top of page
  • Black Facebook Icon
  • Instagram

Welcome to the world where truth doesn't hurt

เขาให้ฉันที่ไม่รู้เรื่องศิลปะ ไปดูงานศิลปะ ของศิลปินที่ไม่รู้เรื่องศิลปะ

พี่ที่ออฟฟิศดูตื่นเต้นพอรู้ว่ามีนิทรรศการอาร์ตบรูต (Art Brut) ครั้งแรกในเมืองไทย ที่ชั้น 8 หอศิลป์ BACC

พี่เขาอธิบายคร่าวๆ ว่ามันคือคำเรียกประเภทงานศิลปะของคนที่ไม่ได้เรียนศิลปะ และส่วนใหญ่มักเป็นคนไม่ปกติทางสมองหรืออารมณ์ พี่เขาบอกว่างานพวกนี้มันจะเพียวมากเพราะคนทำไม่ได้คิดอะไร เขาแค่อยากทำและก็ทำ


แล้วจู่ๆ พี่เขาก็บรรเจิดไอเดียว่าฉันน่าไปทำเรื่องนี้นะ เพราะรู้เรื่องศิลปะน้อยที่สุดในออฟฟิศ เผื่อจะผันตัวไปเป็นศิลปินได้บ้าง ช่วงนี้ออฟิศกำลังหาทางลดค่าใช้จ่ายอยู่ด้วย

 

เรื่อง: พฤกษา วงศ์พวก @kikikwangw ภาพ: ชีวิน กิตติ์ชรินดา @gun__b612 และ BACC

 


Thailand and Japan ART BRUT : Figure of Unknown Beauty “ความงามนิรนาม”


ฉันพกคำถามเตรียมไปถามมากมาย ว่าถ้าอาร์ตบรูตคือการไม่ถือมาตรฐานใดๆ ของศิลปะ แล้วใครเป็นคนตัดสินกันว่างานชิ้นนี้มันจะขึ้นโชว์ได้ งานชิ้นนี้แหละคือศิลปะ และเอาจริงแอบอยากถามลึกๆ ว่างั้นแบบนี้ถ้าฉันผู้ที่ไม่เคยเรียนศิลปะมาก่อน เกิดวาดอะไรขึ้นมาสักอย่างแล้วมันเกิดสวย แบบนี้ฉันก็เป็นศิลปินอาร์ตบรูตได้สิ


ที่นิทรรศการ คิวเรเตอร์สองท่านเขากรุณาพาฉันทัวร์ ทั้งคิวเรเตอร์ฝั่งไทย-คืออาจารย์สืบแสง แสงวชิระพิบาล และฝั่งญี่ปุ่น-คุณเซนะ คิโมะโตะ พอได้ฟังเรื่องราวและได้ดูงานของจริงไปพร้อมกัน ก็รู้สึกว่ามันมีความดิบ มีความลึกซึ้ง และมันเกิดผลกระทบทางความรู้สึกของฉันแปลกๆ เหมือนเวลาเราดูหนังญี่ปุ่นงงๆ หรืออ่านหนังสือของมุราคามิ หรืออาจเพราะมันเป็นงานจากศิลปินฝั่งญี่ปุ่น ประเทศที่มีประชากรดาร์กสุดๆ


ขอยกตัวอย่างงานของศิลปินบางท่านที่ทำให้ฉันเกิดความรู้สึกเหล่านี้แล้วกัน เช่นงานของมาซาโนริ คูราจิ ที่ทำงานร่วมกับศิลปินร่วมสมัยฮิเดยูกิ อิการาชิ

คูราจิมีปัญหาเรื่องการพูดไม่ได้และไม่สามารถสบตากับผู้คนได้ เขาไม่สบตากับใครเลย ที่อิการาชิได้เจอเขาเพราะเป็นครูสอนที่โรงเรียนสอนเด็กพิเศษ ทั้งคู่เริ่มวาดภาพโต้ตอบกันตั้งแต่ปี 1994 โดยทุกครั้งที่วาดรูป ทั้งคู่จะนั่งข้างกันแล้วสลับกันวาดไปมาแต่ไม่มองตากันเลย จนตอนนี้ก็เข้าปีที่ 25 และมีผลงานร่วมกันถึง 5,000 ชิ้นแล้ว

ด้านอิการาชิแม้จะไม่เคยพูดคุยหรือสบตากันกับคูราจิ แต่ก็สัมผัสได้ว่าเขารู้สึกผูกพันธ์ ดูจากการที่คูราจิพยายามหาวิธีการวาดแบบใหม่ๆ เพื่อจะได้สื่อสารกับอิการาชิมากขึ้น ไม่ว่าจะลองเปลี่ยนจากการนั่งข้างกัน เป็นนั่งตรงกันข้าม และล่าสุดเขาค้นพบวิธีการวาดรูปร่วมกันแบบใหม่ นั่นคือการใช้แผ่นพลาสติกใสกั้นระหว่างทั้งคู่แล้วลองวาดไปพร้อมๆกัน ตอนนี้เริ่มไปแล้วนิดหน่อยก็พบผลลัพธ์ที่ดีขึ้น แต่ตัวคูราจิก็ยังคงเลี่ยงการสบตาอยู่ดี

ในความคิดเห็นส่วนตัวของฉัน งานที่ออกมามันไม่ได้ว้าวหรือลายเส้นอลังการมากเลยค่ะอะไรแบบนั้น แต่ความว้าวอยู่ที่เรื่องราวที่เกิดขึ้นของทั้งคู่ วิธีกาวาดรูปโต้ตอบกันไปมาและยังคงได้งานสไตล์เดิมตลอดในระยะเวลา 25 ปี


และนี่คือหนึ่งคุณสมบัติที่ฉันสอบตก อดเป็นศิลปินอาร์ตบรูต

นั่นคือการทำซ้ำ




การเป็นศิลปินอาร์ตบรูตต้องทำซ้ำ ทำเพราะมันเกิดความรู้สึกอยากทำ ทำเป็นประจำ ย้ำคิดย้ำทำ ซ้ำไปซ้ำมา


อย่างผลงานของโชตะ คัทสึเบะ เขาเป็นออทิสติก แต่ทุกวันตั้งแต่อายุ 10 ขวบ เขาจะกินขนมปังและสะสมลวดมัดถุงขนมปัง แล้วดัดพับจนเป็นหุ่นยนต์ตัวเล็กหลายพันตัวโดยที่ไม่มีตัวไหนซ้ำกันเลย งานที่เขาเอามาโชว์ที่เมืองไทยเขาบอกว่าเขาเลือกยากมากเพราะเขารักทุกชิ้น ที่โชว์อยู่ตรงนี้คืองานที่เขามีความผูกพันธ์น้อยที่สุด



มาที่เรื่องราวศิลปินอาร์ตบรูตของฝั่งไทยบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องราวแบบไท้-ไทยที่มีความขำขันสนุกสนาน อย่างเช่นงานของพี่โชค คนขับรถรับส่งงานศิลปะให้แกลอรี่ชื่อดังต่างๆ แกมักจะวาดรูปเสียดสีชีวิตความรวยความจน…เอ๊า! ถ้าพี่โชคไม่ได้มีปัญหาทางอารมณ์ แล้วทำไมพี่โชคได้เป็นศิลปินอาร์ตบรูตล่ะ?


อาจารย์บอกว่าพี่โชคไม่ได้เรียนศิลปะมา และพี่โชคมีการวาดรูปซ้ำๆ เป็นระยะนานหลายปีและวาดเกือบทุกวัน


งานที่ทำให้ฉันเก็ตกับคำว่าศิลปินอาร์ตบรูตอีกชิ้น ก็คืองานของคุณบ๊อบบี้คนวาดภาพขายที่สวนจตุจักร งานศิลปะของเขาบางชิ้นในร้านไม่ใช่ว่าจะมาขอซื้อแล้วจะขาย เพราะบางชิ้นเขาไม่ขายแต่ถ้าคุยแล้วถูกใจกันก็ให้ฟรีไปเลย งานของคุณบ๊อบบี้ที่อาจารย์นำมาโชว์คือภาพหน้าผู้ชายสีเขียวๆ คนจะเห็นว่าทำไมรูปนี้หน้าหายไปครึ่งนึง คุณบ๊อบบี้แกบอกว่าจริงๆ แล้วแกอยากวาดหน้าที่มีจมูกโด่งๆ แต่วาดไม่เป็น วาดยังไงก็ไม่โด่ง แกเลยลองลบหน้าออกไปครึ่งนึงและค้นพบว่าจมูกมันโด่ง อาจารย์เล่าให้ฟังพร้อมขำแล้วบอกว่ามันคือความบริสุทธิ์ของการทำงานศิลปะ นี่คืองานศิลปะของคนที่ไม่ได้เรียนศิลปะ ถ้าเป็นคนที่เรียนศิลปะเขาก็จะรู้วิธีการวาดที่ทำให้จมูกโด่ง

ยังมีศิลปินขวัญใจชาวกรุงเทพฯ อีกท่าน นั่นคือพี่เสมอ พีระชัย คนเร่ร่อนที่มีอดีตเป็นถึงนาวิกโยธิน ศิลปินอาร์ตบรูตท่านนี้ฝากผลงานวาดแผนผัง mind map ปริศนาตามเสาไฟทั่วกรุงเทพมหานคร เคสพี่เสมอนี่เรียกว่าเป็นศิลปะแบบอาร์ตบรูตได้เต็มปาก เพราะ 1. มีความผิดปกติทางสมอง 2. มีการทำซ้ำเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด


อาจารย์คิวเรอเตอร์บอกว่างานของคุณเสมอก็เป็นเหมือนพวกกราฟฟิตี้ที่พ่นข้างถนน และคุณเสมอเป็นศิลปินที่หาตัวจับยากมาก เพราะกว่าจะเจอต้องเดินหาเป็นวันๆ พอได้เจอบางครั้งคุณเสมอก็คุยด้วย บางครั้งก็เดินหนีไม่คุยด้วย สุดท้ายอาจารย์ได้งานจากคุณเสมอมา 1 ชิ้นถ้วนเพราะหลังจากนั้นคุณเสมอก็ไม่คุยด้วยแล้ว

ฉันพอเห็นความยากลำบากของอาจารย์ที่เป็นคิวเรอเตอร์ครั้งนี้ เลยถามว่าใช้เวลารวบรวมศิลปินนานเท่าไหร่คะเนี่ย อาจารย์บอกว่า ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการรวบรวมจัดนิทรรศการศิลปินอาร์ตบรูต แต่ของทางญี่ปุ่นเขามีองค์กรที่ดูแลและสะสมผลงานของศิลปินอาร์ตบรูตโดยเฉพาะ ส่วนไทยเราไม่เคยมีหน่วยงานไหนทำเลย เหนื่อยมาก ใช้เวลา 1 ปีเต็มในการหาศิลปินอาร์ตบรูตมาแสดงร่วมกับญี่ปุ่นในครั้งนี้ บางเคสก็ติดต่อยากมากเช่นงานของคนที่อยู่ในคุก หรือการเข้าไปตามองค์กรต่างๆ เพื่อเฟ้นหาศิลปินอาร์ตบรูตก็ต้องทำเรื่องเข้าไปคุยเข้าไปขอผลงานยากมากก









คำถามสุดท้ายค่ะอาจารย์ พี่ที่ออฟฟิศฝากถามว่าแล้วงานศิลปะตามผนังถ้ำสมัยยุคถ้ำถือเป็นอาร์ตบรูตไหมคะ อาจารย์บอกว่า อันนี้บอกไม่ได้เพราะไม่รู้เรื่องของศิลปินคนวาดว่าเขามีความรู้ทางศิลปะมาก่อนรึเปล่า


มาถึงตอนนี้ฉันก็เริ่มเข้าใจแล้วว่าทำไมการดูงานของศิลปินอาร์ตบรูตมันถึงสนุก เพราะเรื่องราวที่ควบคู่มากับศิลปินมันเลยทำให้เราทั้งทึ่ง ทั้งแอบจินตนาการว่าเพราะอะไรทำไมงานถึงเป็นแบบนี้


ยังมีผลงานของศิลปินอีกหลายท่านที่น่าสนใจมากๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยทางอารมณ์ที่เวลาโมโหต้องวาดภาพแล้วภาพออกมาสวยงามมากเป็นโทนเดียวกันหมดเป็นร้อยๆ ชิ้น หรือจะเป็นงานของคุณเข้ม คนเร่ร่อนที่ชื่นชอบการประกวดนางงาม เลยทำให้เขาวาดภาพนางงามออกมาในสไตล์ของตัวเอง


 

นิทรรศการ Thailand and Japan ART BRUT : Figure of Unknown Beauty “ความงามนิรนาม” เปิดให้เช้าชมฟรี ตั้งแต่วันนี้จนถึง 3 พฤศจิกายน 2562 (ปิดทุกวันจันทร์)

ที่ห้องนิทรรศการชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) BTS: สนามกีฬา www.bacc.or.th @baccbangkok

bottom of page