top of page
  • Black Facebook Icon
  • Instagram

Welcome to the world where truth doesn't hurt

The National x Pentagram เมื่อวงดนตรีโพสต์พังก์จับมือกับบริษัทออกแบบสร้างแคมเปญจ์ดีไซน์อัลบั้มล่าสุด

โดย Panlert Bent

 

Sleep Well Beast อัลบั้มชุดที่ 7 ของ The National วงดนตรีอินดี้ร็อคที่วนเวียนอยู่ในวงการเพลงมากว่า 16 ปี นอกจากเพลงที่ปล่อยออกมาแล้ว ความน่าตื่นเต้นอีกอย่างคือการคุมอาร์ตไดเร็กชั่นที่เนี้ยบกริบ แบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับวงมาก่อน เพราะปกติอาร์ตเวิร์กของวงนี้จะเป็นภาพถ่ายที่เหยาะด้วยไทโปกราฟี่ธรรมดา ตอนแรกก็สงสัยว่าวงมันกินยาลืมเช็กวันหมดอายุมารึไง ถึงได้ทำอาร์ตเวิร์กสวยงามขนาดนี้ จนเรามารู้ภายหลังว่าผู้อยู่เบื้องหลังไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็น Luke Hayman แห่ง Pentagram บริษัทดีไซน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกจากนิวยอร์คนั่นเอง


เฉกเช่นเดียวกับ Pentagram ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากอังกฤษ ลูค เฮย์แมนก็เช่นกัน จริงๆ แล้วเขาเป็นคนอังกฤษที่ย้ายมาอยู่นิวยอร์ค ก่อนจะจับพลัดจับผลูทำงานและได้เป็นหนึ่งในพาร์ทเนอร์ที่ Pentagram งานล่าสุดของเขาก็คือรีแบรนดิ้งโลโก้สุดมินิมอลแห่งยุคอย่าง mastercard ไงล่ะ ที่เป็นวงกลมสองอันอินเตอร์เซ็กกัน มินิมอลมาก แต่ค่าจ้างน่าจะไม่มินิมอลนะแก

จุดเริ่มต้นของการทำงานร่วมกันของ The National และ Pentagram เกิดขึ้นจากที่สองสมาชิกของวงที่เรียนกราฟิกดีไซน์มาด้วยกันอย่าง แมต เบอร์นินเจอร์ นักร้องนำและสก็อต เดเฟนดอร์ฟ มือเบส พูดคุยกันว่าพวกเขาควรหาบริษัทดีไซน์มาช่วยพัฒนาไอเดียของอัลบั้มนี้ให้ออกมาเป็นวิช่วลที่น่าสนใจ หวยจึงตกไปที่ Pantagram และ Luke Hayman ด้วยเหตุผลที่ว่า สก็อต เดเฟนดอร์ฟเคยทำงานอยู่ที่ Pentagram อยู่ช่วงนึงไงล่ะ และตอนที่เขาเป็นจูเนียร์อยู่ที่นั้น ลูคก็เป็นซีเนียร์ที่สอนงานเขาอยู่ เขาเลยเชื่อมั่นมากๆ ว่าคำตอบของอาร์ตไดเร็กชั่นอัลบั้มนี้จะอยู่ที่ใคร

อาร์ตไดเร็กชั่นที่ว่าไม่ใช่เพียงแค่ออกแบบหน้าปก แผ่นพับ หรือเมอร์แชนไดส์อย่างเสื้อยืดเท่านั้น Pentagram ได้ออกแบบ coporate idenity ให้อัลบั้มนี้ออกมาเหมือนเป็นบริษัทๆ หนึ่ง ที่มีทั้งแฟ้ม แม็ก กาว ที่ใส่บัตรพนักงาน และคู่มือการใช้โลโก้ต่างๆ ด้วยเหตุผลที่ว่าทางวงมีความสนใจเรื่องการเมืองเป็นพิเศษ แต่ไม่อยากได้ภาพที่ดูเป็นการเมืองจ๋า อยากได้เพียงแค่กลิ่นๆ ของการ Propaganda อะไรแนวๆ นั้นมากกว่า

การทำงานระหว่าง The National กับ Pentagram เต็มไปด้วยการเคารพซึ่งกันและกัน ลูค เฮย์แมนมองว่า The National เป็นวงที่ฉลาด พวกเขาเข้าใจว่ากำลังร่วมทำแบรนด์ดิ้งวงกับ Pentagram อยู่ ในขณะเดียวกันทาง The National ก็มองว่าควรปล่อยอิสระเต็มที่ให้กับ Pentagram เพราะพวกเขาเป็นบริษัทที่มักจะทำอะไรเจ๋งๆ ออกมาอยู่เสมอ


หน้าปก ภาพหน้าปกคือภาพสตูดิโอบันทึกเสียงที่นิวยอร์คของสมาชิกในวง ที่พวกเขาทำอัลบั้มนี้ร่วมกัน ถ่ายโดย แกรห์ม แมคอินโด ภาพนี้ได้ถูกนำมาพัฒนาต่อให้เป็นคีย์วิช่วลของอัลบั้ม ทรงตัวสถานที่ถูกตัดทอนให้เป็นทรงกราฟิกรูปบ้าน ที่สามารถแบ่งอิลิเม้นต์ได้เป็นสี่เหลี่ยมสองส่วนและสามเหลี่ยมอีกหนึ่งส่วน สังเกตุดีๆ จะเห็นว่าพวกเขานำอิลิเม้นต์ทั้งสามมาไว้บนปกด้วย


โลโก้ กราฟิกที่ตัดทอนจากทรงบ้าน ถูกนำมาประกอบกับตัวอักษร Ntl. ที่ถูกตัดทอนมาจากชื่อวง เพิ่มความจริงจังให้เหมือนเป็น corporate ที่เมื่อนำโลโก้ไปวางอยู่ตรงไหน ก็เพิ่มความน่าสนใจและดูคูลได้ทุกเมื่อ


แบบชุดตัวอักษร ลูค เฮย์แมนเลือกใช้ไทป์เฟซ Maison จากสตูดิโอดีไซน์ Milieu Grotesque แห่งสวิสฯ ที่รูปทรงดูเรียบง่าย ไม่ยโส ดูโมเดิร์น ตามแบบฉบับฟอนต์แบบ sans-serif


สี ยืนพื้นหลักๆ ที่สีฟ้ากับขาว ให้ความรู้สึกแบบงานดีไซน์ย้อนยุค เหมือนงาน corporate branding สมัย 70’s อารมณ์เดียวกับงานของ Ken Garland

แผ่นพับ เต็มไปด้วยภาพถ่ายในห้องอัด ที่วงตั้งใจให้นำเสนอถึงรูปแบบการทำงานของวง ที่ถูกนำมาทำเป็นภาพฮาฟต์โทน อาบด้วยสีน้ำเงินและสีแสด จงใจให้ได้ความรู้สึกเหมือน zine


อื่นๆ ตัวมิวสิควิดีโอทุกตัวจากอัลบั้มนี้ถูกกำกับโดย Casey Reas ศิลปินที่มาจากเมืองโอไฮโอที่เดียวกับวง นอกจากนี้ตัวเว็บไซต์ยังถูกสร้างขึ้นมาใหม่ชื่อ americanmary.com โดยฝีมือของ The Collected Works สตูดิโอดีไซน์จากนิวยอร์ก

댓글


bottom of page