top of page
  • Black Facebook Icon
  • Instagram

Welcome to the world where truth doesn't hurt

วงการศิลปะฮือฮา เพราะศิลปินเดเมียน เฮิร์สต์ “วาดรูปด้วยตัวเอง” 🙄

เป็นพ่อครัวก็ต้องทำกับข้าว เป็นครูก็ต้องสอนหนังสือ เป็นหมอก็ต้องรักษาคนไข้ แล้วเป็นศิลปินก็ต้องวาดรูป มันน่าฮือฮาตรงไหน?

ฮือฮาสิ ถ้าศิลปินคนนั้นคือเดเมียน เฮิร์สต์ ศิลปินผู้ที่แม้จะไม่ได้จับพู่กันก็ยังมีภาพเขียนออกมาขายปีละเป็นพันภาพ เพราะเขามีโรงงานผลิตศิลปะที่ประกอบด้วยทีมงานเป็นร้อย เดเมียน เฮิร์สต์เป็นศิลปินที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ประติมากรรมของเขาทำให้คนเหวอ เขาผ่าวัว เขาจับฉลามมาดอง เขาเอากระโหลกคนมาฝังเพชร เขาเขียนภาพลายจุด เขาเก็บก้นบุหรี่มาวางเรียง ทั้งหมดนี้เขาทำโดยมือไม่ต้องเลอะ


คนที่เคยดูงานบ่อบัว "Water-Lilies" ของโมเน่ต์ของจริง จะรู้ดีว่าเวลาไปอยู่หน้างานจริงขนาดสูงสองเมตร ยาวสี่เมตรนั้น มันให้ความรู้สึกร่มรื่นโรแมนติกจนอยากนั่งดูอยู่ตรงนั้นนานๆ เป็นพลังที่ส่งออกมาจากตัวงานศิลปะสู่คนดูอย่างแท้จริง


งานฉลามดองอันโด่งดังของเดเมียน (The Physical Impossibility of Death in the Mind of Someone Living, 1991) ก็มีพลังที่ส่งออกมาได้แบบนั้น แต่เป็นคนละขั้ว เพราะเป็นพลังแห่งความดาร์คที่ทำให้คุณขวัญผวาเมื่อได้ประจันหน้ากับมันครั้งแรก เดเมียนสร้างชื่อเสียงจากต้นยุค 90s ด้วยงานที่ทำให้คนดูรู้สึกช็อคแบบนั้น

ศิลปินร่วมสมัยรู้กันดีมานานแล้ว ว่าการเป็นศิลปินในปัจจุบัน ไม่ได้หมายความว่าต้องทำเองไปทุกอย่าง โดยเฉพาะศิลปะในหมวด “conceptual art” ที่แนวคิด (concept) สำคัญกว่าตัวงาน คุณสามารถนำเสนอความคิดของคุณขึ้นมา แล้วไปจ้างช่างเขียนช่างปั้นทำให้ความคิดนั้นเป็นรูปธรรมโดยมือคุณไม่ต้องเปื้อนเลยก็ได้ และการมีผู้ช่วยเยอะๆ ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ แอนดี้ วอร์ฮอลไม่ได้ซิลค์สกรีนกระป๋องซุปเอง, ลีโอนาโด ดาวินชี่จะวาดวิหารขนาดนั้นได้ ก็ต้องมีลูกมือหลายสิบ เดเมียนเองก็ไม่เคยปิดบังว่าเขาไม่ได้ทำเอง แถมยังเอาวิดีโอขั้นตอนการทำงานมาลงให้ดูในเว็บไซต์ด้วย

ภาพจากวิดีโอ time-lapse แสดงขั้นตอนการผลิตงานศิลปะของทีมงานเดเมียน
ภาพนี้แปะเผื่อมีคนสงสัยว่า "งานแบบนี้ซื้อแล้วจะเอาไปติดบ้านยังไง" รูปนี้เป็นร้านอาหารในลอนดอนชื่อ Tramshed ในย่านชอร์ดิช

แต่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เดเมียน เฮิร์สต์เพิ่งเปิดแสดงงานล่าสุดที่กาโกเซี่ยนแกลเลอรี่ในลอสแองเจลลีส เป็นภาพเขียนสีลูกกวาดสดใสขนาดใหญ่มากจำนวน 24 ภาพ เป็น 24 ภาพที่เขาเพนต์เองทั้งหมดโดยปราศจากผู้ช่วย มีคนมาดูงาน 2,500 คน และงานขายหมดตั้งแต่ก่อนวันเปิด

ครั้งสุดท้ายที่เดเมียนโชว์งานที่เขียนเองกับมือ คือปี 2012 เป็นเซ็ตงานภาพเขียนหุ่นนิ่ง ที่โดนนักวิจารณ์สื่อใหญ่รุมสับไม่เหลือชิ้นดี ว่าในที่สุดเราก็ได้รู้กันชัดๆ เสียที ว่าเดเมี่ยนไม่ใช่จิตรกร และทักษะในการวาดรูปของเขาคือศูนย์ ก็ไม่ได้ว่าอะไรหรอกนะ แต่ไม่มีคนเตือนเขาหน่อยเลยเหรอ ว่างานห่วยๆ แบบนี้อย่าเอามาโชว์ ควรดองฉลามต่อไป


เดเมียนตอบกลับการโดนสับครั้งนั้นว่า “การได้เห็นมุมมองจากทั้งฝั่งที่รักและฝั่งที่เกลียดก็เป็นสิ่งที่ดี ตราบใดที่สะกดชื่อผมถูก เขาจะเขียนอะไรผมไม่สนหรอก”

งานที่โดนสับยับว่าวาดรูปไม่เป็น

แม้จะบอกว่าไม่สน แต่เขาก็ดูสงบไปพักใหญ่ ห้าปีที่ผ่านมา ข่าวของเขามักมีแต่เรื่องเงินๆ ทองๆ จนเขาดูเหมือนศิลปินโลภมาก ที่พูดเรื่องเงินมากกว่าเรื่องงาน ในแง่การทำงาน เดเมียนเป็นเหมือนศิลปินหมดมุก ที่ไม่มีแนวคิดใหม่มานำเสนอ


จนเมื่อปีที่แล้วที่เทศกาลศิลปะเวนิส (Venice Biennale) ซึ่งเป็นเทศกาลศิลปะที่สำคัญที่สุดในโลก ศิลปินและสื่อศิลปะต่างฮือฮากับการ “come back” ของเดเมียน เฮิร์สต์ เพราะรอบนี้เขาเล่นใหญ่ที่สุดในชีวิต ด้วยการแสดงงานที่ซุ่มทำเป็นสิบปี ลงทุนเองไป 65 ล้านเหรียญ (สองพันล้านบาท) มีงานทั้งสิ้น 189 ชิ้น นิทรรศการนั้นชื่อ Treasures from the Wreck of the Unbelievable คอนเซ็ปต์เป็นเรื่องสมมุติการค้นพบอารยธรรมเก่าแก่จากก้นทะเล เป็นประติมากรรมเลียนแบบซากโบราณวัตถุอายุหลายพันปีที่ตะไคร่น้ำปะการังเกาะเกรอะกรัง มีไฮไลท์เป็นประติมากรรมมหึมาสูง 18 เมตร มีภาพถ่ายการค้นพบจากก้นทะเล ที่ตอนนี้ Netflix ก็เพิ่งเอาวิดีโอการทำงานเซ็ตนี้มาฉาย


งานเล่นใหญ่ที่เมืองเวนิส

เรื่องเงินไม่ต้องห่วง เขาเป็นศิลปินประเภททำอะไรออกมาก็มีคนซื้อ งานนั้นขายได้ 300 ล้านเหรียญ (9,500 ล้านบาท) แต่ถ้าพูดเรื่องความพอใจในชีวิต--นี่เป็นอีกงานที่โดนด่ามากกว่าโดนชม คำที่ใช้พูดถึงงานชุดนี้มีทั้ง ฉาบฉวย, ติงต๊อง, เหมือนสวนสนุก, เรียกร้องความสนใจเกินเหตุ, เสียเวลา, น่าอาย โดยเฉพาะเว็บไซต์ Art News ที่พูดแรงๆ ว่านี่คือหนึ่งในนิทรรศการร่วมสมัยที่เลวร้ายที่สุดในทศวรรษที่ผ่านมา เป็นความล่มจมด้านอาชีพของเดเมี่ยน เฮิร์สต์


แม้เดเมี่ยนจะเป็นศิลปินหนังหนาทนทานคำวิจารณ์ เราอาจคิดว่าเขาจะแคร์ไอ้พวกนักวิจารณ์ไปทำไม ต่อให้มันเขียนงานทุกวันทั้งชีวิต ก็ไม่มีทางได้เงินเท่าเขาขายภาพแค่ภาพเดียว


แต่คำด่ามักจะดังกว่าคำชมเสมอ และมันจะทำให้เขาช้ำใจแค่ไหนไม่มีใครรู้ได้



Veil Paintings

แต่สิ่งที่สะท้อนในงานชุดล่าสุดของเขา มันทำให้เรารู้สึกไปเอง ว่าเป็นงานเลียแผลใจอะไรสักอย่าง เพราะมันชวนให้รู้สึกว่าเขาอยากกลับไปในคืนวันที่เขาสนุกกับศิลปะมากกว่าเงิน

สีสันที่เขาใช้ทำให้นึกถึงสีสันสะเปะสะปะในงานยุคแรกเริ่ม เช่นงานผีเสื้อหรือเม็ดยา มันดูมีชีวิตชีวากว่างานภาพเขียนลายจุด และไม่โวยวายเท่าภาพสีหมุน (spin painting) นอกจากนี้ มีสิ่งหนึ่งทีไม่เคยเห็นเขาทำมาก่อน คือหนึ่งเดือนก่อนแสดงงาน เขาโพสต์คลิปตัวเองกำลังวาดรูปลงอินสตาแกรมรัวๆ เหมือนต้องการยืนยันว่าเขาวาดเองจริงๆ นอกจากภาพที่เขาเนื้อตัวเลอะสีมอมแมมแบบที่เราคิดสภาพศิลปินในสตูดิโอควรจะเป็น เขายังพูดถึงความสุข ความเพลิดเพลินในการทำงานชุดนี้บ่อยกว่าครั้งไหน มีแคปชั่นหนึ่งเขียนว่า "ผมชอบงานของ [ศิลปิน] ปิแอร์ บงนาร์ดและสีที่เขาใช้มาโดยเสมอ ตอนเป็นนักเรียนเคยไปดูนิทรรศการของเขาที่หอศิลป์ปอมปิดูในปารีส ที่แสดงงานบงนาร์ดกับเดอ คูนนิงส์ งานนั้นทำผมบ้าไปเลย  ภาพเขียนที่ผมกำลังทำอยู่นี้  ผมเรียกมันว่า "Veil Paintings" [Veil ที่แปลว่าผ้าคลุมบางๆ เหมือนผ้าคลุมหน้าชุดเจ้าสาว]  และจะแสดงที่กาโกเซี่ยนแกลเลอรี่ในแอลเอเดือนมีนาคม งานพวกนี้เป็นชิ้นใหญ่เหมือนภาพแอ็บสแตร็คของบงนาร์ด ผมลองเล่นกับขนาดของงาน และพวกชิ้นใหญ่นี่เพอร์เฟ็คต์มาก มีใครไม่ชอบสีสันบ้าง ขอแค่แสงอาทิตย์ตกกระทบดอกไม้ ที่เหลือจะอะไรก็ช่างแม่ง"

เดเมียน เฮิร์สต์ให้สัมภาษณ์บ่อยๆ ว่าเขาชื่นชมศิลปินชั้นครูอย่างบงนาร์ด, วิลเลียม เบลค, จอห์น มาร์ติน หรือมาเน่ต์ บางทีพอคนเราแก่ตัวขึ้น ชื่อเสียงเงินทองอาจไม่เติมเต็มชีวิตเท่ากับความฝันในวัยเด็ก ที่เขาอาจฝันอยากเป็นศิลปินวาดรูปสวยๆ แต่พอได้เรียนศิลปะ เขาก็สอบตกวิชาศิลปะ

แต่ศิลปะก็มีทางออกให้ทุกอย่างเสมอ แม้ไอ้รูปจิ้มๆ แต้มๆ บนผืนผ้าใบแบบนี้ ยังไงก็ไม่มีทางออกมาเป็นมาเน่ต์ได้ แต่ถ้าทำแล้วสุขใจ ก็ถือว่าศิลปะได้ทำหน้าที่ของมันแล้วมิใช่หรือ?

 

ภาพงานศิลปะจาก damienhirst.com

bottom of page