top of page
  • Black Facebook Icon
  • Instagram

Welcome to the world where truth doesn't hurt

แบบนี้ก็ได้เหรอ? ขโมยงานศิลปะคนอื่นแล้วบอกว่าเป็นงานตัวเอง

คำว่า appropriate (คุณศัพท์) แปลเป็นไทยคือ “ความเหมาะสม” แต่ถ้าจะอ่านต่อก็ขอให้ลืมความหมายนั้นไปเลย เพราะในงานศิลปะ คำว่า appropriation (กริยา) คือ: “การนำสิ่งหนึ่งสิ่งใดของคนอื่นมาใช้ และโดยทั่วไปไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของ” (the action of taking something for one’s own use, typically without the owner’s permission.)


ที่จริงมันไม่มีแนวศิลปะที่เรียกว่า Appropriation Art หรอก เพราะคำว่า appropriation (คำกริยา) นั้น หมายถึงพฤติกรรมที่ศิลปินใช้ในการสร้างงาน จึงต้องพูดว่า appropriation in art หรือ “การหยิบยืมในการสร้างงานศิลปะ” จะเหมาะกว่า อันที่จริงเราก็ไม่แน่ใจว่า “หยิบยืม” เป็นคำที่เหมาะที่สุดหรือเปล่า แต่ภาษาไทยค่อนข้างขาดแคลนศัพท์เกี่ยวกับศิลปะเชิงแนวคิด (Conceptual Art) ระหว่างนี้เราจึงขอใช้ “ศิลปะการหยิบยืม” เพื่อเขียนบทความนี้ไปพลางก่อน จนกว่าจะมีใครบัญญัติคำที่เข้าท่ากว่านี้ เอาเป็นว่าวิธี “หยิบยืมในศิลปะ” ที่ว่านี้ สามารถใช้ได้กับงานศิลปะทุกประเภท ไม่ว่าจะภาพเขียน ภาพถ่าย ประติมากรรม วรรณกรรม ดนตรี ฯลฯ


“การหยิบยืมเป็นศิลปะรูปแบบหนึ่ง ที่ศิลปินจงใจนำส่วนหนึ่งส่วนใด หรือทุกส่วนของชิ้นงานศิลปะหรือสไตล์งานของคนอื่นมาใช้อ้างอิง” ไมเคิล เอมกรีน ศิลปินที่ปรึกษาด้านศิลปะของ Third World อธิบาย “ที่ทำกันบ่อยๆ คือการนำงานชิ้นอื่นมาใช้เป็นตัวตั้งต้นในการเริ่มงาน เช่นนำภาพเขียนชิ้นดังที่มีเนื้อหาและแนวความคิดเป็นที่ยอมรับแพร่หลาย มาตีความใหม่ เพื่อสร้างความหมายใหม่”  


หนึ่งในผลงานชิ้นดังของเขาที่เข้าข่ายศิลปะการหยิบยืมคือ Prada Marfa ร้านปราด้ากลางทะเลทรายห่างไกลสิ่งมีชีวตในเท็กซัส ที่นานๆ จะมีรถผ่านมาสักคัน ชวนให้คนดูรู้สึกแปลกๆ เมื่อเห็นความหรูหราล่อกิเลส ไปอยู่ในพื้นที่ๆ ไม่มีอะไรให้ระบบทุนนิยมสนใจ ขั้นตอนของการทำงานชิ้นนี้ ศิลปินทำเรื่องขออนุญาตปราด้าเป็นเรื่องเป็นราวและปราด้าก็โอเค แถมยังสนับสนุนกระเป๋ารองเท้าที่ใช้วางในร้านอีก แต่ให้รองเท้ามาแบบละข้างคละไซส์ คนจะได้ไม่อยากขโมย

prada
Elmgreen & Dragset “Prada Marfa” (2005)

แม้จะบอกว่า appropriation เป็นการทำงานศิลปะแบบเอาของคนอื่นมาใช้ไม่ได้ขอ แต่โดยทั่วไปศิลปินที่ทำงานด้วยวิธีนี้ก็ไม่ปิดบังหรือปฏิเสธที่มาของแรงบันดาลใจ แอนดี้ วอร์ฮอล เป็นศิลปินที่หยิบยืมนั่นนี่มาทำงานบ่อยมาก กระป๋องซุปหรือกล่องผงซักฟอกอยู่ในซุปเปอร์มาเก็ตก็เป็นแค่ของกินของใช้ แต่เมื่อวอร์ฮอลก๊อปมาเป็นงานศิลปะ มันก็เกิดคำถามว่า “แบบนี้ก็ได้เหรอ” ส่วน รอย  ลิชเชนสไตน์ที่ก๊อปภาพจากหนังสือการ์ตูนมาเป็นภาพเขียนของตัวเอง ก็ทำให้นักวิจารณ์ศิลปะไปไม่เป็น เพราะเมื่อทำแบบนี้ นิยามของคำว่า “ออริจินัล” มันก็ยิ่งพร่ามัวเข้าไปอีก สิ่งที่วอร์ฮอลและศิลปินรุ่นเดียวกันทำนั้น เหมือนเป็นการบอกว่าศิลปินอาจจะคือคนที่นำสิ่งที่มีอยู่แล้วมาปรับเปลี่ยนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเริ่มทำเองทั้งหมดตั้งแต่แรก

warhol
(ภาพบน) งาน In the Car (1963) ของรอย ริชเชนสไตน์ ที่เอามาจากการ์ตูนชุดของ DC Comics (ภาพล่าง) เรื่อง Girls' Romnace ฉบับที่ 78 (1962)

ศิลปินอีกคนที่ใช้มุกหยิบยืมตลอดเวลาคือ ริชาร์ด พรินซ์ สิ่งที่เขาทำจนร่ำรวยคือการถ่ายรูปก๊อปงานคนอื่นแล้วเปลี่ยนนั่นนิดนี่หน่อย หรือไม่ก็เอามาทั้งดุ้นแล้วใส่ชื่อตัวเอง งานชิ้นดังของเขาคืองานตอนยุค 80s ที่เขาถ่ายรูปก๊อปภาพโฆษณาบุหรี่มาร์โบโรในนิตยสาร แล้ว crop ตัวหนังสือทิ้งทั้งหมดเหลือแค่คาวบอยบนหลังม้า แล้วขยายใหญ่เท่าตัวคนไปเข้ากรอบแสดงเป็นงานศิลปะ มันเป็นเซ็ตงานที่ถูกชื่นชมว่าเป็นการชำแหละภาพฝันของชาวอเมริกัน ประมาณว่า ตื่นๆๆ! คาวบอยเชี่ยไรของมึง มันสูญพันธุ์เหลือแค่ในโฆษณาเท่านั้นแหละ ภาพอเมริกาที่มึงหลงไหลก็เพราะมึงโดนภาพโฆษณาสะกดจิตมาตลอด แต่มันก็ทำให้แซม อเบลล์เจ้าของภาพถ่ายตัวจริงช้ำใจที่เขาไม่บอกกันสักคำแบบนี้ (ดูคลิป)

prince
ซ้าย: Richard Prince “Untitled (Cowboy)” (1989) / ขวา: ภาพโฆษณาต้นฉบับที่เขาก๊อปมาทำงานศิลปะถ่ายโดย Sam Abell


แซม เอเบลล์ เจ้าของรูปคาวบอย: “ผมไม่โกรธหรอก แต่ก็ไม่ได้พอใจ” เขาบอก แต่ดูจากน้ำเสียงก็รู้ว่า ยิ่งพูดยิ่งโกรธ “มันคือการขโมยความคิดกันชัดๆ และพ่อแม่ของผมก็สอนผมมาดีเรื่องความผิดบาป เขาทำลายกฏทองของผม คือเรื่องสามัญสำนึกของคน ซึ่งมันสูงส่งกว่ากฏหมายการค้าหรือศิลปะเสียอีก และดูเหมือนเขาก็ไม่ได้รู้สึกผิดอะไร”

 

และคำถามที่คู่กับการเอางานคนอื่นมาใช้ก็คือเรื่องลิขสิทธิ์


ในกรณีกระป๋องซุป แอนดี้ วอร์ฮอลไม่เคยขออุญาต และบริษัทซุปก็ไม่เคยคิดจะฟ้อง (ฟ้องก็บ้าแล้ว ได้ PR ฟรีขนาดนี้) แต่การคุยเรื่องลิขลิทธิ์เกิดขึ้นหลังวอร์ฮอล์เสียชีวิตแล้ว เมื่อ Andy Warhol Foundation เริ่มตกลงกับซุปแคมป์เบลล์เรื่องสิทธิ์ในการใช้ภาพผลงานของวอร์ฮอล์กับสินค้า และด้วยความที่มูลนิธิกับบริษัทซุปสนิทกันมานานทั้งคู่จึงตกลงกันได้ด้วยดี ว่าถ้าจะใช้อะไรขอให้แจ้งเป็นเรื่องๆ ไป


ส่วนริชาร์ด พรินซ์ เคยมีคดีโดนฟ้องเป็นข่าวดังตอนปี 2011 ที่ช่างภาพชาวฝรั่งเศส แพทริค คาริโอ ฟ้องข้อหาใช้รูปของเขาจากหนังสือ “Yes, Rasta” จำนวน 30 รูปไปทำงานของตัวเองโดยไม่ได้ขอ (มีชิ้นหนึ่งขายได้ 88 ล้านบาท) แต่ผลสุดท้ายเจ้าของภาพกลับเป็นฝ่ายแพ้คดี ส่วนหนึ่งเพราะตอนนั้นริชาร์ด พรินซ์เป็นลูกรัก Gagosian Gallery (แต่ตอนนี้แยกทางกันแล้ว) ซึ่งเป็นหนึ่งในแกลเลอรี่ที่รวยที่สุดในโลก และคงมีทนายศิลปะที่แพงที่สุดในโลก โดยศาลพิจารณาคดีว่าการที่พรินซ์นำรูปมาใช้นั้น เข้าข่ายการใช้งานคนอื่นแบบ ‘fair use’ หรือการใช้ที่อนุโลมได้บางกรณีที่เหมาะสม เช่นการนำรูปมาลงเพื่อเขียนวิจารณ์ หรือเอามาลอกเลียนในเชิง parody ขำขัน

ศาลให้การตัดสินว่าผลงานริชาร์ด พรินซ์ทำออกมานั้น มีความรู้สึกต่างจากงานต้นฉบับอย่างสิ้นเชิง งานต้นฉบับของคาริโอพูดเรื่องความงามของวัฒนธรรมราสต้า ที่ดูสงบนิ่งและรายล้อมด้วยธรรมชาติ แต่งานที่ริชาร์ด พรินซ์ทำใหม่นั้น ดิบ กระแทกกระทั้น และท้าทายความคิด เป็นการถ่ายทอดความรู้สึกใหม่ให้ผลงานของคาริโอ เป็นการเพิ่มคุณค่าให้งานเดิมและสร้างสุนทรียะใหม่ที่แตกต่างจากของเดิมมาก


มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ทนายของฝ่ายช่างภาพถามริชาร์ดว่า งานที่ทำต้องการสื่อถึงอะไร ริชาร์ดตอบไปว่า “ต้องการสื่อถึงการทำศิลปะที่ยอดเยี่ยม และทำให้ผู้คนแฮปปี้” —โอ้ว ตอบได้ตัวเหี้ยเหมือนกันนะเนี่ย ด้านทนายของริชาร์ด พรินซ์ก็พูดได้เหี้ยพอกันว่า “นี่มันไม่ใช่การละเมิดลิขสิทธิ์ซะหน่อย มันไม่ใช่กระเป๋าถือนะ”


คดีนี้ยืดเนื้ออยู่สามปี ก่อนจบลงในปี 2014 เมื่อเจ้าของภาพดูเหมือนจะสู้ไม่ไหว เพราะฝ่ายพรินซ์มีทั้งทนายมือดี และมีหอศิลป์ใหญ่เข้าข้างหลายราย เรื่องลงเอยที่ต่างฝ่ายแยกย้ายจ่ายค่าทนายกันเอง และเจ้าของภาพไม่ได้อะไรเลย ส่วนปีที่แล้วปีเดียว ริชาร์ด พรินซ์โดนฟ้องถึง 3 ราย สองรายมาจากเจ้าของภาพอินสตาแกรมที่เขาก๊อปไปทำงานขาย อีกรายเป็นช่างภาพเจ้าของรูป Sid Vicious แห่งวง Sex Pistols ส่วนแถลงการที่ทนายของเขายื่นต่อศาล เนื้อความก็ยังคงวนเวียนสิทธิในการใช้กฏหมาย ‘fair use’ เหมือนเดิม แต่เราไม่คิดว่ารอบนี้จะรอดนะ เพราะเขาเอางานมาขายแบบไม่ได้ปรับเปลี่ยนอะไรเลย

prince2
Richard Prince “New Portraits” (2014) นิทรรศการจากการจิ๊กภาพอินสตาแกรมคนอื่นมาขาย

ถึงตรงนี้แล้ว จะเป็นการผิดบาปมาก ถ้าพูดเรื่องศิลปะการหยิบยืมแล้วไม่พูดถึงศิลปินฝรั่งเศส มาร์เซล ดูว์ช็อง เพราะก่อนจะบี น้ำทิพย์ ก็มีดูว์ช็องนี่ล่ะ ที่เป็นบิดาแห่ง “แบบนี้ก็ได้เหรอ” ของวงการศิลปะ ด้วยงาน “Fountain” (1917) ที่เขาเอาโถฉี่มาวางในมิวเซียมแล้วบอกว่า นี่ก็ศิลปะ  

ยุคนี้ต่อให้เอาห้องน้ำทั้งห้องมาตั้งกลางหอศิลป์ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่อย่าลืมว่าตอนที่ดูว์ช็องทำมันคือปี 1917 เป็นยุคระยิบระยับของ Art Deco (หรือยุค The Great Gatsby) ศิลปะ Expressionism กับ Cubism กำลังฮิต และศิลปะที่ที่ผู้คนจะยอมรับ ต้องงามวิจิตรอย่างมาร์ค ชากาล, อองรี มาติส, ปิคัสโซ่ หรือดิเอโก้ ริเวร่า


แต่จู่ๆ ก็มีไอ้บ้าอายุ 30 ปีคนนึง เอาโถฉี่จากบุญฐาวรมาเซ็นชื่อคนอื่นแล้วส่งร่วมแสดง ซึ่งก็ย่อมทำให้ไฮโซวเจ้าของมิวเซียม คิวเรเตอร์ และเหล่าบรรดานักวิจารณ์ศิลปะทำใจยอมเรียกสิ่งนี้ว่าเป็นศิลปะไม่ได้ เกิดการถกเถียงเผ็ดร้อนเป็นเดือน ที่สุดท้ายจบด้วยตอนเปิดนิทรรศการที่ Grand Central Palace ในนิวยอร์ก คนจัดถึงกับต้องเอามันไปซุกไม่ให้เป็นส่วนหนึ่งของงาน ดังนั้น โถฉี่อันนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กเลย มันปั่นป่วนจนกลายเป็นประเด็นเถียงกันไม่รู้จบถึงถึงความไร้สาระของการมีคณะกรรมการคัดคุณภาพงานศิลปะร่วมสมัย ศิลปินพากันลุกฮือขึ้นมาทำงานท้าทายความคิด กลายเป็นประเด็นที่บัดนี้ร้อยปีแล้วก็ยังเถียงกันไม่จบว่า “ศิลปะคืออะไร” ไม่เชื่อลองกูเกิ้ลคำว่า “Yeah, but is it art?” ก็จะเจอผลการค้นหาทั้งสิ้น 14 ล้านอัน

Marcel Duchamp “Fountain” (1917) ภาพจาก Tate Modern งานชิ้นจริงหายไปแล้ว ในรูปเป็นชิ้นทำซ้ำในปี 1964 โดยความเห็นชอบของดูว์ช็อง

 

กลับมาที่ปี 2017 –โดยส่วนตัวเราคิดว่ายุคสมัยที่เราอยู่กันนี่ล่ะ น่าจะเป็นยุคที่ทำงานศิลปะมันส์สุดแล้ว เพราะโลกมีประเด็นหนักให้สะสางเยอะเหลือเกิน เอาแค่เรื่องโดนัลด์ ทรัมป์คนเดียว ก็มีทั้งศาสนา สงคราม การเมือง สิทธิมนุษยชน ให้ศิลปินต้องไปสะท้อนออกมาไม่รู้เท่าไหร่ ช่วงเวลาบอบช้ำของสังคมโลกแบบนี้ มักกดดันให้เกิดขบวนการทางศิลปะ (movement) ใหม่ๆ หรือแจ้งเกิดใครสักคนที่สามารถใช้ศิลปะพลิกวิถีคิดผู้คนได้ตลอดกาล

“มาร์เซล ดูว์ช็องนี่เป็นบิดาแห่ง conceptual art เลยนะ” ไมเคิล เอมกรีนชื่นชม ก่อนปิดท้ายว่า “ศิลปะเป็นเรื่องของแนวคิดมากกว่าตัวชิ้นงาน” 

bottom of page