top of page
  • Black Facebook Icon
  • Instagram

Welcome to the world where truth doesn't hurt

ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของหนัง มะลิลา



Third World Movies เรื่องโดย จักรพันธุ์ ขวัญมงคล และ สุธาสินี สุขโข


คุยกับโปรดิวเซอร์ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ มะลิลา


ความสำเร็จของ มะลิลา (Malila: The Farewell Flower) ที่สามารถคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์ปูซาน (คิม จี–ซก อะวอร์ด– ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ คิม จี–ซก หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งเทศกาลภาพยนตร์ปูซาน โดยคว้ารางวัลร่วมกับภาพยนตร์เรื่อง The Scythian Lamb จากญี่ปุ่น) นั้นทำให้ ภาพยนตร์ของ อนุชา บุญยวรรธนะ ได้รับการจับตา มองมากขึ้นในวงกว้างหลังจากแจ้งเกิดใน อนธการ (The Blue Hour) ในปี 2558 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ เวียร์–ศุกลวัฒน์คณารส นักแสดงนำจากภาพยนตร์เรื่องนี้ก็สามารถคว้ารางวัล Face of Asia Award ซึ่งจัดโดยนิตยสาร Marie Claire ที่จัดควบคู่กับเทศกาลที่ปูซานด้วยเช่นกัน ก็ยิ่งทำให้ชื่อเสียงของทั้งหนัง มะลิลา และอนุชา ในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์หอมหวานมากขึ้น


แต่เบื้องหลังความสำเร็จเหล่านั้นก็ยังมีการทำงานหนักของสตูดิโออย่าง G-Village ซุกซ่อนอยู่ วันนี้เราคุยกับ คณีณัฐ เรืองรุจิระ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง G-Village Co-Creation Hub ซึ่งเป็นทั้งสตูดิโอสร้างภาพยนตร์ควบคู่กับการทำงานโฆษณาและงานสร้างสรรค์ทุกชนิด และยังเป็นหนึ่งในโปรดิวเซอร์ของ มะลิลา (ร่วมกับ กฤชบดี เรืองรุจิระ, จุฑามาศ แก้วชาติ, ดรสรณ โกวิทวณิชชา และ ศิริประภา ค่านคร) ถึงความสำเร็จของหนังและการเปิดพื้นที่ให้กับหนัง LGBT และก้าวต่อไปของ อนุชา บุญยวรรธนะ



ความเป็นมาของโปรเจกต์ มะลิลา เกิดขึ้นได้อย่างไร เราทำงานกับอนุชามาตั้งแต่เรื่อง อนธการ จริงๆ แล้วก็ก่อนหน้านั้นอีก เพราะ นุชี่ (อนุชา) กับเราเรียนมาด้วยกันที่นิเทศฯจุฬาฯ แล้วเรารู้ว่านุชี่ มีแพสชั่นอยากทำหนัง แต่ว่าหนังที่อนุชาทำจะเป็นหนังเฉพาะทางหรือหนังนอกกระแส เป็นหนังแบบ LGBT ซึ่งก็รู้กันอยู่ว่าในอุตสาหกรรมหนังไทยมันไม่ได้เปิดกว้างสำหรับหนังชนิดนี้เท่าที่ควร ก็แคล้วคลาดกันไปหลายโปรเจกต์ ทีนี้ตอนที่เรากับพี่ชาย (กฤชบดี เรืองรุจิระ) เริ่มต้นทำ G Village เป็นโปรดักชันเฮาส์ผลิตงานโฆษณา รับงานวีดิโอพรีเซนต์บ้าง เอ็มวีบ้าง อะไรประมาณนี้ พอทำไปเรื่อยๆ ตัวบริษัทก็เริ่มมั่นคงขึ้น เราก็เลยคิดถึงสิ่งที่นุชี่อยากทำเลยชวนมาทำด้วยกันเถอะ แล้วจริงๆ ตอนแรกที่นุชี่ เสนอบทหนังมา มันก็คือ มะลิลา นี่แหละ แต่ 7 ปีที่แล้วเรายังไม่พร้อมที่จะทำขนาดนั้นก็เลยยังไม่ทำ จนกระทั่งคุณ ภุชงค์ ตันติสังวรากูร เพื่อนผมเขาถือโปรเจกต์ซีรี่ส์ เพื่อนเฮี้ยนโรงเรียนหลอน เขาก็ชวนอนุชา ไปทำ จากซีรี่ส์เรื่องนี้แหละที่เราคุยกับอนุชาว่า มันทำเป็นหนังใหญ่ได้เลยนะ ถ้าหาเงินมาเพิ่มสักหน่อย ก็เลยเป็นที่มาของ The Blue Hour อนธการ แล้วพอหลังจากนั้น อนธการ ถูกรับเลือกไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์ที่เบอร์ลิน มันก็เหมือนการสร้างความมั่นใจว่า เออ เราพอทำได้นะ ไอ้หนังเนี่ย ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่กล้าทำ เพราะเราไม่เคยอยู่ในอุตสาหกรรมนี้มาก่อนเลย พอหลังจากนั้นเราก็เลยหยิบ มะลิลา มาทำต่อ


ทำโฆษณา เป็นเอเจนซี่ อยู่ดีๆ พอกระโดดมาทำหนังใหญ่ เป็นอย่างไรบ้าง ก็โหดอยู่นะ ตอนยังไม่ทำมองว่า การทำหนังขึ้นมาสักเรื่องมันคงสวยงามนะ แต่จริงๆ คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมหนังก็จะรู้ดีแหละว่าการทำหนังหนึ่งเรื่องมันไม่ได้สวยงามเลย น่ากลัวมาก แต่ว่าเราเป็นคนไม่กลัวเมื่อไปอยู่ในสมรภูมิใหม่ เรามองว่ามันเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำที่ทำให้เราออกจาก Safe zone ถ้าสมมุติเราทำโฆษณาไปเรื่อยๆ ผ่านไปอีก 10 ปีคนก็ไม่จำ โฆษณามันเป็นสิ่งที่ทำจบไป 3-4 วัน มันหายไปแล้ว มันไม่ได้อยู่ในความทรงจำของคนเท่าไหร่ มันมีโฆษณาตัวใหม่ๆ ให้ดูไปเรื่อย เพราะฉะนั้น ถ้าเราทำไปอีก 10 ปีก็ไม่มีคนจำเรา แต่หนังเนี่ยจะออกมาดี หรือเจ๊งอะไรก็แล้วแต่ อย่างน้อยอีก 20 ปีต่อมาแม่งมีคนพูดถึงหนังเรา โคตรดีเลยที่คอนเทนต์มันยังอยู่

 

ความยากของการทำหนังสักเรื่องสำหรับคนทำหนังมือใหม่ที่ว่ามันมีอะไรบ้าง? มันยากตรงที่เราไม่มีความพร้อม มีแต่คำถามเต็มไปหมด เราจะเริ่มจากอะไร? แล้วหนังเรื่องนี้มันจะดีไหม? มีใครจะให้ทุนเรา? เงินจะเอามาจากไหน? นั่นคือตอนต้น พอทำเสร็จเราก็เอาไปเข้าเทศกาลหนัง มันก็มีความยากว่าจะทำยังไงให้เขาเลือกในสิ่งที่เราเป็น หรือตอนที่ต้องเอาหนังเข้าโรงก็มีความยากมากๆ เลย เพราะโรงหนังในเมืองไทยจะมีอยู่สองเจ้าใหญ่ๆ เท่านั้น เราต้องคุยกับเขาให้เขาเชื่อในหนังของเรา ให้เขาเปิดพื้นที่โรงกับเราให้เยอะที่สุด


แต่จะว่าไป จริงๆ ตอนที่กำลังทำหนังน่ะ มันเป็นความรู้สึกสนุกนะครับ เราก็ไม่ได้คิดอะไร ทำหนังมันก็คือทำหนัง พอมีความรู้สึกนั้นเราก็เลยลืมไปแล้วว่าเรากลัวอะไร แต่ว่าตอนที่หนังมันเสร็จออกมามากกว่า มันเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก อยู่ดีๆ ก็แบบ…อ้าว หนังกูไม่ได้แมสนี่หว่า จริงด้วยว่ะ แต่ตอนทำมันลืม มันสนุกนี่หว่า แล้วจะทำยังไงต่อ หนังเรื่องนี้จะเอาไปฉายโรง เขาจะให้เราฉายไหมวะ?


ประสบการณ์ที่ได้ทำหนังมาสองเรื่องเป็นอย่างไร เข็ดหรือยัง ความรู้สึกเป็นเหมือนธีมของหนังเรื่อง มะลิลา เลย คือเรื่องความไม่เที่ยงของสิ่งต่างๆ บางอย่างที่มีความสุขอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง เป็นปัจจุบันขณะ แล้วมันก็ต้องเสื่อมไป มันคือการทำหนังชัดๆ ทำหนังนี่เหมือนทำบายศรี หนังมันเป็นของสด มีความสวยงามตอนที่จะฉายโรง แล้วหลังจากนั้นก็ร่วงโรยไป เหมือนกับที่เราทุ่มเทมา 7 ปีเพื่อที่จะทำอะไรบางอย่างที่แม่งดีฉิบหายเลย ในระหว่างนั้น แล้วเราก็รู้ว่าสุดท้ายแม่งต้องออกเป็นใบตองที่ลอยแม่น้ำไป เหมือนเราลอยบายศรีเราก็กลับมาคิดว่าถ้าอย่างนั้นเราจะทำมันทำไมวะ แต่สุดท้ายเราพบว่าเราจะปลงไหมหรือเราจะทำมัน แล้วก็มีความสุขกับชั่วขณะที่ทำ ผมคิดว่าที่นุชี่ เขียนบทหนังเรื่องนี้มา ในอีกด้านหนึ่งมันก็ให้คำตอบกับเราคนทำด้วย ซึ่งมันก็จริง เราทำสิ่งสวยงามนี้มายาวนาน แล้วตอนนี้หนังออกโรงไปแล้ว ร่วงโรยไปแล้ว แล้วเราจะทำมันทำไม คือมันจะมีความคิดซับซ้อนนิดนึง


ถามว่าเข็ดไหม สุดท้ายเราจะทำมันต่อไหม ก็ยังอยากทำอยู่ แล้วก็มานึกย้อนถึงธุรกิจที่เราทำอยู่ มันคือคอนเทนต์ มันคือของสด คือมีระยะเวลาจำกัด มันสวยงามแค่วันที่ออก แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีใครจำมัน หรือจำได้นิดหน่อยก็ว่ากันไป เราเรียนรู้ว่าการทำหนังเรื่องนี้มันจะเป็นการปักหมุดให้ชีวิตของเราว่า เราต้องเข้าใจชีวิตนะ การทำงานลักษณะนี้มันเป็นอย่างนี้แหละ เราจะไปคาดหวังไม่ได้ คาดหวังก็มีแต่ทุกข์ เพราะฉะนั้น เราแค่เอ็นจอยกับโมเมนต์พวกนั้นดีกว่า ที่เรามีอยู่จะสั้นจะยาวก็แค่นั้น จบ

 

เป็นสิ่งที่รู้สึกได้หลังจากทำ มะลิลา อย่างนั้นหรือ มะลิลา มันให้อะไรกับเราเยอะ ถ้าเราไม่ทำหนัง มะลิลา เนี่ย เราก็อาจจะยังรู้สึกว่า การทำหนังมันก็แค่มองในมุมของธุรกิจ การทำธุรกิจอย่างนึงเพื่อสื่อสารออกไป แต่พอเรามองให้ลึกในมุมที่เอามาเปรียบเทียบกับหนัง มะลิลา เรารู้สึกเหมือนกับว่า ในหนังมันพูดเรื่องการเพ่งอสุภะ ปลงอสุภะ เราต้องมาดูอสุภะ มันก็เหมือนกับการที่เราใช้เวลาดูหนัง อยู่กับมัน 5-6 เดือน 1-2 ปี เห็นมันตั้งแต่มันยังไม่เกิด อ๋อ มันเกิดมาแล้ว มันเป็นอย่างนี้นี่เอง อ๋อ ในวันที่มันไปได้รางวัลที่ปูซานมันเป็นอย่างนี้นี่เอง มีรางวัลแล้วยังไงต่อ พอเอามาฉายโรง อ้าว คนดูไม่ได้เข้าไปดูในโรงนี่หว่า รางวัลแม่งไม่มีผลนี่หว่า สุดท้ายแล้วหนังก็เหลืออยู่ 1 โรงแล้วนี่หว่า มันเป็นการปลงอสุภะทางฟิล์ม ได้เห็นมันตั้งอยู่และดับไปจริงๆ ว่ะ ก็เลยรู้สึกแฮปปี้กับการได้ทำหนังเรื่องนี้มาก เพราะเราได้เรียนรู้บางอย่างของชีวิต



หลังจากความสำเร็จของ มะลิลา G-Village ก็จะเป็นสตูดิโอสร้างหนังอย่างเดียวเลยหรือเปล่า ไม่ครับ จริงๆ G Village เราเป็น content studio hub ที่เน้นการ co-creation พอมันมีโปรเจกต์อะไรที่น่าสนใจ ดูน่าจะดี แล้วก็ดูไม่ซ้ำทางกับสตูดิโออื่น เราก็สนใจนะที่จะจอย มาทำ co-create กัน ก็ไม่ได้หยุดที่ว่าจะทำหนังเรื่องนี้ หรือทำหนังให้นุชาอย่างเดียว เรายังมองหาความเป็นไปได้ในส่วนของธุรกิจอื่นๆ เช่นเรากำลังทำที่คอนเทนต์บนออนไลน์ ซึ่งเทรนด์มันก็มาอย่างนี้อยู่แล้วแหละ คือทุกคนมองหาคอนเทนต์ที่อยู่บนออนไลน์ แต่ว่าที่นี่เป็น one stop service คือจะทำอะไรมันก็จบได้ในที่เดียว มีพื้นที่ มีสตูดิโอ เซ็ตอัพอะไรก็สามารถทำได้เลย ก็คิดว่ามันเป็นธุรกิจที่มันมี growth มีการเติบโตอยู่แล้วแหละ เราก็เลยพยายามสร้าง Eco System ที่เอื้อให้กับคนผลิตคอนเทนต์สามารถที่จะทำคอนเทนต์ออกมาได้ง่ายขึ้น อาทิเช่น เรามีแผนกดูแลแบรนด์ มีแผนกที่ดูแลเกี่ยวกับสตูดิโอ แผนกเกี่ยวกับโปรดักชันส์ ดูเกี่ยวกับคอนเทนต์ออนไลน์หรือซื้อมีเดียอะไรอย่างนี้ คือเราทำทั้งลูปของการสื่อสารก็ว่าได้ เพราะเราคิดว่าคอนเทนต์ 1 คอนเทนต์ ถ้ามันจะถูกขยายออกไปต้องทำอย่างไรบ้าง ที่จะทำให้มันง่ายที่สุด เราก็เลยพยายามทำ G Village ให้เหมือนเป็น Eco System ที่เอื้อให้คนทำงานด้านโปรดักชันส์ ด้านคอนเทนต์ทำงานได้ง่ายขึ้น นั่นคือสิ่งที่เราทำในธุรกิจของเรา ที่นี่จะค่อนข้างเปิดกว้างกับเรื่องโปรเจกต์มากๆ

 
bottom of page