top of page
  • Black Facebook Icon
  • Instagram

Welcome to the world where truth doesn't hurt

บันทึกลับเด็กช่างศิลปยุค 90s

ชณัฏฐ์ หวังบุญเกิด หรือนัท เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งปาร์ตี้ Dudesweet ปัจจุบันเป็นช่างสักฝีมือฉมัง ส่วนดีเจตามปาร์ตี้ก็ทำบ้างถ้ามันอยู่ในอารมณ์และถ้ายังมีคนอยากจ้าง 18 ปีที่แล้ว Dudesweet เป็นปาร์ตี้ที่เริ่มจากกลุ่มนักศึกษาศิลปะ หลักๆ ก็ศิลปากร จุฬาฯ และประสานมิตร ที่หลายมหาลัยแบบนั้น เพราะส่วนใหญ่มาจากที่เดียวกัน คือช่างศิลปลาดกระบัง โรงเรียนศิลปะฮาร์ดคอร์ของไทยที่มีประวัติยาวนาน ก่อตั้งโดยอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ปูพื้นฐานให้ศิลปินสำคัญของไทยมากมาย ที่ได้ดีก็เยอะ แต่ที่เหลวแหลกก็มี ไอ้พวกที่เหลวแหลกส่วนหนึ่งก็มารวมตัวกันทำปาร์ตี้ Dudesweet นี่ล่ะ บทความนี้เราให้ไอ้นัทมาเล่าบรรยากาศการเรียนศิลปะในยุค 90s ให้ฟัง ไม่ได้มีอะไรลับหรอก จั่วหัวเรียกแขกไปงั้น แต่ก่อนจะเข้าเรื่อง ขออนุญาตอวดงานสักของเขานิดนึง งานสวยมากกก มีความดาร์กและอารมณ์ขัน ชอบมาก เชียร์สุดๆ แหม ไม่เชียร์เพื่อนกันแล้วจะให้เชียร์ใครชิมิ

 

งานสักของนัท - Nat Inksmith IG: @chanatw

 

เรียงความเรื่อง ฉันเรียนช่างศิลปตอนยุค 90s

โดย ชณัฏฐ์ หวังบุญเกิด

เรื่องตอนยุค 90s น่ะรึ? อืมมม ก็เป็นช่วงที่ผมเริ่มเข้าเรียนช่างศิลป์ลาดกระบัง (ปวศ.) ตอนนั้นอายุย่าง 15 เป็นช่วงประมาณปี 92-93 เรื่องไปเรียนช่างศิลป์ได้ยังไงนี่ผมต้องขอเท้าความก่อน ว่าสมัยนั้นไม่มีเน็ตให้หาข้อมูลเรื่องการศึกษา ดังนั้นข้อมูลหลายอย่างก็ได้จากแนะนำบอกต่อแบบปากต่อปาก ไอ้เราอยากเรียนศิลปะ ตอนนั้นก็รู้จักแต่ไทยวิจิตรศิลป์เพราเพื่อนตอน ม.3 มันอยากจะเข้ากัน ผมเลยไปขอที่บ้าน ทางแม่ก็ไปปรึกษาเพื่อนเพราะห่วงเรื่องการตีรันฟันแทงระหว่างโรงเรียนในยุคนั้น


จนวันนึงแม่เอาใบสมัครมายื่นให้ บอกว่าถ้าจะเรียนทางศิลปะก็ให้ไปสอบที่นี่เท่านั้น ที่อื่นไม่ให้เรียน ผมเอาชื่อ "ช่างศิลป" ไปถามเพื่อนก็ไม่มีใครรู้จักสักคน แต่ก็เอาวะเพราะถ้าเรียนต่อ ม. 4 ที่โรงเรียนมัธยมที่ผมเรียนตอนนั้นเขาก็ไม่มีสาขาหรือวิชาศิลปะให้ได้เรียนแน่ๆ


ผมเอาใบสมัครช่างศิลป์มากางอ่านดูก็ยิ่งงง เพราะเขามีชมรมให้เลือกประมาณ 20 ชมรม ที่จำได้มีเบสบอล แล้วก็มีวินด์เซิร์ฟด้วย! โหหรูว่ะ ผมนี่นึกภาพไม่ออกเลยว่าโรงเรียนนนี้จะหรูขนาดไหน


จนวันไปส่งใบสมัครนั่นแหละ กูก็ก็มองหาสนามเบสบอลใหญ่เลย แต่ไม่เจอ เจอแต่บึงอยู่ข้างตึกเรียนที่ต้นกกขึ้นรกเลย เขาจะเล่นวินด์เซิร์ฟกันได้เหรอวะ ระหว่างเดินดูตึกเรียน เจอพวกนักเรียนแม่งแต่งตัวโคตรสกปรก ห้องเรียนเลอะสีเต็มไปหมด แล้วมีคนแซวแม่กูด้วย! นี่กูต้องสอบเข้าที่นี่เหรอเนี่ย? ตอนนั้นนี่งงๆ ใจก็แป้วๆ หน่อย คือถ้ายุคนั้นมีเน็ตให้เช็คก่อนรับรองว่าผมไม่สมัครไอ้โรงเรียนช่างศิลปอะไรนี่แน่ๆ

และใช่ครับ ปรากฏว่าสอบติด! ชีวิตเปลี่ยนเลยกู ด้วยความเรียนเร็วแต่เด็ก ตอนที่ผมเข้าไปผมอายุยังไม่ถึง 15 แต่เพื่อนร่วมห้องผมนี่อายุ 21 ก็มี มีรุ่นพีตัดโมฮอคบ้าง โกนผมครึ่งหัวบ้าง ผมยาวเกือบถึงบ่าบ้าง ค่อนข้างช็อกเลยทีเดียว เพราะที่จริงถ้าเทียบกับโรงเรียนมัธยมสายสามัญที่ผมจากมา ที่นี่มันก็เทียบเท่าเด็ก ม.ปลาย! แต่ทำไมมันดูไม่ ม.ปลายกันเลยวะ ถ้าเปรียบให้เห็นภาพแม่งคือโรงเรียนคุโรมาตี้เลย


อยู่สักพักค่อยเข้าใจว่า อ๋อ แฟชั่นโรงเรียนนี้ขับเคลี่อนด้วยแนวดนตรี ไอ้เรามาจากมัธยมก็ฟังแค่ร็อก เฮฟวี่ ที่เป็นเมนสตีมในยุคนั้นอ่ะนะ สื่อดนตรีก็ไม่ค่อยมีให้ดู พอมาที่นี่เจอสายพังค์ กรั้นจ์ เด๊ธ สปีดเมทัลเข้าไปก็งง แต่ก็นั่นล่ะ ก็สมัยนั้นแบรนด์เสื้อผ้าก็ไม่ได้มีให้เลือกหลากหลาย เพื่อนมันก็มิกซ์แอนด์แมทช์เอาเอง แม่งเลยดูขาดๆ เกินๆ บางทีก็ออกอุบาทว์เลยล่ะ

บางทีก็มาเรียนแต่เช้าสดใสๆ เจอคนทำโมฮอคกำลังให้เพื่อนเอาสีสเปรย์พ่นรถพ่นใส่ผมบ้าง ก็ตลาดหัวตะเข้อะนะ จะไปหายาย้อมผมสีฟ้าจากที่ไหน บางเช้าก็เจอข่าวลือเรื่องแก็งค์ชาวเด๊ธเอามีดตัดคอหมาจรจัดบ้างล่ะ เข้าห้องน้ำก็มีพวกติดเฮโรอิน โช้คเลือดไว้ตามกำแพงบ้างล่ะ (เฮโรอินหรือแป๊ะฮิตมากยุคนั้น) โอ้ว...ชีวิตใสๆ วัยเด็กของกู แต่ก็นะ นอกจากได้เรียนศิลปะแล้วก็ได้หัดฟังเพลงจากที่นี่ล่ะ


ด้วยช่วงที่ผมเรียนมันเป็นรอยต่อของยุค 80’s -90’s เป็นช่วงเปลี่ยนจากดนตรีเมทัลมาอัลเทอร์เนทีฟ และไม่มีสื่อมาแจกแจงเทรนด์นู่นนี่แบบสมัยนี้ ใครเสพอะไรมันก็แบ่งเป็นกลุ่มก้อนตัวชัดเจน เอาง่ายๆ ก็แต่งตัวกันตามปกเทปน่ะ หาเอาตามสะพานพุทธ จัตุจักร หน้าราม ซึ่งก็ดีนะ อย่างพวกเสื้อทัวร์แม่งก็ใส่ไว้บอกว่ากูฟังแนวนี้ สมัยนั้นไม่มีที่ให้แชร์เพลงหรือให้ประกาศหาคนคอเดียวกัน ฉะนั้นเจอใครใส่เสื้อวงที่ชอบมานี่เดินเข้าไปทักได้เลยเป็นเรื่องปกติ "เฮ้ย! มึงฟังด้วยเหรอ มึงฟังเพลงนั้นป่ะ แล้วได้ฟังอัลบั้มนั้นป่ะ แม่งโคตรดี นี่มึงต้องฟังวงนี้ด้วยเว้ย แม่งทางเดียวกัน พี่กูบอกมา" อะไรแบบเนี้ย ซึ่งมันก็จะเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันโดยปริยาย แลกเทปกันฟัง ใครมีซาวด์อะเบ้าท์ก็แบ่งกันคนละหูระหว่างทางกลับบ้านสนุกดี

ตอนนั้นผู้คนก็ไม่ได้มีกิจกรรมอะไรให้ทำมาก ทามากอตจิก็ยังไม่เกิด พอเลิกเรียนก็จับกลุ่มกินเหล้าวางแผนทำเรื่องแผลงๆ เช่นลงขันกันซื้อเหล้าหมดตัวกันตามประสาเด็กหอ จนไม่เหลือตังค์ซื้อกับแกล้มหรือข้าวเย็น แต่ไอ้พวกเพื่อนที่มาจากต่างจังหวัดมักจะมีสกิลหาของป่า มันก็คาบมีดโดดลงคลองว่ายน้ำไปปาดคอห่านจากเล้าห่านแถวๆ นั้นมาทำกิน ไม่ก็ตกปลาเก็บกบเขียดมาแบ่งกันประทังชีพ มีจนถึงว่าขโมยถังน้ำสาธารณสุขที่เขาไว้สำรองใช้เวลาน้ำไม่ไหล (ที่เป็นลูกบาศก์สังกะสี 3x3 เมตร) โยนลงคลองแล้วว่ายเกาะกันมาไว้ที่หอ เพื่อเอามาหมักเหล้ากินกันเพื่อความประหยัด


ทอปปิคในวงเหล้านอกจากเรื่องทะลึ่งตึงตังแล้วก็เป็นเรื่องดนตรีนี่แหละ แต่เป็นการเล่าต่อๆ กันมานะ รุ่นพี่เล่าให้ฟังบ้าง อ่านเจอมาบ้าง เล่ากันผิดๆ ถูกๆ อย่างแนวดนตรีนี่ก็ไม่ใครมาแจกแจงว่าแบบนี้คือแนวอะไร กว่าจะฟังแล้วแยกออกก็พักใหญ่ ชื่อวงก็อ่านกันผิดๆ บ้าง อย่างวงแล็คเมทัลชื่อ "Mayhem" เพื่อนแม่งก็เรียก "มายึ่ม" ไอ้เราก็สงสัยว่าทำไมฟังดูหมอยๆ วะ เรียกได้ว่าอยากได้ความรู้แนวเพลงไหนก็ไปนั่งในวงของกลุ่มฟังเพลงนั้นๆ มีเรื่องให้ฟังตลอดคืน เรื่องเพลงนี่พวกเราคุยกันได้ไม่รู้จบ

และอย่างที่ผมเล่าไปตอนแรก ว่าถ้าอยากรู้ว่าใครฟังเพลงแนวไหนให้เช็คจากการแต่งตัวได้เลย แต่ก็มีพวกที่ไม่ได้สนใจเพลงแต่ชอบแต่งตัวเนี้ยบๆ หน่อย สมัยนั้นเรียกว่า "พวกบูติก" ซึ่งจะว่าไปก็คล้ายเทรนด์ตอนนี้นะ แต่ตอนนั้นเขาฮิตเสื้อเชิ้ตแขนยาวผ้าหางกระรอก กางเกงผ้าพริ้วๆ กับรองเท้าคัทชูของทิมเบอร์แลนด์


มาถึงเรื่องเสื้อผ้าผมก็จะขอแจกแจงเท่าที่จำได้ให้ฟังที่นอกเหนือจากการดูเสื้อวง อย่างจะหาว่าใครเป็นพวกฟังแทรชหรือสปีดเมทัล หลักๆ ให้ดูที่กางเกงกับรองเท้า กางเกงยีนส์สีดำเอาไปแก้ทรงจนรัดรูป ลีวายส์ซูเปอร์แบล๊คของจริงบ้างปลอมบ้างแล้วแต่ฐานะ กับรองเท้ากีฬาหุ้มข้อแบบพวกรีบอคปั๊มพ์ ไนกี้แอร์ฟอร์ซวันนี่แหละ


ส่วนพวกพั๊งค์นี่ก็ยีนส์ดำรัดรูปเหมือนกัน แต่จะมีซิปกับเข็มกลัดเข้าไปแต่ง รองเท้าอันเดอร์กราวด์เตารีด ถ้าหรูหน่อยก็ด๊อคเตอร์มาตินส์ ถ้าจนหน่อยก็รองเท้าคอมแบท ร.ด.เลย


พวกฮิปปี้จะใส่ขาม้า ส่วนพวกเด็กแร๊ป (สมัยนั้นไม่ค่อยนิยมเรียกฮิปฮอป) ก็คล้ายสมัยนี้ล่ะครับ แต่แบรนด์จะโบราณๆ หน่อย เช่นพวก Alien Workshop


เด็กกรั้นจ์ก็กางเกงยีนตัดขาดลุ่ยๆ เหนือเข่ากับเสื้อยืดแขนยาว ส่วนเด็กอัลเตอร์ก็นี่เลย--กางเกงสีกากีเสื้อมิคกี้เม้าส์นี่มาตรฐาน โห สมัยนั้นดูง่ายว่าใครฟังเพลงอะไร อย่างตอนผมเปิดเพลงงาน Dudesweet ยุคแรกๆ ใครเดินเข้ามาก็ดูออกละว่าจะเปิดเพลงอะไรบิ้วท์ดี สมัยนี้ดูไม่ออกละ

ในยุคนั้นไม่มีกรุ๊ปเฟชบุ๊คหรือกรุ๊ปไลน์ Tower Records ก็ยังไม่มาเมืองไทย ที่ๆ จะเจอคนคอเดียวกันได้ก็ต้องตามงานคอนเสิร์ตเลย ซึ่งแน่นอนคอนเสิร์ตแต่ละครั้งสำคัญมากๆ ก็มันไม่มียูทูปอ่ะ แต่ละครั้งก็ตั้งหน้าตั้งรอกันเลย เพราะตอนนั้นถ้าพลาดไปก็ไม่รู้จะได้ดูอีกตอนไหนวะ ไม่มีทางเลย ราคาบัตรตอนนั้นถ้าศิลปินไม่ใช่ระดับไมเคิล แจ๊คสัน ก็จะอยู่ราว 400-500 บาท ตอนนี้มันฟังดูไม่แพงเลยใช่ไหม แต่ก็นะ ตอนนั้นผมอายุ 15-16 ค่าเทอม 380 บาท ฉะนั้นบัตรราคานั้นย่อมเป็นเรื่องใหญ่


มีออยู่ครั้งนึง Black Sabbath มาเล่นที่คลับชื่อฟีบัส มันเป็นช่วงที่กลุ่มเพื่อนกำลังคลั่ง Paranoid ที่ Megadeth เอามาคัฟเวอร์เสียเหลือเกิน อยากไปดูกันมากแต่ไม่มีตังค์ แต่มีเพื่อนคนนึงมันโทรไปตอบคำถามในรายการวิทยุแล้วได้บัตรฟรีแล้วมันเอามาอวดที่โรงเรียน


พอได้เห็นบัตร ก็มีเพื่อนคนนึงออกไอเดียว่า เฮ้ย เราทำกันเองได้นิ (สมัยนั้นบัตรกระดาษ) นี่ไงเราเอาไปซีรอกซ์สีแล้วเอาเข้าแท่นภาพพิมพ์ แล้วก็รีดลงกระดาษปอนด์ไง

ทุกคนเห็นด้วยแล้วแบ่งหน้าที่กันไปทำ ส่วนนึงไปหากระดาษปอนด์ที่เนื้อคล้ายกัน อีกคนไปซีร็อกซ์สี อีกคนแกะยางลบเป็นตราปั้ม อีกฝ่ายเอาคัตเตอร์นั่งปรุให้ฉีกได้ ออกมาใกล้เคียงราว 80% เลยนะครับ ใช้เข้าคอนเสิร์ตกันได้หมดครบทุกคน ผมได้รู้สึกซาบซึ้งการเรียนศิลปะก็ตอนนี้ แถมขากลับเพื่อนได้ไม้กลองกับป้าย 3 เมตรที่แขวนหน้างานมาด้วย คุ้มชิบหาย!


ที่เล่ามาไม่ใช่ตัวอย่างที่ดีนะครับ แค่อยากจะเล่าว่าตอนนั้นคอนเสิร์ตมันสำคัญกับพวกเรามากๆ ยอมลงแรง ยอมเสี่ยง ซึ่งผิดกับสมัยนี้มากๆ เลย ที่เห็นคนเข้าไปยืนเล่นโทรศัพท์ในคอนเสิร์ต หรือไปเพื่อเช็คอินลงเฟชบุค บ่นไปก็แก่เปล่าๆ เฮ้ออออ

 


bottom of page