top of page
  • Black Facebook Icon
  • Instagram

Welcome to the world where truth doesn't hurt

นักขโมยป้ายหาเสียงเซ็ง ป้ายเลือกตั้งรอบนี้ไม่เลอค่าเร้าใจ ขโมยไปก็รกบ้าน

เรื่อง ปรชน สาธานนท์ @spacenoid

 

เรื่องเล่าว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของป้ายเลือกตั้ง


ถ้าเราสังเกตป้ายเลือกตั้งในปัจจุบันจะเห็นว่าทำจากไวนิลจีนปริ๊นต์อิงค์เจ็ตแล้วขึงบนไม้โครงหนาหนึ่งนิ้ว เห็นว่ามีคนจ้องป้ายสีสวยๆ บอกว่าหมดเลือกตั้งจะไปเด็ดมารีไซเคิลเป็นถุงกระเป๋าสไตล์ Freitag ป้ายหาเสียงเป็นสิ่งที่มีค่ากับคนหลายกลุ่มมาตลอด เราจะเริ่มย้อนเวลาเพื่อวิเคราะห์วัสดุและประโยชน์ของป้ายหาเสียงเมื่อสิ้นสุดหน้าที่ๆ แท้จริงของมันกัน

แบรนด์ Frietag ที่ร่ำรวยจากการเอาไวนีลเหลือใช้มาทำกระเป๋าขาย

ตามกฎหมายเลือกตั้ง ป้ายหาเสียงจะต้องถูกถอนออกจากถนนและที่ต่างๆ ก่อนวันเลือกตั้ง 24 ชั่วโมง ดังนั้นก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวันหรือที่เรียกกันว่าคืนหมาหอน จะเป็นวันที่เหล่า “hunter” ออกล่าป้ายก่อนที่พวกมันจะโดนเจ้าของตัวจริงเขามาถอนออก และด้วยช่องโหว่ของกฏหมายเรื่องเวลาการเก็บและทำลายป้ายนี้เอง ทำให้เกิดช่วงเวลาแห่งกฎหมายสีเทาๆ ว่าการไปเก็บป้ายที่ติดตั้งล่วงเวลาที่กำหนดนั้น เป็นการผิดกฎหมายหรือเป็นการช่วยคืนพื้นที่สาธารณะ ดังนั้น hunter จะต้องมีการคำนวนและวางแผนเวลาอย่างถูกต้อง ไม่ให้โดนเจ้าของป้ายฟ้องได้ว่าเขายังมีสิทธิ์ติดป้ายอยู่

ป้ายเลือกตั้งปัจจุบัน

วัสดุ : ไวนิลคุณภาพต่ำปริ๊นต์อิงค์เจ็ต แล้วยิงแม็กซ์ลงบนโครงไม้คุณภาพต่ำ โดนส่วนตัวจากการเดินสำรวจมา ส่วนใหญ่จนเกือบทั้งหมดก็ว่าได้ จะเป็นไวนิลจากจีนถูกๆ บางๆ ไม่ทน ไม่เคลือบ ดูประหยัด แถมตากแดดมาอย่างต่ำ 30 วันแบบนี้ สภาพจึงดูไม่ค่อยจะโอเค ทีแรกก็คิดว่าพวกแผงร้านอาหารตามสั่งน่าจะเล็งไว้ แต่ความจริงคือร้านพวกนี้เขาก็มีป้ายโฆษณาสินค้าต่างๆ มาเปลี่ยนให้ประจำอยู่แล้วเดี๋ยวนี้เขาจึงไม่ค่อยสน ครั้นจะเอาไปคลุมกันแดดก็ไม่ค่อยโอเคอีก เพราะความบางของไวนิลและกรอบไม้ก๋องแก๋งที่โดนแดดหน้าร้อนแผดเผาเป็นเดือนๆ ส่วนพวกที่คิดจะเอาไปทำกระเป๋าตามเทรนด์ก็คงได้แค่ลุคอย่างเดียวแต่ฟังค์ชั่นไม่ค่อย ครั้งนี้ผมจึงปล่อยผ่านครับ ไม่พรีเมี่ยม

ป้ายหาเสียงเลือกตั้งยุคปัจจุบัน

ป้ายเลือกตั้งรอบก่อน (2011) (ภาพจาก krapook.com)

การเลือกตั้งรอบก่อน (ปี 2011)

วัสดุ: ไวนิลปริ๊นต์อิงค์เจ็ต และพิมพ์สี่สีออฟเซ็ตบน PP Board


ในส่วนอิงค์เจ็ต เมื่อห้าปีที่แล้ววัสดุนี้ยังจัดว่าแพงมากและยังไม่มีไวนิลจีนแบบห่วยๆ มาให้ใช้ คุณภาพผ้าจึงดี พิมพ์ได้สีแจ่มและใช้งานได้ทนทานกว่าปัจจุบัน แต่ที่โอเคกว่าไวนิลมากๆ คือ PP Board (หรือฟิวเจอร์บอร์ด) ซึ่งดีมากกกก เป็นที่ต้องการของหลายกลุ่มในเกมส์มาก ด้วยน้ำหนักที่เบา ทนทาน ปรับใช้งานได้เยอะ ด้านหลังที่เป็นสีขาวนี่คุณประโยชน์เต็มไปหมด ตัดก็ง่าย และตอนนี้ถ้าสังเกตดีๆ ก็ยังมีซากอารยธรรมเหลืออยู่ในที่ต่างๆ เพราะมันเป็นได้ตั้งแต่กระดานหมากรุกจนฝาบ้านทีเดียว ดีมากๆ เป็นป้ายที่มี demand มหาศาล

ป้ายหาเสียงเลือก PP Board ตอนเลือกตั้งปี 50 (12 ปีที่แล้ว) หรือยุคทักษิณ (ภาพ wikipedia)

การเลือกตั้งก่อนนู้น สมัยทักษิณเรืองอำนาจ

วัสดุ :พิมพ์สี่สีออฟเซ็ตบน PP Board

เป็นของดี demand สูง คุณประโยชน์เยี่ยม ช่วงนั้น PP Board หรือฟิวเจอร์บอร์ดคือของแพงและเป็นวัสดุที่ดีมาก เด็กนักศึกษาสายศิลปะและออกแบบชอบเอาไปใช้ตัดโมเดล หรือจะเอาไว้ใช้ทำบอร์ดแปะรูปพรีเซ็นต์งานส่งอาจารย์ก็ดูงดงามเรียบร้อยหรูหรากว่ากระดาษชานอ้อย ยืนพรีเซ็นต์งานหน้าห้องก็มีหน้านักการเมืองสบตาอยู่ด้านหลังเป็นเหมือนผู้สนับสนุนอุ่นใจ จะใช้รองตัดกระดาษก็เข้าที หรือใครต้องนอนที่คณะจะใช้รองนอนก็ handy ถือว่าเป็นขวัญใจคนศิลป์ๆ ทีเดียว ผมเองช่วงที่เรียนอยู่นี่ก็ออกล่าหนักเลย จำได้ว่ามีของไทยรักไทยหน้าทักษิณอย่างเหลี่ยมอยู่ด้านหลัง เห้ยยยยย ทักษิณนี่เป็นท่อน้ำเลี้ยงมาตั้งแต่ตอนนนั้นเลยเรอะ! ว้าววววว

ไม่มีรูปป้ายหาเสียงยุค 90s เจอแต่อันนี้ที่มาจากปี 1976 เห็นแล้วอยากนั่งไทมน์แมชชีนไปเด็ดมาก (ภาพ wikipedia)

ช่วงยุค 90s

วัสดุ :ไม้อัดยางหนา 2 มม. ตีโครงไม้หน้าสาม เทคนิคการพิมพ์หลากหลาย มีทั้งสกรีนอย่างเดียว หรือแบบเทคนิคสื่อผสม เช่นสกรีนตัวหนังสือบวกแปะภาพถ่าย บ้างก็เขียนมือ


มาร่วมระลึกชาติยุคทองแห่งการล่าป้ายเลือกตั้งด้วยกัน บางคนอาจยังไม่เกิดเลยแม่เจ้า ผมเองก่อนรุ่นนี้ผมก็จำไม่ได้แล้วเหมือนกัน แต่ล่าป้ายนี่เรียกได้ว่าเป็นอาชีพแรกในชีวิตผมเลย (ตอนนั้นเพิ่งขึ้น ม. ปลาย) น้องเอ๋ย ขอพี่เล่าว่า hunter มืออาชีพเขาออกรถกะบะเพื่อล่ากันจริงจังมาก ช่วงนั้นนี่ความต้องการสูงสุดๆ การเเข่งขันสูงเหี้ยๆ เพราะคุณภาพมันดีระดับที่ชาวบ้านเอาไปทำฝาบ้านได้สบายๆ เหนื่อยล้าจากงานหนักกลับบ้านมานอนกระดิกตีนดูหน้าเนวินช่วงยังไม่ evolve ส่วนเฉลิมยังเล่นการเมืองแบบใส่เต็ม บิ๊กจิ๋วนั้นหรือก็ยังหวานเจี๊ยบ โอ้โห ป้ายรุ่นนี้นี่สุดๆ แล้ว ใครๆ ก็อยากได้ ไม่ได้อยากได้หน้านักการเมืองนะครับ อยากได้ไม้อัดเอาไปทำนู่นนี่


ยุค 90s นี่อะไรๆ ก็คุณภาพดีไม่ฉาบฉวย ป้ายหาเสียงยังทนทานขนาดที่นี่ก็ผ่านมายี่สิบกว่าปีแล้วบางบ้านยังมีอยู่ เพราะจริงๆ มันคือวัสดุก่อสร้างแบบจริงจังตลาดจึงต้องการมาก และไม่เฉพาะชาวบ้านที่อยากได้ไปใช้ในครัวเรือน พวกนักศึกษาก็มีเยอะ แต่พวกนี้จะเอามาใช้งานกิจการของคณะมากกว่าใช้ส่วนตัว เช่นไปเก็บมากลิ้งสีทับไว้ก่อน แล้วพอมีงานอะไรที่ต้องเขียนป้ายคัตเอาท์ ป้ายพวกนี้มันก็พร้อมใช้ทันทีเพราะมีโครงไม้ตีไว้ให้เรียบร้อยแล้ว ถ้าจะตีโครงเพิ่มเพื่อซ่อมเสริมความแข็งแรงก็แล้วแต่สภาพ แต่ป้ายรุ่นนี้อายุการใช้งานดีมาก re–use ทาทับแล้วเขียนใหม่ได้หลายรอบสบายๆ ตั้งแต่งานรับน้อง กลิ้งสีใหม่แล้วใช้งานไหว้ครู กลิ้งรอบที่สามใช้เขียนป้ายงานกิ๊ฟต์ พอถึงงานเปิดบ้านก็กลิ้งแม่งอีก กลิ้งรอบที่แปดตอนงานรับปริญญาช่วงจบปีการศึกษา หมดงานรับปริญญาเผลอๆ ยังกลิ้งทับเขียนป้ายงานรับน้องปีการศึกษาใหม่วนไปได้อีกรอบ

ส่วนชาวสเก็ตบอร์ดนี่โคตรรักเลย เพราะเอามาทำแลมป์เสก็ต จนถึง half pipe โคตรมันส์ สาย DIY ก็ชอบเอามาเก็บกองไว้หลังบ้านก่อน เดี๋ยวค่อยคิดว่าจะใช้ทำอะไร ป้ายรุ่นนี้นี่ล่ะ golden time ของป้ายเลือกตั้งของจริง ไม่มีคำว่าเหลือหรือทิ้ง ตกบ่ายก่อนวันเลือกตั้งก็หายหมดแล้ว การเด็ดนั้นก็ง่าย แค่พาเพื่อนไปคน คีมตัดลวดอันนึง แบกอันหน้าบ้านใกล้สุดก่อนเลย


ขอมอบรางวัลป้ายหาสียงที่เท่ที่สุดของปีนี้ ให้พรรคสามัญชน ที่ไม่ใช่แค่ประหยัด แต่ยังรักษาสิ่งแวดล้อมตามนโยบายพรรค

นี่คือเรื่องราวของป้ายเลือกตั้ง จริงๆ มันมีแบบย่อยๆ เช่นแบบฝาเข่งผักของลุงจำลอง ศรีเมืองซึ่งดู eco-friendly ถ้าเป็นตอนนี้ก็คงได้ยอดไลค์แต่ไม่เกิดประโยชน์ตอนหลัง และแบบอื่นๆ อย่างเช่นพี่โต้ สุหฤท ตอนลงผู้ว่า กทม. เขาทำเป็นถังขยะ อันนั้นผมว่าดีต่อส่วนรวมน่าจะมีคนทำอีก


มันมีแบบอื่นๆ อีกแต่จำไม่ค่อยได้แล้ว เออ จำได้แล้ว! มันมีช่วงที่เป็นกระดาษ แต่ไม่รู้ว่าเขาเอาไปทำอะไรได้แค่ไหน ที่จำได้คือมี hunters เช่นกัน จะเป็นแนวไปชั่งโลขายหรือไปรองเตาไรงี้


แค่นี้แหละช่วงเวลาของประชาธิปไตยของผม อย่าลืมไปเลือกตั้งกันนะครับ

コメント


bottom of page