top of page
  • Black Facebook Icon
  • Instagram

Welcome to the world where truth doesn't hurt

Bitter Sweet Symphony เพลงยอดฮิตยุค 90s ที่เจ้าของไม่ได้เงินสักบาทเพราะโดนจ่ายรอบวง



Bitter Sweet Symphony ของวง The Verve เป็นหนึ่งในเพลงที่ดังที่สุดแห่งยุค 90s เพลงนี้ขายซิงเกิ้ลได้ 285,000 แผ่น และอัลบั้ม Urban Hymns ขายได้ 1.42 ล้านแผ่น แต่ด้วยปัญหาการฟ้องร้องลิขสิทธิ์ทำให้วงไม่เคยได้เงินจากเพลงนี้เลยสักบาทตลอดมา 20 ปี แต่เพิ่งจะมาได้ก็เมื่อสี่ปีที่แล้วนี้เอง


ปัญหาเกิดจากเมโลดี้ที่เป็นคาแร็คเตอร์หลักของเพลงนี้ เป็นการแซมเปิ้ล (การใช้เพลงบางส่วน) ที่วงวง Andrew Oldham Orchestra แต่งขึ้นเพื่อใช้กับเพลง ‘The Last Time’ ของ Rolling Stones ในปี 1967




The Verve ขอลิขสิทธ์ทางค่าย DECCA ที่เป็นทั้งค่ายของ Rolling Stones และวงวงออเครสตร้าที่ว่า ซี่งทางค่าย Decca ก็อนุญาต แต่มีข้อแม้ว่าให้ก็อปไลน์เมโลดี้ไปใช้ได้แค่ไม่เกินห้าโน้ต แลกกับรายได้ครึ่งหนึ่งที่ The Verve จะได้จากยอดขายเพลงนี้


แล้วพอเพลงนี้ออกมาในปี 1997 แล้วฮิตระเบิดระเบ้อไปทั่วโลกจนขึ้นอันดับ 1 ในอังกฤษ วง The Verve ก็โดนกินโต๊ะจากหลายภาคส่วน จนไม่เคยได้เงินจากเพลงฮิตที่สุดของวงตัวเองเพลงนี้เลย


ในปี 1997 The Verve กลายเป็นเจ้ามือที่ต้องจ่ายรอบวง ดังนี้


จ่ายต่อที่ 1: ค่าย DECCA กินรายได้จากการขายแผ่นเพลงนี้ไปครึ่งนึงอย่างที่เล่า


จ่ายต่อที่ 2: อัลเลน ไคลน์ เจ้าของค่าย ABKCO ผู้ดูแลค่าเผยแพร่ของ Rolling Stones ช่วงยุคยุค 70s (การเผยแพร่-publishing หมายถึง การเอาไปทำคาราโอเกะ, ไปใช้ในหนัง, ลง YouTube หรือ Spotify) บอกว่าวงใช้จำนวนโน้ตเกินข้อตกลง แล้วท่อนนี้ถือเป็นเพลงของ Rolling Stones มากกว่าของวงออเคราตร้าด้วยซ้ำ จึงถือเป็นการละเมิดเพลงของ Rolling Stones ที่ข้าดูแล เอ็งก็ต้องจ่ายให้ข้าด้วย


สุดท้ายวงต้องยกค่าเผยแพร่ให้ค่าย ABKCO ของอัลเลน และต้องใส่ชื่อ มิค แจ็คเกอร์ กับ คีธ ริชาร์ดว่าเป็นผู้ร่วมแต่งเพลงนี้ด้วย ซึ่งริชาร์ด แอชครอฟต์ นักร้องนำ The Verve เคยออกมาเหน็บไปทีนึงเมื่อตอนแพ้คดีใหม่ๆ ว่า โอ้โห นี่เป็นเพลงที่ดีที่สุดที่มิคกับคีธเคยแต่งในรอบยี่สิบปีเลยนะเนี่ย นิตยสารบิลบอร์ดคำนวนคร่าวๆ ว่า ปี 1997 ถึงปี 2019 เพลงนี้น่าจะได้ค่าเผยแพร่ไปประมาณ 5 ล้านเหรียญ (180 ล้านบาทถ้าคำนวนที่ค่าเงินปัจจุบัน)


จ่ายต่อที่ 3: ในปี 1997 เช่นกัน เมื่อนายแอนดรู โอลด์แฮม ผู้แต่งออเครสต้าเพลงนี้ฟ้องเป็นการส่วนตัวในฐานะคนประพันธ์เพลง ว่านี่มึงจ่ายให้ DECCA จ่ายให้ ABKCO แล้วไหนของกูอ่ะ กูเป็นคนแต่งท่อนที่มึงใช้เองกะมือนะเว้ย กูนี่แหละเจ้าของท่อนนั้นตัวจริง วงก็โดนเขา



แต่ไม่เคยมีรายงานว่าสุดท้ายต้องจ่ายจริงเท่าไหร่


สรุปว่า เงินที่ขายแผ่นได้ก็ต้องยกให้เขา / เงินที่จะได้จากสป็อตติฟายหรือที่ถูกเอาไปใช้ในหนังก็ต้องยกให้เขา / แล้วยังต้องจ่ายเปล่าให้คนแต่งออเครสต้าอีก


แม้ทุกอย่างจะดูข้องเกี่ยวกับวง Rolling Stones แต่ริชาร์ดบอกว่าไม่ได้เกี่ยวอะไรกับตัวสมาชิกวง Rolling Stones เลย


แล้วในที่สุด หลังจาก 20 ปีผ่านไป คือเมื่อปี 2019 (สิบปีหลังการตายของอัลเลน ไคล์ เจ้าของค่าย ABKCO) ทางมิค แจ็คเกอร์, คีธ ริชาร์ด และลูกชายของอัลเลน ก็จัดการเคลียร์ลิขสิทธิ์เพลงนี้คืนให้ The Verve ไปทั้งหมด เป็นการปลดเปลื้องพันธนาการให้กับเพลง Bitter Sweet Symphony


เมื่อทุกอย่างจบลง ริชาร์ดให้สัมภาษณ์กับ Consequence of Sound ว่า “ผมจะมาทวงเงินผมคืน เงินที่ไม่รู้ว่าโดนใครขโมยไปไม่รู้กี่ล้านเหรียญตอนปี 1997 แล้วตอนนี้ไอ้คนขโมยก็ยังใช้เงินนั้นอยู่”


จึงเป็นกรณีศึกษาสำหรับนักดนตรีทุกท่านว่า หาจะใช้ sample ท่อนไหนของเพลงคนอื่น ก็สืบสาวราวลึกลงไปให้ถึงรากของเพลงนั้นให้ดีๆ ว่าต้องไปเคลียร์กับใครบ้าง เพราะบางทีคุณไม่มีทางรู้หรอก ว่าเพลงที่คุณทำมันจะกลายเป็นเพลงฮิตถล่มทลายทั่วโลกหรือเปล่า ไม่งั้นอาจโดนจ่ายหลายต่อเหมือนเพลง Bitter Sweet Symphony เพลงนี้ ที่แปลเป็นไทยได้ว่า “ซิมโฟนี่อันขื่นขม”

 

Opmerkingen


bottom of page