top of page
  • Black Facebook Icon
  • Instagram

Welcome to the world where truth doesn't hurt

เป็นโรคซึมเศร้า หรือแค่เรียกร้องความสนใจ

ความรู้เรื่องโรคซึมเศร้านับเป็นประเด็นใหม่ที่สังคมไทยเพิ่งจะคุยกันอย่างกว้างขวางไม่ถึงสิบปีนี้เอง เพราะโรคซึมเศร้าไม่มีอาหารไอจามน้ำมูกไหลให้เห็น และการไปพบจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องชินของคนไทยเท่าการไปหาหมอดู ข่าวฆ่าตัวตายเมื่อก่อน ไม่ว่าเพราะโรคซึมเศร้าหรือไม่ก็ตาม จึงโดนเหมาว่าเป็นพฤติกรรมเชิงเรียกร้องความสนใจเพื่อประชดรักหรือประชดชีวิต

พอช่วงดราม่า “คนอะไรเป็นแฟนหมี” เราได้เห็นเม้นต์ประมาณ “เรียกร้องความสนใจล่ะสิ” ถี่ๆ พอมาถึงช่วงนี้ที่โรคซึมเศร้าได้รับความสนใจ และมีคนออกมาบอกว่าตัวเองก็เป็น เม้นต์ประเภทเดิมก็กลับมาให้เห็นอีกรอบ ในยุคที่คนเราทำร้ายความรู้สึกกันได้ง่ายดายเพียงปลายนิ้ว พออ่านเจอเม้นต์แรงๆ แล้วก็เสียวแทนว่าถ้าเขาเป็นขึ้นมาจริงๆ แล้วปิดคอมพ์ไปฆ่าตัวตาย อีคนเม้นต์มันจะมารับรู้อะไรด้วยไหมนี่?

แต่เป็นไปได้ไหม ที่จะมีคนบอกว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้าเพื่อเรียกร้องความสนใจคนรอบข้าง? เราถามจิตแพทย์ นายแพทย์ ชนินทร์ สกุลอิสริยาภรณ์ เจ้าของ Chanin Clinic


นายแพทย์ ชนินทร์ สกุลอิสริยาภรณ์

 

1. ผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า มีจุดสังเกตอะไรบ้าง

โรคซึมเศร้าสังเกตได้จากอารมณ์ซึมเศร้าที่เป็นตลอดทั้งวัน เป็นมากโดยเฉพาะช่วงตื่นนอนตอนเช้า อารมณ์ผิดปรกตินี้มักเป็นโดยไม่มีเหตุผล ความคิดมักโทษตัวเองอยู่เสมอ รู้สึกผิดรู้สึกว่าตนเองไม่ดีอยู่เรื่อยๆ แม้พูดคุยหรือให้กำลังใจใดๆ ก็ยังโทษตัวเองอยู่ร่ำไป มีปัญหาการนอนหลับร่วมด้วย คือนอนไม่หลับ หรือ นอนมากตลอดทั้งวัน รวมถึงสมาธิ ความคิด ความจำ ความสามารถในการทำงานแย่ลง เมื่อแย่ลงจนถึงที่สุดจะมีภาวะอยากทำร้ายตนเอง บางครั้งจะมีอาการทางจิตร่วมด้วยโดยเรื่องราวมักพูดถึงความผิด ความรู้สึกไร้ค่าของตนเอง ซึ่งเป็นรูปแบบความคิดที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยซึมเศร้า



 

2. แบบสอบถามที่เห็นตามสื่อออนไลน์สามารถเชื่อถือได้แค่ไหน

แบบสอบถามที่น่าเชื่อถือมีลักษณะดังนี้ครับ


– บอกชัดเจนว่าใช้เกณฑ์ใดในการวินิจฉัย โดยทั่วไปจิตแพทย์ใช้เกณฑ์วินิฉัยจาก ICD 10 (International Classification of Diseases, 10th Revision) ขององค์การอนามัยโลก World Health Organization (WHO) หรือ Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders, Fifth Edition (DSM-5) ของสมาคมจิตแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา เป็นเกณฑ์วินิจฉัยที่ใช้ในกลุ่มวิชาชีพทางการแพทย์ การศึกษา สังคมสงเคราะห์ กระบวนการบุติธรรม และ อาชญาวิทยา


– บอกชัดเจนว่าใช้สำหรับใครเป็นผู้ทำแบบสอบถาม เช่น สำหรับ ผู้ป่วยเอง แพทย์ ครู พนักงานทรัพยากรบุคคล หรือ เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นต้น ใช้กับผู้ป่วยอายุเท่าใด เนื่องจากลักษณะของอาการของโรคต่างรวมทั้งโรคซึมเศร้าจะแตกต่างตามแต่ละอายุ และใช้เพื่อจุดประสงค์ใด เช่นเพื่อการคัดกรอง เพื่อการวินิจฉัย เพื่อการติดตามอาการ เพื่อการวางแผนการรักษา และแจ้งระดับคะแนนที่เป็นจุดตัดไว้ชัดเจน 


– การแปลจากภาษาอื่นและการแปลเป็นภาษาถิ่นจะต้องมีการตรวจสอบว่าแปลถูกต้องหรือไม่


– มีอ้างอิง ซึ่งแบบทดสอบทุกประเภทจะต้องมีที่มาว่ามาจากไหน และให้รายละเอียดดังกล่าวข้างต้น


แบบทดสอบ 2Q 9Q ของกรมสุขภาพจิต เป็นแบบทดสอบที่พบบ่อยในสื่อออนไลน์ จะใช้เพื่อคัดกรอง จะบอกได้ว่ามีอารมณ์เศร้าผิดปรกติหรือไม่ เพื่อเป็นจุดตัดเพื่อมาพบแพทย์ โดยไม่ได้บอกสาเหตุ ซึ่งสาเหตุอาจจะเกิดจากโรคซึมเศร้าเอง หรือความผิดปรกติอื่นๆ ของร่างกายเช่น โรคไทรอยด์ โรคเบาหวานเป็นต้น รวมทั้งอาจเกิดจากการอดนอนจากการทำงานหนัก การทำงานล่วงเวลา หรือแม้แต่ภาวะหมดไฟจากการทำงานก็เป็นได้


 

3. เคยมีคนที่มาปรึกษาคิดว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า แต่ปรากฏว่าไม่ได้เป็นหรือไม่

มีครับ โดยปกติอารมณ์ซึมเศร้าที่มากกว่าปกติเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากภาวะจิตใจ ผิดปกติอื่นๆ ของร่างกายเช่น โรคไทรอยด์ โรคเบาหวาน อาการหมดประจำเดือน เป็นต้น การทำงานหนัก อดนอน การทำงานล่วงเวลาหรือแม้แต่ภาวะหมดไฟจากการทำงานก็เป็นได้


อย่างไรก็ดีหากพบว่ามีอารมณ์เศร้าผิดปกติ และได้รับการให้คำปรึกษาพูดคุยจากคนที่สนิทสนมแล้วยังไม่ดีขึ้น สามารถมาพบจิตแพทย์ได้โดยไม่จำเป็นต้องป่วยเป็นโรคซึมเศร้าก็ได้


อาชีพจิตแพทย์เป็นอาชีพประเภทบริการให้คำปรึกษาทางการแพทย์ เหมือนเป็นบริการจัดการความคิดของผู้มาขอรับคำปรึกษา จริงๆ แล้วลูกค้าหลายรายสามารถจัดการความคิดตัวเองได้ และไม่ได้เป็นโรคอะไร แต่ต้องการการบริการที่เป็นมืออาชีพและสะดวกรวดเร็ว เหมือนกับที่ ทุกคนสามารถทำอาหารได้แต่เลือกรับประทานนอกบ้านเพื่อความสะดวก ไม่ใช่เพราะทำอาหารไม่เป็นแต่อย่างใด


 

4. การบอกว่าตนเองเป็นโรคซึมเศร้า เป็นไปได้หรือไม่ที่เป็นแค่การเรียกร้องความสนใจ

เป็นไปได้ครับแต่เป็นไปได้น้อยมาก เนื่องจากคนที่ต้องการความสนใจมักจะต้องเลือกโรคที่ดูดีในสายตาคนทั่วไป ดูแข้มแข็ง ดูเท่ ซึ่งภาพของโรคซึมเศร้าหรือโรคทางจิตเวชน่าจะไม่ได้ดูดีนักในสังคมไทย


อย่างไรก็ดี บางครั้งคนทั่วไปอาจจะเข้าใจว่าการเป็นโรคทางจิตเวชทุกโรคไม่ต้องรับโทษทางกฎหมาย ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเพียงบางภาวะเท่านั้นที่จะไม่รู้ผิดชอบชั่วดี ซึ่งโรคซึมเศร้าไม่สามารถนำมาอ้างเป็นเหตุในการไม่รับโทษทางกฎหมายได้


 

5. ความแตกต่างระหว่างโรคซึมเศร้ากับการเรียกร้องความสนใจ


ความรู้สึกผิด รู้สึกไร้ค่าในตนเอง มักโทษแต่ตนเองและไม่โทษผู้อื่น เป็นลักษณะสำคัญของผู้ป่วยที่มีอาการซึมเศร้า


อย่างไรก็ดีหากเป็นการเรียกร้องความสนใจจริง ก็แปลว่าเขามีทุกข์หรือมีความอัดอั้นตันใจ ที่ไม่สามารถบอกเป็นคำพูดปกติได้ ซึ่งในฐานะมนุษย์คนหนึ่งเมื่อเห็นผู้ตกทุกข์ได้ยากก็ต้องหาสาเหตุ และให้การช่วยเหลือที่สาเหตุ จึงไม่พึงตัดสินหรือประนามผู้ที่มีความทุกข์


ในบางครั้งเมื่อให้คำปรึกษาผู้ป่วยซึมเศร้าคนทั่วไปจะมีความคาดหวังว่า “คุยกับฉันแล้วต้องดีขึ้นสิ” ซึ่งจริงๆแล้วการรักษาผู้ซึมเศร้าจะใช้ระยะเวลาอย่างน้อยหลายสัปดาห์กว่าอาการจะดีขึ้น ทำให้หากไม่รู้จักการดำเนินโรคปกติของอาการแล้ว จะทำให้ผู้บำบัดมือใหม่เกิดความท้อแท้หรือความโกรธ จนพาลคิดไปว่าผู้ป่วยแกล้งทำได้ เพราะฉะนั้นการให้ปรึกษาใดๆ จึ่งต้องเป็นด้วยจิตใจที่เปี่ยมไปด้วยความปรารถนาดีที่จะให้ผู้อื่นพ้นจากความทุกข์และค้นพบความสุขในตน ความอดทนและการสละเวลามีความสำคัญเป็นอย่างมาก และเมื่อถึงที่สุดแล้วหากไม่ดีขึ้นจริงๆ ก็อย่าโกรธผู้ป่วย ขอได้ให้โอกาสจิตแพทย์เป็นทางเลือกหนึ่งในการดูแลจิตใจคนที่คุณรักและเป็นที่พักเพื่อหาทางออกร่วมกัน


 

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก นายแพทย์ ชนินทร์ สกุลอิสริยาภรณ์ www.facebook.com/ChaninClinic โทรศัพท์: 092-2482462


 

ภาพเปิดบทความ: Edward Hopper “Automat” (1927) สีน้ำมันบนผ้าใบ 71×91 ซม. The Des Moines Art Center, Iowa.



Comments


bottom of page