top of page
  • Black Facebook Icon
  • Instagram

Welcome to the world where truth doesn't hurt

สิ่งที่ไม่เคยบอกเรื่องคอนเสิร์ต The Very Common of Moderndog

สัมภาษณ์: โน้ต พงษ์สรวง @dudesweetworld ภาพบุคคล: กรกฤช เจียรพินิจนันท์ @kornkritj ภาพเวที: จิโร่ เอ็นโดะ @jiroendo บทความนี้สนับสนุนโดยคอนเวิร์ส @converse_thai

 

Part 1: สิ่งที่ไม่เคยบอก


คอนเวิร์สเป็นรองเท้าที่อยู่กับดนตรีร็อคมาตลอด ไม่ว่าจะ  The Ramones หรือ Nirvana หรือตอนนี้ก็ภูมิ วิภูริศ ผมเห็นพี่ป๊อดเองก็ใส่บ่อยๆ มาตลอด ความสัมพันธ์ของพี่กับคอนเวิร์สเป็นอย่างไรบ้างครับ อย่างที่บอก ว่าเราจะใส่งานใหญ่ๆ ในชีวิตเรา อย่างเช่นคอนเสิร์ตที่สำคัญคอนเวิร์สจะเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็แปลกที่ตัวเลือกทีเราเลือกทุกครั้งมันจะเป็นคอนเวิร์สโดยอัตโนมัติ มันคงเป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่ามันใช่ที่จะ express อย่างแม้กระทั่งคอนเสิร์ต 22 ปีล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว รองเท้าที่เป็น main ของโชว์ก็คือคอนเวิร์ส ซึ่งที่เราใส่คือรุ่นที่ collab กับ Futura ที่เป็นสีดำเข้มข้างนึง อีกข้างนึงเทา


คอนเสิร์ตที่โดดเด่นมากของประวัติศาสตร์คอนเสิร์ตเมืองไทยครั้งหนึ่ง คือ The Very Common of Moderndog คอนเสิร์ตนั้นมีความสำคัญกับพี่ป๊อดอย่างไรบ้างครับ สำคัญที่เราทำอัลบั้มชุด Love me Love My Life แล้วเราก็รู้สึกว่ามันแอ็บสแตร็ค รู้สึกว่าคนฟังไม่รับ แต่เรามีความรู้สึกว่าเพลงชุดนี้มันเพราะ แค่ดนตรีมันแค่มึนๆ เท่านั้นแหละ เราก็เลยตั้งใจว่าจะถอดดนตรีออกมาให้เหลือแต่รูท ก็เลยตั้งใจทำเป็นคอนเสิร์ตอะคูสติกขึ้นมา แล้วก็คิดว่าเราจะเล่นแค่สำหรับคนที่เป็นตัวจริงของเรา พวกเราก็เลยเลือกสถานที่ๆ มีแค่สี่ร้อยที่นั่ง คือหอประชุมธรรมศาสตร์ แล้วทำแค่สี่วัน เท่ากับโชว์นี้มีทั้งหมด 1,600 คน ตอนนั้นมันเป็นอะไรที่ใหม่สำหรับเรามาก เราก็เอาไอ้จิโร่ เอ็นโดะ ซึ่งตอนนั้นเขาเป็นสถาปนิก มาทำไฟ มาทำสเตจในแบบที่ที่มันหลุดไปจากความเป็นสเตจทั่วไป จิโร่มันก็ไปเดินวัดสวนแก้ว มันไปเอาอ่างอาบน้ำเก่าๆ ไป จำลองบ้านของพวกเราไว้บนสเตจ เอาเฟอร์นิเจอร์มือสองหรือมือสามไม่รู้ล่ะ มาเป็นที่นั่งเล่นคอนเสิร์ต งานนั้นก็ใส่คอนเวิร์สสีดำอีกเช่นกัน

ในแง่ของการแสดงคอนเสิร์ตครั้งนั้นมันต่างจากครั้งอื่นๆ ไหม เราไม่เคยทำอะไรแบบนั้นมาก่อนเลยไง ที่เราใช้คำว่ Very Common of Moderndog เพื่อที่จะบอกว่ามันโคตร common เลยนะเว้ย


Energy ของคนดูเป็นไงบ้างครับ โอ้โห อันนั้นแม่งคือแบบว่า มันคือความ intimate มันคือความที่สื่อสารกับคนดูอย่างใกล้ชิดที่สุด


สี่วันติดกันเลย สี่วันติดกัน ซึ่งเราไม่คิดว่าเราจะทำได้นะ เราไม่คิดว่าเราจะมีเสียงเหลือ แต่ปรากฏว่ามันโอเค


จะว่าไป อัลบั้มนั้นก็มีความทดลองเยอะนะครับ เหมือนเป็นช่วงเปลี่ยนของซาวด์โมเดิร์นด็อกเลย คืออัลบั้มนั้นเรามาวิเคราะห์ตอนเราโตแล้ว ว่าแม่งเป็นการ downsize expectation คือเราแบกความคาดหวังของตัวเองและสังคมเอาไว้ในชุดสอง แล้วเรารู้สึกมันหนักอึ้งมาก เราก็เลยคิดว่า งั้นกูก็ทำชุดที่แบบว่า หลังจากนี้จะไม่มีใคร expect อะไรจากกูอีกแล้ว ก็เลยทำเพลงที่เด็กฟังแล้วก็เดินมาบอกว่า “พี่ ผมฟังเทปพี่ไปแล้ว ฟังไปหนึ่งหน้าแล้วผมเขวี้ยงทิ้ง” แล้วในใจเราก็ตอบว่า...ถูกต้องแล้ว

หลังจากนั้นได้กลับไปทำคอนเสิร์ตเล็กๆ แบบนั้นอีกไหม คือเราไม่กล้าทำอีกเลย เพราะรู้สึกว่ามันมาสเตอร์พีซแล้วจริงๆ แล้วทุกวันนี้คนก็ยังบอกว่าเมื่อไหร่จะจัดแบบนี้อีก แล้วตอนนั้นไอ้จิโร่ก็จัดซะเต็มที่ ก็ไม่รู้ว่าจะทำได้สวยแบบนั้นอีกไหม


ช่วงก่อนคอนเสิร์ตจะเริ่ม ในเมื่อมันเป็นอะไรที่ไม่เคยทำมาก่อน ตอนนั้นพี่กลัวอะไรบ้างไหม จริงๆ ตอนนั้นโคตรตื่นเต้นเลย แต่ไม่ได้กลัวเลย เพราะรู้สึกว่า เฮ้ย ลองฟังสิเว้ย ชุดนี้มันไม่ได้ยากอย่างที่ทุกคนคิดเลย มันเพราะนะเว้ย! กูแค่ให้เมธีมันทำเสียงน้อยซ์ๆ เท่านั้นเอง!


ขายตั๋วยังไงครับ ขายที่สยาม ตรงลานน้ำพุ คนก็ต่อคิวยาว


ดีวีดีคอนเสิร์ตอันนั้นสวยมากเลยนะครับ โชคดีที่ตอนนั้นไป (เทศกาลดนตรี) โซน่าที่บาร์เซโลน่า แล้วไปรู้จักกับโซล่อนผู้กำกับที่เป็นคนเยอรมัน ก็เลยชวนเขา ว่ายูมาถ่ายทำคอนเสิร์ตนี้ให้ไอได้มั้ยวะ แล้วเขาตอบตกลง แล้วมันเลยเป็นไลฟ์ดีวีดีที่มันสวยมาก


ถึงตอนนี้ให้มองไปที่คอนเสิร์ตนี้ พี่มองมันด้วยสายตาอย่างไรบ้าง เรารู้สึกว่ามันเป็นบันทึกชีวิตเราอันนึงที่เราภูมิใจ เรารู้สึกอิ่มเอมกับมัน ทั้งทางด้าน artistic ทางด้าน music


ก่อนหน้านั้นพี่ป๊อดเล่นคอนเสิร์ตใหญ่ๆ คนเป็นหมื่น พอมาเล่นที่เล็กๆ กระทันหันแบบนี้ มองลงไปจากเวที ความรู้สึกมันต่างไหม ที่มีคนแค่สี่ร้อยหัวอยู่ข้างหน้า ถ้าถามว่าคอนเสิร์ตแบบไหนที่เราชอบ เราก็ชอบทำคอนเสิร์ตใหญ่เพื่อตอบสนองผู้คน แต่ถามใจลึกๆ จริงๆ เราชอบที่จะเล่นแบบ intimate (เข้าถึงความรู้สึก) เราชอบอะไรที่มันเข้าถึงกัน อย่างคอนเสิร์ต 22 ปีที่ผ่านมา เราเล่นอิมแพ็คก็จริง มีคนหมื่นกว่าคน แต่ตอนแรกเลยเรากะว่าจะทำเล็กๆ นะ แต่คนก็บอกว่า ไม่ได้นะเว้ย มันยี่สิบปีทั้งทีก็ต้องเล่นใหญ่นะเว้ย เราก็ อ่ะ ก็โอเค กูทำให้ทุกคน แล้วกูก็จะเล่นเพลงที่ฮิตระเบิดระเบ้อเพราะมันเป็นหน้าที่ของกู แต่ว่าถ้าให้เลือกจริงๆ กูก็อยากเล่นอีสานคลาสสิคของกู

เออ มีทีนึงที่ร้าน Play Yard เขาจ้างเราไปเล่น แล้วเขาก็ตั้งโจทย์เซ็ตเป็น B-Side แล้วเวทีมันก็สูงเท่าเนี้ย (จิ้มหน้าแข้ง) คือคนข้างหลังไม่มีทางเห็น คงเห็นหัวเราแค่นี้ (เอาสันมือทาบหน้าผาก) แต่มันร้องกันทุกคำ ทุกประโยค เพลงบรรเลงแม่งยังร้องเลย! ตื่อ ตือ ตื๊อออ คือนาทีนั้นกูจะน้ำตาไหล คือมีความสุขมาก!


คำถามสุดท้ายกลับมาที่คอนเวิร์สใหม่นะครับ รู้สึกยังไงกับคอนเวิร์สบ้าง ก็ timeless ไง มันใส่ได้ตลอด เราว่ามันไม่ต้องอิงกระแส แล้วมันก็ได้ความเป็นวัยรุ่น รู้สึกว่าเป็นวัยรุ่นตลอด เมื่อก่อนเคยใส่กับสูท เวลาไปรับรางวัล MTV Award นู่นนี่ ก็จะใส่สูท ผูกไท แล้วก็ใส่คอนเวิร์ส คือยุคนี้อาจจะเป็นเรื่องปกติแล้วนะ แต่ยุคนั้นนี่แบบว่า... ยิ่งพวกผู้ใหญ่นะ เขาจะ เอ๊ยอะไรของมึง ทำไมไม่ใส่รองเท้าหนัง คือมันเป็นความ rebel อย่างหนึ่ง


และนี่คือสิ่งที่พี่ป๊อดไม่เคยบอก และตอนนี้คุณก็ได้รู้แล้ว

 

Part 2: จิโร่ เอนโดะ


Backgroud: ปัจจุบันจิโร่เป็นสถาปนิกอยู่ที่โตเกียว แต่ 15 ปีที่ผ่านมา เขาเป็นคนออกแบบแสงและเวทีให้คอนเสิร์ตและเฟสติวัลในไทยมากมาย เขาคือคนออกแบบงาน Big Mountain Music Festival แทบทุกปี รวมถึงบางเวทีที่ Wonderfruit Festival

Third World: คอนเสิร์ต The Very Common of Moderndog เป็นงานออกแบบเวทีงานแรกในเมืองไทยของคุณ คุณได้งานนั้นอย่างไร จิโร่: ตอนนั้นผมสอนมหาวิทยาลัยและทำรีเสิร์ชอยู่ที่ศรีลังกา แต่ก็มาเที่ยวเมืองไทยบ่อยๆ ที่นี่ผมมีเพื่อนคือ แจ๊ค (ปิตุพงษ์ เชาวกุล-คนออกแบบเทศกาล Big Mountain กับจิโร่อีกคน) ที่รู้จักกันตั้งแต่สมัยเขาเรียนสถาปัตย์ที่ร็อตเตอร์ดัม เวลามากรุงเทพฯ ผมก็ไปไม่กี่บาร์หรอก และกิ๊ก กอเซอรี่ (บาร์อินดี้เล็กๆ ในซอยสุขุมวิท 23 ที่ปิดไปสิบกว่าปีแล้ว) ก็เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งวงโมเดิร์นด็อกก็ไปที่นั่นประจำ แล้วแจ๊คก็แนะนำให้ผมรู้จักกับวง ตอนนั้นผมเคยทำงานให้ Cornellius วงก็หาคนทำเวทีอยู่พอดี ผมก็เลยเอาพอร์ตฟอลิโอไปให้ดู แล้วเขาก็ชอบ ก็เลยให้ทำ

คุณเข้ามาตอนไหน ตอนที่เขาวางแผนกันไปได้สองเดือนแล้ว ว่าจะทำคอนเสิร์ตอะคูสติกสี่วันที่ธรรมศาสตร์ เขาก็บอกว่าลองทำอะไรใหม่ๆ หน่อย พอตกลงว่าให้ผมทำ ผมก็มีเวลาหนึ่งเดือนในการเตรียมงาน แต่ขั้นตอนสเก็ตช์ส่วนใหญ่เราทำด้วยกันที่บาร์กิ๊กกอเซอรี่นี่ล่ะ พอเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง โป้งจะเป็นคนติดต่อข้ามประเทศกับผม


คุณมีวิธีรีเสิร์ชอย่างไร ผมก็เริ่มไปบ้านเมธี ไปบ้านโป้ง ไปดูว่า โมเดิร์นด็อกจริงๆ เป็นอย่างไร พยายามรู้จักชีวิตประจำวันของพวกเขาให้มากที่สุดเพื่อเอามาตีความ ในตอนนั้นร้านกิ๊กกอเซอรี่ก็เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจ เพราะเป็นร้านประจำของวง แล้วร้านนั้นเขาก็ซื้อเฟอร์นิเจอร์จากวัดสวนแก้ว ผมก็พยายามเชื่อมเรื่องราวและไลฟ์สไตล์ของวงไว้ให้ได้ ผมก็ไปหาซื้อข้าวของมือสองจากวัดสวนแก้ว ไอเดียตอนนั้นคือ ทำทุกอย่างให้เป็น local ใช้อะไรที่มัน common ที่หาได้ทั่วไป แต่ก็แสดงความเป็นตัวตนของทั้งสามคน


บ้านใครรกสุด บ้านโป้งเป็นระเบียบสุด

บรรยากาศร้าน Gig Gorceries ในคืนที่ Dudesweet ไปจัดปาร์ตี้ (Feb, 2003)

ตอนนั้นคุณรู้หรือเปล่าว่าวงนี้ดังมาก รู้สิ


แล้วกดดันใหม ที่ต้องทำงานให้วงใหญ่ๆ แบบนั้น ไม่กดดันหรอก เพราะก่อนหน้านั้น [ในโตเกียว] ผมเคยทำงานออกแบบคอนเสิร์ตมาบ้างแล้ว เรื่องที่กดดันเป็นเรื่องของการทำงานในประเทศอื่นครั้งแรกมากกว่า แล้ว Very Common ก็เป็นจ๊อบแรกของผมในประเทศไทย อีกเรื่องคือเวทีสเกลคนสี่ร้อยคนใกล้ชิดคนดูแบบนี้ เป็นสเกลที่ผมไม่เคยทำ ผมก็เลยเลือกไฟประเภทที่ผมรู้จัก ก็คือพวกหลอดทังเสตน (หลอดไส้) ทั่วไป คือผมเป็นสถาปนิก เวลาออกแบบตึก คุณก็ต้องออกแบบไฟไปด้วยใช่ไหม ผมก็จะรู้ว่าหลอดพวกนี้มันจะให้ผลอย่างไร ทำงานยังไง ก็ซื้อมาห้าร้อยหลอด แล้วหาทางคุมมัน ที่จริงผมออกจะชอบข้าวของที่คนไทยใช้นะ อย่างพวกไฟรถก๋วยเตี๋ยว ไฟข้างทาง


ตอนนั้นมีไฟพาร์ช่วยด้วยไหม ไม่มีเลย ไฟในหอประชุมธรรมศาสตร์มันก็เป็นดาวน์ไลท์แบบหอประชุมทั่วไป เราก็ใช้เท่าที่มี ไม่มีไฟโฟกัส งานนั้นเป็นเรื่องของการวางตำแหน่ง และจัดองค์ประกอบมากกว่า


ดิบมาก ดิบมาก


วงว่าอย่างไรตอนเห็นดีไซน์ เขาก็บอกว่า เราเชื่อใจยู แล้วพอถึงวันจริง แม้จะเตรียมตัวแน่นแล้ว แต่พอห้องนั้นมีคน ซึ่งผู้คนล้นหลามมาก ทั้งปริมาณและอารมณ์ ผมก็เตลิดเหมือนกันว่านี่มันเกิดไรขึ้นเนี่ย! ผลก็คือ สี่วันมันก็เลยไม่เหมือนกันเลย วันแรกดร็อป วันที่สองดีสุด วันที่สามโอเค วันที่สี่นี่ลนลานไม่มีสมาธิเลย


เอาน่า คนดูไม่รู้หรอก แล้วยังจำบรรยากาศได้ไหม งานนั้นผมไม่ได้ไป ไม่ได้ไปเหรอ?! โอ้ มันดีมาก! คือมันเป็นคอนเสิร์ต talk of the town เลยนะ  ผมไม่รู้ว่าห้องมันจุได้กี่คน แต่เหมือนคนจะล้น ถ้าออกไปข้างนอกห้องนี่ ตามบันได ตามทางเดินคนล้นไปหมด ทุกคนอยากเข้าไปให้ได้


พี่ป๊อดว่าอย่างไรพอคอนเสิร์ตจบ เออ จะเล่าให้ยูฟัง ตอนนั้นเงินค่าตัวผมที่เบเกอรี่ให้มานี่แทบจะ nothing เลย เขาให้ผมมาสองหมื่นเองมั้ง ค่าตัวรวมค่าเครื่องบินด้วย แล้วตอนหลังวงมารู้เรื่องนี้ เขาก็ให้เงินผมเพิ่ม


Awww so sweet! Yeah!

แล้วชีวิตเปลี่ยนไหม หลังจากทำคอนเสิร์ตนั้น สามปีจากนั้นนี่ดีเลย มันเป็นงานแจ้งเกิดที่ดีในเมืองไทยสำหรับผมนะ และในแง่วัฒนธรรม พอมองย้อนไป ผมว่าคอนเสิร์ตนั้นมันเป็นหลักไมล์จุดหนึ่งที่เปลี่ยนมู้ดของวงการดนตรีและการทำคอนเสิร์ต เปลี่ยนไปจากที่มันเคยเป็นก่อนหน้านั้น


สไตล์การจัดแสงแบบ DIY แบบนั้นก็ดูเป็นซิกเนอเจอร์ของคุณเลยนะ คือก่อนหน้านั้นผมก็ชอบเล่นอะไรแบบนี้อยู่แล้ว แต่ถ้าสิ่งที่คุณถนัด ได้มาเจอกับคนที่ถูกต้อง งานที่ถูกต้อง ที่ๆ ถูกต้อง มันก็กลายเป็นซิกเนเจอร์ได้ ผมจึงโชคดีมากที่มีคนเข้าใจและแฮปปี้กับมัน


พี่ป๊อดบอกว่าเขาไม่กล้าทำไรแบบนั้นอีกแล้ว เพราะมันเหมือนเป็นมาสเตอร์พีซของเขาไปแล้ว ผมว่าองค์ประกอบทุกอย่างมันเปลี่ยนไปแล้วด้วยล่ะ ทั้งเวลา ทั้งคน สถานที่ สถานที่นี่ก็ไม่รู้ว่ายังมีอยู่หรือเปล่า คือตอนนั้นโมเดิร์นด็อกเป็นวงที่ใหญ่มาก แล้วไดเร็คชั่นที่เขาให้ผมมามันก็ชัดเจนมาก ว่าพวกเขาต้องการกลับไปสู่แก่นของวงจริงๆ ต้องการความลึกซึ้ง ความดิบ ความใกล้ชิดคนฟัง

แล้วภาระของศิลปิน นักออกแบบหรือนักดนตรีที่หนักสุด ก็คือการต้องก้าวต่อไปเพื่อหาอะไรใหม่ๆ ให้ได้นี่ล่ะ เป็นเหมือนเวรกรรมของศิลปินที่ต้องแบกรับไปทั้งชีวิต อย่างผมเองที่ต้องออกแบบบิ๊กเมาเท่นแทบทุกปี ก็ยังต้องคิดหัวแตกว่าปีนี้จะนำเสนอใหม่อะไรดี

15 ปีที่ผ่านมา คุณได้เรียนรู้อะไรบ้างในการทำไฟงานคอนเสิร์ต ผมเคยลงทุนซื้อบอร์ดคุมไฟมา แพงสัด แต่วันนึงเทคโนโลยีเปลี่ยน มันก็ตกรุ่นและไม่คุยกับของที่ผมมี ทั้งที่เมื่อสิบปีก่อนไอ้รุ่นนี้ถ้าเป็นรถก็เฟอรารี่เลยนะ แต่ตอนนี้บางทียังต้องโทรถามน้องๆ รุ่นใหม่อยู่เลย อย่างโก (โก อุเอดะ นักออกแบบไฟ) นี่ก็เก่งมาก ผมเห็นงานเขาแล้วโทรถามเขาประจำเลย เฮ้ย แบบนี้ทำไงวะ


ไม่เอาสิ ขอคำตอบอะไรที่แบบว่า มันเป็นปรัชญาชีวิตหน่อย จะได้เอาไปขยายเป็นโควตได้ อ้อ โอเค... ก็ได้เรียนรู้ว่าควรมีสามอย่าง คือรู้จักภาษาของงาน (จิโร่ใช้คำว่า vocaborary ในที่นี่แปลว่าความรอบรู้ในสิ่งที่ต้องใช้ในงาน แต่ไม่เกี่ยวกับทักษะ เช่นรู้จักชื่ออุปกรณ์ รู้ชื่อสไตล์ของงาน รู้ชื่อเรียกลักษณะของแสง เป็นต้น) อย่างที่สองคือ การสร้างความรู้สึกขัดแย้งในงาน (contrast) อย่างที่สามคือ...พูดไงดี คือผมชนะทุกงานไม่ได้หรอก บางงานก็ 50 บางงานก็ 85 แต่ผมจะมีความเฝ้ารออาการขนลุกยิบๆ ที่เกิดจากงานเป็นไปดังใจ คือถ้างานไหนที่ผมรู้สึกแบบนั้นหน้างาน ผมจะมั่นใจว่างานนั้นมันถูกต้อง! ผมก็จะชมตัวเองในใจว่า THIS ONE IS FUCKING GOOD! และการทำงานมานาน มันก็ทำให้ผมรู้ว่า ถ้าอยากจะให้เกิดโมเม้นต์นั้นได้ ต้องใช้อะไรบ้าง แต่กระนั้นบางทีมันก็ไม่ได้อ่ะนะ


ยังจำความสนุกตอนทำคอนเสิร์ต The Very Common of Moderndog ได้ไหม หรืออยากกลับไปแก้อะไรบ้าง ไม่มีหรอก ผมว่าชีวิตมันไม่เหมือนสีน้ำมันที่เพ้นท์ทับได้เรื่อยๆ มันเหมือนการตวัดเขียนอักขระหมึกจีน (calligraphy) บนกระดาษขาวมากกว่า ที่คุณเขียนได้ทีเดียว ถ้าไม่สวยก็แก้ไม่ได้ แต่ถ้าเขียนบ่อยๆ คุณก็จะแม่นยำขึ้น แต่หนึ่งในสิ่งที่สนุกที่สุดของงานนั้น คือผมได้รู้จักเพื่อนใหม่เต็มเลย

 

Instagram: @converse_thai

bottom of page