พวกเขาเริ่มงานก่อนพระอาทิตย์จะตอกบัตร ทำหน้าที่ล้างหน้าแปรงฟันให้กรุงเทพฯ ก่อนฟ้าสาง เพื่อให้คุณได้มีเช้าวันใหม่ที่สดชื่นทุกวัน
อย่างหนึ่งที่เราภูมิใจเกี่ยวกับกรุงเทพฯ คือมันเป็นเมืองที่ถนนหนทางสะอาด คุณจะพูดว่า “ก็มันเป็นหน้าที่ของเขา” ก็ได้ แต่คนที่ทำหน้าที่ตัวเองได้ดีในทุกฤดูแบบนี้สมควรได้รับการชื่นชม
เมื่อปีที่แล้ว กรุงเทพฯ ผลิตขยะเฉลี่ย 13,835 ตันต่อวัน เท่ากับคนกรุงเทพฯ สร้างขยะคนละ 2.4 กิโลกรัมต่อวัน การแยกขยะก่อนทิ้ง ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการบริหารขยะ ยังคงไม่อยู่ในนิสัยของคนส่วนใหญ่ และไม่มีการรณรงค์ที่จริงจัง ทำให้งานของพนักงานเก็บขยะและกวาดถนนไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในหน้าฝน
และตอนนี้ก็เข้าหน้าฝนแล้ว! Third World ตั้งนาฬิกาปลุกตื่นไปคุยกับพนักงานทำความสะอาดกรุงเทพฯ ในละแวกอารีย์และสามเสน 6 คน ว่าเมื่อน้ำมาจะทำให้งานของเขายากขึ้นแค่ไหน
ถ่ายภาพ: พันธ์สิริ สิริเวชชะพันธ์ @poppybeauty_9 Photo: Punsiri Siriwetchapun
สุรินทร์บอกว่า เขาอยากทำให้กรุงเทพฯ มีระเบียบทุกวัน ปัจจุบันเขาตื่นดี 1 เพื่อมารอรถขยะตอนตีสอง เขาทำงานนี้มา 24 ปีแล้ว จนเชี่ยวชาญเป็นอย่างดี เขารักงานนี้ เพราะมันทำให้เขาภูมิใจที่สามารถส่งลูกเรียนจนจบ นอกจากนี้ยังเป็นงานที่มีสวัสดิการดี ทั้งค่าเล่าเรียนลูก และครอบครัวก็สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้
“การแยกขยะก็มีผลอยู่นะ ถ้าแยกมันก็ช่วยปริมาณขยะได้เยอะเหมือนกัน” เขาบอก “อย่างช่วงหน้าฝนก็ลำบากอยู่ เพราะขยะมันลอย บางทีก็เน่าด้วย ก็เก็บลำบาก ใช้เวลามากขึ้น แต่ก็ชินแล้วล่ะ”
เจริญทำงานเป็นพนักงานเก็บขยะมาได้สองปีแล้ว
“หน้าที่ผมก็วิ่งตามซอยเล็กๆ อย่างซอยที่รถขยะเข้าไม่ได้ ผมก็จะเข็นมารวมรอไว้บนถนนหลัก ย่านราชครู อารีย์ ซอยนี้ปริมาณขยะเยอะ เพราะมันมีทั้งบ้าน ทั้งคอนโด ขยะรวมๆ กันประมาณ 4-5 ตันทุกคืน เพราะบางทีมันรวมน้ำด้วยอะไรด้วย”
ทุกวันเจริญจะตื่นตี 1 พอเสร็จจากงานเก็บขยะตอนประมาณเจ็ดโมงเช้า เขาก็ทำงานเป็นคนวิ่งเอกสารในช่วงบ่ายต่อ แล้วนอนตอนไหน? เขาตอบว่า นอนไม่เป็นเวลา ถ้าไม่มีงานเอกสารก็นอน
คิดอย่างไรกับคนทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง?
“เมื่อกี้ผมเพิ่งเจอเลย เขาทิ้งขวดเบียร์ตั้งอยู่กลางถนน ผมก็ต้องไปเก็บ กลัวเวลาขับรถมาจะเหยียบแล้วอันตราย แต่มันก็เป็นหน้าที่ของผมแหละ ที่จะทำให้ถนนมันเรียบร้อย ใครผ่านมามันจะได้ไม่อันตรายเขา”
“คนทำกวาดถนนอย่างเราแบ่งเป็นสองกะ” ต้อยบอก “พวกกะที่เข้าตีห้าก็จะเลิกเที่ยง ส่วนพวกที่เข้าบ่ายก็เลิกประมาณสองทุ่ม”
เธอบรรจุเป็นพนักงานกวาดถนนตั้งแต่ปี 2546 (13 ปี) โดยมาสมัครตามคำแนะนำของคนรู้จัก ตอนแรกก็ติดสำรอง แต่สักพักก็ได้งาน “ทำจนตอนนี้ลูกโตทำงานหมดแล้ว” เธอเล่าด้วยรอยยิ้ม
เมื่อถามถึงการทำความสะอาดถนนหน้าฝน เธอบอกว่าบางทีมันก็กวาดง่าย เพราะขยะมันไหลไปรวมกันที่ท่อ แต่ปัญหาคือมันจะไปอุดท่อ โดยเฉพาะขยะพวกถุงพลาสติกจะจัดการยาก วิธีเดียวคือต้องคอยเดินดูตามท่อแล้วล้วงออก
รู้สึกอย่างไรที่ทำให้กรุงเทพฯ สะอาด? “ก็ดีใจที่ได้รับใช้เขา ดีใจว่าได้ช่วยเหลือเขาไปอย่างนี้เราก็สบายใจ”
พงษ์ศักดิ์ทำหน้าที่เก็บขยะมา 25 ปีแล้ว “ตั้งแต่ผู้ว่ามหาจำลองโน่นแน่ะ” เขาบอก “จนตอนนี้ลูกผมเรียนจบปริญญาตรีหมดแล้ว”
ช่วงหน้าฝนทำงานลำบากไหมครับ? “ก็ลำบากตรงที่มาทำงานยากหน่อย เพราะผมต้องตื่นตีสองครึ่งขี่มอเตอร์ไซค์มาทำงานทุกวัน แต่ก็ทำงานไปตามปกติ มันก็ไม่ยากหรอกครับ บางทีมันก็เหม็นหน่อย แต่มันก็เรื่องธรรมชาติ ขยะมันหมักหมมไง”
เก็บขยะมาหลายปี ช่วงหลังๆ มีคนแยกขยะเยอะขึ้นไหม
“ก็เหมือนเดิม ไม่ค่อยมีแยกมานะ ส่วนมากเขาไม่แยกหรอก เขาทิ้งรวมกัน เราก็มาแยกเอง”
พงษ์ศักดิ์บอกว่ามันเป็นงานที่ได้สวัสดิการดี เช่นค่าเล่าเรียนลูก หรือเบิกค่ารักษาพยาบาล และภูมิใจที่ทำให้กรุงเทพฯ สะอาด
“บอกไม่ถูก มันก็ทำงานเพื่อเลี้ยงชีพตัวเองแหละครับ”
สมรเป็นคนนครนายก ทำงานกวาดถนนให้กรุงเทพฯ มาได้สิบปีแล้ว
“ตื่นตีสาม เริ่มงานประมาณตีสี่ครึ่ง ก็กวาดจากละแวกซอยราชครูไปยันบ้านชาติชาย ช่วงสายพอเสร็จในซอย ก็มีไปพัฒนาตามซอยที่ไม่มีคนลง พวกซอยว่างๆ เราก็ต้องไปดูแลทำความสะอาด ปกติก็ทำจนถึงเที่ยง แต่กลางวันก็ไม่ได้นอนหรอก มันนอนไม่หลับ กว่าจะนอนตอนสองสามทุ่มโน่น” เธอเล่า “สิ่งที่ยากเหรอ ก็ไม่มีนะ แค่นี้เอง”
สิ่งที่เธอต้องทำบ่อยๆ ช่วงหน้าฝน คือการคอยตรวจดูตามตะแกรงท่อระบายน้ำ ต้องคอยเอามือล้วงปากท่อเอาใบไม้ออก
“อยากให้คนกินแล้วไปทิ้งถังขยะ บางทีงานเราไม่ได้อยู่จุดเดียว เราไปที่อื่นด้วย พื้นที่มันก็ไม่สะอาด เราก็อยากให้ถนนมันสวยๆ สะอาดๆ ทุกวัน”
คนทิ้งขยะไม่เป็นที่เยอะไหมครับ?
“ก็มีบ้างอ่ะนะ คนมันหลายคนก็ต้องมีบ้าง ก็อยากฝากให้ช่วยๆ กันมัดปากถุงก่อนทิ้งก็จะดีค่ะ”
ทับทิมเพิ่งทำงานกวาดถนนได้ปีกว่าๆ “เจอหน้าฝนแรกเมื่อปีที่แล้วก็ลำบากเหมือนกัน พวกขยะที่จัดการยากส่วนใหญ่เป็นพวกถุงพลาสติก เวลาที่มันเข้าท่อ เข้าตามรูตะแกรงมันจะตัน ต้องคอยดู แต่ก็ไม่ต้องห่วงหรอก ระบบของ กทม. เขาดูแลดี”
รู้สึกอย่างไรที่ทำให้กรุงเทพฯ สะอาด? “ดีใจที่ได้ทำตรงนี้เพื่อคนส่วนรวม พอเขาชมเราว่าทำสะอาด เราก็ดีใจที่ได้ทำตรงนี้”
Commentaires