top of page
  • Black Facebook Icon
  • Instagram

Welcome to the world where truth doesn't hurt

เรื่องสั้น: ครั้งหนึ่งเราเคยมีเส้นผมสีชมพู โดย 'ปราย พันแสง


คอนเวิร์สร่วมกับ Dudesweet นำเสนอผลงานช่างภาพรุ่นใหม่สามคน โดยให้แต่ละคนใช้เรื่องสั้นจากนักเขียนชื่อดังของไทยเป็นโจทย์ตั้งต้นว่าพวกเขาจะใช้จินตนาการตีความตัวหนังสืออกมาให้เป็นภาพถ่ายอย่างไร เรื่องสั้นสามเรื่องที่แต่งขึ้นเพื่อโปรเจ็คต์นี้โดยเฉพาะ แต่งโดยปราบดา หยุ่น, 'ปราย พันแสง และ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ Photographer: Nattaphat Chullasuwan (Guy) @squarepost Stylist: Athinop Niticharoen (Game) @gamerror Models: Worada Elstow (May) @maywora  Fusxu Watthanakun (Fusxu) @fussxu 




ครั้งหนึ่งเราเคยมีเส้นผมสีชมพู

เรื่องโดย ’ปราย พันแสง ภาพโดย ณัฐพัฒน์ จุลละสะวรรณ


“เห็นแม่วันนี้แล้วคงไม่มีใครเชื่อ ว่าในสมัยยังเป็นวัยรุ่นแม่ฉันเคยทำผมสีชมพู” นักเรียนการเขียนคนหนึ่งเขียนเล่าเรื่องของเธอเอาไว้เช่นนั้น ในบทเรียนหนึ่งของเราที่ว่าด้วยการเขียนถึงความรู้สึกยากลำบาก หรือความเจ็บปวดของตัวเองเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่หนักหนาที่สุดในชีวิต

อาจเป็นเพราะผู้สนใจเรียนการเขียนออนไลน์ที่ฉันเปิดสอนส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นคนหนุ่มสาว หลายคนยังอาศัยอยู่ใต้ชายคาเดียวกับครอบครัว จากการเรียนการสอนกันมาร่วมสามปี สังเกตได้ว่าในหัวข้อนี้ นักเรียนมักจะเลือกเขียนถึงความขัดแย้งระหว่างตนกับพ่อแม่ ก็มีตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงเจ็บปวดซึมเศร้า พบแพทย์ กินยา มีบางคนถึงขั้นกินยาคิดฆ่าตัวตายก็พบเจอมาแล้ว

คุณแม่ที่เคยมีผมสีชมพูรายนี้ก็เช่น เธอสร้างความกดดัน สร้างความทุกข์ทรมานใจให้กับลูกสาวของเธออย่างหนักเช่นกัน จนวันนี้ก็ยังไม่ได้คลี่คลาย ผู้สอนก็ทำได้เพียงแนะนำว่า “นักเขียนที่มีชื่อเสียงของโลกหลายคน เติบโตมาจากชีวิตครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ บางทีก็มาจากวัยเด็กที่ไม่มีความสุข”



ย้อนกลับไปในปี 1970s และ 1980s คริส พอร์สซ์ นายแพทย์ชาวอังกฤษผู้มีงานอดิเรกเป็นช่างภาพพาร์ทไทม์ ได้ใช้เวลาว่างเดินเตร็ดเตร่ไปตามถนนในปีเตอร์โบโร ประเทศอังกฤษ เพื่อถ่ายภาพผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาเก็บไว้จำนวนมาก ในอีกสี่สิบปีให้หลัง เขากลับไปบนถนนสายนี้อีกครั้ง เขาคัดเลือกภาพเก่าๆ เหล่านั้นออกมาบางภาพ จากนั้นได้ออกติดตามบุคคลในภาพถ่ายเหล่านั้นเพื่อถ่ายภาพนี้ซ้ำอีกครั้ง

คริส พอร์สซ์ (chrisporsz.com) เป็นช่างภาพที่มีความสนใจในชีวิตคนธรรมดาสามัญ เขาเป็น Street Photographer มีผลงานหนังสือรวมภาพถ่ายของตัวเองออกมาหลายเล่ม ไม่ว่าจะเป็น Street of Britain,Street of Europe สำหรับโครงการถ่ายภาพย้อนหลังสี่สิบปีโปรเจคท์นี้ เป็นหนังสือขนาดสามร้อยกว่าหน้าที่เขาตั้งชื่อเล่มว่า Reunions  ซึ่งกำลังจะมีเล่ม 2 ตามมาอีกในเร็วๆ นี้



คริสให้สัมภาษณ์เว็บไซต์ Artfido.com บอกว่า “ผมไม่คิดว่าจะมีการติดตามคนแปลกหน้ามากมายมาถ่ายภาพอะไรแบบนี้มาก่อน มันเป็นงานนักสืบ ที่ต้องมีการวางแผนการทำงานอย่างละเอียดรอบคอบ” รวมถึง “มีความบังเอิญที่เหลือเชื่อ”

ผลงานภาพถ่ายของคริสที่ปรากฏสู่สายตาสาธารณชนนั้นน่าสนใจทีเดียว บุคคลในภาพ “เมื่อก่อน” กับ “ตอนนี้”  มีความเหมือนและแตกต่างกันไป  

ในแวบแรก เราทุกคนอาจจะคิดเหมือนกันว่า ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว มีอะไรพิเศษตรงไหน แน่นอนสิ เวลาผ่านไปตั้งสี่สิบปี ใครล่ะจะไม่เปลี่ยน

หลายภาพของคริสแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ไม่ว่าบุคคลในภาพที่เคยเป็นเด็ก ก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่ คนผอมก็จะกลายเป็นคนอ้วน ตึกรามบ้านช่องหนาแน่น สภาพรถราที่วิ่งอยู่บนถนนก็ไม่เหมือนเดิม หน้าร้านที่บางคนเคยยืนถ่ายรูปเมื่อสี่สิบปีก่อน ปัจจุบันกลายเป็นห้างร้านใหม่ไม่เหลือเค้าเดิมเลย ตัวคนในภาพก็เช่นกัน

ภาพหนึ่ง บุคคลในภาพผู้หญิงในร้านขายเครื่องประดับ เทียบกับภาพอื่นๆ ทั้งหมดเธอ ดูเหมือนว่าเธอจะเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด แม้แต่รูปร่างหน้าตา เธอยังดูสาว ดูดี ไม่แก่ลงมากเหมือนคนอื่นๆ



บรรดาเครื่องประดับสินค้าในร้านที่จัดวางอยู่รอบๆ ตัวเธอก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก ทุกอย่างดูใกล้เคียงของเดิมๆ อย่างมากจนน่าแปลกใจ รวมถึงตัวเธอด้วย

สี่สิบปีผ่านไปยังทำงานร้านเดิมนี่นะ

เราอาจจะเกิดคำถามในใจ

มันอาจจะเป็นความลับในเรื่องชีวิตอมตะของมนุษย์เราที่ยังไม่เคยมีใครค้นพบสูตรสำเร็จอย่างจริงจังมาก่อนก็ได้ บางที อาจจะเป็นความสุขสงบ ความพึงพอใจกับชีวิตตน และความมั่นคงในชีวิตนี่แหละ ที่ช่วยให้คนเราดูอ่อนเยาว์ลงได้จริงๆ มิใช่เครื่องสำอางราคาแพงใดๆ เลยแม้แต่น้อย

แล้วคนประเภทไหนกันเล่า ที่สามารถค้นหาความสุขสงบจากการอยู่ในที่เดิมๆ ได้ยาวนานขนาดนั้น เมื่อสี่สิบปีก่อน สมัยที่เธอยังเป็นวัยรุ่น เป็นสาวน้อยในร้านขายเครื่องประดับ เธอมีความใฝ่ฝันอย่างไร ห่างไกลจากร้านที่เธออยู่มากน้อยแค่ไหน หรือเราอยู่ในโลกที่เหวี่ยงหมุนเร็วจี๋ไปทุกนาทีเช่นทุกวันนี้จนชิน วิ่งตามจนเพลีย จนนึกไม่ออกแล้วว่าโลกที่หยุดนิ่ง มั่นคง สุขสงบแบบนั้นเป็นอย่างไร



อีกภาพที่ชวนให้ฉงนสนเท่ห์ไม่แพ้กัน เป็นภาพพังค์ชายคนหนึ่ง เมื่อสี่สิบปีก่อนเขาสวมเสื้อฮาวายลายขาวน้ำเงินสีสด ทำผมทรงโมฮอว์คสีชมพูช็อกกิ้งพิงค์ ตัดฉับสี่สิบปีผ่านไป ปรากฏว่าเขายังเป็นพังค์โมฮอว์คเหมือนเดิม ผมทรงเดิม เสื้อผ้าชุดเดิม อย่างตั้งใจ จนดูเหมือนว่าสี่สิบปีที่ผ่านมา เขาไม่ได้ทำอะไรกับมันเลย

วัฒนธรรมพังค์มีจุดกำเนิดขึ้นที่ประเทศอังกฤษในกลางยุค 70 เป็นสัญลักษณ์ เป็นการประกาศตัวตนของของวัยรุ่นขบถที่ใช้ชีวิตอย่างอิสระนอกกรอบเกณฑ์ของสังคม ผ่านเสื้อผ้า เครื่องประดับกาย ดนตรี รวมถึงการใช้ชีวิต จึงเห็นได้ชัดว่า จากภาพถ่ายชุดนี้ของคริสเมื่อสี่สิบปีก่อน ชายที่คริสพบบนถนนผู้นี้ก็คือผู้ที่ใช้ชีวิตวัยรุ่นของตนมาพร้อมๆ กับจุดกำเนิดวัฒนธรรมพังค์ ก่อนที่มันจะเผยแพร่ออกไปทั่วโลกนั่นทีเดียว จึงไม่ธรรมดาเลยที่คริสสามารถนำเขากลับมาบนถนนสายเดิม โดยที่เขาเองก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงตัวเองจากเมื่อสี่สิบปีก่อนไปมากนัก อย่างน้อยก็ในแง่กายภาพ

มันเจ๋งแค่ไหนล่ะ เกิดมาพร้อมกับวัฒนธรรมพังค์ แต่ในปัจจุบัน แม้แต่พังค์ร็อคก็ยังดูเหมือนจะตกยุคไปแล้ว วัฒนธรรมพังค์ทั่วโลกแทบจะไม่มีตัวตนอยู่แล้ว แต่ชายคนนี้ยังมีชีวิตอยู่ แถมยังดูสุขสบายดีเสียด้วย

จะมีกี่คนในโลกเราที่เป็นพังค์ตั้งแต่วัยรุ่นไปจนถึงวัยกลางคน หรืออาจจะเป็นไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต โดยไม่เบี่ยงเบนไปทางอื่นเลย หรือหากใครสักคนจะดำรงตนเช่นนี้ไปได้จนตลอดรอดฝั่ง เขาจะต้องแลกกับอะไรในชีวิตบ้าง

เรื่องนี้มันคงไม่ง่ายดายนัก



ในหนังสือภาพถ่ายของคริส ยังมีอีกภาพหนึ่งน่าสนใจ เป็นภาพพังค์คู่รักวัยรุ่นวัยทีน ที่คริสเคยถ่ายภาพไว้เช่นกัน เมื่อสี่สิบปีผ่านไป พังค์คู่รักวัยรุ่นในวันนี้ ได้กลายมาเป็นลุงเป็นป้าคนธรรมดา ไม่ต่างจากผู้คนส่วนใหญ่ที่เราเดินสวนกันหรือพบเจอกันได้ทั่วไปตามตลาดและท้องถนน  

ภาพนี้จึงเป็นตัวแทนโลกปัจจุบันของเราได้อย่างดี ลุงป้าอดีตพังค์ในภาพนี้ อาจเป็นคนประเภทเดียวกับแม่ของนักเรียนหญิงคนนั้น ผู้หญิงที่เคยมีเส้นผมเป็นสีชมพูในสมัยยังเป็นวัยรุ่นมาเหมือนกัน แต่ชีวิตในปัจจุบัน อาจจะไม่เหลืออะไรให้เชื่อมโยงกลับไปในวันวัยนั้นได้อีกเลยสักนิด เธออาจจะลืมชีวิตวัยรุ่นของตัวเองไปหมดสิ้นแล้ว

คนเราจะมีช่วงเวลาทำผมสีชมพูได้นานแค่ไหนกัน ช่วงชีวิตวัยรุ่นวัยหนุ่มสาวนั้น ไม่ว่าใครจะพยายามยืดอายุมันแค่ไหน มันก็ไม่อาจจะยาวนานได้อย่างใจเท่าไหร่นัก จะเร็วช้าก็เท่านั้น



เด็กผู้หญิงผมสีชมพูคนนั้นตายไปจากชีวิตของแม่คนนั้นตั้งแต่เมื่อไหร่ คนเราต้องใช้เวลาและใช้ทรัพยากรอะไรบ้าง ในการเติบโตไปเป็นคนที่เราเองก็ไม่เคยชอบ

จากวัยรุ่นผันเปลี่ยนไปเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวเป็นเรื่องธรรมชาติ คนที่ไม่เปลี่ยนเลยอาจจะเป็นได้เพียงผู้ใหญ่ที่ไม่รู้จักโต มันอาจจะไม่สนุกนัก ถ้าคนเราจะทำตัวเป็นวัยรุ่นเหมือนเดิม ทำตัวเหมือนเดิม ทั้งๆ ที่เวลามันล่วงเลยมาตั้งสี่สิบปีแล้ว

ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลง คนเราเปลี่ยนไป จึงเป็นเรื่องธรรมดา

คนที่ไม่เปลี่ยนเลยต่างหาก ที่น่าตกใจ

ในชั่วชีวิตหนึ่งของคนเรา หากเส้นผมสีชมพูในช่วงชีวิตวัยรุ่นของเราพอจะมีความหมาย เราจึงไม่ควรเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ในแบบที่เราเกลียดในทุกกรณี



เกี่ยวกับช่างภาพ

กาย-ณัฐพัฒน์ จุลละสุวรรณ อายุ24 เรียนจิตกรรมฯ ศิลปากร แต่ขอลาออกตอนปี 3 เขาชอบทดลองทำงานศิลปะหลายๆ รูปแบบ ที่ผ่านมาเขาทำเพ้นต์ติ้งไปมากมายแล้ว ปีที่ผ่านมาเขาเลยอยากลองใช้ภาพถ่ายสื่อสารมุมมองของเขาบ้าง ผลงานของกายมักเป็นภาพถ่ายพอร์ตเทรตของเพื่อนหรือคนวันเดียวกัน เรื่องทัศนคติที่เปลี่ยนไปตามวัย จึงเป็นเรื่องที่เขาสนใจ

พออ่านเรื่องนี้จบแล้วรู้สึกอย่าง? อ่านเรื่องนี้แล้วรู้สึกว่า ดีใจที่ได้เลือกใช้ชีวิตในรูปแบบของตัวเองและซื่อสัตย์ต่อความคิด ความรู้สึกของตัวเอง

มีวิธีคิดในการตีความออกมาเป็นภาพอย่างไร ? วิธีคิดในการตีความมาจากประโยคสุดท้ายของบทความ ‘ถ้าเส้นผมสีชมพูของคุณยังมีความหมายจงอย่าโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่คุณเกลียดในทุกกรณี’ จึงแสดงออกผ่านวัยรุ่นสองคนที่มีการเปลี่ยนแปลงในเสื้อผ้าท่าทางและ attitude แต่ก็ยังคงมีเส้นผมสีชมพูอยู่ตั้งแต่ภาพแรกจนถึงภาพสุดท้าย เสื้อผ้าและท่าทางบ่งบอกการถึงการเปลี่ยนแปลงของ วัย และ attitude ที่โตขึ้นแต่ยังคงความเป็นตัวเองเหมือนเดิม ผ่านรูปแบบภาพถ่าย fashion


コメント


bottom of page