top of page
  • Black Facebook Icon
  • Instagram

Welcome to the world where truth doesn't hurt

พบกับเพ้นท์ฟ้า ศิลปินอายุ 14 ที่มีแกลเลอรี่และนิทรรศการของตัวเองตั้งแต่ประถม


ถ้าพูดชื่อ เพ้นท์ฟ้า ชาญชุติวาณิช มิตรรักแฟนศิลปะชาวไทยหลายคนคงรู้จักเธอในฐานะศิลปินตัวน้อยผู้มีฝีไม้ลายมือและความคิดความอ่านเกินอายุ จากเด็กอนุบาลที่มีปัญหากับระบบการศึกษาของประเทศไทย (ที่ไม่ต้องบอกก็คงรู้กันว่าเป็นยังไง) สู่การเรียนรู้ด้วยตัวเองที่บ้านเพื่อตามหาความฝันในการเป็นศิลปินวาดภาพจากการสนับสนุนของพ่อแม่ จนในที่สุดเธอก็ก้าวสู่การเป็นศิลปินอาชีพวัยเยาว์ที่มีแกลเลอรีเป็นของตัวเอง และมีนิทรรศการแสดงศิลปะทั้งเดี่ยวและกลุ่มมาแล้วนับไม่ถ้วน

เนื่องในโอกาสที่เธอเปิดนิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งที่แปด วัย 13 ย่าง 14 “รู้จักตัวเองก่อนรู้จักคนอื่น” ที่แสดงผลลงานภาพวาดตัวเองของเธอในอิริยาบถต่างๆ ที่วาดด้วยฝีแปรงจัดจ้านเปี่ยมอารมณ์ สำแดงความรู้สึกของเด็กหญิงที่กำลังจะย่างก้าวสู่ความเป็นวัยรุ่นออกมาได้อย่างทรงพลัง

ในฐานะที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ผู้ติดตามผลงานของศิลปินตัวน้อยผู้นี้มาโดยตลอด เราจึงแวะเวียนเข้าไปเยี่ยมชมนิทรรศการครั้งล่าสุดของเธอที่ Paintfa Gallery ศูนย์การค้าริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก และพูดคุยกับเธอเกี่ยวกับผลงานครั้งนี้ รวมถึงความรู้สึกนึกคิดของเธอในฐานะที่เป็นศิลปินหญิง เพื่อให้เข้ากับวาระเดือนสตรีสากลในคราวนี้เลยก็แล้วกัน

 

เรื่อง: ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ @panueddie ภาพ: พัทธ์ธีรา เกียรติสุดาเกื้อกูล @lordpline

 

นิทรรศการ “รู้จักตัวเองก่อนรู้จักคนอื่น” นี่มีที่มายังไง

นิทรรศการนี้เริ่มมาจากตอนเด็กๆ เราชอบวาด Self-Portrait ตัวเองอยู่แล้ว แต่ช่วงหลังๆ ไม่ค่อยได้วาด เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีอะไรน่าสนใจเท่าไร ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับตัวเราเท่าที่ควร ก็เลยห่างหายไปหลายปีเลย

แล้วอะไรทำให้เพ้นท์ฟ้ากลับมาวาดภาพตัวเองใหม่

คือก่อนหน้านี้เราวาดภาพใบหน้าคนอื่นเยอะแยะไปหมด เพราะรู้สึกว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละคนที่แตกต่างกันออกไป แต่กับตัวเองเนี่ย เราก็เห็นทุกวันผ่านกระจกผ่านอะไรใช่ไหม ก็เลยไม่สนใจตัวเองเท่าไหร่ เพราะเราคิดว่าไม่มีอะไรพิเศษ หรือน่าสนใจที่จะหยิบมาวาด แต่พอถึงวันนึงเรารู้สึกว่า เฮ้ย! ตัวเราเริ่มโตเป็นสาว เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของตัวเองทางร่างกายและจิตใจ เริ่มมีสิว เริ่มมีอารมณ์แปรปรวน โกรธง่าย โน่น นี่ นั่น เยอะแยะไปหมด ก็เลยคิดว่า เออ! ตัวเราก็มีอะไรน่าสนใจเหมือนกัน ก็เลยหันกลับมาวาดภาพตัวเองอีกครั้ง พอวาดไปเรื่อยๆ ก็คิดว่าเราน่าจะหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาทำเป็นนิทรรศการได้

การวาดภาพตัวเองนี่เชื่อมโยงอะไรกับวัฒนธรรมเซลฟีของวัยรุ่นยุคนี้ไหม เพ้นท์ฟ้าเองก็ชอบเซลฟีหรือเปล่า

ปกติเราชอบการถ่ายภาพนะ แต่ไม่ชอบถ่ายภาพตัวเอง เราชอบถ่ายภาพคนอื่น ภาพบุคคล ภาพสถานที่ต่างๆ แต่มันก็เป็นเรื่องปกติที่เราจะเซลฟี่ตัวเองแหละ ไม่ได้แปลว่าชอบหรือไม่ชอบ รู้สึกเฉยๆ มันเป็นธรรมชาติของสื่อเทคโนโลยี อย่างพวกดฟซบุ๊ก, ไลน์หรือยูทูบพอเราเสพมันเราก็ติด แล้วก็ทำให้เราเป็นคนติดมือถือ ประเด็นนี้ก็หยิบเอามาพูดถึงในนิทรรศการนี้ด้วยเหมือนกัน ในแง่ที่เราสำรวจมัน แต่เราไม่ได้รังเกียจอะไรนะ เพราะเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้นเหมือนกัน

เพ้นท์ฟ้ารู้ไหมว่าแนวทางการทำงานของตัวเองเรียกว่าอะไร เคยนิยามรูปแบบการทำงานตัวเองไหม

อืม ยังไม่เคยคิดเลยนะเรื่องนี้ ไม่รู้ว่าเรียกว่าอะไรเหมือนกัน รู้แค่ว่าอยู่กึ่งกลางระหว่างงาน Realistic (ภาพวาดเหมือนจริง) กับงาน Abstract (ภาพวาดนามธรรม) เราเอาสองสิ่งนี้มาอยู่ด้วยกัน ถ้าดูงานในปัจจุบันของเราจะเห็นว่าจะมี background ที่เป็นเหมือนภาพแอ็บสแตร็คหรือบางทีเวลาวาดภาพเราก็เว้นบางส่วนเอาไว้ เพื่อให้พื้นหลังดูเด่นออกมา

ในฐานะที่เป็นศิลปินหญิง เพ้นท์ฟ้ามองบทบาทผู้หญิงในสังคมเรายังไง เคยรู้สึกว่าตัวเองถูกมองข้ามเพราะเป็นผู้หญิงไหม

เราว่าสมัยก่อนผู้หญิงไม่ค่อยมีตัวตนมากเท่าไหร่ในสังคม เพราะว่าคนส่วนใหญ่คิดว่าผู้หญิงต้องอยู่แต่บ้าน ทำงานบ้านงานเรือน ผู้ชายเป็นใหญ่ เพราะทำงานหาเลี้ยงครอบครัว แต่ในปัจจุบัน ดูเหมือนผู้ชายกับผู้หญิงจะมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น แต่ก็มีหลายอย่างที่ไม่ค่อยจะเท่าเทียมกันสักเท่าไร อย่างเช่น มีส่วนน้อยมากที่ผู้หญิงจะขึ้นมาเป็นผู้นำ ทั้งๆ ที่จริงๆ ผู้หญิงก็มีบทบาทมากกว่านั้น จริงอยู่ ถึงแม้ผู้หญิงจะไม่ได้เป็นเพศที่แข็งแรง หรือไม่ได้เป็นผู้นำ แต่เขาก็มีส่วนรับผิดชอบในสิ่งต่างๆ เหมือนกัน อย่างเช่น ถ้าผู้หญิงไม่ทำอาหาร ครอบครัวก็จะไม่มีอะไรกิน ถ้าผู้หญิงไม่ทำงานบ้าน บ้านก็จะรกมาก คือคนส่วนใหญ่คิดว่าเรื่องพวกนี้เป็นความรับผิดชอบของผู้หญิงอยู่แล้ว ว่าต้องทำอาหาร ทำงานบ้าน ซักผ้า เลี้ยงลูก เป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าเรามองกลับกัน ถ้าไม่มีใครทำเรื่องเหล่านี้ ผู้ชายก็จะลำบาก มันจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

แล้วบทบาทของผู้หญิงในโลกศิลปะล่ะ เพ้นท์ฟ้ามองว่าเป็นยังไง

คนทำงานศิลปะที่เป็นผู้หญิงมีเยอะนะ แต่ศิลปินผู้หญิงท่ีประสบความสำเร็จมีน้อยมาก ซึ่งส่วนนี้น่าจะมาจากสังคมที่ไม่ค่อยจะเห็นว่าผู้หญิงทำอะไรได้มากเท่าไหร่ เราคิดว่า ถ้าสังคมสนับสนุนให้ผู้หญิงมีโอกาสเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จได้มากกว่านี้ก็คงจะดีมากๆ อย่างเราเป็นศิลปินผู้หญิง เราก็พยายามที่จะประสบความสำเร็จให้ได้ เพราะถ้าเราประสบความสำเร็จได้ ก็จะเป็นการดีกับศิลปินหญิงคนอื่นๆ เขาจะได้แนวทางว่าเขาควรจะทำยังไงที่จะประสบความสำเร็จได้เหมือนกัน

ในฐานะศิลปิน เพ้นท์ฟ้าเคยใช้ศิลปะพูดถึงประเด็นเหล่านี้ไหม

เคย อย่างทรรศการก่อนหน้านี้ชื่อ “แม่ของคนอื่น” ที่เล่าเรื่องของแม่ของคนอื่นๆ ที่มีบทบาทแตกต่างกันไป อาจจะมีเรื่องของแม่ที่ต้องเลี้ยงลูกคนเดียว แม่ที่ยากจน แม่ที่รวยแต่ห่างเหินกับลูก หรือแม่บางคนก็หย่าร้างกัน เราก็เอาจุดนี้มาเล่าให้คนอื่นฟังว่าความเป็นแม่มีหลายอย่างที่มากกว่าที่ทุกคนคิดนะ พวกเขาต้องเจออะไรมาบ้าง ต้องพยายามกันมากเท่าไหร่

เพ้นท์ฟ้าคิดว่าศิลปะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ไหม

เราคิดว่าได้นะ เพราะศิลปินหลายคนก็สร้างแรงบันดาลใจให้คนหลายคน บางคนเครียดจากสิ่งต่างๆ หรือที่คิดสั้น แล้วได้ดูผลงานของศิลปินคนนี้แล้วเขารู้สึกมีกำลังใจ ได้แรงบันดาลใจ และมีความคิดที่อยากจะอยู่บนโลกใบนี้ต่อไปก็ได้


ถ้าพูดถึง ความกล้าที่จะรัก สำหรับเพ้นท์ฟ้าแล้วคืออะไร

ก็คือศิลปะ เรารักมันมาตั้งแต่ตอนที่เรารู้ตัวว่าชีวิตเราอยากจะทำงานศิลปะอย่างเดียว มันทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียว ถ้าเรารู้สึกไม่ดี เราก็วาดออกมา เอาความรู้สึกเราถ่ายถอดลงไปบนผ้าใบ ถ้าเราเครียด สิ่งที่ทำให้เราหายเครียดได้คือการวาดรูป อีกอย่างที่เรารักก็คือพ่อกับแม่

เพ้นท์ฟ้ามีไอดอลที่เป็นคนสำคัญ หรือผู้นำในวงการอะไรก็ได้ที่เป็นผู้หญิงที่ยกย่องชื่นชมไหม

มี ฟรีดา คาโล คือเขาทำงานศิลปะมาตลอด พอถึงช่วงที่เขาล้มป่วย เขาก็ยังไม่เลิกทำงาน ตอนเขาป่วยมากๆ จนต้องนอนอยู่บนเตียงอย่างเดียว เขาก็ยังทำงาน เขาทำงานตลอดจนวินาทีสุดท้ายที่จากโลกนี้ไป เราก็เลยชื่นชมในความพยายามของเขา และการที่เขารักศิลปะจริงๆ

เพ้นท์ฟ้ามีอะไรที่จะแนะนำคนรุ่นหลัง หรือว่าเด็กๆ น้องๆ ที่คิดจะเจริญรอยตามบ้างไหม

ถ้าชอบอะไร ก็ทำให้ถึงที่สุด พยายามทำทุกวันให้ดีที่สุด ผลมันจะออกมาเป็นยังไงเราไม่รู้ ก็แค่ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด.

 

ติดตาผลงานของเพ้นท์ฟ้าได้ที่ Paintfa Gallery

Comments


bottom of page