top of page
  • Black Facebook Icon
  • Instagram

Welcome to the world where truth doesn't hurt

หายหน้าไป 10 ปี "อ้วน อาร์มแชร์" กลับมาพร้อมศิลปะภาพถ่ายสะท้อน passion ที่เขาไปตามหา


ตรอกเล็กลึกลับข้างร้านบราวน์ชูการ์บนถนนพระสุเมรุ มีลุงขายน้ำอัดลมนั่งก้มหน้าอ่านหนังสือพิมพ์ข้างตู้แช่ บ่ายสามของวันพุธอากาศร้อนแบบนี้ ไม่ค่อยมีใครมาเดินด้อมอยู่บนถนนเส้นนี้มากนัก แกเงยขึ้นมามองผมที่ชะเง้อชะแง้อยู่หน้าตรอก ด้วยสายตาอยากรู้ว่าจะมาซื้อน้ำหรือมาหาใคร ผมมาด้วยเหตุผลทั้งสองข้อ


อ๋อ ที่หยู่ชั้งฮ่าช่ายมั้ย มีๆๆแกตอบพลางคุ้ยหาเหรียญห้าในกล่องพลาสติกสีแดงมาทอนค่าเป๊ปซี่ "คนที่อยู่ชั้นห้า” ที่ผมถามถึงคือ อ้วน-อธิษว์ ศรสงคราม อดีตสมาชิกวงอาร์มแชร์ ที่เพิ่งย้ายกลับมาเมืองไทย หลังจากไปทำงานและเรียนต่อด้านการถ่ายภาพ ที่สถาบันศิลปะชั้นนำของเยอรมันนีมาสิบปีปะตูโน้ง แกชี้ไปที่ท้ายตรอก


สถาบันศิลปะดึสเซลดอร์ฟ (Kunstakademie Düsseldorf) มีอดีตย้อนไปเกือบสองร้อยปี ผลิตศิลปินระดับโลกมากมาย ตั้งแต่ยะชิโตะโมะ นะระ (Yoshimoto Nara) ศิลปินป๊อปอาร์ตที่เราคุ้นกันดี หรือศิลปินร่วมสมัยคนสำคัญเช่น แกร์ฮาร์ด ริกเตอร์ (Gerhard Richter), โจเซฟ บอยส์ (Joseph Beuys) ศิลปินหัวหอกลัทธิบาเฮาส์อย่างพอล คลี (Paul Klee) ก็เคยเป็นอาจารย์อยู่ที่นี่หลังจากบาเฮาส์โดนนาซีสั่งปิด อ้วนเป็นคนไทยคนแรกที่จบจากสถาบันนี้ ที่ปีหนึ่งรับเด็กไม่กี่สิบคน เมื่อปลายทีที่แล้ว หลังกลับมาฐาวรได้ไม่กี่เดือน เขาแสดงงานนิทรรศการครั้งแรกในไทย กับโครงการ Brandnew 2016 Art Project ที่ Gallery VER นิทรรศการของเขาชื่อ 'Mind the Monsoon'

Atit Sornsongkram "Untitled", 2015

นาทีต่อมาผมก็พ้นประตูไม้ชั้นล่าง ขึ้นมาอยู่ที่ชั้นห้าของอาคารพาณิชย์ยุคเก่าที่อ้วนใช้เป็นห้องครัว ใครสักคนเคยบอกว่าผมว่า ถ้าอยากรู้ว่าเจ้าของบ้านเป็นคนอย่างไรให้ดูห้องครัว และครัวห้องนี้ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์มินิมัล ข้าวของมีเท่าที่จำเป็น ยามบ่ายแบบนี้บรรยากาศในห้องสงบและสว่างสไว พ้นชายคาห้องครัวเป็นระเบียงมีกระถางต้นไม้วางเรียงราย เลยออกไปคือวิวอาคารเตี้ยๆ ของย่านกรุงเก่า นี่คงเป็นห้องครัวของคนสุขุม ไม่ชอบพูดมาก --ผมเดาเอา และคงเคยอยู่เยอรมันนีหลายปี ข้อหลังนี้เป็นความจริง

"มู้ดของศิลปะเยอรมันจะแห้งๆ เกือบจะมีเหตุผล แต่ไม่มีเหตุผล" อ้วนตอบคำถามว่าลักษณะเด่นของงานภาพถ่ายเยอรมันเป็นอย่างไร เสียงของเขานุ่มทุ้มเหมาะจะเป็นสมาชิกวงอาร์มแชร์ "เราว่าคนเยอรมันเขาคิดลึก ค่อนข้างมีความปรัชญา" อ้วน อาร์มแชร์วันนี้ดูเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาก ถ้าเทียบกับไอ้หนุ่มเซอร์ผมรากไทรคนนั้น ที่ยืนกดคีย์บอร์ดมือเดียวเขินๆ ใน MV เพลง "รึเปล่า"

Atit Sornsongkram "Stars", 2015

เขาเลือกไปดึสเซลดอร์ฟเพราะชื่นชมตระกูลงานภาพถ่ายของ แบร์น และ ฮิลลา เบชเชอร์ (Bernd & Hilla Becher) ศิลปินดูโอจากเมืองนั้น ทั้งคู่ทำงานแนว "Objective Photography" หรืองานภาพถ่ายที่ไม่มีความคิดเห็นใดๆ แค่ทำหน้าที่บันทึกภาพอย่างทื่อมะลื่อ เหมือนเจตนาดั้งเดิมที่วิทยาศาสตร์คิดค้นมันขึ้นมา แต่ศิลปินที่เขาปลื้มและเป็นศิษย์เก่าของที่นี่ด้วย คือโธมัส รุฟ (Thomas Ruff) ที่มีงานชิ้นแจ้งเกิดตอนกลางยุค 80s เป็นภาพถ่ายบุคคลสไตล์รูปติดบัตร แล้วจัดแสดงด้วยการเอามาขยายขนาดเท่ากำแพงเพื่อท้าทายผู้ดู ว่าเมื่อเห็นกันละเอียดถึงทุกรูขุมขนเพียงนี้แล้ว คุณยังคิดว่าภาพถ่ายสามารถสะท้อนเรื่องราวและความจริงได้อยู่หรือไม่?

Thomas Ruff
Bernd and Hilla Becher "Typology Watertowers, 1967-1997"

ภาพถ่ายสะท้อนความจริงได้หรือไม่ ควรเป็นคำถามที่สำคัญมากในยุคสมัยของพวกเรา ที่การถ่ายภาพทำได้ง่ายดายเหมือนหายใจ และทุกวันมีภาพถ่ายหลั่งไหลมายุยงให้เราด่วนตัดสินเรื่องราวโดยไม่รู้ตัว 

"ภาพถ่ายคือเครื่องมือบันทึกภาพ แต่เราสามารถตั้งคำถามต่อไปได้ ว่าการบันทึกภาพนี้มันเป็นอย่างไร มันสามารถเชื่อถือได้ขนาดไหน" อ้วนบอก "จริงๆ แล้วสื่อทุกอย่าง หรือแม้แต่การพูดก็ตาม มันมีความ propaganda (ชวนเชื่อ) มีความโน้มน้าวจิตใจ แล้วสิ่งที่ผมตั้งคำถามเกี่ยวกับภาพถ่าย ก็คือมันสามารถเชื่อได้ขนาดไหน? แต่ตอนนี้ [สิ่งที่กำลังพยายามทำ] มันเหนือกว่าเชื่อได้ขนาดไหนไปแล้ว แต่เป็น--เราสามารถทำให้การรับรู้ของคนเมื่อดูภาพ มันเปลี่ยนไปได้ขนาดไหน"


ผลงานของ อธิษว์ ศรสงคราม เป็นงานภาพถ่ายนามธรรม ที่มองแว่บแรก มิติและแสงเงาชวนให้สับสนว่าเป็นภาพวาดด้วยคอมพิวเตอร์ แต่เมื่อตั้งใจดูสักหน่อย ก็จะพบว่าความเข้าใจผิดนั้น เกิดจากการจัดวางองค์ประกอบอย่างรอบคอบของศิลปิน แสงเงาที่ทิศทางฝืนธรรมชาติหรือพื้นผิวบางอย่าง ก็เกิดจากการถ่ายภาพจากภาพถ่ายอีกที เช่นภาพที่มองปราดแรกเห็นเป็นกล่องสีขาว ที่จริงเป็นแค่ภาพถ่ายของกระดาษบางๆ หนึ่งแผ่น ให้รู้สึกขำตัวเองที่โดนหลอกได้ง่ายดายขนาดนี้ หลอกในหลอกเหมือนภาพลวงตาของ M.C. Escher หรือหนังเรื่อง Inception ที่แม้จะดูไปงงไป แต่ก็เพลิดเพลินกับความสงสัยของตัวเอง และไม่อยากได้ยินคำเฉลยของผู้กำกับ ชิ้นงานภาพถ่ายที่ดูเรียบง่าย ซึ่งที่จริงเกิดจากลำดับขั้นตอนการคิดที่ซับซ้อนของอ้วนเหล่านี้ พอจะทำให้ผมรู้สึกถึงการทำงานแบบดำดิ่งไปกับประเด็นที่เขาต้องการนำเสนอ ด้วยแนวคิดที่ไม่ไว้ใจ "ความจริง" ของภาพถ่าย

Atit Sornsongkram “3 Stripes”, 2015
Atit Sornsongkram "Paper", 2015

Atit Sornsongkram for Vickteerut x Federbräu


จุดยืนของเฟเดอร์บรอยคือ "Passion Für Perfektion" และความรู้สึกแบบนั้นก็ฉาบอยู่ในชิ้นงานศิลปะของอ้วนและ แป้ง-อรประพันธ์ ดีไซเนอร์ของ Vickteerut เช่นกัน แต่การนำ passion ของศิลปินต่างสาขามาเจอกันแบบนี้ เป็นความท้าทายที่อ้วนบอกว่าไม่ง่ายเลย


หลังจากส่งเสื้อผ้าของ Vickteerut ไปให้เขาที่สตูดิโอทันทีที่เสร็จโชว์ ELLE Fashion Week เขาเอาไปนั่งๆ นอนๆ ดูอยู่หลายวัน ส่วนเราก็ทำตัวขาดการติดต่อกับเขาเพื่อไม่เป็นการกดดันศิลปิน จนค่ำวันหนึ่ง ข้อความจากเขาก็เด้งขึ้นมาบนมือถือ บอกว่า "เรื่องรูปที่ออกมา พี่จะจำเสื้อผ้าไม่ได้เลยนะพี่ 555" ฟังดูเหมือนคำขู่ทรมานเหยื่อลักพาตัว ให้อ่านทวนไปกัดเล็บไป ลุ้นว่าเขาคงไม่ได้เลาะชุดออกมาเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยเพื่อถ่ายรูป

Curtains, 2017

ตอนชุดของ Vickteerut ส่งไปถึงสตูดิโอรู้สึกยังไง สวยมาก ผมชอบอะไรที่เรียบๆ อยู่แล้ว ทั้ง shape กับ form แล้วพอได้อ่านสัมภาษณ์เขาที่บอกว่า คอลเล็คชั่นนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากงานของปิกัสโซ่ ก็ยิ่งชอบ แล้วก็ชอบวัสดุที่เขาเลือกใช้ด้วย เพราะมันมีความหนัก มีความเบา และมี element ที่เป็นกราฟิก ก็เลยเลือกเอาวัสดุที่เขาใช้มาทำเป็นรูปใหม่ ทำให้บริบทของชิ้นงานมันเปลี่ยนไป

Vickteerut x Federbräu Autumn/Winter 2017

งานของอ้วนที่ผ่านมา เราไม่เคยเห็นภาพแฟชั่นหรือวัสดุทางแฟชั่นเลย ไม่มีเลย แต่วิธีตีความของผมต่อ Vickteerut ก็อย่างที่บอก ว่าผมชอบวัสดุที่เขาเลือกใช้และรูปทรงของชุด ผมก็เอาสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดมาย่อย แล้วทำเป็นรูปๆ ไป ย่อยในที่นี้คือเอามาเปลี่ยนวัสดุก่อน ด้วยการถ่ายรูปชุดแล้วพิมพ์ลงบนผ้าชนิดอื่น เพื่อเปลี่ยน texture ของ subject ที่ถ่าย ผมแค่ต้องการทดลองว่า photo บางทีมันไม่ได้มีแค่ระนาบเดียว แล้วที่ผมคิดเรื่อง material ของงาน เพราะงานผมมันก็ไม่ใช่ pure photo เหมือนการไปเดินถนนแล้วเก็บ moment  แต่มันจะมีความเป็นประติมากรรมอยู่ คือถ่ายรูปสิ่งที่เราจัดวางเอาไว้ ให้มันอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป แสงที่เปลี่ยนไป


ดังนั้นก็ไม่ได้มองมันในเรื่องของการสวมใส่เลย ไม่เลย ศูนย์เปอร์เซ็นต์

On the Floor, 2017

แฟชั่นถูกออกแบบเพื่ออยู่บนตัวคน แต่งานชุดนี้ เราไม่เห็นเรื่องของร่างกายคนเลย มีวิธีคิดยังไงให้ออกจากเรื่องร่างกายได้ มันก็ไม่ยากหรอก มันเป็นธรรมชาติของผมอยู่แล้ว สิ่งที่ผมกลัวอย่างเดียวก็คือเรื่องรูปร่างของเสื้อผ้า เพราะมันสวยมาก ทั้งเชพและรูปทรงของเขาทำออกมาสวย เราก็ไม่อยากทิ้งฟอร์มพวกนั้น แล้วเสื้อผ้ามันเล่นมากไม่ได้เดี๋ยวมันยับ ที่จริงรูปพวกนี้มีนางแบบใส่หมดเลยนะ แต่ผมตัดแขนขาของเขาออกหมด แล้วเอามาขยำรวมกัน แต่ถ้าไม่บอกก่อนว่าทำยังไง มันก็จะอ่านยากหน่อย อย่างรูปนี้ (On the Floor, 2017) เพราะมันมีซิปที่อยู่บนรอยหยักแล้วมันดูหลอกตา แต่จริงๆ ใส่อยู่บนคน แล้วถ่ายรูปเอาไปพิมพ์ลงบนผ้า

Feathers, 2017

รูปนี้เหมือนหมาเลย (Feathers, 2017) อันนี้เป็นรูปเดียวที่ไม่มีคนใส่ แล้วก็ไม่เกี่ยวกับสามรูปที่เหลือเท่าไหร่ แต่เกี่ยวกับการอ่าน เพราะมันเป็นเสื้อผ้าแต่มันดูเหมือนสัตว์ คือผมอยากเอามาเปลี่ยน context (บริบท) เวลาผมทำงาน ผมพยายามจะไม่พูดถึงเรื่องเดียว แต่พยายามให้คนดูตีความไปได้หลากหลาย อย่างรูปนี้ที่มีคลิปหนีบ (Curtains, 2017) ผมชอบวัสดุ ชอบพื้นผิว ชอบความพริ้วไหวของมัน ก็เอามาลองว่าจะใช้ทำอะไรได้บ้าง ก็ลองปริ๊นต์ใส่กระดาษ แล้วทำออกมาให้เกือบเฉลยว่าทำยังไง

The Back I, 2017

งานที่พูดเรื่องความจริง ความไม่จริงแบบนี้ ตัวศิลปินจะซื่อสัตย์กับงานตัวเองได้แค่ไหน เพราะบางทีมันก็เรื่องห่วงความสวยด้วย แล้วพอห่วงเรื่องนี้ปัญหามันตามมาอีกมากมายเลย เราจะอดใจได้ยังไง แค่ไหนถึงจะรู้ว่างานมันสมบูรณ์แล้ว หยุดได้แล้ว ถ้างานมันจบในประเด็นของมัน ไม่ต้องสวยก็ดูสวย เรื่องความสวยงามผมว่ามันทำได้ไม่ยาก ถ้าไอเดียมันแข็งแรงมากๆ ความสวยมันก็ไม่จำเป็น มันมีคำที่โปรเฟสเซอร์หลายคนชอบพูด คืออย่าทำรูปให้มัน 'ตกแต่ง' ถ้ารู้สึกว่ามันจบแล้ว ก็อย่าทำให้มันสวยเกินไป 


Passion ในการทำงานของอ้วนคืออะไร ผมพยายามหาอะไรใหม่ๆ สิ่งที่คนอื่นยังไม่เคยทำ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยากมาก มันคงต้องฟลุค เพราะเวลานี้ทุกคนทำทุกอย่างหมดแล้ว แต่ผมก็พยายามทำรูปที่มันใหม่สำหรับตัวเอง ผมก็ดูงานค่อนข้างเยอะ ก็จะรู้ว่าอะไรเคยมีมาแล้ว ซึ่งถ้าเคยมีคนทำในแง่มุมเดียวกันก็จะไม่ทำ การได้ดูงานมาเยอะๆ เราจะรู้สึกเอง ว่าอันนี้มันยังไม่ถึง ก็เหมือนการฟังเพลงเยอะๆ ที่อาจจะบอกได้ ว่าเพลงนี้มันยังไม่ถึง มันยังฟังเหมือนคนอื่นอยู่ หรือยังไม่แปลกพอ


พูดถึงเพลง ตอนปีที่อ้วนไปเรียนต่อ เป็นปีที่วงอาร์มแชร์กำลังพีคเลย ตอนที่ตัดสินใจไปไม่เสียดายเหรอ ว่าสิ่งที่สร้างไว้ เมื่อกลับมาแล้วมันอาจจะเอากลับมาไม่ได้ แต่ถ้าผมไม่ไป ผมก็ไม่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ สิ ผมอยากเรียนศิลปะจริงๆ มานานมากแล้ว ก่อนจะมีวงอาร์มแชร์ด้วยซ้ำ

ลุงขายน้ำอัดลมหายไปแล้วตอนที่ผมลงมาจากสตูดิโอของอ้วน ผมคิดเล่นๆ ต่อจากเรื่องความจริง-ไม่จริงที่เราเพิ่งคุยกัน ว่าบางทีแกอาจไม่มีตัวตนตั้งแต่แรกก็ได้ เป็นแค่ภาพที่สมองสร้างขึ้นมาหลอกตา

ยืนรอแท็กซี่แต่ในใจนึกอิจฉาอ้วน ที่กล้าหาญทิ้งชื่อเสียง เงินทองและแฟนเพลงเพื่อไปตาม passion ของตัวเอง สิ่งที่เขาได้กลับมามันไม่ใช่แค่วิชาความรู้ แต่คือการเติมเต็มชีวิตช่วงหนึ่งให้สมบูรณ์ ในขณะที่ผมได้แต่ยืนอยู่ตรงนี้ จะย้อนเวลาก็ยากเกินไป ได้แค่บ่นว่า "รู้งี้ตอนนั้นน่าจะ ฯลฯ" แต่ก็เอาล่ะ มาอยู่กับความจริงตอนนี้ก่อนดีกว่า ความจริงตอนนี้คือห้าโมงเย็นแล้ว และรถเริ่มติดแล้ว ผมว่าผมน่าจะนั่งมอเตอร์ไซค์กลับบ้าน แต่แถวนี้ก็หาวินมอเตอร์ไซค์ยากเหลือเกิน

 

bottom of page