top of page
  • Black Facebook Icon
  • Instagram

Welcome to the world where truth doesn't hurt

50 Shades of กี่เพ้าใน In The Mood For Love

คอสตูมของจางม่านอวี้ใน In The Mood For Love แต่ละชุดสวยๆ ที่เราเห็นนั่น มีคอนเซปต์นะ และผ่านการเตรียมการมาอย่างละเอียดก่อนจะนำไปใช้ตามไอเดียของผู้กำกับ

 

เรื่อง: เศรษฐพงศ์ โพวาทอง @sethapong

 

หว่อง กาไวต้องการให้โทนสีและชุดตัวละครในหนังเปลี่ยนไปตามมู้ดของเรื่อง ช่วงไหนร้อนแรง โทนสีแสงของภาพ ชุดนางเอกก็จะแซ่บๆ แรงๆ แดง ส้ม ถ้าเป็นช่วงหม่นหมอง โทนสีแสงและชุดของเธอก็จะใช้โทนสีเขียว ฟ้า น้ำเงิน ม่วง เศร้าๆ แต่บางฉากที่มีสองอารมณ์ที่ขัดแย้งแต่ผสมอยู่ด้วยกัน ก็จะใช้ทั้งสองโทนเลย ตลอดทั้งเรื่องจะใช้ทั้งสองโทนสลับกัน เหมือนอารมณ์ที่ขัดแย้ง ขึ้นๆ ลงๆ ตามที่ผู้กำกับแกตัองการ หว่องบรีฟว่า “ชุดที่จางม่านอวี้ใส่นั้นไม่ได้ทำหน้าที่เป็นแค่ชุด แต่เป็นการแสดงอารมณ์ของเธอในวันนั้นด้วย” และจะใช้ชุดใหม่เสมอในฉากวันต่อไป เพื่อแสดงถึงอารมณ์ความรู้สึกใหม่ของวันนั้นด้วย


ชุดกี่เพ้า (qipao) / ฉ่งซำ (cheongsam) ที่เป็นสไตล์ของสาวจีนทันสมัยในยุคหนึ่งนั้น มีประวัติย้อนไปกว่า 300 ปี แต่รูปแบบที่เราคุ้นตากันในปัจจุบันเริ่มใส่กันเมื่อราว 100 ปีก่อน โดยสตรีมีฐานะชาวเซี่ยงไฮ้ แต่ชุดยุคแรกๆ จะไม่เข้ารูปมาก ยาวกว่าแบบที่เราคุ้นตากัน แขนหลวมๆ ยาวเกือบถึงข้อศอก

สตรีไฮโซเซี่ยงไฮ้ช่วงปี 1920-1930

นักศึกษามหาวิทยาลัยสตรีเย็นชิงในต้นยุค 1940s

แต่พอเวลาผ่านไป สังคมเริ่มเปิดกว้างมากขึ้น ชุดก็ถูกปรับให้เข้ารูป สั้นขึ้น แขนเปลี่ยนเป็นแบบแขนเต่อ หรือไม่มีแขน มีการผ่าข้างเพื่อให้เดินได้สะดวกและอวดเรียวขาด้วย ดีงาม แต่พอปลายยุค 60s ฉ่งซำเข้ารูปมากๆ แบบในเรื่องนี้ก็เริ่มลดความนิยมลง นัยว่าอึดอัดเกิน จะถอดจะใส่ก็ยาก

สาวฮ่องกงกับกี่เพ้ารัดรึงในช่วงยุค 50s
ประวัติกี่เพ้าย้อนไปสามร้อยปีตั้งต่ราชวงศ์ชิง (1644-1912) • ภาพบน: ชุดพิธีการต้นสมัยราชวงศ์ชิง • ภาพล่าง สตรีสูงศักดิ์ในวงชิงสวมใส่ชุดกี่เพ้าช่วงปลายราชวงศ์ชิง

เพราะเหตุการณ์ในหนังถูกกำหนดให้เกิดขึ้นในปี 1962 วิลเลียม จาง ผู้รับผิดชอบงานคอสตูมของหนังเรื่องนี้จึงได้ทำการบ้านโดยศึกษาจากหนังฮ่องกงเก่ายุค 1950s, 1960s ถึง 300 เรื่อง รวมทั้งภาพถ่ายเก่าด้วย เพื่อให้ได้อารมณ์และแคแรคเตอร์ของฉ่งซำแฟชั่นของยุคนั้น และได้เลือกหาผ้าที่มีสีและลายหลากหลาย ชุดของจางม่านอวี้นั้นแทบทุกชุดจะเป็นผ้ามีลวดลาย ลายดอก ลายเรขาคณิต ลายทาง เพราะต้องการใช้ลายต่างๆ แทน mood ชี และดีเทลเล็กๆ ที่ไม่บอกเราก็คงไม่รู้คือ ปกติชุดฉ่งซำยุค 60s จะใช้กระดุมผ้าเดียวกับชุด ตัวละครอื่นที่ใส่ชุดฉ่งซำจะเป็นกระดุมผ้ากลมๆ แบบที่ว่านี้ แต่ชุดนางเอกของเรานั้นจะใช้กระดุมแบนๆ แบบ snap เพื่อจะได้ดูเพรียว เนี้ยบ และเข้ารูปทรงมากกว่า


ฉ่งซำนางเอกเรื่องนี้ถูกทำออกมาถึง 46 ชุดไม่ซ้ำกัน เพื่อให้ผู้กำกับเลือกใช้ตามอารมณ์ของฉากนั้นๆ - แต่ถูกใช้จริงในหนังแค่ 21 ชุด แม้ว่าแต่ละชุดมีความเด่นมากน้อยต่างกัน แต่ก็ทำหน้าที่สำคัญ ในการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร และด้วยความที่หนังเรื่องนี้มันพูดกันน้อยอยู่แล้ว เอะอะก็กินข้าว เดินคุยกันเงียบๆ visual โดยรวมจึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยถ่ายทอด mood for love มากแกร


bottom of page