สัมภาษณ์ โดย จีรพัฒน์ ยอดนิล ถ่ายภาพ โดย สีสัน บทความนี้สนับสนุนโดย Carabao Can
ถ้าให้นึกภาพทีม TEMPORARYWEST ก็ให้นึกถึงการ์ตูนสักเรื่อง ที่แก๊งมันจะมีสิบตัว และคาแรคเตอร์ทุกตัวไม่เหมือนกันเลย แต่ก็มีจุดร่วมบางอย่างที่ทำให้อยู่ด้วยกันได้ ในกรณีของแก๊งนี้ คือการที่ทุกคนตั้งเป้าเดียวกันว่า “โอเค เราไม่ได้ทำเพื่อโชว์พาวนะ และไม่ได้ทำเพื่อแสดงอิทธิฤทธิ์อะไรทั้งสิ้น แต่เราทำเพื่อสิ่งที่เราชอบ”
TEMPORARYWEST คือกลุ่มศิลปินสตรีทอาร์ต ที่ตอนนี้กำลังหมกมุ่นทุ่มเทกับโปรเจ็คต์การสร้างผลงานตามกำแพงต่างๆ ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่เขาให้ชื่อโปรเจ็คต์นี้ว่า”Art Town” ตอนนี้จุดใหญ่ๆ เสร็จไปแล้ว 2 จุด และมีแผนที่จะขยายไปอีก 3 แห่งใหญ่ในประจวบฯ โดยมีโรงพยาบาลบางสะพานเป็นแผนการใหญ่ที่สุด ซึ่งต้องใช้เวลาสร้างงานกันยาวไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน
เฟม (Yakob) เป็นแกนนำของกลุ่ม TEMPORARYWEST เขาเป็นคนต่อจิ๊กซอว์ชิ้นแรก และพยายามหยิบชิ้นอื่นมาต่อให้อยู่ในเฟรมเดียวกันได้จนครบ นั่นคือสมาชิกอีก 9 คน ในการสัมภาษณ์นี้ บทสนทนาของแต่ละคน แสดงให้เห็นถึงแพสชั่น ความฝัน ผ่านคำพูดที่ขบขันที่เต็มไปด้วยความรู้สึกที่จริงจัง โปรเจ็คอาร์ตทาวน์เรื่อมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 ที่เริ่มจากจังหวัดประจวบคิรีขันธ์เพราะเป็นบ้านเกิดของเฟมก่อน และอาร์ตทาวน์ก็เกิดจากการที่เฟมอยากจะทำอะไรเพื่อบ้านเกิดของเขานี่ล่ะ อายุของศิลปินกลุ่มนี้ไม่เกิน 25 ปี กลุ่ม TEMPORARYWEST รวมตัวกันจากการชักชวนของเพื่อนของเพื่อน โดยมีสตรีทอาร์ตเป็นเหมือนการ์ดเชิญ และเมื่อเกาะกลุ่มกัน ทุกคนก็กลายเป็นเพื่อนกันเองจริงๆ งานของพวกเขาเกิดขึ้นตามถนน เห็นได้ตามกำแพงเพื่อให้ผู้คนสัมผัสได้ง่าย และเพื่อให้ศิลปะมีบทบาทกับชีวิตของผู้คน สิ่งนี้กลายเป็นคติประจำกลุ่มที่ต้องการพัฒนาชุมชน
อาร์ตทาวน์ (Art Town) “เราว่าการทำอะไรให้กับสังคมมันเป็นสิ่งที่ศิลปินควรทำ”
โปรเจ็คต์ ‘อาร์ตทาวน์’ ของพวกคุณคืออะไร เฟม: อาร์ตทาวน์ คือเมืองที่เต็มไปด้วยงานสตรีทอาร์ท ถ้าให้นึกแบบเห็นภาพตามง่ายๆ เลย ก็เหมือน AC/DC Lane หรือ Centre Place ในเมลเบิร์น ส่วนในบ้านเราเองก็มีที่คล้ายๆ กันนะอยู่ในราชบุรี นัท: สำหรับพวกเรามันเหมือนกับเป็นการพัฒนาพื้นที่ไปด้วย คือการเปลี่ยนพื้นที่ๆ มันไม่ได้รับความสนใจ ให้กลายเป็นพื้นที่ๆ น่าสนใจได้ ด้วยการนำศิลปะเข้าไปสู่บุคคล ให้เขาสัมผัสศิลปะได้ง่ายขึ้น จนศิลปะมันสามารถพัฒนาพื้นที่ๆ เขาอยู่ให้ดีขึ้นตามไปด้วยในที่สุด
ศรวิส: มันคือการที่เราเอางานศิลปะไปให้คนเห็นได้ตามท้องถนน โดยที่ไม่จำเป็นต้องเครียด ต้องดูยาก เพราะถนนนี่ล่ะคือแกลอรี่ของพวกเรา
แล้วสตรีทอาร์ตในแต่ละจุด มีจุดประสงค์ต่างกันไหม
นัท: แต่ละคนจะมีจุดประสงค์ที่เป็นของตัวเองอยู่แล้ว แต่หนึ่งจุดประสงค์ที่เรามีร่วมกันคือต้องการให้งานมันออกมาสวยงาม
เฟม: ถ้าจะถามว่าคอนเซปต์ที่แต่ละคนพูดเป็นอย่างไร ก็ต้องย้อนกลับไปดูงานที่แต่ละคนทำมาก่อน แต่โดยส่วนใหญ่งานของพวกเราจะเป็นรูปแบบของคาแรคเตอร์ที่ไป blend กับสถานที่ แล้วแต่มุมมองของแต่ละคนที่ทำ
ที่บอกว่า ‘สตรีทอาร์ตเป็นงานที่พัฒนาชุมชน’ อยากให้ช่วยอธิบายตรงนี้หน่อย
เฟม: เรามองว่ามันไม่ได้เป็นการพัฒนาชุมชนอย่างตรงๆ ขนาดนั้นหรอก มันเป็นเหมือนการกระตุ้นมากกว่า กระตุ้นให้คนตรงนั้น จากที่อยู่เฉยๆ พอมันมี activity เกิดขึ้น เขาก็เริ่มหันกลับมามองที่ของตัวเองอย่างชัดๆ อีกครั้งนึง
เติร์ก: ที่ๆ เราไปทำส่วนหนึ่งมันเป็นพื้นที่ร้าง อย่างที่รู้กันดีคือมันก็จะเป็นที่มืด เป็นจุดอับ เราก็เอาอาร์ทเข้าไปตรงนั้น ก็อาจจะมีคนมาถ่ายรูป หรือมาดูมาทำอะไรก็ตาม มันก็จะทำให้พื้นที่ตรงนั้นไม่เป็นจุดอับและไม่มีความอันตรายเกิดขึ้น จนกลายเป็นพื้นที่ๆ เต็มไปด้วยผู้คนอีกครั้งนึง
แล้วเสียงตอบรับจากชุมชนเป็นอย่างไรบ้าง
โอรอน: ส่วนที่จะทำให้ฟีดแบคมันชัดเจนนั้นมันขึ้นอยู่กับบริบทของเมืองตรงนั้นด้วยนะ แต่ตอนไปทำก็เห็นได้ค่อนข้างชัด จากตอนแรกที่ไม่ค่อยมีคนเลย พอเราลงไปทำชาวบ้านแถวนั้นก็เริ่มเข้ามาสนใจ เข้ามาพูดคุย อย่างครั้งนึงจำได้เลยมีป้าเดินเข้ามาดูแล้วมาพูดว่า “ทำอะไรเนี่ย วาดรูป อ๋อ…วาดแมวหรอ มึงขอรึยัง” ตอนนั้นอยู่คนเดียวด้วยเลยตอบสั่นๆ ไปว่า “อื่ม ๆ เอ่อ ๆ คือๆ ว่า … ขอไปแล้วครับ” ป้าก็สั่งเพิ่มเลยว่างั้นทำตรงนี้ด้วยนะ เพิ่มตรงนั้นหน่อยสิ
ช่วยเล่าโปรเจ็คต์ล่าสุดอย่าง ‘ตลาดท่าเกวียนบางสะพาน’ ให้ฟังหน่อย เฟม: ตรงตลาดท่าเกวียนที่เราไปทำมันเคยเป็นส่วนหนึ่งของห้างกับหมู่บ้านทาวน์โฮมมาก่อน แล้วพอห้างนี้เจ๊ง (เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว) คนก็เริ่มย้ายออก หลายๆ หลังก็ร้างตามกัน เมื่อไม่กี่ปีก่อนคนแถวนั้นก็แปรสภาพบ้านตัวเอง ก็เริ่มโบกปูนให้กลายเป็นตึกที่เอาไว้เลี้ยงนกเพื่อเอารังนกไปขาย แน่นอนว่าการทำแบบนั้นยิ่งทำให้บริเวณนั้นมันร้างเข้าไปอีก พอจำนวนคนลดลงก็ไม่มีความเคลื่อนไหวของประชากร ทำให้พื้นที่กลายเป็นจุดบอด มีก็แค่ร้านข้าวเงียบๆ ตอนนี้ก็มีคนอยู่บ้างนิดหน่อยเท่านั้น ศรวิส: แต่พอพวกเราเข้าไปทำก็เห็นได้ชัดเลยนะ คือบริเวณนั้นมันจะมีสนามเด็กเล่นอยู่ซึ่งแน่นอนว่าด้วยความร้างทำให้ไม่มีเด็กมาวิ่งเล่นเลย เราก็เข้าไปทำตรงตลาดอยู่ 2 รอบ แล้วรอบที่ 3 นี่แวะกลับมาดูแต่ไม่ได้ทำอะไร เขาก็เอาเครื่องเล่นใหม่เข้ามาลงเลย
โอรอน: บางทีก็มีครอบครัว พ่อ แม่ ลูก ปั่นจักรยานผ่านมาจอดดูงานที่เราทำด้วย ทั้งๆ ที่ตอนนั้นมันก็มืดแล้ว พอเริ่มมีคนเอาไปพูดต่อปากต่อปาก ก็มีคนขับรถวนมาดูบ้าง มีเด็กนักเรียนมาคุยด้วย แอบมาถ่ายรูปบ้าง แต่ไม่ค่อยถ่ายงานนะส่วนใหญ่ถ่ายรูปผม เซ็งอยู่เหมือนกัน แต่พอได้เห็นรอยยิ้มของพวกเขามันก็รู้สึกดีอะ เติร์ก: พ่อแม่ของเด็กๆ ที่มาดูก็เข้ามาคุย มาถามเรื่องเรียนศิลปะ ประมาณว่าจะเริ่มแนะแนวลูกยังไงดี เพราะลูกเขาก็สนใจศิลปะเหมือนกัน ศรวิส: เหมือนเราไปทำให้เขาเห็นโอกาส เห็นช่องทางที่กว้างมากขึ้น เฟม: พวกเขาจึงเริ่มหันมามองว่าจริงๆ ที่ตรงนี้มันก็สามารถทำอะไรได้ตั้งเยอะนะ สามารถมีกิจกรรมมากมายสนุกๆ เกิดขึ้นได้ คงจะดีกว่าถ้าจะให้มันเกิดเป็นอะไรที่มากกว่าแค่ทิ้งร้างเอาไว้เฉยๆ
ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือเป้าหมายของ TEMPORARYWEST เลยรึเปล่า เฟม: ใช่ๆ มันคือเป้าหมายที่พวกเราตั้งเอาไว้อยู่แล้ว แต่ก็ไม่ได้คิดว่ามันจะ success ขนาดนี้นะ ตอนแรกยังคุยกันอยู่เลยว่าอาจจะต้องทนกันหน่อย เพราะอาจจะต้องใช้เวลาหลายเดือนมากกว่ามันจะส่งผลต่อคนในท้องที่ แต่โชคดีตรงที่ว่าพอทำไปแล้ว คนตรงนั้นเขามีฟีดแบ็คกลับมาเร็วมาก ทุกคนก็เลยแบบ เฮ้ย สนุกว่ะ มีกำลังใจที่จะลุยไปกับมัน หลังๆ ก็มีแบบพวกครูตามโรงเรียนท้องถิ่นเข้ามาถามว่า “ทำทำไม ทำไปเพราะอะไร” ก็เล่าไปในแบบที่พูดให้ฟังเมื่อกี้ล่ะ แล้วเขาก็ชอบไอเดียตรงนี้ เลยชวนให้ลองไปทำที่โรงเรียนดูมั้ย หรืออาจจะลองไปพูดหรือบรรยายให้เด็กๆ ฟัง คือต้องเข้าใจก่อนว่า ที่ๆ ต่างจังหวัดมากๆ ในประเทศเรา มันไม่ได้เหมือนปริมณฑลในกรุงเทพนะ คำว่าไม่มีอะไรคือไม่มีอะไรเลยจริงๆ
อีกอันที่รู้สึกว่ามันพัฒนาชุมชนก็คือถ้าไอ้ความคิดตรงนี้ของกลุ่มนี้ พอมีคนมาเห็นเขาก็จะนึกขึ้นได้ว่าจริงๆ ประเทศไทยมันไม่ได้มีแค่กรุงเทพนะ ซึ่งถ้าถอยออกมามอง ก็จะเห็นว่า ตรงนั้น [กรุงเทพฯ] ไม่ใช่แค่ที่เดียวที่สร้างชุมชนหรือสิ่งใหม่ให้เกิดขึ้นได้ แต่ที่ตรงอื่นก็ยังเหลือตั้งแยะ ซึ่งก็ดีไม่แพ้กรุงเทพฯ เลย ซึ่งอันนี้เป็นเอฟเฟ็คต์ที่เราอยากให้ไปต่อได้ เพราะถ้าหลังจากนี้มันขึ้นไปเป็นอาร์ตทาวน์ได้ร้อยเปอร์เซนต์ — หมายถึงร้อยเปอร์เซนต์ในแบบที่พวกเราตั้งไว้นะ ชุมชนเกิดการขยาย มีการหมุนเวียนมากขึ้น คนข้างในสร้างอาชีพได้ วันนึง TEMPORARYWEST ก็อาจจะไปที่อื่นบ้าง ไม่ได้อยู่แค่ตรงนี้
อีกอย่างที่เราอยากได้ก็คือ ทุกคนในที่นี้เคยได้แรงบันดาลใจจากอะไรซักอย่าง อยากให้มันเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นต่อเป็นลูกโซ่ๆ วันนึงประเทศเราแม่งอาจจะสนุกกว่านี้
จรรยาบรรณที่ปลายกระป๋องสเปรย์ “มันเหมือนสังคมๆ นึง ที่มันก็มีหลายแบบ ซึ่งคนปากหมามันก็เยอะแยะ คนรู้จักพูดจาถูกกาลเทศะก็เยอะ มันขึ้นอยู่กับวิธีการพูด”
สตรีทอาร์ตคืองานที่พ่นกำแพงหรือตึกของคนอื่นใช่ไหม อยากรู้ว่ามารยาทในการไปทำงานด้านนี้เป็นอย่างไร โอรอน: มันก็มีทั้งสองแบบนะ ไอ้พวกที่ไปซัดเลยก็มี พวกที่ไปขอก่อนก็มี แต่อย่างพวกเราก็จะเป็นแบบอย่างหลัง ก็ไปขอเขาว่าทำได้ไหมครับกำแพงตรงนี้ ก็เปิดสเก็ตช์ภาพที่จะทำให้เขาดู ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร
เฟม: แต่ในมุมมองของพวกเรามองว่ามันเหมือนคอมมิวนิตี้มากกว่านะ มันก็เหมือนสังคมนึงที่มีคนหลาย
แบบ คนปากหมาก็เยอะแยะ คนรู้จักพูดจาถูกกาลเทศะก็มี ศิลปินทุกคนมีเจตนาของตัวเองตอนทำอยู่แล้ว แต่สุดท้ายเลยคือมันอยู่ที่วิจารณญาณของคนดู ถ้าสมมติว่าคุณไปโขมยพ่น พ่นเสร็จออกมาแล้วคนดูมองว่าเลอะเทอะ ก็จบ กลายเป็นงานของพวกมือบอนไป แต่ถ้าคนดูบอกว่า “เอองานนี้ดี มีคุณค่า สวยงาม” มันก็กลายเป็นคุณค่าขึ้นมา มันอยู่ที่ผลลัพธ์ตรงนี้
ศรวิส: อย่างล่าสุดมีงานนึงไปเขียนพื้น พ่นที่ฟุตบาธ ตรงที่พอเหยียบกระเบื้องแล้วน้ำจะแตกกระเด็นออกมา เราก็ไปเขียนตัวอักษรว่า ‘กับดัก’ ซึ่งคนชอบกันมาก แต่ ตรงนั้นมันเป็นที่ของสาธารณะไง ถ้าเราจะไปขอเขาก็ไม่ให้อยู่แล้วแหละ จริงๆ มารยาทตรงนี้ก็เหมือนกฏจราจรเหมือนกันนะ คือมีบางข้อที่ใครก็แหก แต่ก็อย่างที่เฟมบอกว่ามันอยู่ที่เจตนาของคนทำด้วย อย่างอันนั้นเราทำเพราะรู้สึกว่าเป็นคอนเทนต์ที่เหมาะกับสิ่งที่เราต้องการจะสื่อสาร แต่สุดท้ายมันก็อยู่ที่คนดูตัดสินอยู่ดี
เฟม: แล้วถ้าถามว่าอะไรเป็นสตรีทอาร์ตอะไรไม่ใช่สตรีทอาร์ตมันไม่ได้อยู่ที่ตัวคนทำ มันอยู่ที่เจตนาของคนทำ ถ้าเกิดเจอกำแพงนึง แล้วไปสาดสีใส่มั่วๆ ซั่วๆ แต่มีเจตนาที่ชัดเจน มันก็ไม่ใช่แค่การสาดสี มันคือศิลปะ แต่ ถ้าจู่ๆ มีคนเดินมาเห็นงานนั้นแล้วพูดขึ้นว่า “ศิลปะเหรอ กูก็ทำได้” ก็หยิบพู่กันมาสะบัดสีใส่ๆๆๆ เทสีใส่เฟรมซะเลย ถ้าถามว่าอันนี้เป็นศิลปะมั้ย?สุดท้ายก็อย่างที่บอกว่าคนดูเป็นคนตัดสิน
นอกจากไปทำเพื่อพัฒนาชุมชนแล้ว มีวิธีเลือกโลเคชั่นยังไง แล้วแต่ละกำแพงมันต่างกันอย่างไร เฟม: คือไม่รู้นะว่าคนอื่นเขาเลือกทำกันยังไง แต่ถ้าพวกเราคือทำตรงไหนก็ได้ สมมติมีกำแพงที่อยากให้เราไปทำ เราก็ไปทำให้ได้ แต่ถ้าให้เลือกได้ทุกคนก็อยากได้กำแพงที่ดีที่สุด
ศรวิส: หรือกำแพงที่ทำงานด้วยอิริยาบทที่ถนัดที่สุด
เฟม: มันก็เหมือนเลือกเฟรมงาน เหมือนเปิดร้านขายของน่ะ ใครจะอยากไปอยู่หลังสุด ใครจะอยากได้เฟรมที่ไม่สวย แต่พวกเราก็ไม่ได้มายด์ตรงนั้นนะ ไม่ได้ดีก็ไม่เป็นไร เพราะจุดประสงค์คือเราไม่ได้ขายของอยู่แล้ว ส่วนเรื่องความแตกต่างของกำแพงนั้นมีความต่างอยู่แล้ว มันมีความยาก ความท้าทายของพื้นที่ ทั้งจากที่สูง ที่เป็นร่อง รูปทรงของตึก เทกซ์เจอร์ของพื้นผิว ก็เป็นอุปสรรคที่ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเอา เป็นการอิมโพรไวซ์งานที่บางทีเราอาจจะได้งานชิ้นใหม่ที่หลุดไปจากที่สเก็ตซ์มา เป็นโลกใหม่ที่เราเองก็ไม่รู้ว่าภาพนี้จะไปจบที่ตรงไหน แต่เราแค่ต้องทำมันให้ได้ดีที่สุด ทำให้เราเองพอใจ นั่นคือการให้พื้นที่งานกับตัวงานมันเข้ากันได้
นัท: แต่จริงๆ คำตอบสำหรับคำถามนี้คือเราไม่มีสิทธิเลือกกำแพงนะ แต่เราต้องเลือกว่างานแบบไหนของเราจะเข้ากับกำแพงนั้นๆ ได้มากที่สุดมากกว่า
แล้วกำแพงแบบไหนที่เรียกว่ากำแพงที่แย่ กำแพงแบบไหนคือกำแพงที่ดี เฟม: กำแพงในฝันเนี่ยคือกำแพงที่คนเห็นงานเราชัดที่สุด แล้วก็เจ้าของกำแพงลงสีให้อย่างดี เทปูนให้ใหม่ๆ พื้นเรียบ ปาดอะไรลงไปก็ไม่มีทางหายไปอย่างไร้ร่องรอย ลงสีอะไรก็ดี ทำงานทุกอย่างง่าย สามารถทำให้เราโชว์ประสิทธิภาพของงานเราได้เต็มที่
นัท: ส่วนกำแพงที่ไม่ดีไม่มีจริงหรอก มันมีแต่กำแพงที่ทำงานยากอย่างที่เราบอกไปในคำถามก่อนหน้านี้ แต่กำแพงพวกนั้นก็ทำให้งานมีสเน่ห์ในแบบที่ต่างออกไปนะ เช่น รอยแตก ร่อง อะไรพวกนี้ อาจจะพูดได้ว่ากำแพงที่ไม่ดีคือกำแพงที่ไม่มีงานมากกว่า
เชื่อว่า TEMPORARYWEST เคยเจองานที่แบบ “เชี่ย ยากสัด ไม่น่าเป็นไปได้” แต่สุดท้ายก็ผ่านมันมาได้ อยากรู้ว่าผ่านงานนั้นมาได้ยังไง เฟม: มีนะ คงเป็นเพราะเราไม่ทิ้งกัน กัดฟันสู้อะ แต่ละคนมันไม่ทิ้งงานของตัวเองเลย เหมือนแบบว่าในจุดนี้มึงต้องเก่งขึ้นไปอีกนะ บางครั้งฝนตกทุก 2 ชม. เจอรังแตน มีงูเลื้อยอะไรเงี้ย งานมันอันตรายจริง ยากจริง แต่ก็ต้องทำมันให้ดีอะ คำเดียวเลยคือเต็มที่ๆ สุด ไม่รู้ว่างานนั้นๆ ผ่านมาด้วยดีมั้ยนะแต่ก็เป็นประสบการณ์กันไป
คำถามสุดท้ายจาก Carabao Can นะครับ อยากรู้ว่ามีมุมมองยังไงกับคำว่า Young is the generation of Can ‘วัยรุ่นคือวัยแห่งการเปลี่ยนโลก’ ศรวิส: วัยรุ่นอยู่เฉยๆ ก็ไม่เปลี่ยนนะ ถ้าอายุ 20 แล้วไม่กระตือรือร้นเลยมันก็ไม่ใช่วัยรุ่น
เฟม: เรามองว่าวัยรุ่นมันคือความไม่เสถียร แล้วพอมันไม่เสถียรมันก็เกิดอะไรใหม่ๆ ได้เรื่อยๆ
นัท: วัยรุ่นมันไม่ใช่เรื่องของอายุ แต่เป็นเรื่องของทัศนคติ ถ้าอายุ 40-50 แต่มีความทะเยอทะยานมีความกระตือรือร้นอยู่ นั่นคือวัยรุ่น ซึ่งมัน forever young เรารูสึกว่าคนที่เปลี่ยนโลกได้คือคนประเภทนี้
Komentáře