top of page
  • Black Facebook Icon
  • Instagram

Welcome to the world where truth doesn't hurt

งานเด็กแฟชั่นจบใหม่ปีนี้เป็นยังไงกันบ้าง

เป็นเรื่องเหลือเชื่อถ้าจะบอกว่าการเรียนการสอนวิชาแฟชั่นในมหาวิทยาลัยไทยเพิ่งจะมีเป็นเรื่องเป็นราวไม่ถึง 20 ปีที่ผ่านมานี่เอง แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้นักศึกษาแฟชั่นของไทยเราน้อยหน้านานาชาติแต่อย่างใด ปีหนึ่งเรามีบัณฑิตแฟชั่นเป็นพันคน และช่วงห้าปีที่ผ่านมานี้เป็นช่วงที่งานจบนักเรียนแฟชั่นน่าตื่นเต้นมากๆ วันนี้เรามาดูงานจบปีนี้ที่ Third World ชอบสักห้าหกคน

 

ปณิชา ทักรอล

PAHURISTIC


สาขาแฟชั่นดีไซน์ วิทยาลัยการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต



แนวคิดในการออกแบบ ได้แรงบันดาลใจมาจากถนนพาหุรัด ที่เป็นย่านค้าขายของชาวอินเดีย ซึ่งเป็นสถานที่ที่เราคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก ด้วยความที่เราเป็นคนซิกข์ และเป็นเด็กยุคใหม่ที่เบื่อชุดอินเดียในแบบเดิมๆ จึงพัฒนาชุดให้มีความแปลกใหม่และแตกต่าง แต่ยังคงกลิ่นอายความเป็นอินเดีย ด้วยลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของความเป็นอินเดียไว้

ใครที่จะเป็นคนใส่ชุดนี้ ชุดนี้เหมาะกับดารา นักร้อง หรือผู้ที่ชอบความแตกต่าง ชอบความแปลกใหม่ เหมาะกับการใส่ออกงานที่เจอกับแสง เพราะชุดจะมีความเล่นแสงทำให้ดูน่าสนใจยิ่งขึ้น อาจจะเป็นงานคอนเสิร์ตที่ต้องเจอกับไฟบนเวที หรือเป็นงานถ่ายแบบ ความยากในการเรียนแฟชั่น คิดว่าไม่ว่าจะเรียนอะไรก็มีความยากง่ายในแบบของตัวเอง แต่พอเป็นเรื่องของศิลปะ ความยากอยู่ตรงที่ทุกคนมีคำนิยามของคำว่า 'สวย' ที่แตกต่างกันออกไป เราจะทำยังไงให้คนอื่นยอมรับคำว่าสวยในแบบของเรา ทำให้เขายอมรับในความคิด และผลงานของเรา นั้นคงเป็นสิ่งที่ยากที่สุดสำหรับงานศิลปะ แต่ถ้าเรารักในสิ่งที่เราทำและเต็มที่กับมัน เราเชื่อว่าต้องมีคนที่เข้าใจคำว่า 'สวย' ในแบบของเรา

อยากทำงานกับแบรนด์ไหน ถ้าเป็นในไทยคงจะเป็นแบรนด์ Hook’s by Prapakas ชอบแนวงานที่เขาทำ ส่วนใหญ่จะเป็นงานโชว์ เช่น งานคอนเสิร์ต งานแสดง ซึ่งเราเคยมีโอกาสไปฝึกงานที่นั่น 4 เดือน ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก แต่ถ้าเป็นแบรนด์นอกคงจะเป็น Alexander McQueen เพราะเป็นคนชอบเสื้อผ้าผู้หญิงที่มีกลิ่นอายความเท่ เป็นสิ่งที่แบรนด์นี้มีไม่เหมือนใคร

 

นรากร เสมาฉิม

THE DIFFERENT DIMENSION


วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สาขาวิชานวัตกรรมการออกแบบ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ



แนวคิดในการออกแบบ

ได้แรงบันดาลใจจากการ์ตูนที่ชอบในตอนเด็ก คือเรื่อง Digimon Adventure และเกม Digimon Rumble Arena ใน PS2 ก็ได้นำเรื่องราวในการ์ตูนและเกม มาผสมผสานกับภูมิปัญญาการวาดฉากลิเก ที่มักจะนำเสนอผ่านการสร้างลวดลาย และตัวละครในวรรณคดี โดยการนำตัวละครจากสองวัฒนธรรมมาผสมผสาน เกิดเป็นตัวละครใหม่ เรื่องราวใหม่ โดยสร้างแบ็คกราวด์จากทฤษฎีการวาดภาพ perspective

ใครที่จะเป็นคนใส่ชุดนี้

กว้างมากครับเพราะตัวคอลเล็กชันเองมีความเป็น sport & street wear อยู่มาก กลุ่มลูกค้าไม่ว่าจะเป็นเพศไหนถ้าชื่นชอบใน street wear ก็สามารถใส่ได้ครับ แต่ที่ผ่านมามักจะ ได้รับความสนใจจากกลุ่มศิลปิน แร็ปเปอร์ เซเล็บเป็นพิเศษ

ความยากในการเรียนแฟชัน

การต่อสู้กับความขี้เกียจครับ เพราะตอนเรียนส่วนมากตัวเราเองจะต้องรีเสิร์ชข้อมูล ทดลองเทคนิค วาดลวดลายเองทั้งหมด แล้วต้องนำไปอัพเดตกับอาจารย์อยู่ตลอดๆ ซึ่งบางทีถ้าไม่ผ่านก็ต้องกลับมาแก้ครับ แล้วยิ่งช่วงที่ทำชุดจะเหนื่อยเป็นพิเศษ ต้องคุยกับช่างเย็บผ้า ซื้อผ้า ซื้ออุปกรณ์ เราต้องคิดทั้งหมด เสื้อตัวนี้ต้องซื้ออะไรบ้าง กางเกงต้องซื้ออะไรบ้าง อุปกรณ์ทำเทคนิคต้องซื้ออะไรบ้าง ภาพรวมคอลเล็กชันของเราจะเป็นแบบไหน ต้องคิดเยอะมากๆ ครับ

อยากทำงานกับแบรนด์ไหน

จริงๆ ทำได้หมดครับ แต่ถ้าเป็นไปได้ก็จะชอบแบรนด์ที่เป็น street wear เป็นหลัก ถ้ามีโอกาสได้ไปถึง global brand ก็อยากทำ Vetements, Balenciaga, Alexander Wang ครับ

 

ชรินธร อู่ทรัพย์


สาขาแฟชั่นและสิ่งทอ ภาควิชานฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย




แนวคิดในการออกแบบ

การทดลองวัสดุเจลาติน นำมาแปรรูปให้กลายเป็น bioplastic ดึงแนวคิดของศิลปะชองกี้ ซึ่งเป็นคำแสลงที่มีความหมายว่า 'คดงอ' 'ของเลียนแบบ' 'คุณภาพต่ำ' แต่ในที่นี้เป็นคำอธิบายทางด้านศิลปะที่ทำด้วยมือ ที่มีการแสดงออกทางด้านศิลปะที่ดูงุ่มง่าม และไม่สมบูรณ์แบบ โดยได้แรงบันดาลใจจากเรื่อง lucid dream มาผสมผสาน เป็นการเล่าเรื่องถึงการหวนคิดถึงการไปเที่ยวที่ยุโรปในอดีต ผ่านความฝันที่ดูเกินจริง 


ใครที่จะเป็นคนใส่ชุดนี้

คนที่ชื่นชอบในสิ่งที่แปลกใหม่ ชอบความเป็น futuristic ก็น่าจะได้ เพราะชุดของเราทำมาจากวัสดุเจลาติน มันก็ค่อนข้างจะใส่ยากในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงคนที่ชอบไปปาร์ตี้ เพราะโดยปกติเสื้อผ้าปาร์ตี้มักจะถูกสวมใส่เพียงครั้งเดียวต่อหนึ่งงานเท่านั้น เสื้อผ้าจากวัสดุเจลาตินหรือว่าพลาสติกชีวภาพน่าจะตอบโจทย์ เพราะมันสามารถย่อยสลายโดยการนำไปหลอมผ่านความร้อน และขึ้นรูปใหม่อีกครั้งได้


ความยากในการเรียนแฟชัน

ค่อนข้างยากตรงที่เราต้องคิดแล้วก็ต้องทำอะไรที่มันแปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็ต้องรีเสิร์ชงานค่อนข้างเยอะ แล้วก็ต้องพยายามไม่ให้งานออกมาซ้ำกับคนอื่น

อยากทำงานกับแบรนด์ไหน

อยากทำงานกับแบรนด์ Jacquemus ค่ะ ชอบ lifestyle ของดีไซเนอร์ แล้วก็ชอบที่เขาหยิบยกวัฒนธรรมกับเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของตัวเองที่ฝรั่งเศส มาออกแบบเป็นคอลเลกชั่นได้น่าสนใจในทุกๆ ซีซั่นเลย


 

อภิษฐา วนาสินชัย

OH MY GOD


สาขาการออกแบบเครื่องแต่งกาย คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร


แนวคิดในการออกแบบ

รู้สึกผูกพันกับเทศกาลเช็งเม้งมาตั้งแต่เด็กๆ และทำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของคนในครอบครัวที่เปลี่ยนศาสนาจากพุทธไปเป็นคริสต์ ก็เกิดแรงบันดาลใจที่อยากจะเห็นสองสิ่งนี้รวมเข้าอยู่ด้วยกันในรูปแบบที่แปลกใหม่ โดยการนำเทศกาลเช็งเม้ง ไปผสมผสานกับภูเขาสีรุ้งแห่งความเชื่อ และความฝันของทางคริสต์ ซึ่งจุดประสงค์ของสองสถานที่นี้มีความคล้ายคลึงกัน คือสื่อถึงความรักต่อสิ่งที่ตนเองศรัทธา เคารพ และเปรียบดั่งสวงสวรรค์


งานนี้เลยถ่ายทอดออกมาเป็น East meets West ใช้วัฒนธรรมการแต่งตัวสไตล์ glam rock เข้ามามีบทบาทในการออกแบบครั้งนี้ โดยมีหลักในการออกแบบคือ extravagance, extess, extricity ซึ่งเป็นหลักในการออกแบบของ คันไซ ยามาโมโต้ (Kansai Yamamoto) ซึ่งเป็นผู้ออกแบบชุดให้กับ David Bowie ภายใต้เครื่องแต่งกายประเภท creative ready to wear


ใครที่จะเป็นคนใส่ชุดนี้

จุดประสงค์ของคอลเลคชั่นนี้คือต้องการสนับสนุนทุกเพศ เพราะการแต่งตัว glam rock ไม่ได้มีเพศที่จำกัด ในยุค 80s เหล่า transgender icon จะนิยมแต่งตัวในสไตล์นี้ ความยิ่งใหญ่ ความฟุ่มเฟือยในการแต่งตัว และความสร้างสรรค์ เป็นสิ่งที่กลายเป็นภาพจำของพวกเขาไปในที่สุด


ความยากในการเรียนแฟชัน

ค่อนข้างที่จะเหนื่อยกับการจัดการเวลางานและเที่ยวกับเพื่อนๆ มากกว่า (หัวเราะ) คือด้วยความที่การเรียนมันเป็นการปฏิบัติ มันเลยค่อนข้างที่จะใช้แรง ใช้เวลา ใช้ความคิดจดจ่ออยู่กับมันมากๆ เพื่อให้ได้งานที่ตั้งใจไว้


แต่ถ้าพูดถึงการเรียนยากมั้ย มันก็ยากนะคะ ตัวเราเองก็อยากจะเก่งตามเทรนด์ ไม่ตกเทรนด์อยู่ตลอด แต่ด้วยข้อจำกัดหลายๆ อย่าง เช่น เราไม่มีเว็บไซต์ที่เข้าถึงเทรนด์ได้อย่างมหาลัยอื่นๆ เราก็ต้องขวนขวายเพิ่มเติมในส่วนของเรา แต่มันก็ไม่ได้มีใครเก่งไปกว่ากันซะทีเดียว เพราะบางคนก็เก่งด้านนี้ เราเองก็ถนัดอีกด้านนึง มันเลยกลายเป็นว่าเรากับเพื่อนๆ จะช่วยเหลือกันตลอด


ด้วยความที่ก้อยเรียนมัณฑนศิลป์ ศิลปากร มันจะมีความศิลปะมากๆ อยู่ในตัว ทำให้ความแฟชั่นมันจะไม่เท่ากับมหาลัยอื่นๆ ตอนที่เรียนปี 1 ก้อยเลยไม่ค่อยถนัดวิชาปั้น วิชาเขียนแบบสักเท่าไหร่ แต่พอขึ้นปี 2-3 รู้สึกว่าชอบแฟชั่นมาก ยิ่งได้เรียนการตลาด ยิ่งชอบมากๆ และอยากต่อยอดในด้านนี้ค่ะ ตอนนี้ก็ยังอยากจะเรียนต่อปริญญาโทด้านการออกแบบเสื้อผ้าและการตลาดอยู่เหมือนกัน แต่ด้วยพิษโควิด เลยขอพักก่อน แล้วลองปั้นแบรนด์ของตัวเองจริงๆ สักตั้ง ถ้าเสร็จแล้วก็มาอุดหนันกันได้นะคะ (หัวเราะ)

อยากทำงานกับแบรนด์ไหน

ถ้าในไทยอยากทำแบรนด์ Sretsis, Kloset, Landmee มากๆ รู้สึกว่ามีความเป็นตัวเองอยู่ในทั้งสามแบรนด์ค่ะ ถ้าได้มีโอกาสได้เข้าไปทำงานก็จะยินดีมากๆ เลยค่ะ


ถ้าเป็นฝั่งตะวันตก อยากจะมีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมกับแบรนด์ Rodarte และ Vivetta เป็นแบรนด์เสื้อผ้าที่ให้อารมณ์ชวนฝันอยู่ตลอดเวลา กับและอีก 2 แบรนด์ที่อยู่ในใจเสมอคือ Miu Miu และ Gucci

แต่จริงๆ รู้สึกสนใจในฝั่งเอเชียมากกว่า เพราะด้วยสไตล์ของก้อยเองก้อยรู้สึกว่าเรามาฝั่งเอเชียมากกว่าตะวันตก  แบรนด์ที่อยากมีส่วนร่วมเข้าไปทำคือ แบรนด์ Motoguo ก้อยพึ่งมาเริ่มสนใจเมื่อไม่นานมานี้ เขาค่อนข้างมีเอกลักษณ์และสไตล์ค่อนข้างชัดเจนมาก มีความสนุก แปลก และแตกต่างจากแบรนด์อื่น อีกแบรนด์ที่สนใจอยู่ก็คือแบรนด์ Leafxiastudio ไม่แน่ใจว่าเค้าคือแบรนด์จริงๆ รึเปล่าแต่ได้เห็นการจัดแฟชั่นโชว์เมื่อปลายปี 2019 ก็สวยงาม และน่าตื่นเต้นมากๆ 


 

ศรัณย์ อินทปาสาณ

The perfect body is an illusion


สาขาวิชาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



แนวคิดในการออกแบบ 

ไม่ว่ากระแสนิยมตอนนั้นจะเป็นยังไง แต่อุดมคติเกี่ยวกับความงาม หรือรูปร่างของผู้หญิงจะถูกกำหนดด้วยสภาพแวดล้อมทางสังคมเสมอ แต่ตอนนี้อุดมคติมันเริ่มเปลี่ยนไปแล้ว เลยทดลองพัฒนางานออกแบบที่ศึกษาจากความงามและรูปร่างในอุดมคติที่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยใช้การตัดเย็บแบบ subtraction cutting ของจูเลียน โรเบิร์ต (Julian Roberts)

ใครที่จะเป็นคนใส่ชุดนี้

คิดว่าคงเป็นคนที่สนใจในงานศิลปะหรือชอบแฟชั่นมากๆ ไม่ได้มองเสื้อผ้าเป็นเพียงแค่ความสวยงามอย่างเดียว แต่คือการสื่อสารหรือการแสดงออกอย่างหนึ่ง เพราะชุดนั้นไม่ได้ทำมาเพื่อส่งเสริมสัดส่วนหรือค่านิยมปัจจุบัน แต่เป็นการตีความว่าความงามไม่จำเป้นต้องสมบูรณ์แบบเสมอไป 

ความยากในการเรียนแฟชัน

ก็คงเหมือนกับการเรียนในสาขาวิชาอื่นๆ ที่ต้องอาศัยการฝึกฝนให้มากๆ เพื่อพัฒนาฝีมือให้มีความรู้รอบด้าน ตั้งใจ ขยัน และอดทนในการเรียนรู้ ซึ่งไม่ใช่แค่เรียนรู้ในห้องเรียนเท่านั้น ต้องคอยอัพเดตตัวเองในทันกับโลกปัจจุบัน ไม่ว่าจะดนตรี หนัง งานศิลปะ หนังสือ หรือข่าวสาร สิ่งที่สนใจภายนอกห้องเรียน มันจะส่งผลต่อการพัฒนางานออกแบบของเรา และเป็นแรงบันดาลใจในการทำงาน อยากทำงานกับแบรนด์ไหน

แบรนด์ Mugler เพราะดีไซเนอร์คนปัจจุบันทำเสื้อผ้าที่ยังคงเอกลักษณ์ของแบรนด์ไว้ แต่ทำให้ร่วมสมัยมากขึ้น และยัง empowerให้กับผู้หญิงและกลุ่ม LGBTQ+ ด้วย อยากที่จะเรียนรู้เทคนิคการสร้างสรรค์งาน หรือการตัดเย็บที่มีความละเอียด และเทคนิคชั้นสูงตามแบบห้องเสื้อฝรั่งเศส หรือจะเป็น Marine Serre ที่เป็นแบรด์เสื้อผ้าแบบ future wear รีไซเคิลวัสดุต่างๆ มาทำเป็นผลงานใหม่ รวมถึงการนำนวัตกรรมมาผสมกับงานออกแบบได้ลงตัว


Comments


bottom of page