top of page
  • Black Facebook Icon
  • Instagram

Welcome to the world where truth doesn't hurt

เราให้เด็กเนิร์ดไม่รู้เรื่องแฟชั่น ไปทำตัวเป็นเซเล็บสุดหล่อที่ Elle Fashion Week


และนี่คือผมในชุดที่ทำให้ผมรู้สึกทันสมัยเอาเสียมากๆ พี่แพ็ธ บรรณาธิการแฟชั่นจากนิตยสาร ELLE Men ที่เป็นคนแต่งตัวให้ผมบอกว่า “สีแดงเป็นสีประจำซีซั่นนี้” ซึ่งผมแปลได้ใจความว่า “ช่วงนี้สีแดงกำลังฮิต” แฟชั่นนี่เรื่องมากเสียจริง พูดให้เข้าใจง่ายๆ แค่นี้ก็ไม่ได้

 

ภาพ: บิณฑ์ บัวหมื่นชล @dogshakesdog Grooming: แพ็ธ-ณภัทร สุทธิธน @patsutithon

 

“หลักการของแฟชั่นคือการสื่อสาร คนเราใช้แฟชั่นสื่อสารจุดยืนและความเชื่อตั้งแต่ยังอยู่ในถ้ำ แล้วเอาสีทาหน้าทาเนื้อตัว หรือเอานี่นั่นมาร้อยเป็นสร้อยคอเพื่อความสวยงาม และเป็นเครื่องรางไปในตัว มันจึงไม่ใช่เรื่องของความถูกความแพง และไม่มีผิดมีถูก เพราะเป็นเรื่องการสร้างความสมบูรณ์แบบส่วนบุคคล”


นั่นเป็นคอนเซ็ปต์ที่ Third World เขาจะใช้เพื่อตอบโจทย์ Passion Für Perfektion ของเฟเดอร์บรอย (Federbräu) โดยใช้ผม–ผู้ที่ไม่ค่อยจะรู้เรื่องแฟชั่นเป็นหนูทดลอง เพื่อดูว่า ถ้าบางอย่างมันดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ แม้จะเป็นทางเลือกที่คนอื่นนำเสนอให้ ผมจะรู้สึกดีขึ้นหรือไม่ และได้เรียนรู้ความรู้สึกใหม่อย่างไรบ้าง


ก่อนหน้านี้ พอได้ยินคำว่าแฟชั่น ผมชอบเห็นภาพเว่อๆ ที่มีนางแบบใส่ชุดใหญ่ๆ นายแบบหล่อเหลาในชุดสูทผมเรียบแปร้ สวมรองเท้าหนังมันขลับจนเอามาส่องแทนกระจกได้เลย แฟชั่นเป็นโลกที่ผมไม่คิดว่าตัวเองมีธุระอะไรต้องแวะเข้าไป ดังนั้น พอคนที่ Third World ติดต่อมาว่าจะพาผมไป “แฟชั่นวีค” ภาพที่ผมเห็นจึงมีแต่ความเว่อวังอลังการ แต่ผมไม่เห็นตัวเองในนั้น


ผมชื่อ โยโย่ อายุ 22 ปี ผมทำงานวิศวกรโปรแกรมของบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลคอมพิวเตอร์ Sertis แถวพร้อมพงษ์ วันๆ ผมอยู่กับการวิเคราะห์ข้อมูล big data, deep learning, ปัญญาประดิษฐ์ เป็นงานที่มีแต่ตัวเลขวิ่งอลหม่านบนหน้าจอ โดยไม่มีรูปซูเปอร์โมเดลให้พักสายตาเหมือนนิตยสารแฟชั่น ซูเปอร์โมเดลในโลกของผมจึงเป็นเอ็ดเวิร์ด สโนวเด็น มากกว่านายแบบผมเรียบรองเท้ามันวาวพวกนั้น

Third World เลือกผมด้วยการสุ่มไล่ดูรูปเพื่อนใน friendlist ของทีมงานคนหนึ่ง ผมได้รับเลือกด้วยเหตุผลว่า “ไอ้แว่นนี่ดูน่าจะไม่รู้เรื่องแฟชั่นที่สุด” เขาบอกผมว่า เขาจะทำให้ผมกลายเป็น “เซเล็บสุดหล่อในแฟชั่นวีค”


ผมตอบรับโดยไม่คิดมาก ไม่ใช่ว่าเพราะผมอยากเป็นเซเล็บสุดหล่อ แต่เพราะลึกๆ ผมก็อยากรู้เหมือนกัน ว่าเสื้อผ้ามันจะเปลี่ยนผมได้ขนาดไหนกันเชียว เปลี่ยนในที่นี้ไม่ได้หมายถึงรูปลักษณ์ภายนอก แต่ผมอยากรู้ว่า ความรู้สึกของตัวเองมันจะเปลี่ยนไปอย่างไร

สี่โมงเย็นสามวันต่อมา พี่แพ็ธกับช่างภาพและเพื่อนผมที่เป็นทีมงาน Third World ก็บุกมาที่ออฟฟิศ พวกเขาดูตื่นตาตื่นใจกับภาพจอคอมพิวเตอร์หลายร้อยวางเรียงพรืดเต็มออฟฟิศ มันคงเป็นสภาพแวดล้อมที่คนแฟชั่นอย่างพวกเขาไม่ค่อยได้เจอ ส่วนสภาพของผมก็กระเซอะกระเซิงอย่างที่เห็น จะให้ผมแต่งตัวไปอวดใคร วันๆ แค่ตื่นมาจะไปทำงานก็ไม่ค่อยจะทันแล้ว

 

แพ็ธ-ณภัทร สุทธิธน บรรณาธิการแฟชั่น นิตยสาร ELLE Men Thailand: 

“ตอนได้เจอโยโย่ทีแรก ก็รู้สึกว่าเขาเป็นโปรแกรมเมอร์ที่ไม่ธรรมดา เพราะเขามีเซนส์ทางศิลปะ มีอารมณ์ขัน ช่างสังเกต ทีแรกนึกว่าจะเนิร์ดกว่านี้”

 

วันรุ่งขึ้นพี่แพ็ธพาผมไปที่ Smile Club (เวิ้งโบราณ เอกมัยซอย 10) ร้านนี้ตกแต่งเหมือน diner restaurant จากยุค 50s เป็นบรรยากาศต่างจากร้านตัดผมที่ผมเคยเข้ามาทั้งหมด (แต่ครั้งสุดท้ายที่ผมเข้าร้านตัดผมมันก็ปีนึงมาแล้ว) พี่แพ็ธบอกช่างว่า “เปลี่ยนไม่เยอะ” เขาบอกไม่อยากเปลี่ยนคาแรคเตอร์ของผมเกินไป ปล่อยผมยาวเหมือนเดิม แต่ให้เป็นระเบียบเรียบร้อยกว่านี้ เพราะบนหัวผมมีฝอยชี้ฟูไม่มีทิศทางอยู่เยอะมาก ซึ่งเกิดจาการทำสีผมเมื่อปีก่อน (อันนี้ถือเป็นร่องรอยความแฟชั่นของผมได้ไหม?) ส่วนการเซ็ต พี่แพ็ธบอกไม่เอาทรงเรียบแปร้ เพราะเวลาผมยาวแล้วโดนเจลเยอะ มันจะดูเป็นเด็กเชียร์แขกตามงานอีเว้นต์มากกว่าคนไปงาน เขาอยากให้ธรรมชาติและยังเป็นตัวของผมอยู่ หนวดก็ต้องขลิบ เคราก็ต้องเล็ม และทรงแว่นก็ควรเปลี่ยน


สรุปว่าที่พี่แพ็ธบอกว่าเปลี่ยนไม่เยอะ ถ้าร้านเขามีหัวคนสำเร็จรูปมาเสียบแทนได้เหมือนตุ๊กตา พี่แพ็ธน่าจะทำงานได้ง่ายกว่า

พี่ต้อง ช่างผมใหญ่ของร้านใช้เวลากับผมและหนวดเคราของผมอยู่ประมาณชั่วโมงครึ่ง แต่ตลอดเวลาผมไม่ได้ใส่แว่น จึงมองไม่เห็นตัวเองในกระจก แต่เมื่อเสร็จแล้วและได้เห็นตัวเองผมก็ชอบนะ หน้าตาดูสะอาดสะอ้านน่าคบหาขึ้นอย่างที่พี่แพ็ธต้องการ และผมก็ไม่รู้สึกฝืนตัวเอง ที่จริงผมน่าจะสังคยนาผมเผ้าให้เข้าท่าแบบนี้ตั้งนานแล้ว พี่ต้องเองก็คงมองเห็นว่าผมออกจะพอใจ เลยแซวว่า “ดูดีขึ้น เนี้ยบขึ้น ดูมีอนาคต” 555

หนึ่งการเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ในความรู้สึกของผมวันนี้ เกิดจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ นั่นคือเปลี่ยนวิธีแสกผม! ปกติผมจะหวีแสกข้างโดยอัตโนมัติ แต่พี่แพ็ธบอกว่า ถ้าเปลี่ยนตำแหน่งแสกบ้าง ผมก็จะดูมี volume ขึ้น ข้างบนก็ไม่ดูแบนมาก นี่เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ผมไม่เคยคิดจะเปลี่ยน สระเสร็จแล้วมันแสกยังไง ก็เอาอย่างนั้น แต่พอได้เปลี่ยนมันก็ดูแปลกตาดี

เลิกงานวันต่อมา พี่แพ็ธพาผมไปตัดสูทที่ร้าน Pinky Tailor ที่ตึกมหาทุนพลาซ่า พี่เขาบอกว่าร้านนี้ไว้ใจได้ และเปิดกิจการมากว่า 20 ปี เมื่อต้นปีพี่แพ็ธก็พาพี่ป๊อด โมเดิร์นด็อกมาตัดที่นี่เพื่อถ่ายรูปขึ้นปก ELLE Men


พี่วินช่างสูทมาต้อนรับเรา ผมเดินลูบนั่นจับนี่ระหว่างที่พี่แพ็ธกับพี่วินเขาตกลงกัน นึกครึ้มใจว่าดีจังได้สูทฟรี เพราะผมเบื่อยืมสูทพ่อใส่ไปงานแล้ว ถ้าได้สีกรมท่าหรือสีดำอันนี้ก็คงดีเลย แต่ไม่ทันจะหันไปเสนอ ก็ได้ยินพี่แพ็ธคุยว่า “สีกรมนี่ไม่เอาเลย เพราะในงานคนจะใส่สีนี้เยอะมาก ขอเด่นหน่อย ผมกำลังคิดว่าน่าจะอันซ้ายนะ” พี่แพ็ธหมายถึงสีแดง แต่ไม่ใช่แดงอย่างเดียว พี่เขาบอกว่า มันคือ “แดงเบอร์กันดี้” และสีแดงนี่แหละ คือสีประจำซีซั่นนี้ ซึ่งพอผมกลับบ้านเปิดดูเว็บของ ELLE ก็ปรากฏว่าดีไซเนอร์ทำเสื้อผ้าสีแดงกันหลายแบรนด์

ตอนนั้นผมก็หวั่นใจ ว่าถ้าใส่สูทแดงทั้งท่อนบนและล่าง มันจะออกมาเป็นนักร้องลูกทุ่งไปหน่อยหรือเปล่า แต่เหมือนพี่แพ็ธก็ไม่ได้คิดอะไรแบบนั้นอยู่แล้ว เพราะเขาเลือกผ้ากางเกงสีกรมท่ามีลายทาง (pinstripe) ส่งให้ช่าง “ถ้าไม่มีลายเลยมันจะดูเครียด ดูเป็นเครื่องแบบไป” พี่แพ็ธว่า “มันต้องแร่ด! ต้องมี energy วัยรุ่นกันหน่อย” ผมบอกพี่แพ็ธว่า จบงานนี้ผมจะใส่ชุดนี้ไปงานสัมนาโปรแกรมเมอร์ พี่แพ็ธก็ยุว่า “เฮ้ย เท่ เอาเลย!”


พี่แพ็ธบอกว่า เรากำลังจะตัดสูทที่เรียกกว่า double-breasted หรือสูทกระดุมสองแถว หกเม็ด สามคู่ แต่กลัดจริงแค่คู่เดียวเพราะเป็นสไตล์ ส่วนเชิ้ตตัวในให้ใส่เสื้อยีนส์ของ Uniqlo ที่ผมใส่เมื่อวานก็ได้ เพราะถ้าเป็นเสื้อขาวหรือดำ จะดูเหมือนไปทำงาน เราไม่ play-safe กันแบบนั้น ผมก็ไม่รู้ว่าสูทใส่กับเสื้อยีนส์ได้ และไม่รู้ว่าเสื้อตัวละ 600 ของผม จะใส่ออกงานได้

ตอนนั้นความเชื่อที่ว่า “แฟชั่นคือของแพง” ของผมได้สั่นคลอนอย่างหนัก แล้วพอรู้ว่าสูทชุดนี้ทั้งตัวราคา 7,000 บาท ซึ่งก็เป็นราคาตัดสูทตามปกติ ความคิดเดิมๆ ของผมก็พังลายลง และได้รู้ว่า บางทีแฟชั่นอาจะเป็นเรื่องของการเลือกมากกว่า


“ต้องใส่นาฬิกาไหมพี่” “นาฬิกาไม่ต้อง เราไม่ต้องดูเวลา เพราะทุกคนต้องรอเรา” พี่แพ็ธเล่นมุก “แล้วรองเท้าล่ะพี่” “เดี๋ยวกูเอา Gucci ให้ใส่”

คิดดูก็สนุกดี ที่ Uniqlo ใส่กับ Gucci ก็ได้ ผมมารู้ทีหลัง ว่าก่อนจะเป็นบรรณาธิการแฟชั่นของ ELLE Men พี่แพ็ธเคยเป็นดีไซเนอร์ที่ Greyhound อยู่หลายปี ก็ไม่แปลกใจเลย ที่พี่เขาสามารถเลือกนี่นั่นให้ได้ให้มันเข้ากันได้อย่างคล่องแคล่วสนุกสนาน ส่วนที่ดูจะเรื่องเยอะที่สุด คือความกว้างของขากางเกง และความเต่อของปลายขา ว่าต้องเต่อจากรองเท้านิ้วครึ่ง ซึ่งก็เป็นความรู้ใหม่ ว่าความกว้างของขากางเกงมีผลต่อความดูเป็นคนแต่งตัวเป็น


ช่างวินลัดคิวตัดสูทให้ผมเร็วเป็นกรณีพิเศษ พรุ่งนี้ผมต้องมาลองสูทอีกครั้ง และเขาจะตัดเสร็จทันวันงานพอดี คืออีกสามวันต่อจากนี้

 

บ่ายวันงาน พี่แพ็ธพาผมกลับไปเซ็ตผมที่ Smile Club เสร็จแล้วก็ให้ผมไปรับสูทที่ Pinky Tailor เอง เพราะพี่เขาต้องเข้าไปที่งานก่อน


เป็นความรู้สึกแปลกแต่ดี ตอนที่ผมเห็นตัวเองในกระจกในชุดครบเครื่อง ทั้งผมใหม่ แว่นใหม่ รองเท้าใหม่ และเสื้อผ้าใหม่ที่ตัดเพื่อไซส์ผมโดยเฉพาะ เป็นความแปลกที่ได้รู้ว่า ความพอดีของไหล่เสื้อ ขากางเกง หรือชายเสื้อ มีผลช่วยเพิ่มความมั่นใจ แล้วสัดส่วน รูปทรงของรูปร่างผมก็ดูเปลี่ยนไป นี่คงเป็นมายากลของแฟชั่น ความลงตัวของการเลือกที่ถูกต้อง ทำให้ผมไม่รู้สึกเขินกับสีที่ไม่เคยใส่ กลับคิดต่อไปอีกด้วยซ้ำ ว่าทีหลังจะลองใส่สีอื่นนอกเหนือจากสีโทนปลอดภัยที่ผมมีอยู่ในตู้เสื้อผ้าบ้าง


ผมนั่งแท็กซี่ไปถึงงานตอนบ่ายสอง เหลือเวลาอีก 4 ชั่วโมงกว่าโชว์จะเริ่ม ทีมงาน Third World มาเจอผมที่ร้านอาหารในเซ็นทรัลเวิลด์ เขายื่นตั๋ว front row ของ Vickteerut x Federbräu ให้ผมแล้วเรียกผมอย่างนบนอบว่า “คุณโยโย่” ท่าทีไม่เป็นกันเองเหมือน 5 วันที่ผ่านมาทำให้ผมงงว่าเกิดอะไรขึ้น สักพัก ชายฉกรรจ์รุ่นคุณอาสองนายก็เข้ามาสวัสดีผม


ตอนนั้นเองที่ผมได้รู้ว่า Third World มันเล่นใหญ่ เขาจ้างบอดี้การ์ดสองคนมาประกบผมด้วย “เดี๋ยวพี่ช่วยดูคุณโยโย่ด้วยนะคะ คุณหญิงเขาหวงมาก” ผมได้ยินพี่ทีมงานบอกบอดี้การ์ดแบบนั้น

ผมกับบอดี้การ์ดสองคนของผมไปเดินเล่นฆ่าเวลา โดยมีพี่ทีมงานของ Third World อีกคนไปเป็นเพื่อน ผู้คนเหลือบมองอย่างสงสัยว่า “ใครวะ” แล้วพอเราเข้าไปในตรอกแคบๆ ของชั้นหนังสือในร้านหนังสือคิโนะคุนิยะ คนก็หลบทางให้ ตอนนั้นผมชักสนุกแล้ว เลยเดินเข้าร้านเสื้อผ้าแบรนด์เนม ไม่ว่าร้านไหน พนักงานก็ยิ้มแย้มเดินมาแนะนำข้าวของเป็นอย่างดี ผมไม่มีตังค์หรอก แต่ผมเคยเรียนประวัติศาสตร์อังกฤษมา เขาบอกว่าช็อปปิ้งเป็นการเข้าสังคมรูปแบบหนึ่ง คนอังกฤษสมัยก่อนบางทีเขาเข้าร้านแพงๆ เพื่อให้เห็นว่าเข้าร้านแพงๆ ไม่ต้องซื้อก็ได้ แค่จับๆ ถามๆ ทักทายผู้คน

ตลอดเวลาสองชั่วโมงของการเดินเล่น บอดี้การ์ดของผมไม่คุยกันเอง และไม่พูดอะไรกับผมสักคำ พอออกมาจากร้านหรู ก็มีช่างภาพสามคนมาขอถ่ายรูป ผมก็ยิ่งสนุก เลยยืนโพสต์ให้เขาถ่ายรูปกันจนพอใจ แต่พอช่างภาพสามคนเดินจากไป ทีมงานก็กระซิบว่า “สามคนนี้ก็จ้างมา”


ปัดโถ่เอ๋ย หมดกัน

ขบวนของผมมาถึงหน้าเต๊นท์แฟชั่นวีคตอนพระอาทิตย์ตกดินแล้ว ผู้คนเยอะแยะไปหมด และโชว์ของ Vickteerut x Federbräu ที่ผมมีตั๋วฟร้อนต์โรว์กำลังจะเริ่มในอีกชั่วโมง พี่แพ็ธเดินยิ้มร่ามาหาผม หยุดพิจารณาผลงานอย่างพอใจ แล้วเอาผ้าพันคอมาผูกให้ผม ก่อนตบไหล่แล้วบอกว่าผมดูดีมาก เหมือนพ่อมาส่งลูกชายเดินเข้าพิธีแต่งงานด้วยความภาคภูมิใจ

ผู้หญิงใส่ชุดสวยเดินยิ้มเข้ามาหาผม แล้วทักว่า “ไงคะน้องโยโย่ ไม่เจอกันตั้งนาน! คิดถึงงง” พอเธอควงแขนผม ไอ้ช่างภาพสามคนเดิมก็ปรี่เข้ามารุมถ่ายรูป แป๊ปเดียวก็มีช่างภาพอีกสามคนมาสมทบรวมเป็น 6 คน ผมหันไปมองหน้าพี่ทีมงาน เขาพยักหน้าเป็นเชิงเฉลยว่า “เออ ไอ้สามคนนี้ก็จ้างมาเหมือนกัน”

ผู้หญิงคนที่ควงแขนผมชื่อพี่ธชล เธอเป็นเซเล็บในชีวิตจริง และเป็นหนึ่งในเซเล็บปลอมของเว็บ Third World ในนาม มาดามชลลี่ เขาส่งพี่ธชลมาประกบผม เพราะกลัวผมเร่อร่าตื่นคน


ซึ่งมันก็น่าตื่นเต้นจริงๆ คนแน่นลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ไปหมด ทุกคนล้วนแต่งตัวสวยงาม ผมเห็นดาราและคนดังอยู่ทั่วบริเวณ แล้วพอเราเดินเข้างาน บอดี้การ์ดของผมก็คอยเคลียร์ทางให้ ตอนนั้นเองที่เริ่มมีช่างภาพของจริงขอถ่ายรูปผม พอช่างภาพกำมะลอของ Third World เห็นเข้าก็เอาใหญ่ เริ่มแข่งกันตะโกน “คุณโยโย่! มองกล้องนี้หน่อยครับ!” ส่วนการ์ดก็คอยกันตากล้องที่เข้ามาใกล้ผมเกินไป คนในงานเริ่มซุบซิบกันว่าไอ้นี่คือใคร แล้วก็มีบางคนที่เข้ามาขอถ่ายเซลฟี่กับผม มีคนหนึ่งบอกว่า “ขอบคุณค่ะ ชอบพี่มากเลยค่ะ” ผมก็ไม่รู้ว่าเขาจะเขียนแค็ปชั่นว่าอะไรตอนอัพรูปขึ้นอินสตาแกรม

พี่ธชลคงเป็นสาวสังคมตัวจริง เพราะเธอรู้จักคนดังเยอะแยะ เธอทำให้ผมได้คุยกับโอซา แวง ที่ตัวจริงเขาสวยกว่าที่เห็นในทีวีหรือตามหน้าหนังสือมาก พี่จาก Third World ก็ดูจะสนุกกับการแนะนำผมกับคนอื่นว่า “นี่น้องโยโย่ เขาเพิ่งกลับมาจากเมืองนอก เลยพามาเดินเล่น คุณแม่เขาหวง” ซึ่งจะว่าไปก็ไม่ใช่การโกหก เพราะผมก็เพิ่งกลับจากสัมนาโปรแกรมเมอร์ที่ญี่ปุ่นเมื่ออาทิตย์ที่แล้วจริงๆ บางทีพี่เขาก็โกหกว่า “บ้านน้องโยโย่เขาขายอะไหล่เครื่องบินกับไพรเวทเจ๊ท” แต่ก็ไม่เห็นมีใครดูจะตื่นเต้นกับสถานะที่ว่า ผมเดาว่าคนพวกนี้เขาคงเจอคนรวยกันจนชินแล้ว พอมุกนี้ไม่ค่อยเวิร์กเราก็เลยเลิกเล่น

อันที่จริงไม่ต้องมีสตอรี่มารองรับก็ได้ เพราะตอนนั้น แม้ทุกคนไม่รู้ว่าผมเป็นใคร และไม่มีใครถามด้วย แต่เขาก็คิดว่าผมเป็น somebody ไปเรียบร้อยแล้ว แล้วผมจะได้ยินคนแอบถามกันว่า “นี่ใครอ่ะ” อยู่เรื่อยๆ


แต่เรื่องตลกก็คือ จู่ๆ ก็มีเสียงงึมงำฮือฮากันทั่วงาน เมื่อชายคนหนึ่งมาพร้อมกับบอดี้การ์ด 7 คน ต่อมาคนในงานก็ลือกันว่า เป็นราชวงศ์จากตะวันออกกลางที่มาดูแฟชั่นโชว์ของ Vickteerut x Federbräu เช่นกัน ไฮโซกำมะลออย่างผมที่มีบอดี้การ์ดแค่สองคนเลยตกกระป๋องไปเลย

แฟชั่นวีคเป็นเรื่องของการถ่ายรูป ถ่ายรูป และถ่ายรูป ช่างภาพถือกล้องใหญ่เดินว่อนไปหมด หันไปทางไหนก็เห็นคนถ่ายรูป ไม่ว่าจะด้วยตากล้องหรือใช้มือถือถ่ายเล่นกันเอง


มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เขาเรียกเซเล็บไปถ่ายรูปคู่กับพี่แป้ง ดีไซเนอร์ของ Vickteerut ที่ photo backdrop หน้าเต๊นท์แฟชั่นโชว์ ตรงนั้นมีตากล้องเกือบทั้งงานมารุมถ่ายรูป พี่ทีมงาน Third World รีบผลักผมขึ้นไปยืนคู่กับพี่แป้ง ตากล้องทั้งหกของผมก็รีบเข้าไปสมทบกับตากล้องมืออาชีพ ไอ้หกคนแข่งกันตะโกน “คุณโยโย่! กล้องนี้ครับ!” เหมือนตอนชมพู่ไปเดินพรมแดงเมืองคานส์ พอมีคนเริ่มตะโกน ก็มีตากล้องบางคนตะโกนตาม ผมไม่ได้มองว่าเซเล็บในแถวเป็นใครกันบ้างเพราะมัวแต่จ้องกล้อง จนเมื่อเดินออกมาจึงได้รู้ว่า มีพลอย เฌอมาลย์อยู่ในนั้นด้วย! ผมดูเธอเดินไปทักทายคนรู้จักหลังถ่ายรูปเสร็จ เธอช่างสวย เท่ สง่างามเหลือเกิน


นี่ผมเพิ่งถ่ายรูปกับพลอย FUCKING เฌอมาลย์ เชียวนะเว้ย! ตอนนั้นผมมั่นใจแล้ว ว่าผมน่าจะเป็นโปรแกรมเมอร์คนเดียวในโลกที่ได้ทำอะไรแบบนี้

แล้วแฟชั่นโชว์ของ Vickteerut x Federbräu ก็ได้เวลาเริ่ม ผู้คนทั้งหมดเริ่มมายืนออหน้าประตูทั้งสองฝั่ง แต่เขาให้คนที่มีบัตรฟร้อนต์โรว์เข้าไปก่อน พี่ธชลควงแขนพาผมเข้าไป เราได้นั่งแถวหน้าและตรงกลาง เป็นตำแหน่งพี่ธชลบอกว่า เป็นจุดที่ดีที่สุดของการดูแฟชั่นโชว์ ภายในเต็นท์แฟชั่นใหญ่โตกว่าที่คิด รอบหนึ่งน่าจะจุคนได้เกินพันคน


มองไปฝั่งตรงข้ามเป็นดาราและเซเล็บที่คุ้นหน้า พวกเขาพูดคุยกันอย่างสนิทสนม ผมถามพี่ธชลว่าเขามาดูแฟชั่นโชว์กันทำไม พี่ธชลที่เคยทำนิตยสารโว้กมาก่อน บอกว่าโลกแฟชั่นก็มีกิจกรรมเรียกรวมพลคนในแวดวงเหมือนทุกธุรกิจ แล้วก็เล่าระบบแฟชั่นเมืองไทยกับเมืองนอกที่พี่เขาเคยไปทั้ง นิวยอร์ก ลอนดอน มิลานให้ฟัง ว่าเมื่อก่อนระบบแฟชั่นโชว์จะปิดกว่านี้ แถวหน้าจะสงวนไว้ให้คนในวงการจริงๆ เช่นบรรณาธิการนิตยสารแฟชั่น ดาราดัง ไฮโซ หรือ buyer (ที่ผมแปลว่ายี่ปั๊วแฟชั่น) เสื้อผ้าที่อยู่ในแฟชั่นโชว์ กว่าจะมีขายในร้านก็หกเดือนต่อมา ระหว่างนั้นพวกนักเขียนแฟชั่นก็มีหน้าที่ปั่นกระแสก่อนขาย


แต่เดี๋ยวนี้เขามีแบบทำไปขายไป คือจบโชว์ปุ๊ป ที่ร้านก็มีขายเลย ของไทยก็เป็นแบบนั้น คนที่มาดูก็เลยมีทั้ง blogger หรือเน็ตไอดอล เพื่อให้เกิดการปั่นกระแสเร็วขึ้น พวกเซเล็บที่ผมเห็นว่าเขารู้จักกันหมด ก็เพราะเป็นเพื่อนร่วมอาชีพกัน ก็ย่อมเจอกันบ่อย แล้วนอกจากงานแฟชั่นโชว์ ก็ยังมีงานแฟร์ หรืองานออกร้านต่างๆ เช่นผ้า รองเท้า กระเป๋า แว่นตา ธุรกิจแฟชั่นสร้างงานให้คนหลายล้าน คนรวยคนจนก็อยากใส่เสื้อผ้าสวยๆ กันทั้งนั้น

ตอนนี้เขาปล่อยให้คนแถวอื่นเข้ามานั่งแล้ว ผมมองไปรอบๆ เผื่อเจอคนรู้จักแต่ก็ไม่มี พี่ธชลสะกิดให้ผมหยุดนั่งเขย่าขา เธอบอกว่า นั่งฟร้อนต์โรว์ต้องดูแลแขนขาให้ดีๆ เพราะเวลาถ่ายรูปนางแบบอาจติดเราไปด้วย แล้วนั่งแถวหน้าแบบนี้ คนเขาเห็นกันทั้งงาน เพราะคนชอบดูว่าแถวหน้ามีใครบ้าง ให้น้องดูพี่เป็นตัวอย่าง เพราะพี่นั่งสวยมาก จะขยับอะไรคิดไว้หมดแล้ว กลั่นกรองทุกท่วงท่าแม้แต่การหยิบมือถือ ว่าควรจะเป็นตอนไหน พอพูดถึงมือถือ พี่ธชลก็บอก ว่าระหว่างดูให้ถ่ายรูปไปอัพลงโซเชี่ยลบ้าง เพื่อเป็นการให้เกียรติแบรนด์ แต่ไม่ต้องถ่ายเยอะก็ได้

พอคนนั่งกันเต็ม ไฟก็หรี่ลง แล้วจอก็ฉายโฆษณา ช่วงโฆษณายาวนานมาก (ผมรู้สึกว่ายาวกว่าแฟชั่นโชว์เสียอีก) พอจบโฆษณานางแบบก็เดินออกมา

แฟชั่นโชว์ของ Vickteerut x Federbräu ไม่มีชุดฟูฟ่องเหมือนแฟชั่นที่ผมคิด ส่วนใหญ่เป็นชุดเรียบเท่ นางแบบก็เดินด้วยสีหน้านิ่ง พอถึงปลายแคทวอล์คก็หยุดมองไปข้างหน้าแป๊บนึง แล้วเดินกลับเหมือนเพิ่งนึกขึ้นได้ว่าซอยตัน ไม่มีการโพสต์ท่าเท้าเอวบิดสะโพกให้กล้องแบบที่ผมคิด


ชุดต่างๆ สวยมาก บางชุดผมก็ไม่รู้ว่าเขาจะไปใส่วันปกติกันยังไง แต่ก็ช่างเหอะ เพราะมันสวย สวยคนละอย่างกับที่ผมคิดก่อนหน้านี้ มันไม่ใช่ความสวยอลังการ แต่เป็นความสวยแบบ fine art เป็นเหมือนการแสดงงานศิลปะ ที่ทุกอย่างถูกคัดสรรให้ส่งเสริมกันจนเกิดความสมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะแสงสี ดนตรี หรือคนแสดงแบบ มีอยู่ชุดหนึ่งที่เขาเอานายแบบหัวโล้นมาใส่ชุดยาวสีแดงของผู้หญิง แต่ในพื้นที่นี้ มันทำให้ผมรู้สึกว่าผู้ชายแท้ๆ ก็ใส่ชุดผู้หญิงได้ และออกมาเท่ดีด้วย


แฟชั่นโชว์ของ Vickteerut x Federbräu เป็นโชว์ปิดแฟชั่นวีคครั้งนี้ พอโชว์เสร็จ เขาก็ให้คนออกไปข้างนอกเพื่อเตรียมพื้นที่ทำ after party ในอีกครึ่งชั่วโมง

ที่ด้านนอก ช่างภาพทั้งหกของผมดื่มเบียร์รอกันอยู่ที่บู๊ธของเฟเดอร์บรอยแล้ว แป๊บนึงพี่แพ็ธก็มาขอรองเท้ากุชชี่และผ้าพันคอของเขาคืน แล้วแยกไปปาร์ตี้กับเพื่อน ส่วนบอดี้การ์ดสองคนของผม ก็มีคนเฉลยไปแล้วว่าโลกนี้คือละคร (ซึ่งเขาบอกว่าเขาก็รู้มาพักใหญ่แล้ว ด้วยสัญชาติญาณมืออาชีพ)


ตอนนี้ผมอยู่ในรองเท้าผ้าใบคู่เก่ากับเสื้อผ้าชุดใหม่ของผม งานของผมจบลงแล้ว ทั้งพี่ธชลและทีม Third World ก็แยกย้ายกันไปปาร์ตี้กับเพื่อนของเขาอย่างไม่ไยดีเซเล็บคนนี้อีกต่อไป ผมไม่เหลือใครนอกจากช่างภาพทั้งหกและบอดี้การ์ดสองคน เราเลยเข้าไปเล่นเป็นเซเล็บในปาร์ตี้กันอีกรอบ สักพัก พี่บอดี้การ์ดก็กลับบ้าน ส่วนผมกับแก๊งช่างภาพทั้งหกไปปาร์ตี้ต่อกันที่หอของหนึ่งในช่างภาพ และพวกมันเรียกผมว่าคุณโยโย่กันทั้งคืน

วันรุ่งขึ้นเป็นวันจันทร์ ผมกลับไปทำงานในโลกของผมตามปกติ แต่ตอนนี้ เมื่อคิดย้อนไปถึงคืนวันอาทิตย์ที่แล้ว มันก็เป็นประสบการณ์วูบวาบที่สนุกสนาน ที่ผมได้เรียนรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงตัวเอง บางทีก็สามารถเริ่มจากภายนอกก่อนได้ เพื่อให้เข้าไปกระทบความรู้สึกภายในแล้วสะท้อนออกมาอีกครั้ง แฟชั่นไม่ใช่เรื่องของความแพง ความฟุ่มเฟือยหรือไร้สาระไปเสียทั้งหมด บางทีมันก็เป็นเครื่องมือช่วยกดปุ่มความรู้สึกอยากลองเห็นตัวเองในลักษณะใหม่ๆ และแนะนำให้เราได้รู้จักตัวเองในแบบอื่น


ผมไม่ได้เป็นเซเล็บ และไม่ได้อยากเป็นเซเล็บ ผมมีความสุขดีกับการเป็นตัวผมแบบนี้ แต่ตอนนี้ผมรู้แล้วว่า เนื้อผ้า สีสัน หรือแม้แต่ความกว้างของขากางเกง บางครั้งมันก็ช่วยสื่อสารความเป็นตัวผมในแง่มุมอื่นได้.

 
bottom of page