top of page
  • Black Facebook Icon
  • Instagram

Welcome to the world where truth doesn't hurt

ตอนโน้นที่ผมฝึกงานกับโน้ส อุดม

เรื่อง: โน้ต พงษ์สรวง @dudesweetworld


เดี่ยวไมโครโฟน 4 เดือนตุลาคม 2542

20 กว่าปีที่แล้ว ผมเป็นนักศึกษาฝึกงานกราฟิกให้เดี่ยวไมโครโฟน 4 ออฟฟิศคือบ้านพี่โน้สที่แฮปปี้แลนด์ บ้านหลังนั้นมีชั้นหนังสือยาวพรึ่ดกลางบ้าน กั้นบ้านเป็นสองฝั่ง บนชั้นมีนิตยสารและหนังสือเป็นร้อยเล่มที่ผมชอบหยิบไปอ่านที่บ้าน (หลายเล่มก็ยังไม่ได้คืนจนบัดนี้) ผมเคยคิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่พี่โน้สเขาจะอ่านทั้งหมดนี่


จนกลางดึกคืนหนึ่งที่ออฟฟิศมีผมอยู่คนเดียวแล้วพี่โน้สแวะเข้ามาเอาของ เจอผมยืนเอียงคอไล่อ่านสันหนังสือ เขาหยุดทักว่าทำไมยังไม่นอน แล้วเราก็คุยกันเรื่องหนังสือบนชั้น ถามถึงเล่มไหนเขาตอบได้หมดว่าเกี่ยวกับอะไร และแนะนำว่าผมน่าจะชอบเล่มนี้เล่มนั้น ตอนนั้นที่ผมมั่นใจว่าเขาอ่านทุกเล่มบนชั้นหนังสือของเขา ก็ให้เข้าใจว่าทำไมเขามีความรู้รอบตัวเยอะจัง ซึ่งผมคิดว่าความรู้รอบตัวเป็นคุณภาพสำคัญประการแรกถ้าคุณอยากเป็นคนตลกหรือเป็นคนที่น่าสนใจ ไม่เช่นนั้นคุณก็จะวนอยู่แค่ตลกลามกหรือใช้คำหยาบพร่ำเพรื่อ ซึ่งอะไรแบบนั้นแป๊บเดียวก็น่าเบื่อ


มันเริ่มจากผมไปเจอป้ายรับนักศึกษาฝึกงานที่บอร์ดประกาศข่าวข้างห้องสมุดศิลปากร วังท่าพระ ตอนนั้นน่าจะเป็นเดือนมิถุนายน ปี 1999 เพลง I Want It That Way ของ Backstreet Boys กำลังดัง ผมอายุ 20 เพิ่งขึ้นปี 3 คณะมัณฑนศิลป์ ศิลปากร กระดาษ A4 สีขาวบอกว่ากำลังหากราฟิกดีไซน์เนอร์สำหรับงานเดี่ยวไมโครโฟนสี่ของโน้ส อุดม ด้านล่างเป็นริ้วให้เด็ดเบอร์โทรและที่อยู่เพื่อส่งพอร์ตผลงานของตัวเอง


ผมเด็ดไปหนึ่งชิ้น แล้วสามสัปดาห์ต่อมาเพื่อนที่เช่าหอด้วยกันก็บอกว่ามีคนจากโน้ส อุดมโทรมาฝากข้อความว่าให้ไปทดลองงานอาทิตย์หน้า ทีแรกกำหนดฝึกงานคือสองเดือน แต่ไปๆ มาๆ ผมขลุกอยู่กับทีมเดี่ยวไมโครโฟนเป็นเวลาเกือบห้าเดือน บางช่วงก็กินนอนอยู่ที่ออฟฟิศบ้านพี่โน้สหลายวัน งานของผมคือออกแบบสิ่งพิมพ์ของเดี่ยวไมโครโฟนสี่ทั้งหมด ตั้งแต่ป้ายชี้ทางเข้าห้องน้ำ ตั๋วเข้างาน โปสเตอร์ ไปจนถึงอาร์ตเวิร์คหนังสือและดีวีดีที่ทำขายหลังจบเดี่ยวสี่ น่าเสียดายที่ตอนนี้ผมไม่เหลืองานมาให้คุณดูสักชิ้น เพราะตอนเรียนศิลปากรผมย้ายหอบ่อย มันก็หายไปเรื่อยๆ กับการย้ายบ้าน นักศึกษาศิลปากรยุคนั้นมักย้ายหอบ่อย บ้างก็เพราะชอบอยู่กันเกินจำนวนคนตามสัญญาเช่าและทำบ้านเขาเยิน


สิ่งเดียวที่ผมมีเหลืออยู่จากเดี่ยว 4 คือโน้ตแปะหน้าซองเงินค่าแรงที่พี่โน้สให้ตอนจบงาน ที่ผมแปะไว้ในสมุดสเก็ตช์ตอนเรียน

คนที่ต้องเข้าออฟฟิศประจำมีประมาณ 8 คน คือฝ่ายจัดการสคริปต์, ฝ่ายประสานงานและออกแบบ แต่มีเพื่อนพี่โน้สแวะเวียนมาเยี่ยมบ่อยมาก พี่โน้สจะสนิทกับทีมงานทุกฝ่าย เวลาเขาเดินเข้ามาในออฟฟิศ ทั้งห้องจะสว่างสไวเพราะรู้ว่าเดี๋ยวเขาคงมีเรื่องตลกที่เพิ่งไปเจอมาเล่าให้ฟัง เขาเป็นคนมีเพื่อนหลากหลาย ไม่ว่าจะคนส่งของ ดารา หรือมหาเศรษฐี เป็นผู้พูดที่เก่งและเป็นผู้ฟังที่ดี เรื่องราวจึงหลากรส รู้สึกเหมือนได้ดูเดี่ยวไมโครโฟนแบบ exclusive มันเป็นเวลาห้าเดือนที่ไม่มีวันไหนไม่สนุกเลย เดี๋ยวก็มีดารามาเยี่ยมบ้าน, เดี๋ยวก็รับโทรศัพท์แล้วปลายสายคือทาทา ยัง, เดี๋ยวก็มีที่ปรึกษาเศรษฐีมานั่งสนทนาเรื่องธุรกิจให้ฟัง, เดี๋ยวก็มีลูกนักการเมืองฝากคนมา “ขอความร่วมมือ” อย่าพูดถึงพ่อเขาในเดี่ยวครั้งนี้, เดี๋ยวก็มีทริปไปเทสต์มุกตามมหาวิทยาลัยต่างจังหวัด, เดี๋ยวพี่โน้สก็จัดนิทรรศการ, เดี๋ยวก็มีโจรขึ้นบ้าน ยกคอมพ์ไปทั้งหมดต้องเริ่มทำสคริปต์กันใหม่, เดี๋ยวจู่ๆ พี่โน้สก็สั่งให้ทุกคนหยุดทำงานแล้วหอบหิ้วกันไปหาของอร่อยกินที่เยาวราช เป็นออฟฟิศที่อิ่มหมีพีมันมาก พี่โน้สเลี้ยง

เดี๋ยวจู่ๆ พี่โน้สก็ตัน คิดมุกไม่ออก และผมจำได้ว่าช่วงสัปดาห์นั้นบรรยากาศอึมครึมมาก


เย็นวันหนึ่งเพื่อนพี่โน้สเกือบสิบคนมารวมตัวกันที่ออฟฟิศ ส่วนผมนั่งจกมะม่วงน้ำปลาหวานกับพี่ทีมงานสามคนที่โต๊ะหินอ่อนหน้าบ้าน เรามองเห็นพวกเขาได้จากตรงนั้น แต่ไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปป้วนเปี้ยนตรงที่ผู้ใหญ่เขากำลังคุยเครียดกัน พี่ในวงมะม่วงซุบซิบว่าพี่โน้สเขาเครียดมาอาทิตย์กว่าแล้วไม่สังเกตเหรอ เพราะเขาไม่แน่ใจว่ามุกตลกพอหรือเปล่า แล้วเย็นวันนั้นเลขาพี่โน้สก็บอกให้ทุกคนหยุดงานหนึ่งอาทิตย์ พี่เขาขออยู่เงียบๆ คนเดียวสักพัก


คำว่า “ตลก” กับ “เครียด” อยู่ในประโยคเดียวกันช่างฟังดูตลก แต่ตอนนั้นผมคงรักแต่สนุกจนยังไม่เข้าใจว่าความเครียดสามารถซ่อนอยู่ในความตลกโปกฮาได้ ก็คิดแค่ว่าพี่เขามีอะไรให้เครียด? อายุก็แค่ 30 เงินก็เยอะ เพื่อนก็แยะ ชื่อเสียงก็โด่งดัง ใครก็อยากรู้จัก หนังสือก็ขายดี ทำอะไรก็ขายได้ ตั๋วเดี่ยวสี่ที่จะเริ่มเดือนหน้าก็วิ่งไม่หยุด


ต่อมาผมก็ได้เข้าใจว่าคงเพราะไอ้ที่ผมว่ามาทั้งหมดนั่นล่ะที่ทำให้เขาเครียด มันคือความคาดหวังที่เขาต้องแบกอย่างโดดเดี่ยว ซึ่งจะว่าไปเขาก็เป็นคนสร้างมันขึ้นมาเอง เพราะเดี่ยวสี่เป็นเดี่ยวที่พี่โน้สเล่นใหญ่กว่าทุกสิ่งที่เขาเคยทำในชีวิตก่อนหน้านั้น เขาจัด 28 รอบ (ยี่สิบแปดรอบ!) รอบละประมาณ 2,400 คนที่ MCC Hall เดอะมอลล์บางกะปิ แล้วถ้าจำไม่ผิดคือทีแรกจะจัดแค่ 25 รอบแต่ตั๋วขายดีมากจนต้องเพิ่มรอบ มันเป็นช่วงเวลาที่อุดม แต้พานิช คือคนดังที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย ลูกเด็กเล็กแดงรู้จักกันทั่วทุกหัวแระแหง แล้วก็เป็นเรื่องปกติที่เมื่อคุณป๊อปปูลาร์มากขึ้น คนที่ไม่ชอบคุณก็จะเยอะตาม จะมีคนพูดว่าคุณ “กลวง” ต่อให้เขาดูงานคุณแค่ผ่านๆ คนเรานี่เอาใจยาก แต่ถ้าต้องพยายามเอาใจทุกคน ผมว่าถ้าไม่กลายโรคประสาทก็กลายเป็นคนน่าเบื่อแบบ 360 องศา


แล้วช่วงเวลานั้นก็ผ่านไป แล้วเดี่ยวสี่ก็เป็นหนึ่งในเดี่ยวที่ประสบความสำเร็จที่สุดของเขา ก่อนเขียนเรื่องนี้ผมย้อนกลับไปดูเดี่ยวสี่ใน Netflix มันก็ยังตลกอยู่และสะท้อนบรรยากาศกรุงเทพฯ ยุคไนท์ไลฟ์รุ่งเรืองได้ดี ตอนนั้นผมในฐานะทีมงานที่ต้องไปช่วยงานเล็กๆ น้อยๆ หน้างาน ทำให้ได้ดูเดี่ยวสี่ไม่ต่ำกว่าสิบรอบจนจำคิวมุกตลกได้ ผมรู้สึกทึ่งที่พลังงานเขาไม่แผ่วเลยสักรอบ แต่ผมไม่เคยได้เจอพี่โน้สหลังจบโชว์จึงไม่รู้ว่าเขาชาร์จพลังยังไง เพราะช่วงเดือนที่มีการแสดงพี่โน้สไม่อยากให้ใครเข้าออฟฟิศแล้ว ซึ่งก็เข้าใจได้ว่าความสงบเมื่อถึงบ้านหลังการเจอคนเป็นพันย่อมเป็นสุดยอดปรารถนา แล้วหลังจากปาร์ตี้เลี้ยงจบทีมงานผมก็แทบไม่ได้เจอพี่โน้สอีกเลยจนบัดนี้ ยี่สิบกว่าปีแล้ว


ผมทำงานกับพี่โน้ส อุดมห้าเดือน แต่ต้องใช้เวลาเกือบปีที่จะสลัดบุคลิกของโน้ส อุดมออกจากตัวผม


มีคนเคยบอกผม ว่าคนมีบารมีคือคนที่ไปยืนหน้าห้องแล้วทุกคนหยุดฟัง ตอนผมจบทำงานกับพี่โน้สเป็นช่วงขึ้นปีสามเทอมสอง ผมเรียนกราฟิกดีไซน์ซึ่งจะมีวิชาพรีเซ็นต์งาน แต่โดยมากเป็นการออกไปเล่าเรื่องหน้าห้องหรือแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ เสียมากกว่า การเพิ่งผ่านงานกับคนที่เล่าเรื่องอะไรก็สนุกอย่างโน้ส อุดมจึงส่งอานิสงส์ให้ผมในวิชานี้อย่างปังจนได้เกรด A


ทุกครั้ง เพื่อนร่วมชั้นจะหัวเราะกิ๊กกั๊กกันตั้งแต่ผมลุกจากเก้าอี้เดินไปหน้าห้อง ที่ๆ ผมจะใช้พื้นที่ในการเล่าเยอะมาก ออกท่าทางจนอาจารย์แซวว่าเหมือนเต้นฟุตเวิร์ก ลีลาการเรียบเรียงเรื่องน่าติดตาม มีเทคนิคการกำหนดความดังเสียง การแสดงสีหน้า การใช้มือไม้ อันที่จริงผมใช้แทบทุกส่วนของร่างกายในการเล่าเรื่อง ทุกคนเฮฮา ประเด็นมาครบ


มันไม่มีอะไรผิด แต่ผมไม่ได้ยินเสียงตัวเอง


ความรู้สึกนั้นเกิดตอนพักเที่ยงวันหนึ่ง เมื่อเพื่อนผมชื่อไอ้ตั่วมันบอกว่า–ดูมึงพูดก็สนุกดี เหมือนได้ดูโน้ส อุดมเดี่ยวไมโครโฟนหน้าห้องเรียน จังหวะจะโคน การพูด การหยุด โทนเสียง การออกสีหน้าท่าทางเวลาเล่าเรื่องก็เหมือน ไม่เฉพาะในคาบเรียน ตอนมึงคุยกับเพื่อนก็เป็น มึงคงได้จากเขามาเยอะนะ – ซึ่งมันน่าจะเป็นคำชมใช่ไหมที่เราได้วิทยายุทธจากคนเก่งระดับนี้ แต่มันกลับทำให้ผมตระหนักว่าเวลาผมพูดหน้าชั้นแต่ละครั้ง ผมมีสีหน้าท่าทางของพี่โน้สอยู่ในหัวและมันควบคุมการแสดงออกของผม มันไม่ใช่แค่ได้รับอิทธิพลจากเขา แต่ผมกำลังพยายามเป็นเขา! แล้วความทุเรศของการพยายามเป็นคนอื่นคือคุณจะเล่นใหญ่กว่าที่เขาเป็นเพราะคุณต้องการถูกยอมรับเท่าเขา ผมรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นอุดมเวอร์ชั่นเจือสี แต่งรสและกลิ่นสังเคราะห์ แบบ Coke กับ Coke Lite ตอนนั้นผมอายุ 20 ยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร สไตล์งานตัวเองเป็นแนวไหน ก๊อปงานฝรั่งส่งอาจารย์ก็มี แต่การก๊อปบุคลิกของคนอื่นนี่มันแย่กว่าก๊อปงานเสียอีก ผมไม่อยากเป็น Udom Lite


พักเที่ยงวันนั้นผมคิดได้ว่า คนในออฟฟิศเดี่ยวสี่หลายคนก็มีจังหวะบางอย่างของโน้ส อุดม ฉะนั้น คงไม่ใช่แค่ผมที่มีอาการ Udomnizer และมันคงเป็นเรื่องธรรมดาถ้าคุณใกล้ชิดกับคนที่มีบุคลิกและความคิดอ่านโดดเด่น แล้วซึมซับสีสันของเขาเข้าไปในตัวคุณ เหมือนดาวเคราะห์ที่ไม่มีแสงสว่างในตัวเอง


วิธีแก้ของผมคือบอกตัวเองว่านี่ไม่ใช่เดี่ยวไมโครโฟน ไม่ต้องเล่นใหญ่ ไม่ต้องออกท่าทางหรือสีหน้ามากเกินเหตุ อยู่หน้าห้องก็ไม่ต้องเดินเยอะ ก็มีแค่นั้นล่ะ แล้วพอไม่ได้เจอเขาแล้วและกลับมาใช้ชีวิตนักศึกษากับเพื่อนฝูงทุกวันมันก็จางไปเอง แต่สิ่งที่ได้จากพี่โน้สและยังได้ใช้อยู่ คือการรู้ว่าอะไรที่ไม่สำคัญในเรื่องที่กำลังเล่า การไม่แทรก ไม่แย่งคนอื่นพูด ซึ่งก็เป็นประโยชน์มากในอาชีพหลังเรียนจบของผมคือการทำงานนิตยสารที่ต้องสัมภาษณ์คนบ่อยๆ ในส่วนของอาการ ตอนนี้ยี่สิบกว่าปีแล้วก็ยังมีโน้ส อุดมที่ตกค้างอยู่บ้างแต่ก็นานๆ ที เช่นการหรี่ตาและพูดด้วยปากมุมมิบให้มันเกิดอารมณ์เกินจริงเวลาเล่าเรื่องตลกนินทาเพื่อน


ผมคิดว่าบุคลิกและรสนิยมของคนเราเกิดจากสิ่งละอันพันละน้อยของความชอบที่ได้พบเจอในชีวิต ผสมปนเปกันจนเกิดรสชาติเฉพาะตัว นั่นหมายความว่ารสชาตินั้นเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ ตามช่วงเวลาชีวิต พอคิดได้แบบนี้ก็ได้ปลงว่าคนเราเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาทั้งทางร่างกายและจิตใจ อย่างตอนนี้ที่คุณกำลังอ่านที่ผมเขียนอยู่ ร่างกายคุณผลิตเซลล์ใหม่เป็นร้อยล้านตัวและที่ตายไปก็หลายร้อยล้านตัวเช่นกัน ฟังดูเหมือนคนเราเกิดและตายทุกวินาที ยึดติดกับอะไรมากไปก็เท่านั้น แล้วในเมื่อทุกอย่างในโลกนี้มีวันหมดอายุทั้งสิ้น ก็ควร "ช่างแม่ง" ให้ชิน


ตอนนี้ผมไม่ใช่คนที่ออกไปยืนหน้าห้องแล้วทุกคนต้องหยุดฟังมานานแล้ว แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะเดี๋ยวนี้ผมชอบฟังมากกว่า ผมว่าพอคนเราอายุมากขึ้นก็จะชอบเป็นผู้ฟังมากกว่าผู้พูดไปเอง.


bottom of page