top of page
  • Black Facebook Icon
  • Instagram

Welcome to the world where truth doesn't hurt

PUNK IS NOW: พังก์ก็กลายพันธ์ุไปตามกาลเวลา

อะไรที่ทำให้วัฒนธรรมนี้เป็นอมตะ? คำตอบ: ความจริงใจของมัน

วิสกี้ Bell's จากอังกฤษเริ่มทำการตลาดในเมืองไทยด้วยการนำเสนอความอังกฤษจ๋าๆ ที่ส่งอิทธิพลไปทั่วโลก หนึ่งในนั้นคือวัฒนธรรมพังก์ ที่เปลี่ยนทุกอย่างไปตลอดการ ทั้งแฟชั่น ดนตรี ศิลปะ และที่สำคัญที่สุด คือวิธีคิดในการใช้ชีวิต ที่ให้เป็นตัวของตัวเอง และเชื่อมั่นในความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเอง

สาส์น

ถ้าเขาไม่สนใจฟังสิ่งที่คุณพูด คุณก็ต้องพูดด้วยภาพ และแฟชั่นของพังก์คือการพยายามเจรจากับสังคมรูปด้วยภาพ

เหมือนที่ดนตรีแจ๊ซเคยถูกมองเป็นดนตรีขยะในยุค 20s แฟชั่นพังก์ก็เคยถูกมองเป็นแฟชั่นขยะตอนที่มันเริ่มช่วงต้นยุค 70s เช่นกัน สาเหตุหลักๆ เพราะมันทำจากขยะจริงๆ พอล คุก มือกลองจากวง Sex Pistols เคยให้สัมภาษณ์ในนิตยสาร Q ของอังกฤษเมื่อปี 2002 ว่า “เสื้อผ้าเป็นส่วนสำคัญของพังก์ และมันมีมาก่อนดนตรีเสียอีก”

London 1977 (Photo: Richard Braine/PYMCA)
ก่อนยุคพังก์ นุ่งสั้นแค่นี้ก็ฮือฮาแล้ว: นางแบบอังกฤษ จีน ชริมป์ตันนุ่งสั้นเหนือเข่าไปงานแข่งม้า เช้าวันต่อมาเป็นข่าวใหญ่โต

ลอนดอนในยุค 70s ลุคหนุ่มคุณหนู สาวหวานแหววจากอิทธิพลของยุค 50s หรือ 60s ยังคงอยู่ในแฟชั่น ความฮือฮาเด่นๆ ของแฟชั่นก่อนยุคพังก์ ก็มีแค่เดรสมินิสเกิร์ตสั้น แม้จะสั้นแค่ครึ่งน่อง แต่อนุรักษ์นิยมก็วิจารณ์กันว่าโป๊ไป ไม่เหมาะสำหรับสุภาพสตรี แต่พอแฟชั่นพังก์ถือกำเนิด มันมีทุกอย่างที่ผู้ใหญ่ไม่อยากเห็น ทั้งกระโปรงสั้นเสมอหู กางเกงขาดวิ่น ผมเผ้ารกรุงรัง เจาะหูเจาะจมูก แต่งหน้าเหมือนปิศาจ เสื้อผ้านั้นหรือ ก็โกโรโกโสและตัดเย็บอย่างหยาบ บางทีเรียกว่าตัดเย็บไม่ได้ด้วยซ้ำ เพราะแค่เอาเข็มกลัดมายึดๆ กันไว้


รสนิยมของพังก์ คือการต่อต้านความอนุรักษ์นิยมของสังคมอังกฤษ ที่เศรษฐกิจกำลังพินาศ แต่คนรวยยังคงอยู่ดีกินดี แต่งตัวหรูหราเหมือนไม่รู้ว่าความจนมีจริง การแต่งตัวของพังก์ คือการประท้วงความเท่าเทียมทางชนชั้น เป็นการพูดด้วยภาพว่า “นี่ไง พวกมึงอยู่กันแบบนั้น แต่กูต้องอยู่กันแบบนี้ ถ้ามึงรับไม่ได้ ก็เรื่องของมึง”

บี ฟูตอน จากวง Futon

บี ฟูตอน ที่เติบโตในชนบทของอังกฤษ เคยเขียนบันทึกให้ Third World ว่า "มันเป็นทศวรรษที่ถูกกัดกินด้วยความขัดแย้งที่มาจากภาวะตกงานขนาดหนัก เศรษฐกิจวอดวาย การหยุดงานประท้วง จราจล การขาดแคลนพลังงาน และการทำงานเพียงสามวันต่อสัปดาห์เพื่อประหยัดไฟฟ้า แน่นอนว่าวัยรุ่นยุค 70s อย่างเรามีเกมส์คอมพิวเตอร์เล่นเป็นยุคแรก มี Space Hopper (บอลลมยางกลมๆ ที่นั่งแล้วเด้งได้) มีโทรทัศน์สีรุ่นแรกสุด และมีโทรศัพท์บ้านใช้ แต่ของพวกนั้นมันก็แค่ยาแก้อักเสบอ่อนๆ สำหรับชีวิตเน่าๆ ที่พวกเราถูกจองจำให้หายใจ"


และเมื่อการแต่งตัวมาเจอกับดนตรี ข้อความจึงถูกสื่อสารแบบครบวงจร และเข้าไปในหัวใจคนหัวอกเดียวกัน กลายเป็น social movement ที่สำคัญหน้าหนึ่งของสังคมโลก

 

พี่วอน ถาวร - นักธุรกิจอดีตพังก์

“ถ้าตอนยุคพังก์ผมยังเรียนอยู่ซานฟรานฯ ตอนเรียนก็ตามดูวงพังก์นี่ล่ะ แต่พวกพังก์จะกลุ่มเล็กมาก ถ้าอยากดูก็มีแค่คอนเสิร์ตในบาร์เล็กๆ อย่างเดียวเลย ไม่มีใครเขาเอาเปิดเพลงพังก์ในปาร์ตี้หรอก ตอนนั้นผมก็แต่งตัวเป็นพังก์แต่ก็ไม่ถึงกับ extreme มาก จะเป็น chic punk มากกว่า พ่อแม่ผมอยู่เมืองไทย ก็ไม่รู้หรอกว่าลูกแต่งตัวยังไง ก็ไม่มีใครมาว่าอะไรผมได้”

คู่กัดพังก์คือดิสโก้

“แฟชั่นมันไม่หนีไปไหนหรอก มันก็เริ่มมาจากนักดนตรี ว่านักดนตรีแต่งตัวยังไง ถ้าเป็นเรื่องแฟชั่นพังก์มันไม่มีใครสู้อังกฤษได้อยู่แล้ว ตอนผมเป็นนักเรียน อิทธิพลพังก์ข้ามฝั่งอังกฤษเข้ามาอเมริกาแล้ว แต่ฝั่งอเมริกาเขาก็มีของเขาอยู่แล้ว อย่างนิวยอร์กก็มี The Ramones ส่วนที่ซานฟรานฯ พังก์ยังเป็นชนกลุ่มเล็กมาก กลุ่มหลักจะเป็นพวกดิสโก้ ซึ่งดิสโก้กับพังก์นี่ออกมาพร้อมกันเลย แต่จะไม่ถูกกันอย่างหนัก สองกลุ่มนี้มันจะชอบหัวเราะเยาะกัน พวกดิสโก้จะเป็นหลุ่มหลักของสังคม พวกนี้แต่งตัวเนี้ยบ ไปเต้นรำกันตามคลับในโรงแรมหรูๆ มีเงินซื้อสูทอาร์มานี่ใส่ แต่พวกพังก์มันจะจนไง เพราะมันอยู่ได้ด้วยเงินสวัสดิการรัฐนิดๆ หน่อยๆ พวกเสื้อผ้ามันก็เลยไปเอาของที่เขาทิ้งแล้วมาใส่ เช่นไอ้พวกร้านโละของหรือร้านมือสอง งานก็ไม่มีทำ ก็แต่งตัวแบบนั้นใครจะรับเข้าทำงานล่ะ แต่ก็อาจจะได้งานจำพวกขี่จักรยานส่งเอกสาร หรืองานประเภทที่ไม่ต้องเจอผู้คนมาก แล้วพวกผู้ใหญ่จะกลัว เพราะเขามองว่าไอ้พวกนี้มองโลกในแง่ร้าย พอมีเงินก็ไปกินเหล้า”

 

สื่อ

แม้จะใช้เสื้อผ้าและดนตรีสื่อสารทัศนคติ แต่ก็เหมือนขบวนการทางสังคมทุกครั้ง ที่สิ่งที่ขาดไม่ได้คือภาพโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งงานนี้ต้องพึ่งศิลปินและกราฟิกดีไซเนอร์ เพราะคุณสมบัติมหัศจรรย์อย่างหนึ่งของศิลปะ คือมันสามารถเข้าถึงหัวใจมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้งและรวดเร็ว และนั่นทำให้ศิลปะเป็น soft power (อำนาจนุ่ม) ที่เผด็จการกลัวกันมาก ทุกการโค่นล้มอำนาจ ศิลปิน นักดนตรี และนักเขียน จึงมักเป็นกลุ่มคนล็อตแรกๆ ที่โดนอุ้ม

ปกอัลบั้ม God Save the Queen ของ Sex Pistols ที่เป็นต้นแบบให้งานการฟิกแบบพังก์

เจมี่ รีด คือกราฟิกดีไซน์เนอร์ผู้ออกแบบปก God Save the Queen อันโด่งและอมตะ เป็นต้นแบบให้งานออกแบบสไตล์พังก์ไปตลอดกาล ความแรงของมันในตอนนั้นเป็นเพราะงานชิ้นนี้มีเนื้อหาเสียดสีเรื่องชนชั้นครบทุกองค์ประกอบ เริ่มจากภาพที่ใช้ ซึ่งนำมาจากนิตยสาร The Sunday People หนังสือซุบซิบไฮโซเก่าแก่ของอังกฤษ (ปัจจุบันคือหนังสือกอสซิปดารา The Sun) เป็นภาพที่ถ่ายโดยเซซิล บีตั้น ช่างภาพไฮโซผู้โด่งดังเรื่องการถ่ายภาพความหรูหราและชนชั้นสูงของอังกฤษ ความงามของมันเกิดจากความขัดแย้งระหว่างภาพถ่ายอันเลิศเลอที่มาเจอการวางตัวหนังสือตัดแปะแบบหยาบๆ ที่เจมี่ รีดเคยให้สัมภาษณ์ว่า “พวกตัวหนังสือผมก็หาตัดแปะเอาจากหนังสือพิมพ์ เพราะผมไม่มีเงินไปจ้างโรงพิมพ์ทำตัวเรียงพิมพ์ให้สวยงาม แต่นั่นมันก็เป็นจุดเริ่มต้นของงานสไตล์พังก์”

ภาพต้นฉบับเพื่อใช้เผยแพร่ในวโรกาสเฉลิมฉลองครองราชย์ปีที่ 25 ของสมเด็จพระราชินีอลิซาเบ็ธ ถ่ายโดยเซซิล บีตันในปี 1977
หน้าหนังสือพิมพ์ที่เจมี่ รีดตัดภาพมาทำอาร์ตเวิร์คปกอัลบั้ม จนถึงปัจจุบัน เขาก็ยังไม่โดนฟ้องเรื่องลิขลิทธิ์

เมื่อปัญหาเรื่องความสวยงามตามขนบถูกทำลายลง ความมันส์ก็บังเกิด และด้วยวิธีการนี้ ทำให้ใครก็เป็นนักออกแบบได้ ขอแค่มีเนื้อหาที่จะสื่อ ใครก็สามารถสร้างสื่อของตัวเองได้ในไสตล์ DIY (Do It Yourself) ซึ่งเป็นแนวคิดหลักของพังก์


ในยุคก่อนเทคโนโลยีการสื่อการ การเคลื่อนไหวแบบใต้ดินด้วยหนังสือทำมือ หรือใบปลิวทำเอง คือหนึ่งวิธีการสร้างกลุ่มก้อนของตัวเอง เพื่อตอบโต้อำนาจที่กดเหง สุนทรียศาสตร์สวยงามแบบขยะของพังก์ เปลี่ยนนิยามความงามไปตลอดกาล

ผลงานของเจมี่ รีด ในปี 2016 ช่วงที่โดนัลด์ ทรัมป์ กำลังเป็นกระแส (www.jamiereid.org)
 

PUNK IS NOW

กาลเวลาสามารถเปลี่ยนขยะให้ก็กลายเป็นทองได้ ความคิดที่ว่าพังก์สกปรก ติดยา ไม่มีตังค์ คบหาไม่ได้ ก็จางลงเช่นกัน เพราะแม้แต่เสื้อผ้าจากพังก์ตัวแม่อย่างวิเวียน เวสต์วู้ด เดี๋ยวนี้ก็ราคาเป็นแสนเป็นล้านเสียแล้ว


ยังพังก์อยู่ แต่แพง: ปัจจุบันวิเวียน เวสต์วูดกลายเป็นแบรนด์ชั้นสูง ที่ไม่รวยมากจริงๆ ก็ซื้อไม่ได้
จากขยะสู่กูตูร์: ภาพโปรโมทงาน MET Gala 2013 ในนิวยอร์ก ซ้าย Sid Vicious แห่งวง Sex Pistols ขวานางแบบในชุดของชาแนล

คุณเป็นพังก์ได้โดยไม่ต้องแต่งตัวเป็นพังก์ หรือไม่จำเป็นต้องเป็นพังก์เพราะชอบแต่งตัวแบบพังก์ เพราะแก่นแท้ของสิ่งที่ความเคลื่อนไหวทางสังคมเมื่อ 40 ปีที่แล้วทิ้งไว้ คือการปลดแอกทางความคิดของผู้คน ว่าความจนไม่ใช่เรื่องน่าอาย การเอารัดเอาเปรียบคนอื่นเพื่อตัวเองต่างหากที่น่ารังเกียจ และเมื่อมาถึงยุคนี้ ที่ความจริงและความยุติธรรมเป็นของหายากเหลือเกิน และความคิดขบถแบบนี้ จะช่วยให้คนเราเอาตัวรอดได้

วง Pussy Riot กับการบุกไปเปิดคอนเสิร์ตอันอื้อฉาวในโบสถ์เพื่อด่าศาสนาและรัฐบาลในมอสโคว เมื่อปี 2012

“ส่วนตัวฉันคิดว่า พังก์ไม่ใช่แค่เรื่องความงามหรือการทำผมโมฮอว์ค” นัดญา โทโรคนนิโคว่า นักร้องจาก Pussy Riot วงพังก์รัสเซียที่เคลื่อนไหวเรื่องการเมืองอย่างรุนแรงจนติดคุกสองสามรอบออกความเห็นกับสัมภาษณ์ของ Vice “ถ้าคุณยังวนเวียนอยู่กับคำนิยามของพั้งก์ในยุค 70s มันก็ไม่ใช่พังก์ในยุคนี้ เพราะเราอยู่ในปี 2017 กันแล้ว ดังนั้น พังก์สมัยใหม่จะต้องสร้างนิยามใหม่ให้ตัวเอง ว่าการทำตัวพังก์สื่อความหมายอะไร และฉันคิดว่า พังก์คือการที่ทำให้ผู้คนต้องตื่นเต้นและทำให้เขาได้เจอในสิ่งที่เขาไม่คาดหวังอยู่เรื่อยๆ”

 

ส่วนคลิปนี้เขาสัมภาษณ์พี่เข้ พังก์ตัวพ่อแห่งจตุจักร แล้วปิดท้ายด้วยการท้าให้พี่เข้โกนหัวแลกกับการไปเที่ยวลอนดอน เมืองแม่แห่งวัฒนธรรมพังก์ว่าเขาจะยอมไหม ก็ไม่รู้ว่าตอนนี้พี่เขาได้ไปเที่ยวหรือยัง แต่เห็นพี่เขาลังเลก็อยากจะบอกพี่เขาว่า ปัดโถ่เอ๋ย โกนๆ ไปเหอะพี่ ได้กินฟรีเที่ยวฟรีดีจะแย่ เดี๋ยวไม่กี่เดือนผมก็งอกยาวพอทำโมฮอว์คได้อีกรอบแล้วพี่!


bottom of page