ค้นคว้า แปลและเรียบเรียง โดย โน้ต พงษ์สรวง @dudesweetworld
เช้าวันนี้ (4 สิงหาคม) เมื่อ 73 ปีที่แล้วในปี 1944 ชาวยิว 8 คนที่ซ่อนตัวหนีการกวาดล้างของนาซีบนห้องใต้หลังคา ได้แก่ครอบครัวของแอนน์ แฟร้งค์ 4 คนและครอบครัวอื่นอีก 4 คน ถูกนาซีบุกจับเข้าค่ายกักกัน เมื่อสงครามสิ้นสุดในปีต่อมา มีเพียงอ๊อตโต้ แฟร้งค์ ผู้เป็นพ่อของแอนน์ แฟร้งค์ที่รอดชีวิต ส่วนเด็กหญิงแอนน์เสียชีวิตอย่างทรมานด้วยไข้ไทฟอยด์ในค่ายกักกัน แบร์กเกิ้น-เบลเซิ่น ทางตอนเหนือของเยอรมันนี ในเดือนมีนาคม 1945 ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดเพียง 6 เดือน ตอนนั้นเธออายุเพียง 15 ปี
ไดอารี่ของแอนน์ แฟร้งค์กระจัดกระจายอยู่บนพื้นในวันที่นาซีเข้าบุกจับ ต่อมา เมี้ยป กีส์ และ เบ็ป วอสคุยส์ เลขานุการสองคนที่ทำงานในตึก และเป็นผู้คอยดูแลชาวยิวที่ซ่อนตัวอยู่ชั้นบน เป็นคนพบและรวบรวมเก็บไว้ในลิ้นชักโดยไม่ได้อ่าน เมื่อสงครามสิ้นสุดและรู้ว่าแอนน์ไม่มีวันกลับมาอีกแล้ว เธอจึงมอบให้อ๊อตโต้ผู้เป็นพ่อ
สมุดไดอารี่เหล่านั้น กลายมาเป็นหนังสือเล่มสำคัญที่สุดฉบับหนึ่งของโลก ไม่เพียงเพราะมันตีแผ่ความโหดร้ายของมนุษย์ด้วยกัน แต่ยังทรงพลังด้วยความอัจฉริยะด้านการเขียนเด็กหญิงวัย 15 ปี ที่หากเธอมีชีวิตรอดจากสงคราม เธออาจเป็นอีกหนึ่งนักเขียนคนสำคัญของโลก
“ฉันบอกไม่ได้ ว่าฉันรู้สึกอย่างไรกันแน่ นาฑีหนึ่งต้องการความเงียบสงบ นาฑีต่อมาอยากสนุกสนานคึกคัก เราลืมเสียแล้ว ว่าหัวเราะอย่างไร หมายถึงหัวเราะมากๆ อย่างที่หยุดไม่ได้น่ะ” – 8 ก.พ. 1944
อยู่ในคุกยังมีที่ให้เดิน มีผู้คนมากมายให้เจอ แต่ลองจินตนาการตัวคุณอยู่แต่ชั้นสอง ชั้นสาม และห้องใต้หลังคาของตึกขนาด 2 คูหาเป็นเวลา 2 ปี ลงไปเหยียบถนนไม่ได้ แง้มม่านหน้าต่างยืนชมวิวก็ไม่ได้ ทุกวันและทั้งวันเจอคนอยู่แค่ 8 คน
ฮิตเลอร์กล่าวหาว่ายิวเป็นตัวการทำให้เยอรมันนีแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 สิบปีก่อนสงครามโลกครั้งที่สองจะปะทุ ชาวยิวในเยอรมันนีถูกลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ลงไปเรื่อยๆ เริ่มด้วยการสั่งเผาหนังสือที่แต่งโดยคนยิว ต่อด้วยตำรวจเลิกให้ความปลอดภัยชาวยิว / ยิวห้ามขับรถ ขึ้นรถเมล์ ขี่จักรยาน / ยิวห้ามเดินบนฟุตบาท / ยิวซื้อของได้แค่ในร้านยิวด้วยกัน
ยิ่งนานวันก็ยิ่งหนัก ยิวห้ามมีพิมพ์ดีด / ห้ามเลี้ยงสัตว์ / ห้ามใช้โทรศัพท์สาธารณะ / ยิวห้ามเข้าโรงหนัง โรงละคร โรงแรม สระว่ายน้ำ สวนสาธารณะ ร้านอาหารหรือรีสอร์ท / ห้ามออกนอกประเทศ / ยิวห้ามมีการศึกษา
สุดท้ายเมื่อสงครามเริ่มในปี 1942 ความเป็นมนุษย์ของชาวยิวก็ไม่เหลือชิ้นดี พวกเขาถูกจับกล้อนผม ยกเลิกการใช้ชื่อ แต่เรียกด้วยตัวเลขตามรอยสักบนแขนที่นาซีจับไปตีตราเหมือนสัตว์ ชาวยิวในประเทศที่นาซียึดครองถูกกวาดเข้าค่ายกักกันหฤโหดหลายแห่ง เอาไปฆ่าด้วยการรมแก๊สพิษทั้งเป็น ไม่เว้นแม้แต่เด็กเล็ก ศพเอาไปเผาทิ้งรวมกันเหมือนขยะ ชาวยิวถูกฆ่าอย่างทรมานในสงครามโลกครั้งที่สองกว่า 6 ล้านคน เทียบได้กับจำนวนประชากรภาคเหนือของไทยทุกจังหวัดรวมกัน
บันทึกเช้าวันที่นาซีบุกจับแอนน์ แฟร้งค์และคนในที่ซ่อน รวบรวมจากการให้สัมภาษณ์ของคนในเหตุการณ์
กรุงอัมสเตอร์ดาม วันที่ 4 สิงหาคม 1944
ช่วงสายของวันนั้นอากาศอบอุ่นและสงบนิ่ง น้ำในคลองหน้าบ้านเลขที่ 263 ถนนพริ้นเซิ่นกรัคต์ไหลเอื่อย แสงแดดปะทะคลื่นน้ำวิบวับ แล้วสะท้อนทะลุหน้าต่าง เป็นเส้นแสงเต้นพริ้วอยู่บนเพดานชั้นหนึ่งของตัวอาคารที่เป็นบริษัทค้าเครื่องเทศและสารสกัดจากผลไม้
ในนั้น พนักงานสามคนกำลังทำงานก๊อกแก๊ก เบ็ป วอสคุยส์ พนักงานพิมพ์ดีดวัย 25 ปีจดจ่อกับการกรอกสมุดบัญชีสินค้า ส่วนอีกสองคนคือนางเมี้ยป กีส์ วัย 35 ปี และนายโจฮาเนส ไคลน์แมน วัย 48 ปี ก็ทำงานของตัวเองเงียบๆ ไม่มีใครสังเกตเสียงรถที่มาจอด เพราะริมคลองมีรถทุกประเภทมาจอดเป็นปรกติทุกวันอยู่แล้ว ต่อให้มาจอดหน้าตึกก็ไม่มีใครสนใจ
เบ็ปเล่าว่า “ฉันได้ยินเสียงประตูชั้นนอก (ประตูอาคารฝรั่งมักมีสองชั้น คือประตูหน้าบันไดติดถนน ที่เปิดมาเจอทางเดินไปสู่ประตูออฟฟิศ) ปกติเราก็มีคนมาส่งของอยู่แล้ว เพียงแต่ครั้งนี้ฉันได้ยินเสียงฝีเท้าคนหลายคน”
ประตูออฟฟิศถูกผลักเปิด นายตำรวจตัวผอมสูงในเครื่องแบบนาซีสีเทา สวมรองเท้าบู๊ตสูงเกือบถึงเข่า ส่องปืนยาวมาทางพนักงานทั้งสาม “นั่งเงียบๆ ห้ามขยับ!” เขาสั่ง แล้วออกไปจากออฟฟิศ ปล่อยให้ทั้งสามนั่งทื่อ ทำอะไรไม่ถูก เมี้ยปเสียงสั่นพูดกับเบ็ปว่า “เราโดนจนได้แล้วเบ็ป”
ในออฟฟิศอีกห้อง นายวิคเตอร์ คูเกล้อร์ ได้ยินเสียงฝีเท้าจากทางเดินด้านนอก ก่อนมาหยุดหน้าประตู แล้วประตูก็ถูกผลักเปิด ตำรวจเกสตาโปสี่นายก้าวเข้ามาในห้อง วิคเตอร์เล่าว่าจำชื่อไม่ได้ทั้งหมด ยกเว้นนายคนที่เป็นหัวหน้า ชื่อ คาร์ล โยเซฟ ซิลเบอร์บาวเออร์
“ใครเป็นเจ้าของที่นี่” คาร์ลถามเสียงดังด้วยสำเนียงออสเตรีย นายวิคเตอร์บอกชื่อและเบอร์โทรเจ้าของบ้าน “ผมไม่ได้อยากรู้เรื่องนั้น ผมถามว่าใครเป็นคนดูแลที่นี่!“ “ผมเอง” วิคเตอร์ตอบ
นาซีนายหนึ่งเดินเข้ามาที่โต๊ะของวิคเตอร์ แล้วพูดว่า “เรารู้หมดแล้ว มีคนแจ้งเรื่องคุณแล้ว เรารู้ว่าคุณให้ที่หลบซ่อนพวกยิว พวกมันอยู่ในตึกนี้ พาเราไปเดี๋ยวนี้”
นายวิคเตอร์รู้สึกสะท้านจนเหงื่อซึมตีนผม วันที่น่ากลัวที่สุดได้มาถึงแล้ว เขาคิด แล้วลุกออกจากโต๊ะ นาซีทั้งสี่คนเดินตามเขาไปในทางเดินแคบในตึก แล้วขึ้นไปชั้นสองของออฟฟิศ ที่สุดทางเดินชั้นสองมีชั้นหนังสือตั้งอยู่
“ตอนนั้น ถ้าดูจากภายนอกผมก็ดูสงบนิ่งมีสติดี” เขาเล่า “แต่ข้างในกลัวแทบคลั่ง เรามาถึงจุดแตกหักแล้ว”
นายวิคเตอร์ชี้ไปที่ชั้นหนังสือที่อัดแน่นด้วยแฟ้มเอกสาร สันแฟ้มเขียนชื่อบริษัท “Opeckta” และ “Pectacon” นาซีสามนายเข้าไปเขย่าขั้นหนังสือ แต่มันก็ไม่เขยื้อน “ชั้นหนังสือไม่ขยับเลยสักนิ้ว พวกเขาช่วยกันเขยื้อนครั้งแล้วครั้งเล่าแต่ก็ไม่เป็นผล แต่สุดท้ายก็เจอตะขอที่ล็อคตู้ไว้ พอปลดตะขอ เขาก็ช่วยกันเลื่อนตู้ออก…”
หลังชั้นหนังสือคือประตูสีเทา นาซีนายหนึ่งบิดลูกบิด เผยให้เห็นบันไดแคบทอดขึ้นไปสู่ความมืดของชั้นบน ถึงตอนนี้ นายคาร์ลควักปืนออกมาจี้กลางหลังนายวิคเตอร์ “ไป” เขาสั่ง
นายวิคเตอร์เดินนำทั้งหมดขึ้นบันได เมื่อไปถึงห้องที่อยู่ปลายบันได หญิงยิวผมสีเข้มยืนอยู่ที่โต๊ะ สีหน้าหวาดผวาและสับสน
“เกสตาโปมาค้นแล้ว” นายวิคเตอร์บอกเธอ
จนบัดนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ ว่าใครคือคนแจ้งนาซีว่ามีชาวยิวหลบซ่อนอยู่ที่นี่
ที่ด้านล่าง นาซีหนึ่งนายค้นข้าวของในออฟฟิศกระจัดกระจาย เมี้ยป, เบ็ป และนายไคล์แมนยังคงนั่งนิ่งตามคำสั่ง สักพักนาซีก็ให้นายไคล์แมนพาเขาไปค้นห้องทำงานของนายวิคเตอร์
ระหว่างนั้นนายวิคเตอร์กลับลงมาในออฟฟิศคนเดียว เขายื่นกระเป๋าสตางค์ให้เบ็ปแล้วใช้เธอเอาไปให้เพื่อนเขาที่ร้านขายยา “บอกเขาให้เอาไปให้เมียผมด้วย” ที่วิคเตอร์ทำอย่างนั้น เพื่อให้เบ็ปหนีไปจากที่นี่ และก่อนจะเดินไปที่ห้องทำงาน วิคเตอร์ยัดกุญแจสำนักงานใส่มือเมี้ยปพร้อมกระซิบว่า “รีบออกไปซะ ตอนนี้เธอช่วยใครไม่ได้แล้ว แต่เธอช่วยตัวเองให้รอดได้”
เมื่อวิคเตอร์เดินจากไปจึงเหลือนางเมี้ยปอยู่คนเดียวในห้อง นางยังคงนั่งนิ่งไม่ไปไหน เมื่อสงครามสิ้นสุดและนักข่าวถามถึงเหตุการณ์ในวันนั้น ว่าเคยวางแผนรับมือสถานการณ์นี้อย่างไรบ้าง นางตอบว่า “ไม่มีเลย เพราะเรามั่นใจกันมากว่ามันไม่มีทางเกิดขึ้น”
ที่ขั้นสามของตึก นายอ๊อตโต้ แฟร้งค์กำลังตรวจคำสะกดภาษาอังกฤษให้ ปีเตอร์ วานเพล เด็กหนุ่มวัย 18 ปีที่ซ่อนตัวอยู่ด้วยกัน เมื่อเขาได้ยินเสียงฝีเท้าจากด้านล่าง เขากระโจนตัวลุกขึ้นยืนด้วยความผวา ประตูกระแทกเปิดออก ตำรวจนาซีชี้ปลายกระบอกปืนมาที่ทั้งคู่ “ยกมือขึ้น!”
นาซีสองนายเข้ามาค้นตัวทั้งคู่ เมื่อไม่พบอาวุธ จึงเอาปืนจี้สั่งทั้งคู่ให้เดินนำไปห้องอื่นๆ ทั้งหมดเดินไปที่ห้องนอนของพ่อแม่ปีเตอร์ และพบนายและนาง วานเพล กับนายฟริตซ์ เฟ็ฟเฟ่อร์ ยืนยกมือเหนือศีรษะ นาซีหนึ่งนายชี้ปืนไปที่คนทั้งสาม สั่งว่า “ลงไปข้างล่าง”
ในห้องของครอบครัวแฟรงค์ นางอีดิธ แฟร้งค์และลูกสาวสองคน คือมาร์กอทและแอนน์ยืนชูมือเหนือศีรษะ มาร์กอทสะอื้นเบาๆ นายคูเกล้อร์อยู่ในห้องนั้นด้วยกับนาซีคนที่สามและนายคาร์ลที่เอาปืนจ่อไปทางนางอีดิธ
“ผมคิดไม่ออกจริงๆ ว่ามันจะเป็นอย่างไรตอนที่เขาค้นเจอพวกเรา” อ๊อตโต้พูดหลังรอดชีวิตจากค่ายกักกัน “เพราะมันไม่มีทางนึกออกจริงๆ แต่แล้ววันหนึ่งมันก็เกิดขึ้นจนได้”
นายคาร์ลมองมาที่อ๊อตโต้ด้วยสายตาดุดัน “เก็บของมีค่าไว้ที่ไหน” เขาถาม
อ๊อตโต้ชี้ที่ลิ้นชัก คาร์ลหยิบกล่องใส่เงินขนาดเล็กออกมา ข้างในเป็นจิวเวลรี่สองสามชิ้นกับม้วนธนบัตร เขามองไปรอบห้อง แล้วคว้ากระเป๋าเอกสารของอ็อตโต้บนพื้น เทของในกระเป๋าทิ้งต่อหน้าเขาอย่างไม่ใยดี แล้วยัดของมีค่าที่ได้จากในลิ้นชักเข้าไปแทน พร้อมกับเครื่องเงินและเครื่องทองเหลืองที่อยู่ในห้อง ข้าวของในกระเป๋าที่คาร์ลเททิ้งคือ เอกสาร ภาพถ่าย อัลบั้มรูป และไดอารี่ของแอนน์ แฟร้งค์
“มีอาวุธหรือเปล่า” เขาถามเมื่อปิดกระเป๋า อ็อตโต้ส่ายหน้า “ดีมาก ไปเตรียมตัวแล้วกลับมาที่นี่อีกห้านาที”
ผู้หลบซ่อนทั้งแปดคนแยกย้ายกันไปหยิบสัมภาระของตัวเอง ครอบครัวแวนเพลเดินขึ้นชั้นบนไปหยิบถุงนอน ช่วงเวลาสองปีของการซ่อนตัวที่นี่ สิ่งที่ผู้หลบภัยกลัวนอกจากการถูกนาซีบุกค้นแบบนี้ คือไฟไหม้ ด้วยเหตุนี้ ทุกคนจึงมี ‘ถุงฉุกเฉิน’ พร้อมสำหรับกรณีที่ต้องออกจากที่ซ่อนกระทันหัน และแน่นอนว่าถ้าต้องออกไปจริงๆ พวกเขาก็ไม่รู้ว่าจะไปซ่อนตัวกันที่ไหนได้อีก
แอนน์แยกไปกับนายเฟ็ฟเฟ่อร์และนางอีดิธ ปล่อยให้นายอ๊อตโต้ และนายคูเกล้อร์อยู่กับคาร์ลในห้อง คาร์ลเดินสำรวจห้องขณะที่อ๊อตโต้เก็บข้าวของ แผนที่บนผนังมีหมุดปักแสดงความคืบหน้าของทหารฝ่ายสัมพันธมิตร ด้านข้างแผนที่เป็นเสาที่มีรอยดินสอขีดเป็นเส้นแนวนอนพร้อมตัวหนังสือกำกับ ‘A, 1942’, ‘A, 1943’, ‘A, 1944’
“สองปี!” คาร์ลทวนคำตอบด้วยความประหลาดใจอย่างมาก เมื่ออ๊อตโต้บอกเขาว่าซ่อนตัวอยู่ที่นี่มากี่ปี “ไม่จริง ผมไม่เชื่อ” อ๊อตโต้ชี้ให้คาร์ลดูรอยขีดบนเสา “นั่นขีดวัดความสูงลูกสาวคนเล็กของผมระหว่างที่เราอยู่กันที่นี่” แล้วคาร์ลก็ต้องประหลาดใจหนักขึ้นไปอีก เมื่อพบหีบสัมภาระทหารสีเทาวางอยู่ระหว่างเตียงกับหน้าต่าง “ไปเอามาจากไหน” เขาถาม
“ของผมเอง” อ็อตโต้ตอบ “ผมเคยเป็นทหารยศพลโทของกองทัพเยอรมันตอนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง”
“แล้วทำไมคุณไม่ไปรายงานสถานะ!” คาร์ลตวาดหน้าแดงก่ำ “ถ้าบอกเขา ป่านนี้ก็ได้ส่งไปอยู่สบายๆ ที่ค่ายแทรสเซ่นสตราดท์ ไม่ต้องมาลำบากซุกซ่อนแบบนี้!” คาร์ลจ้องหน้าอ๊อตโต้แน่นิ่งเหมือนรอคำตอบ แต่อ๊อตโต้ไม่พูดอะไร
นายคูเกล้อร์ระลึกเหตุการณ์ตอนนั้นว่า “ผมเห็นคาร์ลสับสนจนทำตัวไม่ถูก เขาดูจะเกรงใจคุณอ๊อตโต้ขึ้นมากทีเดียว ตอนนั้นผมคิดว่า ถ้าอ๊อตโต้ตะโกนขานชื่อเขา เขาอาจจะตบเท้าทำตะเบ๊ะคุณอ๊อตโต้ก็ได้”
คาร์ลหมุนตัวไปทางประตูแล้ววิ่งขึ้นไปดูชั้นบน สักพักก็กลับลงมาพร้อมตะโกนมาแต่ไกลด้วยน้ำเสียงที่ฟังดูเย็นลงว่า “ไม่ต้องรีบนะ ไม่ต้องรีบ ยังมีเวลา” แล้วหันไปสั่งลูกน้องแบบเดียวกัน
อ๊อตโต้เผยความรู้สึกในวันนั้นทีหลังว่า “ผมคิดว่าถ้าวันนั้นเขามาแค่คนเดียว เขาอาจปล่อยเราไปก็ได้”
สัมภาษณ์คาร์ล โจเซฟ ซิลเบอร์บาวเออร์ ในหนังสือพิมพ์ดัทช์ในปี 1963
คุณรู้สึกผิดกับสิงที่ทำลงไปไหม แน่นอนสิ ผมเสียใจกับเรื่องนั้น บางทีผมก็รู้สึกเหมือนคนสังคมรังเกียจ เดี๋ยวนี้ทุกครั้งที่ผมจะขึ้นรถราง ผมจะซื้อตั๋วเอา เพราะไม่กล้าโชว์บัตรตำรวจ
แล้วเรื่องแอนน์ แฟร้งค์ล่ะ คุณได้อ่านไดอารี่ของเธอบ้างหรือยัง ผมเพิ่งซื้อหนังสือของเธอเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเพื่อดูว่ามันมีชื่อผมอยู่ในนั้นหรือเปล่า แต่ก็ไม่มี
คนหลายล้านคนได้อ่านไดอารี่ของเธอก่อนคุณ ซึ่งคุณที่อยู่ในเหตุการณ์ควรจะได้อ่านก่อนพวกเขานะ ก็จริงครับ ผมไม่เคยคิดเรื่องนี้เลย บางทีผมน่าจะกล้าอ่านมันตั้งนานแล้ว…
ที่ห้องใต้หลังคา แอนน์ตบไหล่ปลอบใจพ่อของเธอ แล้วหอบข้าวของทั้งหมดไว้แนบหน้าอก อ๊อตโต้ช่วยแยกอย่างว่องไวแล้วบอกเธอว่าควรจะเอาอะไรไปบ้าง
อ๊อตโต้: “แอนน์เดินไปเดินมารอบห้อง ไม่ได้เหลือบหาไดอารี่ของเธอด้วยซ้ำ บางทีเธอตอนนั้นเธอคงมั่นใจว่ามันกระจัดกระจายหายไปหมดแล้ว”
มีเพียงเสียงข้าวของกระทบกัน ทุกคนเงียบงัน ไม่มีใครพูดจาหรือแสดงอารมณ์ใดๆ เมื่อทั้งแปดคนพร้อมแล้ว พวกเขาก็เดินแถวเรียงเดี่ยวไปตามทางเดินแคบๆ และลงบันไดแคบๆ ไปที่ออฟฟิศชั้นล่าง เมื่อทุกคนก้าวพ้นประตูตู้หนังสือ เกสตาโปนายหนึ่งก็ปิดประตู แล้วดันตู้หนังสือกลับตำแหน่งเดิม
นางเมี้ยปที่อยู่คนเดียวในออฟฟิศ ได้ยินเสียงฝีเท้าของทั้งแปดคนเดินลงมาจากบันไดไม้ด้านหลัง เธอรู้สึกว่าเสียงนั้นมันช่างโหดร้ายและเศร้าสลดเหมือน “หมาบาดเจ็บและจนตรอก”
แล้วทุกคนก็มายืนรวมกันอยู่กลางออฟฟิศ ท่ามกลางเฟอร์นิเจอร์โก้หรูที่นายอ๊อตโต้เป็นผู้เลือกมันทั้งหมดด้วยความภาคภูมิเมื่อหลายปีก่อน ตอนนั้นคูเกล้อร์กลับเข้ามาในห้องนั้นอีกครั้ง ตามด้วยนายไคล์แมน ตำรวจนาซียืนอยู่ระหว่างชายทั้งสอง ยิงคำถามสารพัด แต่คำตอบที่ได้ก็มีเพียง “ผมไม่มีอะไรจะพูด”
“ได้!” นายคาร์ลประชด “ถ้างั้นก็ไปด้วยกันก็แล้วกัน”
ฌาน กีส์ สามีของนางเมี้ยปยืนอยู่กับน้องชายของนายไคล์แมนที่อีกฟากของฝั่งคลอง รถตู้ไม่มีหน้าต่างของตำรวจมาหยุดที่หน้าบ้านเลขที่ 263 ถนนพริ้นเซิ่นกรัคต์ มีผู้คนมากมายยืนมุงดูเหตุการณ์
นายคูเกล้อร์และนายไคล์แมนเป็นสองคนแรกที่ก้าวออกมาจากตึก ตามด้วยผู้หลบซ่อนทั้ง 8 ที่วันนี้พวกเขาได้ออกมาเจอแสงแดด และอากาศสดชื่นเป็นครั้งแรกในรอบสองปี
อ๊อตโต้: “เสมียนสองคนของบริษัทเรายืนรอเราอยู่ที่ประตูหน้า แต่ผมไม่ได้มองเขาตรงๆ ตอนที่เดินผ่าน แต่ตอนนี้ในความทรงจำของผม ผมเห็นแค่สีหน้าที่ซีดสลดและไร้ความรู้สึกของทั้งคู่”
ในรถตู้ที่มีที่นั่งยาวสองฝั่งหันหน้าเข้าหากัน นายไคล์แมนนั่งที่หัวแถวหลังคนขับ เขาต้องแปลกใจที่เงยหน้ามาเจอชายยิวคนหนึ่งนั่งหน้าสลดอยู่ก่อนแล้ว คนขับรถหันมาบอกไคล์แมนเบาๆ ว่า “อย่าไปคุยกับมัน ไอ้คนนี้ก็โดนเหมือนกัน” แล้วประตูท้ายรถก็ประกบปิดสนิท แล้วความมึดก็เข้าปกคลุมภายในรถ
ที่ห้องใต้หลังคา แสงแดดของเดือนสิงหาคมยังคงสาดส่องเข้าไปถึงพื้นห้องอย่างไม่สนใจว่าที่นี่เกิดเรื่องอะไรขึ้น แผ่นกระดาษ ข้าวของ ลิ้นชัก และกระเป๋าเอกสารที่นาซีรื้อไว้กระจัดกระจายไปทั่วพื้นห้อง ไม่มีสิ่งมีชีวิตใดๆ อยู่ในห้องนี้อีกแล้ว
ท่ามกลางข้าวของกระจุยกระจายระเกะระกะ คือภาพถ่ายและแผ่นกระดาษที่พร้อยด้วยลายมือปากกาหมึกซึมเต็มพรืดทั้งแผ่น ภาพถ่ายบางภาพมีลายมือเดียวกันเขียนกำกับว่า “นี่คือภาพถ่ายของฉัน ฉันอยากจะหน้าตาแบบนี้ไปตลอด…”, “รูปนี้เมื่อเดือนกรกฏาคม 1939… มาร์กอทกับฉันเพิ่งขึ้นจากน้ำและตอนนี้ยังจำได้ว่ามันหนาวยะเยือกขนาดไหน…“
ท่ามกลางกองข้าวของบนพื้นนั้น ยังมีสมุดบันทึกปกแข็ง และเล่มอื่นๆ ที่เปิดค้างอยู่ในความเงียบงันของห้อง ด้านในของสมุดเหล่านั้น มีลายมือเจ้าของเขียนเล่าเรื่องราวและความรู้สึกของเธออย่างซื่อตรง บันทึกที่เต็มไปด้วยความหวัง ว่าสักวันเธอจะได้พบกับความสนุก อนาคตที่สดใส และอิสระเสรีภาพแบบที่เด็กหญิงวัย 15 ปีอย่างเธอพึงได้รับ
“บรรยากาศทั่วไปดูกดดัน ทึม และหนักดุจตะกั่ว ไม่ได้ยินเสียงนกร้องจากข้างนอกสักตัว รู้สึกราวกับล้อมรอบด้วยความสงัดเงียบ คล้ายกับตัวเองกำลังถูกดึงให้จมสู่ใต้โลกอันแสนลึก…ฉันไม่อยากตอบสนองเสียงใดๆ อีกต่อไปแล้ว ฉันตรงไปนอนที่ม้ายาว อยากหลับ เพื่อให้เวลาผ่านไปเร็วขึ้น และพ้นจากความสงัดเงียบและน่ากลัว เพราะไม่มีทางใดจะกำจัดสิ่งเหล่านี้” – แอนน์, ศุกร์ที่ 29 ตุลาคม 1943
ในสมุดบันทึกเล่มสุดท้าย ลายมือเจ้าของเขียนไว้ที่หน้าแรกว่า “ห้องลับใต้หลังคา, บันทึกของแอนน์ แฟร้งค์ ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 1944 ถึง…” เจ้าของได้จากไดอารี่นั้นไปในวันที่ 4 สิงหาคม 1944 และไม่เคยกลับมาอีกเลย
อ้างอิง – “บันทึกลับของแอนน์ แฟร้งค์” (2542, สำนักพิมพ์ผีเสื้อ) แปลโดย สังวรณ์ ไกรฤกษ์ – Anne Frank House – Roses from the Earth: The Biography of Anne (Penguin Books, 1999), by Carol Ann Lee – Women in the Holocaust (1998) by Dalia Ofer, Lenore J. Weitzman – The Twisted Road to Auschwitz (1970) by Karl Schluenes – Nazi Germany and The Jews (HarperCollins, 1997) by Saul Friedlander
Comments