ในบทประพันธ์ดั้งเดิมของหนังสือเรื่อง About a Boy โดยนิค ฮอร์นส์บี้ ที่เอามาทำเป็นหนังและมีฮิวจ์ แกรนต์เป็นพระเอก ในหนังสือมีเรื่องวันตายของเคิร์ต โคเบน เป็นจุดพีคของเรื่อง หนังสือออกตอนปี 1998 ห่างจากปีที่เคิร์ตฆ่าตัวตาย 4 ปี (Nirvana อัลบั้มแรกมีเพลงชื่อ About a Girl) ส่วนหนังออกในปี 2002 และเปลี่ยนจุดเปลี่ยนของเรื่องจากความโศกเศร้าในวันที่เคิร์ตตาย ให้กลายเป็นการไปร้องเพลงในงานโรงเรียนแทน หนังต้นทุน 10 ล้านเหรียญ ทำรายได้ 130 ล้าน ประสบความสำเร็จมาก
สาเหตุหลักที่ผู้กำกับเปลี่ยนจุดพีคของหนังไปแบบไม่มีอะไรเกี่ยวกับ Nirvana สักอย่าง ก็เพื่อให้หนังเข้าถึงกลุ่มแมสได้มากขึ้น เพราะเรื่องครอบครัวมันขายง่ายกว่าร็อคแอนด์โรลเยอะ และที่สำคัญ เพราะหนังออกหลังจากที่เคิร์ตยิงตัวตาย 8 ปี ตอนนั้นไม่มีใครจำวันที่เคริ์ตตายได้แล้ว ว่ามันสำคัญขนาดหนังสือพิมพ์การเงินที่ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวกับเรื่องเพลง ก็ยังมีข่าวเขาบนหน้าหนึ่ง
เคิร์ตตายในเช้าของวันที่ 5 เมษายน 1994 ที่ซีแอตเติล เขาอายุเพียง 27 ปีและมีลูกสาวแบเบาะ 1 คน ทีวีข่าวทุกช่องในอเมริกาตัดเข้า breaking news ทันที ส่วนที่เมืองไทยที่ข่าวจะมาช้าสักหน่อย ตอนนั้นผมดู MTV จากช่องเคเบิ้ล Thai Sky ถ้าจำไม่ผิด รู้สึกว่าช่องเพลง Channel [V] เมืองไทยกำลังเล่นเพลง What’s Up ของ 4 Non Blonde อยู่ตอนที่ข่าวตัดกลางเพลงเพื่อรายงานอัตวินิบาตกรรมของร็อคสตาร์แห่งยุค 90s แล้ววันรุ่งขึ้น ก็เหมือนโรงเรียนมัธยมทั่วโลก ที่มันกลายเป็นประเด็นคุยที่โรงอาหาร แม้จะไม่เยอะเท่าเมืองนอก เพราะเด็กไทยที่ฟังเพลงฝรั่งไม่ใช่กลุ่มใหญ่
ข่าวใหญ่ในอเมริกาสัปดาห์ต่อมา คือความเป็นห่วงว่าจะมีวัยรุ่นฆ่าตัวตายตามเขา (copycat suicide) ในยุค 90s อเมริกามีคนฆ่าตัวตายเฉลี่ยปีละ 30,000 คน การฆ่าตัวตายตามไอดอลเคยเกิดขึ้นบ่อยๆ ฮิเดะ จากวง X Japan เป็นหนึ่งในกรณีโด่งดังที่มีวัยรุ่นญี่ปุ่นตายตาม
แม้สาเหตุของการฆ่าตัวตายของคนเรามันจะซับซ้อนกว่านั้น เช่น เด็กไม่ได้ฆ่าตัวตายเพราะไอดอลตาย แต่เพราะเขามีปัญหาอยู่แล้ว และถ้าเขามีเพียงดนตรีเป็นที่ยึดเหนี่ยว การจากไปของนักร้องที่เขารัก ก็เหมือนเป็นตัวเหนี่ยวไกปืน ในตอนนั้นความรู้เรื่องโรคซึมเศร้ายังไม่แพร่หลาย ผู้ใหญ่จึงนอยด์ว่าเด็กจะฆ่าตัวตายตามนักร้องหรือเปล่า กลายเป็นประเด็นที่ถูกนำมาอภิปรายอย่างจริงจัง จนนิค ฮอร์นส์บี้เอามาแต่งหนังสือ About a Boy ที่เป็นเรื่องราวของเด็กไม่มีเพื่อน ที่พึ่งทางใจแหล่งเดียวคือดนตรีร็อค หนังสือกลายเป็น best seller ทันทีที่วางแผง
แม้ในปีนั้นไม่มีการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนหน้า แต่สายฮอตไลน์ให้คำปรึกษาคนอยากฆ่าตัวตายที่ซีแอตเติ้ล ที่ปกติจะมีคนโทรเข้าเดือนละ 6,000 ครั้ง ในเดือนนั้นมีวัยรุ่นโทรเข้ามาเยอะเป็นพิเศษ ส่วนใหญ่จะโทรมาร้องไห้และคุยเรื่องคิดถึงเคิร์ต เพราะไม่รู้จะคุยกับใคร การจากไปของเคิร์ตจึงมีผลไปถึงการตื่นตัวของการวิจัยด้านจิตเวช ที่นอกจากจะรู้ว่ามีวัยรุ่นไม่มีคนคุยด้วยมากมายกว่าที่คิด ยังมีการพูดคุยกันถึงถึงเรื่องพฤติกรรม แรงจูงใจ ระยะเวลาในการฆ่าตัวตายตามไอดอล และผู้ใหญ่ควรจะหาทางปกป้องช่วยเหลือพวกเขาได้อย่างไร ตอนนั้นเขาเรียกเคสนี้ว่า “The Kurt Cobain Suicide Crisis”
ตอนนี้คนอายุต่ำกว่า 23 ไม่ค่อยรู้จัก Nirvana แล้ว แต่ความยิ่งใหญ่ของวงอายุสั้นวงนี้เปลี่ยนแปลงดนตรีร็อคไปตลอดกาล อัลบั้ม Nevermind เคยเขี่ยอัลบั้ม Dangerous ของไมเคิล แจ๊คสันตกจากอันดับหนึ่งในเดือนพฤศจิกายนปี 1991 และนั่นน่าจะเป็นครั้งสุดท้ายที่มีอัลบั้มเพลงร็อคขึ้นอันดับ 1 ถ้าไม่นับ Maroon 5 ที่เราไม่นับเป็นวงร็อค
Comentarios