top of page
  • Black Facebook Icon
  • Instagram

Welcome to the world where truth doesn't hurt

'เราแสดงออกเรื่องเพศไม่ได้เพราะสังคมไม่อนุญาต' มองโลกของผู้หญิงผ่าน MV 'พายุฤดูร้อน' เดือน จงมั่นคง

เนื้อหา ภาษาที่ใช้ และการเปรียบเปรย ทำให้เพลงของ เดือน จงมั่นคง มีมิติ มีความเป็นส่วนตัวและเฉพาะตัว


เช่นเดียวกับเพลงล่าสุด ‘พายุฤดูร้อน' แม้เดือนจะพูดถึงเรื่องสุดเบสิกในเพลงป๊อปอย่าง ‘การมีความรัก’ แต่เธอได้เลือก ไนซ์—ปริยนาถ จิรัฐฐิติกาล ศิลปินหน้าใหม่ที่เคยจัดแสดงผลงานวาด ‘การ์ตูนโป๊’ ใน Bangkok Design Week เมื่อต้นปี ให้มาเล่าเรื่องราวนั้นผ่านงานภาพ ‘น่ารักแบบแปลกๆ’


ความที่ลายเส้นและสีเตะตาจนฟังเพลงอย่างเดียวไม่ได้ เราเลยสนใจศิลปินเจ้าของภาพไม่แพ้ตัวเพลง และอยากรู้ว่าทำไม ‘น้ำเสียง’ ในงานของเธอถึงย้ำนักย้ำหนาว่า ฉันไม่อยากนำเสนอภาพของ ‘การมีความรัก’ หวานหอม อมชมพู อย่างที่สังคมวาดไว้ และนอกจากนี้มันยังมีเสียงที่รอจะกรี๊ดดังๆ ซ่อนอยู่ด้วย

 

สัมภาษณ์: มนต์ทิพา วิโรจน์พันธุ์ @iarbuckle

 

ไนซ์เล่าว่า “คาแร็กเตอร์หลักของงานจะเป็นสี เราเล่ามุมมองของเด็กผู้หญิงในเพลงว่าเวลาเขามีความรัก สายตาเขามองสิ่งนี้ยังไงบ้าง เริ่มจากตอนแรกที่เหงา เศร้า อยากได้รับความรัก เขาจะอยู่ในห้องสีฟ้าๆ ดูเศร้าๆ สีของต้นไม้ในห้องจะเป็นสีหม่นๆ ทึมๆ หน่อย เล่าว่ามันแห้งแล้ง แต่พอผู้ชายมา สีก็เปลี่ยนไป กลายเป็นสีเหลือง เหมือนความรู้สึกมันเคลียร์ ฟ้าใสขึ้น จากแดดร้อนๆ ที่เป็นพระอาทิตย์สีส้มแปร๋นๆ ก็กลายเป็นเหมือนมีเมฆฝนผ่านเข้ามา แล้วทุกอย่างมันดูชุ่มฉ่ำ”

เสน่ห์ในงานของไนซ์ที่ผู้กำกับมิวสิกวิดิโอ โรส—พวงสร้อย อักษรสว่าง มองเห็น คือการใช้สีที่ฉูดฉาด ลายเส้นที่ต้องใช้พลังในการสร้างสรรค์ องค์ประกอบความมหัศจรรย์เหนือจริงอย่างดอกไม้ หรือแมลง รวมถึงคาแร็กเตอร์ของตัวละคร ‘ผู้ชาย’ ที่ดูต่างไปจากขนบ


“มันเป็นงานที่ทำให้พี่โรสสนใจ ก่อนหน้านี้เราไม่เคยวาดผู้ชายมาก่อน พอได้ทำงานกับแบรนด์สูท เราก็คิดว่า ต้องวาดผู้ชายในมุมมองของเราให้ได้ คือเป็นผู้ชายที่สนุก ใส่สูท มีดอกไม้รอบๆ ตัว เราได้แรงบันดาลใจจาก ผู้ชาย dada-ism ยุค surrealism ชอบ Salvador Dali เขาจะมีความเป็นตัวเองสูง และเปิดเผยตัวตนอย่างที่เขาชอบออกมาข้างนอก แล้วเสื้อผ้าคือสิ่งที่คนเราเลือกใช้เพื่อนำเสนอตัวเอง เลยมีผู้ชาย ดอกไม้ และสีสันที่ฉูดฉาด ชวนให้คนสนุกกับการ express ตัวเอง”

แม้งานของไนซ์จะนำเสนอการแสดงออกตัวตนของตัวเองผ่านงานเยอะมาก แต่ตัวของไนซ์ในชีวิตจริงดูระมัดระวังตัว และมักครุ่นคิดพักนึงเมื่อได้รับคำถาม ก่อนจะพรั่งพรูสิ่งที่อยู่ในหัวออกมาอย่างเป็นเหตุเป็นผล


“การแสดงออกในชีวิตจริงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับงานเสมอไป บางครั้งมันเกิดจากการที่ในโลกจริงเราทำไม่ได้ เรารู้สึกว่ายังมีกำแพงกับสิ่งรอบตัว เลยต้องไประบายออกในงาน การทำงานเหมือนเราอยู่กับตัวเอง พูดให้ตัวเองฟัง งานไม่ได้ตัดสิน ไม่ได้ต้องการอะไรจากเรา เราสามารถเป็นอะไรก็ได้


เราใส่บุคลิกผ่านงานได้ค่อนข้างตรงไปตรงมา สีฉูดฉาด ดูสนุกสนานเต็มที่มาก มันจะเสนอภาพของผู้หญิงที่ต่างจาก norm ไปนิดนึง คือเขาก็น่ารักไร้เดียงสาแหละ แต่มันมีเลเยอร์ดาร์กๆ ซ้อนอยู่ เช่น ทำไมวาดหัวใจแล้วมีเส้นเลือด สีเลือด เต้นตุบๆ อยากให้รู้ว่าความน่ารักไม่ได้มีแค่น่ารักใสๆ น่ารักแปลกๆ เพี้ยนๆ ก็มี”

MV พายุฤดูร้อน ของ เดือน จงมั่นคง ไนซ์เคยบอกว่าไม่อยากให้มันเป็นมุมมองความรักแบบแบ๊วๆ หวานๆ

"ตอนเราทำงานนี้เราคิดจากความรู้สึกข้างใน ถ้าเป็นเด็กผู้หญิงคนนึงแล้วเขามีความรัก เขาจะรู้สึกยังไงวะ มันเหงา แห้งแล้งมาก เราอยากได้รับความรัก พอผู้ชายจากไปก็ร้องไห้ น้ำท่วมบ้าน พอผู้ชายกลับมาใหม่ดอกไม้เริ่มเบ่งบานเหมือนเดิม


คุณอาจจะบอกว่ามันดูขี้ลำไย แบ๊วๆ อะไรแบบนี้ชอบถูกทำให้ดูเป็นความอ่อนแอ หรือมีแค่เด็กผู้หญิงเท่านั้นที่จะเป็นแบบนี้ แต่เราว่าทุกคนก็มีเด็กคนนี้ในตัวนั่นแหละ ต่อให้ข้างนอกแมนๆ แค่ไหน ก็เคยอกหักน้ำท่วมบ้านมาก่อนทั้งนั้น "



อิทธิพลจากศิลปะยุค Impressionism

ตอนศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะ ก็มีแก๊ง impressionism กับ post-impressionism เนี่ยแหละที่ทำให้เราสนใจเพราะสีเตะตา มันเป็นช่วงที่งานวาดรูปเริ่มจะเป็นนามธรรม เพราะพอสีมันสตรองมากๆ รายละเอียดมันก็ถูกลด เขาไม่ได้เล่าแค่ว่าในรูปนั้นมีอะไร หรือเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่เหมือนเขาเล่าความรู้สึกมากกว่า บุคลิกของคนทำก็เลยชัดขึ้นมา


อย่างงานของ Claude Monet ชื่อ ‘Impression, Sunrise’ ที่คนด่า เรารู้สึกว่านี่คืออินเนอร์ที่ดี เพราะมันเป็นการตัดสินใจของศิลปินที่เขารู้สึกว่ารูปนี้ดีสำหรับเขา เขาไม่ต้องให้สถาบันไหนมายอมรับว่านี่คืองานที่ดี แล้ว vision ที่ชัดเจนแบบนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ ส่วนตัวเรารู้สึกว่าทุกคนต้องรู้ว่าจุดยืนของตัวเองคืออะไร ซึ่งการมีจุดยืนที่ชัดเจนก็นำมาสู่การที่เราจะสามารถบอกได้ ว่ารูปที่ดีสำหรับเรามันเป็นยังไง

Claude Monet-Impression, Sunrise. 1874

จุดยืนของไนซ์

ก่อนที่งานของเราจะเริ่มมีความชัดเจนขึ้น เราก็ยังไม่รู้ว่าจุดยืนของเราคืออะไร ตอนนั้นใครๆ ก็ชมว่าวาดรูปเก่ง แต่มันยังไม่ใช่คำตอบ เรายังอยากจะวาดรูปต่อไปนะ แต่การวาดรูปให้สวยกว่านี้ หรือละเอียดกว่านี้ มันนำไปสู่อะไรวะ ก็เลยหยุดคิดกับตัวเองว่า ‘อะไรทำให้อยากวาดรูป’ ก็ได้คำว่าตอบว่า มันคือการอยาก express ตัวเอง เป็นกำแพงแรกที่เราต้องทลายออกมาเพื่อที่งานของเราจะได้ไปต่อ


เราอยู่ในสังคมที่ทำให้คนละอายเวลาแสดงออก จนมาพบว่าจริงๆ การ express ตัวเองมันก็ไม่ผิดนี่หว่า ทำไมก่อนหน้านี้มันเป็นสิ่งที่เราต้องกดเอาไว้ด้วยวะ ซึ่งมันไม่ใช่ปัญหาของเราคนเดียว มันเป็นปัญหาของเด็กที่เติบโตมาในระบบไทยๆ ที่แม้แต่อยากไว้ผมทรงอะไรยังคิดเองไม่ได้เลย ก็เลยต้องสร้างพื้นที่ให้ตัวเองได้รับฟังตัวเองว่า ข้างในเรามีอะไรบางอย่างที่อยากจะพูด แต่ไม่ได้พูดหรือเปล่า

พอลองคิดแล้วก็พบว่าเราอยากพูดเรื่องเพศ เพราะมันเป็นปัญหาของเรามาตลอด เรื่องเพศในที่นี้ไม่ใช่เพศสัมพันธ์นะ มันคือเรื่องการอยากมีตัวตนในสายตาคนอื่น อยากได้รับความรัก อยากได้รับการยอมรับ ซึ่งมันพื้นฐานมาก แต่จากประสบการณ์ตัวเอง เรารู้สึกว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่แสดงออกกันได้ง่ายๆ สังคมให้ value กับเรามาก่อนว่า ‘เราควรจะแสดงออกแบบไหนถึงจะได้รับการยอมรับ’ ดังนั้นการที่จะรู้ว่าเราไม่ได้อยากทำแบบนั้นเพื่อให้คนมายอมรับเรา เราอยากเป็นตัวเอง พูดในสิ่งที่เราอยากพูด ด้วยวิธีที่เราเลือกเองผ่านการทำงาน และความรู้สึกยอมรับตัวเอง

อีกอย่าง เรื่องเพศมันเป็นเรื่องที่ทำให้คนไม่เห็นอกเห็นใจกัน เพราะสังคมนี้ทำให้เรื่องเพศเป็นเรื่องลึกลับ ชอบมาพร้อมการตัดสิน และคาดหวังให้เขาไม่แสดงออก คนจะกรองตัวเองก่อนโดยอัตโนมัติ ไม่สามารถพูดถึงมันตรงๆ ได้ และพอเราไม่สามารถสื่อสารกับตัวเองได้ว่าเราต้องการอะไร หรือรู้สึกแบบนี้เพราะอะไร เราก็สื่อสารกับคนอื่นไม่ได้ด้วย

เราเลยรู้สึกว่าถ้าได้ทำงานที่ได้สำรวจเรื่องเพศ มันจะเป็นการเดินทางที่ดีและมีค่า เพราะนอกจากเราจะคลายสิ่งที่เราไม่เคยเอาออกมาหรือคุยกับตัวเอง มันทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น และคนอื่นก็เข้าใจเราเพราะโตมาในสังคมเดียวกัน เจอปัญหาเดียวกัน พอเรารู้ว่าไม่ใช่แค่เราที่รู้สึกแบบนี้ กำแพงที่เรามีกับคนรอบตัวมันบางลง ทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจกัน

รูปที่ดีของไนซ์รูปไหน

งาน 'พายุฤดูร้อน' ก็เป็นงานที่หนักอยู่เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าจำนวนงานเยอะมากนะ แต่เรารู้สึกว่าด้วยการที่เราอยู่กับมันตั้งแต่ต้นจนจบด้วยตัวเราเองคนเดียว เราใส่พลังกับความรู้สึกเข้าไปเยอะ บางทีที่ศิลปินให้ใจกับการสร้างงานอะไรมากๆ เพราะเขาเห็นตัวเองในงานนั้น และเขาอยากจะเล่าสิ่งนั้นด้วยเสียงของเขาเอง คนที่มันจะทำงานสเกลนี้ได้ตลอดรอดฝั่งโดยที่คุณภาพงานไม่ตก มันไม่ได้อาศัยแค่ความเป็นมืออาชีพอย่างเดียว มันต้องมีหัวใจอยู่ในนั้น


งานนี้ดูได้อิทธิพลมาจาก Vincent van Gogh มาก ทีนี้เราจะดูยังไงระหว่าง บูชาครู reference และลอก

ความรู้สึกตอนดูงาน ถ้ารู้สึกว่ามันไม่ถึง มันจะเป็นงานที่ลอก ถ้าถึง และมี personal expression ในนั้นก็คือไม่ลอก การที่เราจะเลือกอะไรมา เราต้องมีข้างในที่เรารู้ว่าทำไมอันนี้ถึงสวย ทำไมอันนี้ไม่สวย ซึ่ง vision อันนี้ก็มาจากชีวิตหรือประสบการณ์ของเราเอง ถ้าให้คนอื่นมาเลือก เขาก็จะเลือกไม่เหมือนเรา ถ้าคนทำไม่ใช่เรา เขาก็จะทำออกมาเป็นอีกแบบนึง เราว่าเราเอาสิ่งที่เราชอบมาเล่น และใช้เป็น element นึงในการสร้างสรรค์ของเราเองมากกว่า ต่อให้ reference ไม่ใช่ van Gogh หรือ impressionist แต่ว่าเป็นยุคอื่น ถ้าเรามี creative vision ที่ชัดเจนพอ เราก็จะทำออกมาไม่เหมือนคนอื่น


เรารู้สึกว่าการลอกมันมีเพดานของมัน มันจบแค่ที่ทำเหมือน แต่ถ้าเรามองว่าอันนี้ดี อันนี้จะเอามาใช้ แล้วเราดูงานหลากหลาย มันจะต่อยอดไปได้เรื่อยๆ พอเราทำแล้วมันต่อยอด พอเวลามันผ่านอีกจุดนึง มันถูก process ไปอีกทางนึง แล้วพอเราหา reference เพิ่มเติมมาออกแบบเพิ่มเติมไปเรื่อยๆ เราก็จะได้สิ่งใหม่ไปเรื่อยๆ van Gogh หรือศิลปิน impressionist เองก็ทำงานที่ดูสดใหม่ได้จากอิทธิพลของงานภาพพิมพ์ญี่ปุ่น การผสมและต่อยอดจะนำไปสู่สิ่งดีๆ เหมือนการทดลองเล่นแร่แปรธาตุ


สไตล์เป็นสิ่งนึงที่หยิบมาเล่นได้ เราเองก็ไม่ได้ทำงานสไตล์เดียว แต่เราว่า personal expression กับการมีจุดยืนที่ชัดเจน เป็นสิ่งที่คนดูควรจะถามหาเวลาจะดูงานศิลปะสักงานนึง ว่าสิ่งนี้ให้ค่าอะไร เขาเห็นว่าสิ่งนี้สำคัญเพราะอะไร ทำไมเขาชอบ เลือกนำเสนอแบบนี้ เพราะการเปิดใจดูงานสร้างสรรค์มันคงเกิดมาจากความอยากรู้อยากเห็น อยากเข้าใจตัวเอง อยากเข้าใจคนอื่น

ทำไมก่อนหน้านี้ไม่เคยวาดผู้ชาย

ตอนเด็กๆ วาดแต่ผู้หญิงเพราะมันเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเราที่สุด แต่ความรู้สึกเวลาวาดผู้ชายกับวาดผู้หญิงไม่เหมือนกัน รู้สึกว่าตอนวาดผู้หญิงกับเพศอื่นๆ ที่ไม่ใช่ผู้ชาย เรามีตัวเราอยู่ในนั้น แต่ว่าเวลาวาดผู้ชาย เราไม่สามารถเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในนั้นได้ เราเอาภาพผู้ชายมาเสิร์ฟ purpose อะไรบางอย่างในรูปมากกว่า มันเกี่ยวกับอำนาจของคนวาด และ subject ที่ถูกวาดด้วย


เหมือนเป็นการเอาคืนผู้ชายในชีวิตจริงหรือเปล่า

ใช่ เป็นการเอาคืน (หัวเราะ) ฉันสามารถทำให้คุณเป็นอะไรก็ได้ เพราะคุณเป็นของฉัน แต่มันไม่ใช่ความรู้สึกแค้นหรืออะไร มันเป็นความรู้สึกปลอดภัยมากกว่า ผู้ชายในชีวิตจริงมีความต้องการของเขา และบางครั้งสิ่งที่เขาต้องการทำให้เราเสียใจ แต่ผู้ชายที่เราวาดไม่สามารถทำให้เราเสียใจได้

งั้นการวาดผู้ชายของไนซ์ ก็ถือว่าเป็น female gaze คล้ายกับงานที่ผู้ชายวาดผู้หญิง ถือเป็น male gaze เป็นไปได้ไหมว่า ไนซ์จะโดนผู้ชายทักท้วงไหมว่า จริงๆ แล้วผู้ชายไม่ได้เป็นแบบในรูปที่ไนซ์วาด แบบที่ผู้หญิงในวงการศิลปะกำลังต่อสู้เรียกร้องพื้นที่อยู่ในตอนนี้

ท้วงได้ เพราะอะไรที่เป็นการจ้องมองทางเดียวมันไม่ realistic ได้ 100% อยู่แล้ว มันไม่ใช่แค่ในวงการศิลปะ แต่การเมืองในชีวิตจริงด้วย ที่ผู้หญิงไม่ได้มีพื้นที่ขนาดนั้น เราว่าข้างนอกเป็นยังไง ในศิลปะก็เป็นอย่างนั้น ตราบใดที่คนยัง percieve ผู้หญิงในความเป็นผู้หญิงก่อนที่จะมองว่าเขาเป็นคนหนึ่งคน เวลาทำงานศิลปะเราก็ struggle กับความเป็นผู้หญิงก่อน


จุดนึงที่มีศิลปินหญิงที่อยากได้พื้นที่ให้ตัวเองในฐานะ ‘ศิลปินผู้หญิง’ แต่กลับกัน ศิลปินผู้หญิงบางคนก็อยากให้คนเรียกเธอว่าเป็น ‘ศิลปิน’ โดยไม่มีเพศมากำกับมากกว่า สรุปอยากให้ตัวเองเป็นแบบไหน เราจะลดช่องว่างระหว่างเพศยังไง หรือจริง เราต้องเริ่มทำให้ศิลปะไม่มีเพศก่อน ยิ่งตอนนี้เฟมินิสต์ถูกใช้เป็น marketing ได้ด้วย ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราก็ทำงานจากเงื่อนไขที่ว่า เราไม่ได้ทำงานแบบนี้เพราะเราเป็นผู้หญิง แต่เพราะเราเป็นมนุษย์คนนึงที่มีประสบการณ์ในฐานะที่เราถูกระบุว่าเป็นผู้หญิง ไม่ว่าจะด้วยเราเลือกเอง หรือที่สังคมกรอกมาให้ ยิ่งเราเลือกทำงานที่มันส่วนตัวมาก ๆ มันหนีตรงนี้ไม่พ้นอยู่แล้ว เราว่ามันเป็น struggle ที่ต่อเนื่องของเรา ว่าในฐานะความเป็นมนุษย์คนนึงของเรา เราจะรับมือกับความเป็นมนุษย์ผู้หญิงของเรายังไงดี ต่อการใช้ชีวิตของเรา กับประสบการณ์ที่เราเจอ มันห้ามให้เราไม่มีความรู้สึกกับสิ่งนี้ไม่ได้

แต่การที่คนหรือแบรนด์อะไรเอาการ empower ผู้หญิงมาเป็น marketing เป็น branding โดยไม่ได้เห็นอกเห็นใจคนหรือเข้าใจปัญหา กับคนอยากจะผลักดันสิ่งนี้ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวก เราว่ามันดูออกนะ ดังนั้นก็ไม่ต้องไปซีเรียส


อยากเอาตัวเองไปวางไว้ตรงไหนในวงการศิลปะ

อยากเป็นศิลปินที่สามารถเอาเรื่องราวที่คนอื่นดูแล้วรู้สึกว่าไม่จริงจัง ให้ไปอยู่ในแกเลอรี เราอยากได้การยอมรับ อยากพิสูจน์ตัวเอง อยากทำให้ตัวเองเห็นว่า จากรากที่มันดูเป็นสิ่งที่คนอื่นไม่ได้ให้คุณค่าอะไรมากมาย เราอยากทำให้มันจริงกับเรา จนคนอื่นสามารถยอมรับได้ว่า เออ คนนี้ทำออกมาแล้วมันเป็นศิลปะนะ


แต่เราก็ตั้งคำถามว่าสิ่งที่ทำให้รูปนี้เป็นศิลปะที่เหมาะสมจะอยู่ในแกเลอรี มันคืออะไร ก็เป็นอะไรที่พูดยากเหมือนกันนะ อะไรทำให้มัน ‘ถึง’ วะ ซึ่งตอนนี้ยังใช้แค่ความรู้สึกอยู่ แต่การที่ผ่านการทำงานจากข้างในมา คนที่ดูเขาดูออกว่าเราอยากจะศึกษาอะไรบางอย่าง แปลว่าเรามีความตั้งใจ และมีไอเดียรวบยอดเกี่ยวกับสิ่งที่ตัวเองทำประมาณนึงแหละ อันนี้ก็เป็นแผนในอนาคตอันใกล้เหมือนกันที่อยากจะทำ

มีบทความนึงบอกว่า 'ศิลปินไม่ได้ดังเพราะตัวงาน แต่ดังเพราะเพื่อนศิลปิน' อันนี้อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้งานได้ขึ้นแกเลอรี

การรู้จักคนที่เขามีโอกาสจะช่วยเราต่อยอดงานได้มันก็สำคัญแหละ แต่งานที่ขึ้นมาจนถึงจุดที่ทุกคนยอมรับว่ามันมีอะไรสักอย่างที่ดี เรารู้สึกว่ามันก็ต้องผ่านการทำงานหนักสักอย่างมา ยิ่งเราอยู่ในสังคมที่สร้างสรรค์และเปิดกว้าง มันยิ่งอนุญาตให้เราสร้างงานที่ขยายข้อจำกัดของเราไปได้มากขึ้นด้วย แต่ถ้างานไม่ได้มีค่า หรือไม่ได้พูดอะไร มันก็ไม่มีใครให้พื้นที่เราหรอก


งานของไนซ์มีค่ายังไง

งานเรามีค่าเพราะเราพยายามจะซื่อสัตย์กับตัวเอง แล้วทำออกมา ซึ่งส่วนตัวเราว่าอันนี้เป็นคุณค่าที่สำคัญ การยอมรับทุกๆ อย่างที่เป็นตัวเอง และพยายามคลายปมให้สิ่งที่ถูกมองว่าเป็นเด็กน้อย เป็นการ์ตูน ไม่น่าสำคัญอะไร ด้วยการเอามาพัฒนาต่อในทางที่เป็นเราและสบายใจกับตัวเอง ซึ่งถ้ามันเป็นงานที่ทำให้คนอื่นไม่ต้องพยายามเป็นสิ่งที่ตัวเองไม่ได้เป็นก็คงจะดี เพราะทุกคนมีของที่ไม่ซ้ำกัน เอาของจากข้างในตัวเองมาทำ ดีที่สุดแล้ว

ถ้าศิลปินทำงานศิลปะออกมา ใส่ความเป็นตัวเองเข้าไปเหมือนกัน แต่สุดท้ายแล้ว คนดูไม่เก็ต ไม่ได้รู้สึกว่ากระทบใจหรือให้คุณค่าอะไรกับคนดู ถือว่างานเขามีค่าไหม

เราว่าการมีทักษะในการสื่อสารตัวงานมันก็เป็นอีกเรื่องนึง แต่เราไม่สามารถไปบังคับได้ว่าเราทำงานออกมา แล้วคนจะรู้สึกยังไงกับงานของเรา เขาอาจจะรู้สึกว่าดีมาก ชอบมากเลย เขาเห็นบางอย่างในตัวเขาเวลาดูงานของเรา หรือเขาอาจจะรู้สึกแค่ ก็ไม่ได้ใช้ทักษะขนาดนั้นนี่ หรืออาจจะเห็น inspiration จากคนนั้นคนนี้เต็มไปหมดเลย ไม่เห็นดีเลย เราว่าทุกอย่างได้หมด บังคับไม่ได้


ทำงานศิลปะนี่ก็ยากเนอะ ไม่สามารถคาดหวังอะไรได้เลย ในฐานะคนทำ เราทำเพื่อให้ตัวเองเห็น แล้วถ้าตัวเองพอใจก็คือจบกับตัวเองแล้ว คนอื่นจะชอบหรือไม่ชอบก็แล้วแต่คุณเลย เพราะแต่ละคนประสบการณ์ไม่เหมือนกัน แต่เราก็ไม่ได้ซีเรียสนะว่าคนมาดูงานเราแล้วจะเห็นอิทธิพลจาก อันนั้นอันนี้ เพราะเรารู้สึกว่ามนุษย์ได้อิทธิพลจากมนุษย์คนอื่นเป็นเรื่องปกติมาก เอาว่าดูแล้วรู้สึกหรือเปล่าพอ พอถึงจุดนึงมันจะมีสิ่งที่คนที่ทำงานเท่านั้นที่จะเห็น ว่ากูทำไปทำไมวะ และคนอื่นก็จะไม่สามารถเปลี่ยนใจเขาได้ด้วยว่า กูรู้สึกแบบนี้ และกูจะทำแบบนี้ ไม่ว่าคุณจะรู้สึกยังไง ฉันก็จะทำแบบนี้


แล้วถ้าทำเพื่อตัวเอง ศิลปินจะแชร์งานกับโลกทำไม

ก็อยากได้รับความรัก อยากถูกมองเห็นไง! ช่วยมองเห็นจิตวิญญาณที่ฉันถ่ายลงไปในงานของฉันหน่อยไม่ได้หรอ ไม่ต้องรักก็ได้ แต่ช่วยเห็น ยอมรับ เข้าใจเราหน่อย (หัวเราะ)


bottom of page