดี มันก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่แวดล้อมด้วย

แต่จริงๆ แล้วผมว่าที่นี่ [BACC] มันไม่ได้เป็นมิวเซียม มันเป็นอะไรก็ไม่รู้ มันผสมกันหลายอย่างมาก แต่นี่ก็คือความเป็นไทยนะ คือคนไทยเราจะชอบทำอะไรหลายๆ อย่างในที่เดียวกัน แล้วผมว่าที่นี่มันตอบโจทย์อะไรแบบนี้ เช่นผมถ้าคุณมาดูงานคาราวัจโจอย่างเดียวแล้วผิดหวัง แต่ถ้าคุณขึ้นไปดูงานพี่วสันต์ด้วย หรือลงไปชั้นสี่ ไปดูละครเด็กจากประเทศฝรั่งเศส จากเบลเยียมด้วย คุณอาจจะได้อะไรอีกอย่างหนึ่ง และประสบการณ์รวมทั้งหมดของที่นี่ มันอาจทำให้ความผิดหวังที่มีต่อคาราวัจโจน้อยลงไปก็ได้


อาจารย์คิดว่ามีความจำเป็นไหมครับ ที่ต้องสร้างห้องอะไรสักอย่างเพื่อรองรับงานลักษณะนี้ในอนาคต เช่นห้องที่ควบคุมอุณหภูมิได้ หรือเห็นว่าไม่จำเป็น เพราะเราไม่ได้เน้นทางสายของเก่าอยู่แล้ว ใช่ครับ เรายังไม่ได้เน้นเรื่องของเก่า เราเน้นเรื่องปัจจุบันมากกว่า แล้วตอนนี้ด้วยสภาพเรื่องงบประมาณที่มีอยู่ เรื่องโครงสร้างมันจึงยังทำอะไรพิเศษไปกว่านี้ไม่ได้ แล้วก็ด้วยความคุ้นเคยของการชมงานศิลปะ ผมว่า BACC ทำให้คนไทยรู้สึกว่าศิลปะมันไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัว เพราะว่ามันค่อนข้างจะมาไม่ยาก แล้วขึ้นไปดูมันก็ไม่ยาก เพราะฉะนั้น สำหรับตอนนี้นะครับ ตอนนี้เอาแค่นี้ก่อนแล้วกัน

อันนี้ไม่ทราบว่าเป็นข่าวลือหรือเปล่า แต่ก็ได้ยินว่างานนิทรรศการตู้ไฟนี่มันมีเป็นซีรี่ส์ นอกจากคาราวัจโจยังมีของดา วินชีหรืออะไรอีก ไม่ลือครับ เรื่องจริง 

BACC จะเอาเข้ามาอีกไหมครับ ไม่เอาแล้วครับ ตราบใดที่ผมยังเป็น ผ.อ. อยู่นะครับ แต่วันก่อนมีคนส่งลิงค์ให้ผมดู ที่เป็นนิทรรศการของคลิมต์ (ศิลปิน Gustav Klimt) 

ที่เป็นมัลติมีเดียใช่ไหมครับ? ใช่ เป็นมัลติมีเดีย เป็นโปรเจคชั่น เป็นวีดีโอ เป็นอนิเมชั่น อันนั้นน่าสนใจกว่า คือมันไม่พยายามเลียนแบบของจริงเกินไป แต่เอาองค์ประกอบของจริงมาเล่น ที่เขาเรียกว่า immersive (การแสดงงานแบบใช้เทคนิคคอมพิวเตอร์สร้างภาพและบรรยากาศถมรอบตัวผู้ชม) ผมชอบอะไรอย่างนั้นมากกว่า แต่รายละเอียด [ถ้าจะเอามา] ก็ต้องคุยกับฝ่ายนิทรรศการเขาอีกที 

ความพร้อมของ BACC ในระดับสากลมีแค่ไหนครับ มันก็เทียบยากนะ แต่ผมพอใจแล้วก็ภูมิใจขององค์รวมของมันมากกว่า คือผมไม่ได้มองแค่ชั้น 7 8 9 แต่ผมมองว่ามันเป็นพื้นที่ๆ สามารถแสดงผลงานได้หลายรูปแบบ แล้วทำให้คนทั่วไปใกล้ชิดกับศิลปะมากขึ้น แล้วก็เกิดแรงบันดาลใจ แต่ก็แน่นอนว่ายังมีเรื่องมาตรฐานของพื้นที่หรือว่านิทรรศการที่เราจะเลือกมานำเสนอ ซึ่งผมมองว่ามันเป็นสิ่งที่เราต้องนำมาปรับปรุงต่อไป 

ความสัมพันธ์ของ BACC กับองค์กรศิลปะใหญ่ๆ ของเพื่อนบ้านเป็นอย่างไรบ้างครับ? ผมว่ายังน้อยนะครับ 

เรายังไม่อยู่แกงค์เขาเหรอครับ? เราก็รู้จักเขาบ้าง แต่มันไม่ใช่แค่วงการทัศนศิลป์อย่างเดียว ผมว่าทุกสาขาของศิลปะ ความสัมพันธ์ระหว่างศิลปินใน Southeast Asia ยังน้อย เราอาจจะรู้จักกันจริง แต่เราไม่ค่อยมีโอกาสทำงานร่วมกันเท่าไหร่ เราต้องรอผู้สนับสนุนจากข้างนอกภูมิภาคนี้ถึงจะได้เจอกันได้ 

มาที่เรื่องมาตรฐานการคัดกรองงานของ BACC นะครับ เพราะศิลปินไทยทุกคนอยากแสดงงานที่นี่หมด ตอนนี้ที่อาจารย์เพิ่งมารับตำแหน่ง อาจารย์ได้วางมาตรฐานของงานที่จะมาแสดงที่นี่อย่างไรครับ ก็มีเป็นหลายซีรี่ส์นะครับ เช่น Master Series ที่เราจะแสดงงานของศิลปินรุ่นใหญ่ แล้วปีหน้าเราก็สนใจจะแสดงงานศิลปินรุ่นกลาง ส่วนรุ่นใหม่เราก็มีโครงการ EYP - Early Years Project ปีที่แล้วเป็นปีที่สอง และจะจัดทุกปีครับ แล้วก็เราก็ลงทุนเยอะมาก แล้วผมก็ชอบไอเดียนี้มากครับ นี่อีกไม่นานทีมงานเขาก็จะเริ่มออกไป 4 จังหวัดในภาคต่างๆ เพื่อไปอธิบายหรือไปทำเวิร์คช็อปให้กับศิลปินรุ่นน้องๆ ว่าถ้าจะส่งผลงานมาเข้าร่วมงานนี้จะต้องทำอย่างไร


หลังจากนั้นพวกศิลปินรุ่นใหม่เขาก็จะเริ่มพัฒนางานแล้วเขาส่ง proposal (โครงงาน) เข้ามา แล้วก็มีกรรมการจากภายนอกมาคัดเลือกแล้วก็มาจัดแสดงงาน ในระหว่างที่จัดแสดงงานก็จะมีนักวิชาการศิลปะ มีศิลปินรุ่นพี่ และนักวิจารณ์มาคอยให้คำแนะนำเพื่อที่จะปรับปรุงงานระหว่างที่จัดแสดง และสุดท้ายก็จะคล้ายๆ ประกวด คือจะมีรางวัล เช่นที่ 1 จะได้ไป artist residency (การไปพำนักและเข้ากลุ่มทำงานศิลปะในต่างประเทศระยะหนึ่ง) ซึ่งที่ผ่านมาโครงการนี้แทบจะไม่มีข้อจำกัด มันเป็นการสนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่ที่ดีมาก และในอนาคต ผมก็อยากจะเอาไอเดียนี้ไปใช้กับสาขาอื่น ทั้ง Performimg Art ทั้ง Dance, Theatre ถ้าเรามีงบสนับสนุนนะครับ มันก็เป็นความฝัน แต่มันก็เป็นด้วยความหวังที่ว่า เมื่อศิลปินรุ่นใหม่วัยใกล้เคียงกันหลายๆ สาขาได้จัดแสดงงานพร้อมกัน เราก็หวังว่าเขาจะไปดูงานกันและกัน และเขาก็อยากจะทำงานร่วมกันต่อไป เพราะว่าตอนที่เขาเรียนมา ถึงเขาจะเรียนตึกเดียวกัน แต่เขาไม่เคยเห็นหน้ากันเลยก็มี เพราะว่าต่างคนต่างอยู่สตูดิโอของตัวเอง



นิทรรศการ Early Years Project เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว (ภาพจากเฟซบุ๊ก BACC)

ตอนผมได้มาดู [Early Years Project] ก็รู้สึกว่ามันสดและตื่นเต้นมากครับ ดีจังเลยครับที่ BACC มีโครงการแบบนี้ เพราะผมสังเกตว่า 5 ปีที่ผ่านมา community ของศิลปินใหม่ๆ เขาเกาะกลุ่มกันเหนียวแน่นกว่าเมื่อก่อนมาก ปีนี้เราต้องตัดหลายโครงการ แต่อันนี้คือโครงการที่ผมไม่ตัด ไม่ลดงบ ไม่อะไรทั้งสิ้นเลย จะเปลี่ยนแค่เรื่องการขอความช่วยเหลือ เช่นจากเดิมที่เคยไปประเทศไหนก็ได้ ปีนี้อาจจะจำกัดว่าขอให้ไปแค่ 3 ประเทศนี้นะ เพราะว่ามีเงินสนับสนุนจากประเทศเขามา

ทีนี้ มาเรื่องวาระหลักของวันนี้บ้าง วันนี้ผมเอางานนี้มามอบให้ BACC ครับ เป็นกล่องไฟผลงานอิงค์เจ็ต วินเซ็นต์ ฟาน ก๊อก ขนาดเท่าจริง แต่ขอมอบด้วยเงื่อนไขว่าจะต้องได้แสดงที่ชั้น 7 บ้างครับ อาจารย์จะตัดสินอย่างไรครับ? สามารถแสดงได้ไหมครับ? แต่มันไม่ใช่งานคาราวัจโจนี่ 

ให้ไปปริ๊นต์ใหม่เป็นคาราวัจโจก็ได้ครับ หรือจะรอหลังงานคาราวัจโจจบแล้วก็ได้ แต่ในเมื่อมันเป็นกล่องไฟเหมือนกัน อาจารย์คิดว่าอย่างไรครับ? ไปอยู่ในออฟฟิศผมมั้ยที่ชั้น 6 

ไม่เอา ผมจะเอาที่ชั้น 7 ครับ นี่ผมทำมาตั้งสี่พันกว่าบาท อาจารย์คิดว่าคุณค่าของ ฟาน ก๊อก ชิ้นนี้มันสามารถแสดงที่ชั้น 7 ได้หรือเปล่าครับ? เดี๋ยวให้ Caravaggio เขาจบไปก่อนดีกว่านะ 

คำตอบคือไม่ได้ใช่ไหมครับ? ตอนนี้ไม่ได้ครับ 

เพราะมีคาราวัจโจอยู่? ผมว่ามีแค่นิทรรศการเดียวก็พอแล้วนะ ที่เป็นกล่องไฟ ไปแสดงที่อื่นแล้วกันครับ ขอบคุณมากครับ ฮามาก

สงสัยกำลังไฟแรงสู้คาราวัจโจไม่ได้ อาจารย์เลยไม่ให้แสดง

งั้นผมแบกกลับดีกว่า ที่จริงมีอีกชิ้นหนึ่งนะครับ ทีแรกผมจะเอาไปมอบสถานทูตอิตาลีในโอกาส 150 ปีความสัมพันธ์ ไทย-อิตาลี แต่วันก่อนผมเอามาเปิดตอนปาร์ตี้กับเพื่อนที่บ้าน แล้วมันสวยมากเลยครับ เป็นไฟกินเหล้าที่เพลิดเพลินมาก เลยเปลี่ยนใจไม่ให้แล้ว เสียดาย ข้างหลังมันเป็นไฟอะไรนี่? เป็นเทคนิคเดียวกับของอาจารย์เลยครับ มันเป็นเส้น LED วิ่งอยู่ตามกรอบ เอ๊ะ วันเกิดอาจารย์เมื่อไหร่ครับ? 3 สิงหาครับ

โอ้ ถ้าอย่างนั้น ผมขออนุญาตมอบเป็นของขวัญวันเกิดอาจารย์ล่วงหน้าเลยนะครับ อาจารย์จะพิจารณาไปแต่งห้องนอน ห้องนั่งเล่นอะไรก็ได้ ถ้าเสียบปลั๊ก มันก็สว่างพอเป็นไฟอ่านหนังสือได้ครับ Happy Birthday ครับอาจารย์! (ถ่ายรูปคู่ส่งมอบ) ครับ ผมขอบคุณมาก อย่างที่บอกครับ จริงๆ แล้วผมขอบคุณจริงๆ เพราะว่าทำให้คนสนใจ แล้วคนสมัยนี้อาจจะต้องการให้มันมีเรื่องมีราวมีอะไรอย่างนี้นะครับ อย่างตอนนี้พอมีปัญหากับกทม. คนก็ให้ความสนใจ บ้างก็ไปลือกันว่า เฮ้ย เดี๋ยวมันจะปิดแล้ว เดี๋ยวมันจะเป็น co-working space แล้วอะไรอย่างนี้ ซึ่งมันก็โอเคในแง่ที่ว่าเราก็อยากให้คนมาเยอะ

ผมก็แปลกใจ เพราะเวลาเขียนเรื่องศิลปะคนไม่ค่อยสนใจอ่านกันเท่าไหร่ แต่อันนี้เป็นแรกที่รู้สึกว่าเกิดการแชร์ เกิดการวิจารณ์กันหลายด้านมากเลยครับ มีทั้งฝั่งที่พูดเรื่องคุณค่าและความรู้ที่ได้ กับอีกฝั่งก็คือคนอย่างผม ที่อยู่ฝั่งที่พูดว่า "ยังไงมันคือกล่องไฟ" แต่ผมก็ลืมมองเรื่องที่มาที่ไปของกล่องไฟ หรืออะไรที่กล่องไฟมันให้เราได้ แล้วก็เรื่องความจริงที่ว่าอะไรแบบนี้มันไม่ได้มีให้ดูบ่อยในเมืองไทย แต่กระนั้นผมก็ยังยินดี ที่อาจารย์บอกว่าจะไม่เอาตู้ไฟที่เหลือมาอีกแล้ว ผมรับประกัน ตราบใดที่ผมยังเป็น ผ.อ. อยู่ มันจะไม่มาอีกแล้ว

หมดคำถามแล้วครับอาจารย์ ขอบพระคุณมากครับที่สละเวลา ขอบคุณมากครับ อันนี้ให้ผมจริงๆ เหรอ 

จริงๆ สิครับอาจารย์ อาจารย์จะเอาไปทำอะไรก็ได้ ผมเก็บไว้อยู่แล้วแหละ

เสียบปลั๊กแล้วสวยเลยครับอาจารย์

 

นิทรรศการ Caravaggio OPERA OMNIA จัดแสดงระหว่างวันที่ 4 พฤษภาคม – 10 มิถุนายน 2561 (ปิดวันจันทร์) ที่ห้องนิทรรศการชั้น 7 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) BTS: สนามกีฬา www.bacc.or.th

bottom of page