top of page
  • Black Facebook Icon
  • Instagram

Welcome to the world where truth doesn't hurt

ทำไม Club Culture จึงเป็นตัวแทนรุ่นเด็กปาร์ตี้ยุคปี 2000

กาลครั้งหนึ่งเมื่อสิบกว่าปีมาแล้ว ยังมีคลับแห่งหนึ่งตั้งอยู่บนถนนศรีอยุธยา ตรงตีนสะพานข้ามแยกพญาไท คลับแห่งนั้นมีชื่อว่า คลับคัลเจอร์ (Club Culture)


หากวัดคือศูนย์รวมศรัทธาของพุทธศาสนิกชน ที่ผู้มีศีลพากันอุ้มลูกจูงหลาน นุ่งซิ่นติดปิ่นโตไปฟังธรรมถวายเพลวันอาทิตย์ คลับคัลเจอร์ก็เหมือนวิหารคนบาปกลางยุค 2000 ที่ทุกคืนศุกร์-เสาร์ ชายหนุ่มหญิงสาวผู้ไม่เคยตื่นทันฟังระฆังเพล จะชี้ชวนกันไปแหกศีลมันทุกข้อ ไม่เว้นแม้แต่ข้อแรก เพราะคาเฟ่ด้านหน้ายุงชุมมากช่วงหน้าฝน

 

เรื่อง: โน้ต พงษ์สรวง @dudesweetworld

 

มันไม่ใช่คลับที่คนแน่นที่สุด หรือเป็นคลับคู่บ้านคู่เมืองอย่าง Route 66 แต่มันเป็นคลับสำคัญของซีนปาร์ตี้อินดี้ในยุค 2000 เป็นแหล่งรวมตัวของวัยรุ่นนอกกระแส ซึ่งที่นั่น พวกเขาจะเต้นเร่าราวอยู่ในกระทะทองแดงกับดนตรีอันเดอร์กราวด์และดนตรีที่ไม่ได้ฮิตในกระแสหลัก เมามาย โวยวาย พวกเขาไม่ถ่ายรูปเพราะประสิทธิภาพกล้องมือถือยังไม่อำนวยภาพให้สวยได้ พวกเขาไม่เซลฟี่ เพราะตอนนั้นมันเป็นพฤติกรรมประหลาด และโทรศัพท์เท่สุดในยุคนั้นคือ BlackBerry ที่ถ่ายรูปไม่เคยสวย


คลับคัลเจอร์มีอายุในช่วงปี 2007-2010 แต่สำหรับคนในซีนไนท์ไลฟ์กรุงเทพฯ จะนับรวมช่วงอัสตร้า (Club Astra, 2004-2007) ไปด้วย เพราะเจ้าของคลับทั้งสองก็คือพี่ตุ๋ยและพี่แอมเหมือนกัน พอทั้งคู่ปิดอัสตราที่ RCA ก็ไปเปิดคลับคัลเจอร์ที่ถนนศรีอยุธยา คลับคัลเจอร์ก็คือภาคสองของอัสตร้า

Astra, RCA, 2005
Club Culture, 2007

การตกแต่งภายในของคลับคัลเจอร์ก็ยังคล้ายอุโบสถอีกด้วย เพราะตึกนี้เคยเป็นโรงละครไทยชื่อ “สุพรรณหงส์” แล้วตอนที่พี่ตุ๋ยพี่แอมเข้ามาทำต่อ ทั้งคู่ก็พยายามรักษาบุคลิกเดิมของพื้นที่ไว้ เช่นเพดานสูงที่เจาะแล้วล้อมกรอบแบบย่อมุมไม้สิบสอง ไม้ฉลุลายหน้ากระดานประดับขื่อสีทอง หลังหลังบู๊ตดีเจก็มีไม้แกะลายลายเครือเถาแผ่นใหญ่ปิดทองคำเปลวอร่าม เขาทุบบริเวณที่เคยเป็นเวทีแล้วเปลี่ยนเป็นบาร์ และเมื่อต้องก่อบู๊ตดีเจ เขาก็เลือกใช้กระเบื้องสีทองปูทับแล้วติดกระจกพ่นทรายโลโก้ร้าน โดยรวมนี่จึงเป็นเธคที่มีความมลังเมลือง แต่บางคนก็บอกว่ามันไทยมากจนกลัวผี

แล้วถ้าย้อนหลังกลับไปอีกถึงยุคสงครามเวียตนาม ก่อนจะเป็นโรงละครสุพรรณหงส์ ที่แห่งนี้เคยเป็นไนท์คลับชื่อ “โซนีมา” และนั่นเป็นสาเหตุให้คลับคัลเจอร์มีใบประกอบกิจการ “คลับ” ไม่ใช่แค่ “ผับ” ได้ เพราะใช้ใบอนุญาตประเภทที่ 1 ที่โซนีมาทำไว้ (สถานเต้นรำ รำวง หรือรองแง็ง ตาม พ.ร.บ. ปี 2509) ซึ่งหลังปี 2000 ใบอนุญาตประเภทนี้ขอได้ยากมากๆ ปัจจุบันก็ยังยากมากอยู่

ทางเข้าที่เคยเป็นลานกว้าง ตอนนี้กั้นเป็นรั้วคอนโด
ซอยด้านข้างคลับคัลเจอร์ที่เคยเป็นร้านข้าวต้มและคาราโอเกะไว้เผาหัว
ใครจะไปรู้ ว่าครั้งหนึ่งที่นี่คือคลับสำคัญของวัยรุ่น

อาคารคลับคัลเจอร์ถูกทุบลงในปี 2012 โรงพยาบาลเดชาที่อยู่ข้างๆ ก็ทุบกลายเป็นที่โล่งแล้วเช่นกัน ปัจจุบันที่ตรงคลับคัลเจอร์กลายเป็นคอนโดโนเบิล ส่วนคลับคัลเจอร์เคยย้ายไปที่ถนนราชดำเนินเมื่อปี 2010 แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เปิดได้ไม่นานก็ปิด เพราะสถานที่ๆ เป็นตึกแถวสามคูหาทุบต่อกันหลังนั้น ทั้งฝุ่นเยอะ ไปยาก จอดรถลำบาก ห้องน้ำไม่ดี เทียบไม่ได้เลยกับบรรยากาศโอ่อ่าที่ถนนศรีอยุธยา และยังอยู่ใกล้ BTS พญาไท

คลับคัลเจอร์เมื่อย้ายไปที่ใหม่ในตรอกบนถนนราชดำเนิน (2010)

การที่มันมีชีวิตอยู่ในช่วงเริ่มต้นโซเชี่ยลมีเดีย จะหาหลักฐานภาพถ่ายของคลับคัลเจอร์ในอินเตอร์เน็ตจึงออกจะยากสักหน่อย แต่ควรมีใครสักคนบันทึกไว้ในหนังสือวัฒนธรรมการปาร์ตี้ ถ้าจะมีใครสักคนเห็นว่าปาร์ตี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าพอให้เขียนถึง คลับคัลเจอร์เป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมวัยรุ่นนอกกระแสตอนนั้น ที่ตอนนี้พวกเขาอยู่ในวัยสามสิบกันหมดแล้ว หลายคนก็กลายเป็นคนสำคัญในแวดวงออกแบบ ดนตรี และศิลปะ คนที่เป็นเด็กปาร์ตี้ในยุคสองพัน จะรู้ทันทีว่า “ยุคคลับคัลเจอร์” มันคือซีนไหน และมันหมายถึงอะไรบ้าง

มันหมายถึงอะไรบ้าง? มันหมายถึงยุคปลดแอกดนตรีจากค่ายใหญ่และสื่อใหญ่ ที่ชี้นำกำหนดรสนิยมคนฟังเพลงมาเนิ่นนาน เป็นครั้งแรกที่อำนาจการเลือกเสพดนตรีอยู่ที่ปลายนิ้วของแต่ละคนเอง สิ่งนี้ทำให้ไนท์ไลฟ์เกิดความหลากหลายของดนตรีอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เกิดโปรโมเตอร์อิสระหลากสไตล์ ในช่วงปี 2005-2010 กรุงเทพฯ มีกลุ่มจัดปาร์ตี้กว่าสี่สิบกลุ่ม ครอบคลุมทุกแนวดนตรี และคลับคัลเจอร์เป็นสนามสำคัญให้ดีเจรุ่นใหม่ได้ลองของ การมีชื่ออัสตร้าหรือคลับคัลเจอร์อยู่ในลิสต์สถานที่ๆ เคยเปิดเพลงจะช่วยทำให้ดูเป็นดีเจมืออาชีพขึ้น

พี่ตุ๋ย
พี่แอม (เสื้อสีม่วง)

ดีเจมืออาชีพตอนนี้หลายคนก็เริ่มต้นช่วงนี้ พี่ตุ๋ยและพี่แอมเป็นเจ้าของคลับไม่กี่คนในยุคนั้น ที่เชื่อในแพสชั่นดีเจรุ่นใหม่ไร้ชื่อเสียง ทั้งสองคนยอมให้เด็กๆ จัดปาร์ตี้ร้านตัวเอง แม้จะเป็นปาร์ตี้ที่ไม่เล่นเพลงฮิตซึ่งจะดึงลูกค้าได้ง่ายกว่า


ในจำนวนทีมโปรโมเตอร์ทั่วกรุงเทพฯ กว่าสี่สิบทีมอย่างที่บอก ประมาณสิบทีมในนั้นมีอัสตร้าและคลับคัลเจอร์เป็นบ้านประจำ Dudesweet ก็เป็นหนึ่งในนั้น พวกรุ่นเดียวกันก็มีปาร์ตี้บริติชร็อคอย่าง Club Soma, ปาร์ตี้ชาวร็อคขี้เมา Happy Alone, ส่วนสายเพลงแด๊นซ์และอิเล็คโทรตื๊ดต๊าดก็เช่น SUPERRZAAAP!, CMYK, Special Party ที่มีกลุ่มคนแต่งตัวลวดลายกราฟิกสีแสบตาสไตล์ Nu-Rave ที่ฮิตอยู่พักใหญ่ เช่นเดียวกับปาร์ตี้ชื่อ Dress Code ที่มีธีมแต่งตัวและธีมการแต่งสถานที่เวอร์วังทุกครั้ง

สำหรับดีเจ ––ยุคคลับคัลเจอร์หมายถึงยุคของการหอบแฟ้มซีดีไปเปิดเพลง เพราะยังไม่มีอุปกรณ์ดีเจรุ่นไหนที่เสียบแฟลชไดร์ฟได้ คืนหนึ่งอาจต้องขนไปเผื่อเป็นร้อยแผ่น แต่ได้ใช้แค่ไม่ถึงครึ่ง และมันคือยุคที่การเป็นปาร์ตี้โปรโมเตอร์คือการต้องออกไปยืนแจกใบปลิวตามถนน และฝากวางตามร้านซีดี ร้านเสื้อผ้า หรือร้านอะไรก็ได้ที่เขาจะอนุญาตให้วาง ส่วนในโลกออนไลน์ ที่เดียวที่เหมาะจะโปรโมทปาร์ตี้เฉพาะกลุ่มแบบนี้คือ MySpace โซเชี่ยลมีเดียอันแรกและอันสุดท้ายที่ทำให้คน connect กันด้วยดนตรีจริงๆ

DJ Marmosets ปัจจุบันเป็น music director ที่ BEAM Club
DJ Pichy ปัจจุบันเป็นเจ้าของ Quay Records
วัยรุ่นในภาพนี้ปัจจุบันเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย, ผู้กำกับโฆษณา, กราฟิกดีไซเนอร์, Head Designer ของ Greyhound

บรรยากาศดนตรียุคปีสองพัน


ช่วงปี 2004 ดนตรีฮิปฮอปที่มาแรงตลอดกาล ยังต้องหลีกทางให้ดนตรีโพสต์พังค์แบบ The Strokes, Yeah Yeah Yeahs, Franz Ferdinand หรือ Arctic Monkeys ได้มาบ้าง แล้วพอปี 2007 ที่บริตนีย์ สเปียรส์โกนหัว กระแสดนตรีอิเล็คโทรเสียงสังเคราะห์ติ๊ดๆ ต๊อดๆ ก็เริ่มใหญ่ขึ้น และกลายเป็นแมสเมื่อ Justice คู่ดูโอจากปารีสปล่อยเพลง D.A.N.C.E. ที่ปีนั้นมันกลายเป็นเพลงฮิตของทุกคลับในโลก อานิสงส์ส่งให้ค่ายเพลงฝรั่งเศส Ed Banger และ Kitsuné กลายเป็นผู้นำเทร็นด์ซาวด์สังเคราะห์แร่ดๆ ที่มากับกราฟิกที่ป๊อปๆ พวกเขาเป็นกลุ่มคนทำเพลงรุ่นใหม่ที่บุกเบิกวิธีใช้อินเตอร์เน็ตนำเสนอผลงานจนฮิตแบบไม่ต้องง้อสื่อหลักอีกต่อไป

ต่อมาในปี 2007-2010 เมื่อระบบอินเตอร์เน็ตเริ่มเสถียรแล้ว ช่องทางการค้นเรฟเฟอเรนซ์ดนตรีและช่องทางเผยแพร่ผลงานก็ง่ายดาย บวกกับอุปกรณ์ทำเพลงที่หาง่ายขึ้น ทุกอย่างส่งให้ดนตรีอิเล็คโทรฮิตแบบสาหัส ขนาดที่ว่าถ้าใครทำเพลงร็อคช่วงปลายยุค 2000 แล้วไม่มีเสียงสังเคราะห์ผสมบ้าง ก็จะฟังดูเป็นร็อคเชยๆ ไปเลย ยุคนั้นยังเป็นจุดเริ่มต้นของดีเจซูเปอร์สตาร์ล็อตใหม่ ที่ค่าตัวดีเจคนเดียว อาจแพงกว่าค่าตัววงร็อคหน้าใหม่สามวงรวมกัน

และยุคนี้นี่เอง ที่เป็นจุดเริ่มต้นของ EDM เพียงแต่ซาวด์อิเล็คโทรยุค 2000 มันยังไม่ยำใหญ่ใส่ทุกอย่างหนักเท่า EDM แบบนี้ แต่ Calvin Harris, Steve Aoki ก็เริ่มต้นจากช่วงกลางยุค 2000

 

Legacy

ตอนนี้คือวันที่ 2 เดือนพฤศจิกายน 2018 อีก 14 เดือนเราก็จะสิ้นยุค 10s กันแล้ว แต่เมื่อมองย้อนกลับมา เราก็จะพูดได้ว่า EDM คือซาวด์แห่งยุค 10s เหมือนที่พูดได้ว่ากรันจ์และอัลเทอเนทีฟคือซาวด์แห่งยุค 90s

แต่ให้นึกว่าอะไรคือซาวด์แห่งยุค 2000 นี่นึกไม่ออกจริงๆ เพราะมันเป็นยุคงงๆ ที่มีซาวด์ทุกอย่าง มีของเล่นใหม่เยอะเสียจนตกลงกันไม่ได้ว่าจะยึดเครื่องดนตรีชิ้นไหนเป็นหลัก เรียกว่าเป็นยุคแห่งการทดลองเยอะแยะเสียจนเสร็จไม่ทันในทศวรรษเดียว ผลคือมันกลายเป็นยุคที่ไม่มีอะไรโดดเด่นให้นักดนตรีในอนาคตใช้เป็นเรฟเฟอเรนซ์ในการทำเพลง

แฟชั่นยุคคลับคัลเจอร์

ไม่ว่าจะยุคไหน ถ้าอยากเห็นแฟชั่นที่แท้จริงให้ไปดูในคลับ ในปาร์ตี้ ไม่ใช่ในแฟชั่นโชว์ ในยุค 2000 คลับคัลเจอร์คือโชว์เคสของวัยรุ่นแต่งตัวฉูดฉาดแห่งกรุงเทพมหานคร แม้ตอนนั้นข้าวของจะยังไม่หลากหลาย ร้านไอจีก็ยังไม่มี แต่พวกเขาก็ไปไวกว่าเทร็นด์ที่นิตยสารแฟชั่นเขียนถึงประมาณครึ่งปี คลับคัลเจอร์มีแฟชั่นสนุกๆ ให้ดูเยอะ; เด็กนักเรียนนอกกลับมาช่วงซัมเมอร์พร้อมสไตล์แฟชั่นที่ยังไม่เข้าไทย บางทีดีไซน์เนอร์แบรนด์ไทยก็ใส่ผลงานของตัวเองจากคอลเล็คที่ยังไม่วางขายจนกว่าจะอีก 6 เดือนข้างหน้ามาเต้นอยู่บนฟลอร์ และเป็นเรื่องปกติมาก ที่จะเจอช่างภาพ นางแบบ สไตล์ลิสต์ หรือนักดนตรีหน้าใหม่ที่คลับคัลเจอร์


คืนวันพฤหัสของคลับคัลเจอร์เป็นคืน Uni Night ที่ลดราคาสำหรับนักศึกษา ส่วนใหญ่ที่มาก็จะเป็นนักศึกษาออกแบบและศิลปะ พวกเขาแต่งตัวกันเหมือนเอาชุดงานเรียนที่อาจารย์ไม่ให้ผ่านเพราะบ้าเกินไปมาใส่กันที่นี่

คำว่า quirky (เปิ่น) bold (เบิ้ม) และ girly (หวานแหวว) น่าจะเป็นนิยามที่เหมาะกับแฟชั่นช่วงนั้น แว่นตาเฟรมหนา เครื่องประดับชิ้นเป้งๆ เสื้อผ้าสีฉูดฉาดเป็นสิ่งที่เห็นได้บ่อยๆ ซึ่งก็เป็นไปในแนวทางเดียวกับซาวด์ดนตรีฉูดฉาดพลาสติกที่ดีเจยุคนั้นชอบเล่น


แต่ก็เช่นเดียวกับดนตรี–– ยุค 2000 เป็นยุคที่ไม่มีซิลลูเอ็ตแฟชั่นที่ชัดเจนขนาดเอามารีไซเคิลได้ เมื่อแฟชั่นก็ไม่ชัด ดนตรีก็ไม่ชัดแบบนี้ ถ้าจะเรียกว่ายุค 2000 เป็น “Lost Generation” -เจเนอเรชั่นที่ถูกลืม ก็ไม่รู้สึกผิดเท่าไหร่

 

ผู้คน


เป็นพวกบ้าๆ บอๆ เสียส่วนใหญ่ ถ้าใครสักคนจะปีนขึ้นไปเต้นรั่วๆ บนลำโพงก็ไม่ใช่เรื่องน่าอายเพราะไม่มีใครสนใจ คลับคัลเจอร์เป็นที่ๆ คนดื่มเหล้าหนัก เต้นแรง แต่แปลกที่ไม่มีเหตุการณ์ทะเลาะวิวาท อาจเพราะมันไม่มีโซน V.I.P. ไว้ให้ใครต้องรู้สึกเหนือหรือด้อยกว่าใคร การตีกันส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นง่ายกว่าในสถานที่ๆ มีการแบ่งชนชั้นวรรณะ แต่ที่นี่ความจนความรวยไม่ใช่เรื่องที่ใครจะใส่ใจ มันไม่ใช่คลับประเภทที่ไปแล้วคนจะทักว่า "เที่ยวหรู เดี๋ยวนี้ไฮโซจัง" แต่จะเป็น–– "เป็นไง พังมั้ยเมื่อคืน" เสียมากกว่า 

สไตล์ดนตรีเป็นตัวกสรีนคนแบบเดียวกันให้มาอยู่ในที่เดียวกัน และเพราะการไม่ต้องวุ่นวายกับมือถือเวลาอยู่ในปาร์ตี้ เลยทำให้เรามีเวลาไปวุ่นวายกับคนอื่นแทน เมื่อไม่ได้ก้มหน้าตลอดเวลา เราก็จะเห็นหน้าและคุ้นหน้ากัน ประเดี๋ยวก็กล้าทักทายกันไปเอง เด็กในยุคคลับคัลเจอร์จะคุ้นหน้ากันหมด


แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในยุคนั้น คือเป็นยุคที่ไนท์ไลฟ์มีความนานาชาติกว่านี้ กล่าวคือ เป็นเรื่องปกติมากในทุกคลับ ที่กลุ่มเที่ยวกลุ่มหนึ่งจะมีทั้งไทยฝรั่งกอดคอปาร์ตี้หัวราน้ำด้วยกัน แต่ตอนนี้ที่ diversity เป็นประเด็นที่ทุกคนพูดถึง สังคมกลุ่ม expat กับกลุ่มคนไทย กลับเป็นแบบต่างคนต่างอยู่ ฝรั่งคบหาแต่กับฝรั่งด้วยกัน ส่วนคนไทยก็อยู่กับคนไทยด้วยกัน ไม่รู้ทำไม

 

ปาร์ตี้เป็นรูปแบบการสื่อสารที่มนุษย์ใช้เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์คนแบบเดียวกัน ตั้งแต่คนเรายังเป็นมนุษย์ถ้ำเต้นรอบกองไฟ วัฒนาการเป็นมนุษย์กระเด้าหน้าเวทีหมอลำซิ่งลานวัด ในแต่ละยุคสมัยจะมีคลับที่เป็นตัวแทนการปาร์ตี้ของวัยรุ่นแต่ละยุค ในกรุงเทพฯ ยุค 80s เรามี The Palace ยุค 90s มี Deeper สีลมซอยสี่ ยุคสองพันมีคลับคัลเจอร์และเป็นยุคที่เที่ยวสนุก แม้เราจะพูดว่ามันเป็นยุคที่ไม่มีสไตล์ชัดเจนให้นึกถึงได้ชัดแจ้ง แต่มันก็ยังมีคลับคัลเจอร์และอัสตร้าให้วัยรุ่นนอกกระแสยุคนั้น ได้ระลึกภาพความทรงจำเดียวกัน


คำถามคือ–– ยุค 10s ที่กำลังจะจบลงนี้ มีคลับไหนเป็นตัวแทนรุ่น?

 

[ADVERTISEMENT]

Dudesweet Party "Generation Myspace"

Music from 2000-2010 Friday 19 August, 7pm. onwards at Mischa Cheap, Khaosan Road.


bottom of page