top of page
  • Black Facebook Icon
  • Instagram

Welcome to the world where truth doesn't hurt

ปรัชญาชีวิต Andy Warhol: ยุค 60s ผู้คนไม่รู้หรอกว่าความรู้สึกอ่อนไหวมันเป็นยังไง

ตอนนี้ที่ The River City เขากำลังมีนิทรรศการของ Andy Warhol มีทั้งผลงานของศิลปิน ข้าวของและเรื่องราวของแอนดี้ น่าสนใจทีเดียว คือต้องเข้าใจว่าที่งานศิลปะของแอนดี้มันยิ่งใหญ่เพราะแนวคิดและการใช้ชีวิตของแอนดี้ที่ทำลายคุณค่าที่เคยเชิดชูกันว่าจิตรกรรมนั้นเป็นของเลอค่าเพราะเป็นของที่มีชิ้นเดียวในโลก เขาทำให้ศิลปะกลายเป็นของแมสๆ ด้วยกระบวนการผลิตงานศิลปะเหมือนทำของค้าส่ง ก็จะทำทำไมแค่รูปเดียวในเมื่อสามารถปั๊มได้เป็นร้อยๆ รูป และเขาใช้ศิลปะสร้างโลกของเขาขึ้นเอง สร้างทั้งภาพ ทั้งเสียง การเขียนและปาร์ตี้ โลกของแอนดี้เป็นโลกที่คนเริ่ดๆ ในยุคสมัยของเขาล้วนอยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง


บทความนี้แปลจากหนังสือของเขา ชื่อ "The Philosophy of Andy Warhol" (ปรัชญาของแอนดี้ วอร์ฮอล์) เป็นหนังสือที่เขาเขียนเมื่อชีวิตเริ่มสงบนิ่ง เริ่มอยู่กับตัวเองมากขึ้น ผ่านคืนวันบ้าคลั่งผู้คนรายล้อม ผ่านการโดนยิง เห็นความฉาบฉวยมาจนชิน บทนี้เขาบันทึกเรื่องราวตอนเริ่มต้นเป็นศิลปินจนถึงช่วงพีคของอาชีพ อ่านสนุกดีเลยแปลมา เผื่อเป็นประโยชน์ต่อคนที่จะไปดูนิทรรศการให้ได้รู้จักตัวศิลปินมากขึ้นอีกหน่อยนึง

 

แปลโดย พงษ์สรวง โน้ต @dudesweetworld

 
แอนดี้วัยเด็กจนถึงมัธยมปลาย (ภาพ : © The Andy Warhol Foundation)

พอถึงจุดหนึ่งในชีวิต ตอนช่วงปลายยุค 50s ฉันเริ่มรู้สึกว่าตัวเองชักรับปัญหาของคนรู้จักมากัดกินตัวเอง เพื่อนคนหนึ่งมืดมัวพัวพันกับผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว อีกคนมาสารภาพว่าเป็นเกย์ ผู้หญิงที่ฉันชื่นชอบคนหนึ่งก็เริ่มออกอาการว่าเป็นโรคประสาท ส่วนฉันเองไม่เคยคิดว่าตัวเองมีปัญหาอะไร เพราะฉันไม่เคยชี้ให้เรื่องไหนเป็นปัญหา แต่ตอนนี้ฉันรู้สึกว่าปัญหาของเพื่อนๆ แพร่ใส่ฉันเหมือนเชื้อโรค

ฉันเลยตัดสินใจไปพบจิตแพทย์เหมือนคนที่ฉันรู้จักหลายคนเขาไปกัน รู้สึกว่าควรหาอะไรมาเป็นปัญหาให้ตัวเองสักเรื่อง ถ้าหาได้สักอันน่ะนะ ดีกว่าจะมานั่งคอยลุ้นปัญหาของเพื่อน

ฉันเคยจิตหลุดอยู่สามรอบตอนเป็นเด็ก แต่ละครั้งห่างกันหนึ่งปี รอบแรกตอนฉันแปดขวบ อีกรอบตอนเก้าขวบ แล้วอีกทีตอนสิบขวบ อาการกำเริบคือหน้าและมือกระตุก ซึ่งมักจะเริ่มในวันแรกของปิดเทอมฤดูร้อนไม่รู้ว่าเพราะอะไร เวลาช่วงปิดเทอมฉันจะหมดไปกับการฟังวิทยุและนอนอยู่บนเตียงกับตุ๊กตาชาร์ลี แมคคาร์ธนีย์ มีตุ๊กตากระดาษกระจัดกระจายทั่วหมอนและผ้าปูที่นอน

พ่อของฉันต้องเดินทางไปทำเรื่องธุรกิจเหมืองบ่อยๆ ดังนั้นฉันจึงไม่ได้เจอเขาบ่อยนัก ส่วนแม่จะอ่านหนังสือให้ฟังด้วยสำเนียงเช็คโกสโลวาเกียเข้มข้นที่สุดเท่าที่แม่จะเค้นได้ แล้วฉันก็จะพูดว่า “ขอบคุณครับแม่” ตอนแม่อ่านเรื่องนักสืบดิค เทรซี่ให้ฟังจบต่อให้ฉันไม่รู้เรื่องก็ตาม แล้วแม่ก็จะให้ช็อคโกแล็ตฉันหนึ่งแท่งทุกครั้งที่ฉันระบายสีเสร็จหนึ่งหน้า

พอมาคิดถึงตอนอยู่มัธยมปลาย สิ่งที่ฉันจำได้แบบชัดๆ ก็ตอนเดินไปโรงเรียนในแมคคีสปอร์ต เพนซิลเวเนีย ผ่านย่านสลัมชาวเช็คฯ ที่ราวตากผ้าจะมีผ้าโพกผมแขวนเรียงสลับกับชุดเอี๊ยมคนงาน ตอนนั้นฉันไม่ได้เป็นคนโดดเด่นอะไรแต่ก็พอมีเพื่อนดีๆ อยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้สนิทสนมกับใคร แม้ตอนนั้นฉันว่าฉันก็อยากจะมีคนสนิทด้วยก็ตาม เพราะเวลาฉันเห็นเด็กคนอื่นเขาระบายปัญหาให้เพื่อนฟัง ฉันรู้สึกเหมือนโดนกันไม่ให้รู้ ไม่มีใครเคยมาระบายอะไรกับฉัน ฉันว่าฉันคงไม่ใช่คนประเภทที่เพื่อนอยากระบายปัญหาให้รับฟัง เราเดินข้ามสะพานกันทุกวัน แล้วใต้สะพานจะมีถุงยางใช้แล้ว ฉันก็จะสงสัยออกมาดังๆว่ามันคืออะไรแล้วทุกคนก็จะหัวเราะ

รูปวาดสมัยมัธยมต้น (ภาพ : © The Andy Warhol Foundation)

ปิดเทอมหนึ่งฉันได้งานพิเศษในห้าง งานของฉันคือคอยเปิดดูหนังสือโว้ก หนังสือฮาร์เปอร์ส บาซาร์ แล้วก็พวกหนังสือแฟชั่นจากยุโรปให้คุณวอลล์เมอร์ซึ่งเป็นผู้ชายที่ใจดีมาก ฉันได้เงินประมาณชั่วโมงละห้าสิบเซ็นต์หรืออะไรนี่ล่ะ หน้าที่ของฉันคือคอยเปิดหา “ไอเดีย” ซึ่งฉันก็จำไม่ได้แล้วว่าเคยหาได้หาเจอสักอันหรือเปล่า คุณวอลล์เมอร์นี่เป็นไอด้อลของฉันเลย เพราะเขามาจากนิวยอร์กและนั่นมันก็ดูน่าตื่นเต้นมาก แต่ตอนนั้นฉันก็ไม่ได้คิดที่จะไปนิวยอร์กหรอกนะ

แต่พอฉันอายุสิบแปด เพื่อนมันก็ยัดฉันใส่ถุงช้อปปิ้งแล้วหอบฉันมานิวยอร์ก ฉันยังคงมีความอยากจะสนิทกับคนอื่นอยู่ ก็เลยเช่าอยู่กับรูมเมทไปเรื่อยๆ คิดว่าสักวันเราจะสนิทกันแล้วเขาจะมาระบายปัญหาให้ฟัง แต่ฉันก็พบว่าเขาไปสนใจคุยกับเพื่อนคนอื่นที่เช่าอยู่ด้วยกันมากกว่า แล้วถึงจุดหนึ่งฉันก็แชร์อพาร์ตเม้นต์กับคนอีกสิบเจ็ดคน ในอพาร์ตเม้นต์ชั้นใต้ดินที่ถนน 103 แมนฮัตตันอเวนิว และไม่มีใครในสิบเจ็ดคนนั้นที่จะมาระบายปัญหาจริงๆ จังๆ กับฉันสักคน พวกเขาก็เป็นวัยรุ่นที่ทำงานด้านศิลปะเหมือนกัน ที่ๆ เราเช่าอยูกันตอนนั้นเป็นเหมือนรังศิลปิน ดังนั้นฉันว่าพวกเขาก็ต้องมีปัญหาเยอะแยะสิ แต่ฉันก็ไม่เคยได้ยินสักเรื่อง จะมีที่ทะเลาะกันในครัวบ่อยๆ ก็แค่เรื่องว่าใครแอบกินซาลามี่ของใคร ฉันก็รู้แค่นั้นล่ะ ตอนนั้นฉันทำงานหามรุ่งหามค่ำทุกวัน ฉันเลยคิดว่าอาจไม่ได้ตั้งใจรับฟังปัญหาของใครหรอกมั้ง ต่อให้เขาจะเคยมาเล่าให้ฟัง แต่มันก็ทำให้ฉันรู้สึกเป็นคนวงนอกและมันก็เจ็บปวด

ภาพประกอบที่ทำให้นิตยสาร Harper's Bazaar แอนดี้วัยเด็กจนถึงมัธยมปลาย (ภาพ : © The Andy Warhol Foundation)

สมัยนั้นฉันเดินตระเวนหางานตอนกลางวันทั้งวันแล้วกลับบ้านมาวาดรูปตอนกลางคืน นั่นล่ะชีวิตตอนยุค 50s ของฉัน: วาดการ์ดระบายสีน้ำ วันดีคืนดีก็ไปอ่านกวีตามร้านกาแฟบ้าง

สิ่งหนึ่งในตอนนั้นที่ฉันจำได้ชัดที่สุด นอกจากเรื่องทำงานหามรุ่งหามค่ำคือแมลงสาบ ไม่ว่าจะอพาร์ตเม้นต์ไหนที่ฉันอยู่ก็จะต้องมีพวกมันยั้วเยี้ยไปหมด ฉันไม่เคยลืมเลยว่าอับอายขายขี้หน้าขนาดไหนตอนถือกระเป๋าพอร์ตงานไปพรีเซ็นต์คาร์เมล สโนว์ บรรณาธิการฮาร์เปอร์สบาซาร์ที่ออฟฟิศของเธอ พอรูดซิปกระเป๋าก็มีแมลงสาบหนึ่งตัวโผล่ออกมาแล้วไต่ลงไปตามขาโต๊ะ คาร์เมลเห็นแล้วคงสงสารฉันมากก็เลยให้จ๊อบ

เพื่อนๆ สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ถ่ายหน้าบ้านที่เช่าด้วยกันบนถนน 103rd Street (ปี 1950)
เพื่อนตอนเรียน Carnegie Tech (ถ่ายปี 1949)

เอาเป็นว่าฉันเคยหารค่าเช่ากับคนเยอะแยะมากมาย และตอนนี้แทบทุกคืนที่ฉันออกเที่ยวในนิวยอร์ก ก็จะต้องได้เจอใครสักคนที่เคยเช่าอพาร์ตเม้นต์ด้วย แล้วคนๆ นั้นก็จะเล่าให้คู่เดตฉันฟังได้เป็นวรรคเป็นเวรเรื่อง “ฉันเคยอยู่กับแอนดี้” แล้วฉันก็จะหน้าซีด--คือปกติหน้าฉันก็ซีดอยู่แล้วแต่มันจะซีดหนักไปอีก แล้วพอเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นซ้ำกันสองสามครั้ง คนที่ฉันเดตอยู่ก็จะงงว่าทำไมฉันถึงเคยอยู่กับคนนั้นคนนี้เต็มไปหมด เพราะเขาจะมีภาพฉันว่าเป็นคนรักสันโดษแบบที่ฉันเป็นอยู่ทุกวันนี้ พอพูดแบบนี้คนที่เห็นภาพฉันเป็นนักปาร์ตี้แห่งยุค 60s ผู้ไม่เคยปรากฏตัวในปาร์ตี้ไหนพร้อม “บริวาร” น้อยกว่าหกคน คงอยากบอกว่า ฉันกล้าดีอย่างไรที่บังอาจเรียกตัวเองว่า “รักสันโดษ” ถ้าอย่างนั้นขอฉันอธิบายตัวเองสักนิดว่าทำไมจึงเรียกตัวเองแบบนั้น และมันเป็นเรื่องจริงอย่างไร คือในช่วงชีวิตที่ฉันรู้สึกว่ามีกลุ่มก้อนของตัวเองและมองหาคู่ซี้นั้น มันไม่มีใครเปิดรับฉันเลย และนั่นคือตอนที่ฉันโดดเดี่ยวจริงๆ โดดเดี่ยวในช่วงเวลาที่ฉันไม่อยากรู้สึกโดดเดี่ยวเลย แต่พอฉันทำใจแล้วว่าก็อยู่ตัวคนเดียวมันไปแบบนี้แล้วกัน ไม่ต้องหวังจะมีใครมาระบายอะไรให้ฟังก็ได้ มันกลับกลายเป็นว่าทุกคนที่ฉันไม่เคยเจอมาก่อนในชีวิตก็มาไล่ตามติดฉัน มาเล่าอะไรที่ฉันตัดสินใจไปแล้วว่าคงไม่เป็นการดีที่จะต้องมารับฟัง คือทันทีที่ฉันกลายเป็นคนรักสันโดษในความคิดของฉัน ตอนนั้นล่ะที่ฉันมีสิ่งที่คุณอาจจะเรียกว่า “ลูกสมุน”


พอคุณเลิกอยากได้อะไรมันก็จะมา ฉันว่านี่คือสิ่งที่จริงแท้แน่นอนที่สุด

คนเริ่ดๆ แห่งยุคทองของคลับ Studio 54

เพราะฉันคิดว่าชักจะเอาปัญหาของเพื่อนมาเป็นของตัวเอง ฉันเลยไปหาจิตแพทย์แถวกรีนวิชวิลเลจ แล้วก็เล่าให้เขาฟังทุกอย่าง ฉันเล่าเรื่องชีวิตตัวเองและเรื่องที่ไม่เคยมีปัญหาชีวิตอะไร แล้วก็เรื่องเริ่มหมกมุ่นกับปัญหาของเพื่อนๆ แล้วจิตแพทย์ก็บอกว่าไว้เดี๋ยวจะโทรนัดฉันมาคุยกันเพิ่มเติมอีกทีแล้วเขาก็ไม่โทรมา ตอนนี้ที่มานั่งคิดดูแล้วนะ ฉันว่ามันช่างไม่มืออาชีพเอาเสียเลยที่บอกว่าจะโทรแล้วก็ไม่โทรมา

ระหว่างทางกลับบ้านจากไปพบจิตแพทย์ฉันแวะห้างเมซี่ส์แล้วซื้อโทรทัศน์มาเครื่องหนึ่ง ยี่ห้อ RCA จอขาวดำ 19 นิ้ว ฉันซื้อกลับบ้านมาตั้งไว้ห้องนั่งเล่นในอพาร์ตเม้นต์ที่ฉันอยู่คนเดียวบนถนนอีสต์ 75 แล้วทันใดนั้นฉันก็ลืมเรื่องจิตแพทย์ไปเลย ฉันเปิดทีวีตลอดเวลาโดยเฉพาะตอนที่มีคนมาระบายปัญหาให้ฟัง แล้วฉันก็ได้พบว่าโทรทัศน์นี่มันช่วยสลับขั้วได้ดีจริงๆ จนปัญหาของคนอื่นที่เขาเล่าให้ฉันฟังไม่กระทบอะไรฉันอีกเลยราวกับมายากล


ชั้นล่างของอพาร์ตเม้นต์ที่ฉันอยู่คือ Shirley’s Pin-Up Bar มันเป็นบาร์แบบที่มาเบล เมอร์เซอร์จะมาเมาแอ๋แล้วร้อง “You’re So Adorable” อะไรประมาณนั้น ซึ่งทีวีนี่ก็ช่วยให้ฉันประกอบภาพนั้นได้ชัดเจนทีเดียว

Andy Warhol Factory (ภาพ : © The Andy Warhol Foundation)

ตึกที่ฉันอยู่เป็นตึกห้าชั้นแบบไม่มีลิฟต์ ตอนย้ายมาทีแรกห้องฉันอยู่ชั้นห้า แล้วต่อมาพอชั้นสองว่างฉันก็ขอเช่าชั้นสองด้วย ดังนั้นตอนนี้ฉันเลยมีอพาร์ตเม้นต์สองห้องแต่ไม่ได้ติดกัน แล้วตั้งแต่ฉันมีทีวีฉันก็มาอยู่ชั้นที่มีทีวีบ่อยกว่า

ในปีที่ฉันตัดสินใจปลีกวิเวก ฉันกลับโด่งดังขึ้นเรื่อยๆ และพบว่าตัวเองมีเพื่อนเพิ่มขี้นเรื่อยๆ ด้านอาชีพของฉันนั้นไปได้ด้วยดี ฉันมีสตูดิโอของตัวเองแล้วก็มีคนจำนวนนิดหน่อยคอยช่วยงาน แล้วไปๆ มาๆ พวกเขาก็กลายเป็นย้ายมาพักในสตูดิโอของฉันไปเสียเลย สมัยนั้นทุกอย่างมันสบายๆ และคล่องตัวกว่านี้ มีคนอยู่ที่สตูดิโอทั้งวันทั้งคืน เป็นเพื่อนของเพื่อนบ้าง เครื่องเล่นแผ่นเสียงเล่นแผ่นของมาเรีย คัลลาสตลอดเวลา แล้วก็มีกระจกกับพลาสติกฟอยล์เต็มไปหมด

ตอนนั้นฉันเพิ่งเป็นที่รู้จักในฐานะศิลปินป๊อปอาร์ตมันก็เลยมีงานต้องทำเยอะแยะ มีผ้าใบมากมายต้องขึง ฉันทำงานตั้งแต่สิบโมงเช้าถึงสี่ทุ่ม กลับบ้านนอนแล้วมาใหม่ตอนเช้า แต่พอกลับเข้ามาตอนเช้า คนที่อยู่ที่นั่นเมื่อคืนตอน​ฉันออกมาก็ยังอยู่ที่เดิมและยังคงแข็งขัน มาเรีย คัลลาสและกระจกต่างๆ ก็ยังอยู่ที่นั่น

(ภาพ : © The Andy Warhol Foundation)

ตอนนั้นที่ฉันได้เข้าใจว่าคนเรามันบ้าคลั่งกันได้ปานไหน ยกตัวอย่างผู้หญิงคนหนึ่งเข้าไปอาศัยอยู่ในลิฟต์ไม่ยอมออกมาทั้งอาทิตย์จนกระทั่งไม่มีใครยอมซื้อโค้กให้เธออีก ฉันไม่รู้ว่าภาพเหล่านี้มันเกิดขึ้นเพราะอะไร แต่เนื่องจากฉันเป็นคนจ่ายค่าเช่าสตูดิโอ ฉันเลยคิดว่าสารพัดสิ่งที่เกิดขึ้นที่นี่มันคงเป็นโลกที่ฉันอยู่ แต่ไม่ต้องถามนะ ว่าโลกที่ว่านั่นจริงๆ มันคืออะไร เพราะฉันเองก็บอกไม่ถูก

ย่านที่เราอยู่นี่ดีสุดๆ มันคือถนน 47 ตัดกับเธิร์ดอเวนิว ที่นี่เราจะได้เห็นขบวนประท้วงผ่านหน้าตึกมุ่งไปทางสหประชาชาติบ่อยๆ ขบวนพระสันตะปาปาก็เคยผ่านตึกเราไปโบสถ์เซ้นต์แพทริค ครุชเชฟ-ผู้นำโซเวียตก็เคยผ่านมาครั้งหนึ่งเช่นกัน มันเป็นถนนกว้างขวางโอ่อ่า คนดังๆ เริ่มแวะเวียนมาเยี่ยมสตูดิโอ จนในที่สุดก็ลงเอยด้วยการกลายเป็นที่ๆ คนมาปาร์ตี้กันตลอดเวลา แจ็ค เคอรูแอค, อัลเลน จินส์เบิร์ก, เจน ฟอนดากับเดนนิส ฮอปเปอร์, บาร์เน็ต นิวตัน, จูดี้การ์แลนด์, วงโรลลิ่งสโตนล์, วงเดอะเวลเว็ตอันเดอร์กราวด์ก็เริ่มมาซ้อมดนตรีกันในมุมหนึ่งของสตูดิโอนี้ ก่อนที่เราจะทำโปรเจ็คต์ทัวร์ศิลปะสื่อผสมด้วยกันและเดินสายจัดแสดงทั่วประเทศตอนปี 1963 ดูเหมือนทุกอย่างจะเริ่มขึ้นตอนนั้นล่ะ

Mick Jagger ที่สตูดิโอของแอนดี้
Andy Warhol's Superstars

ศิลปินนอกคอก, ศิลปินใต้ดิน, ศิลปินป๊อป, ซูเปอร์สตาร์, ยา, แสงสี, ดิสโก้เธค อะไรก็ตามแต่ที่เราจะคิดกันได้ภายใต้นิยามวัยรุ่นสุดเหวี่ยงน่าจะเริ่มในช่วงนั้น ปาร์ตี้มีอยู่ทุกที่ ถ้าชั้นใต้ดินไม่มีปาร์ตี้ก็มีที่ดาดฟ้า ถ้าสถานีรถใต้ดินไม่มีปาร์ตี้ก็มีจัดกันบนรถเมล์ ถ้าบนเรือไม่มีปาร์ตี้ก็ให้ไปที่เทพีเสรีภาพ ผู้คนแข่งกันแต่งตัวไปปาร์ตี้ “All Tomorrow’s Parties” เป็นชื่อเพลงที่วงเดอะเวลเว็ตอันเดอร์กราวด์มักเล่นที่คลับเดอะดอมตอนที่ย่านโลวเวอร์อีสต์ไซด์เริ่มสลัดภาพย่านผู้อพยพและกลายเป็นละแวกฮิปๆ “สาวน้อยผู้น่าสงสาร เธอจะใส่ชุดไหนดี เพื่อไปปาร์ตี้ของพรุ่งนี้ให้ครบ...” ฉันชอบเพลงนี้จริงๆเลย เดอะเวลเว็ตอันเดอร์กราวด์เล่นและนิโค่ร้อง

วง The Velvet Underground (ภาพ : © The Andy Warhol Foundation)

ตอนโน้นอะไรมันก็ตระการตา คุณต้องรวยจึงจะซื้อเสื้อผ้าร้านดังๆ อย่าง พาราเฟอร์นัลลา หรือเสื้อผ้าที่ออกแบบโดยไทเกอร์ มอร์สได้ แต่ไทเกอร์ก็จะวิ่งไปที่ร้านไคล์นแอนด์เมส์ คว้าเดรสราคาสองเหรียญฉีกริบบื้น เลาะดอกไม้ทิ้ง แล้วหิ้วเอาไปแขวนขายร้านตัวเองในราคาสี่ร้อยเหรียญ แล้วก็ยังมีพวกเครื่องประดับของนางอีก ซึ่งนางก็จะเอานี่นั่นป้ายๆ ของที่หาได้ตามมุมเสื้อผ้าเครื่องประดับในซูเปอร์มาร์เก็ตแถวบ้าน แล้วเอามาขายห้าสิบเหรียญ นางมีพรสวรรค์อันแก่กล้าเรื่องการดูออกว่าคนแบบไหนที่เดินเข้ามาในร้านนางแล้วจะซื้อของแน่ๆ ฉันเคยเห็นนางมองสุภาพสตรีแต่งตัวดีคนหนึ่งปราดเดียวแล้วเดินเข้าไปบอกเธอว่า “ขอโทษนะคะ แต่ที่นี่ไม่มีอะไรเหมาะจะขายคุณเลยค่ะ” นางดูออกจริงๆ แล้วนางก็จะชอบอะไรที่มันวิบวับ นางเป็นผู้คิดค้นเดรสติดไฟกระพริบแบบที่ต้องใส่ถ่านด้วย

Ingrid Superstar

ยุค 60s ทุกคนอยากรู้เรื่องของคนอื่น ยาก็มีส่วนช่วยในตอนนั้น ทันใดนั้นทุกคนก็เท่าเทียมกันหมด จะคุณหนูหรูหราหรือคนขับรถ เด็กเสิร์ฟหรือท่านผู้ว่า เพื่อนฉันคนหนึ่งชื่ออินกริด นางมาจากนิวเจอร์ซีย์ นางคิดนามสกุลให้ตัวเองเพื่อใช้กับอาชีพที่น่าจะเรียกได้ว่านักแสดงของนาง นางเรียกตัวเองว่า “อินกริด ซูเปอร์สตาร์” ซึ่งฉันมั่นใจนะว่าอินกริดเป็นคนบัญญัติคำนี้ขึ้นมา เพราะฉันเคยท้าว่าถ้าใครใช้คำว่า “ซูเปอร์สตาร์” ก่อนหน้าอินกริดก็เอามาพิสูจน์กัน ยิ่งเราปาร์ตี้เยอะเท่าไหร่ สื่อก็เขียนถึงนางมากเท่านั้น อินกริด ซูเปอร์สตาร์ แล้วจากนั้นคำว่า “ซูเปอร์สตาร์” ก็ถูกใช้ตามสื่อต่างๆ อินกริดเพิ่งโทรหาฉันเมื่อไม่กี่อาทิตย์ก่อน ตอนนี้นางล้างมือจากวงการไปทำอย่างอื่นแล้ว แต่ชื่อนางก็ยังถูกใช้ต่อไป เริ่ดดีไหมล่ะ

ยุค 60s ทุกคนสนใจเรื่องราวของคนอื่น

ยุค 70s ทุกคนตัวใครตัวมัน

ยุค 60s มั่วสุมเละเทะ

ยุค 70s มีแต่ความว่างเปล่า

Eddie Sedwig (ภาพ : © The Andy Warhol Foundation)
ฉบับแรกของนิตยสาร Interview ที่แอนดี้ก่อตั้ง (ภาพ : © The Andy Warhol Foundation)

พอฉันซื้อทีวีเครื่องแรก ฉันก็เลิกสนใจว่าจะได้สนิทสนมกับใคร ฉันช้ำใจมานักต่อนักจนถึงจุดที่คนที่แคร์คนอื่นเกินไปจะช้ำใจได้ แล้วฉันก็ว่าฉันแคร์คนอื่นเกินไปในช่วงก่อนที่ผู้คนจะเคยได้ยินคำว่า “ป๊อปอาร์ต” หรือ “หนังใต้ดิน” หรือ “ซูเปอร์สตาร์”

เอาเป็นว่าพอปลายยุค 50s ฉันก็เริ่มคบหาดูใจอยู่แต่กับทีวีของฉันซึ่งเราก็ยังคบกันจนถึงทุกวันนี้ ก็นั่งๆ นอนๆ อยู่ด้วยกันในห้องนอนที่ตอนนั้นฉันมีอยู่สี่ห้อง แต่ฉันก็ยังไม่ได้แต่งงานจนกระทั่งปี 1964 เมื่อฉันได้พบกับเมียของฉัน--เครื่องอัดเทป

ฉันกับเครื่องอัดเทปแต่งงานกันมาได้สิบปีแล้ว เมื่อไหร่ที่ฉันใช้คำว่า “เรา” ฉันหมายถึงฉันกับเครื่องอัดเทป คนส่วนใหญ่จะไม่เข้าใจเรื่องนี้

แอนดี้กับเครื่องอัดเสียงและศิลปิน Joseph Beuys

การมีเครื่องอัดเทปในครอบครองนับเป็นการสิ้นสุดปัญหาสภาวะอารมณ์สารพัดสารพันในชีวิตที่ฉันต้องพบเจอ ตอนนี้ไม่มีอะไรเป็นปัญหาสำหรับฉันอีกต่อไป เพราะปัญหาคือเนื้อหาชั้นดีเมื่อมันถูดอัดลงเทปแล้วพอปัญหาต่างๆ มันกลายร่างเป็นเนื้อหาชั้นดี มันก็ย่อมไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป ใครที่มีปัญหาที่น่าสนใจมันก็จะกลายเป็นเรื่องราวในเทปที่น่าสนใจ ซึ่งทุกคนรู้เรื่องนี้ดีแล้วก็แสดงมันลงไปในเทป คือคุณบอกไม่ได้หรอกว่าใครเล่าความจริงหรือใครขยายความเกินจริงเพื่อให้ถูกบันทึกเทป และที่ดีกว่านั้นคือคนที่มาเล่าปัญหาชีวิตให้คุณฟังเองก็บอกไม่ได้ว่าตกลงที่เขาพูดอยู่มันคือปัญหาจริงๆ หรือเป็นแค่การแสดงเพื่อบันทึกเสียงลงเทปกันแน่

ฉันว่าช่วงยุค 60s ผู้คนไม่รู้หรอกว่าความรู้สึกอ่อนไหวมันเป็นยังไง และฉันไม่คิดว่าใครจะจำได้ด้วยซ้ำ ฉันว่าหากคุณได้รับรู้อารมณ์ความรู้สึกในบางแง่มุม คุณจะไม่คิดว่ามันเป็นของจริงอีกต่อไป นั่นคือสิ่งที่ฉันเคยเป็นไม่มากก็น้อย

ฉันไม่รู้จริงๆ ว่าฉันเคยรักใครเป็นหรือเปล่า แต่พอสิ้นยุค 60s ฉันก็ไม่คิดเรื่อง “ความรัก” อีกเลย

อย่างไรก็ดี ฉันก็มีความรู้สึกต่อใครบางคน เป็นความรู้สึกที่คุณอาจจะใช้คำว่า “ความหลงไหล” ก็ได้ ในยุค 60s มีคนอยู่หนึ่งคนที่ทำให้ฉันหลงไหลมากกว่าใครที่ฉันเคยรู้จัก และความหลงไหลที่ฉันมีต่อคนๆ นั้นมันอาจจะใกล้เคียงกับความรักสักรูปแบบ

Andy Warhol. 1926-1987
 

นิทรรศการ ANDY WARHOL: POP ART ชั้น 2 ศูนย์การค้า River City Bangkok (ท่าเรือสี่พระยา) มีที่จอดรถ จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม – 24 พฤศจิกายน 2563 ซื้อบัตรได้ที่ https://www.ticketmelon.com/rivercitybangkok/andywarhol หรือที่ RCB Gallery Shop ชั้น 1 บัตรสำหรับผู้ใหญ่ ราคา 400 บาท

สำหรับนักศึกษาและผู้สูงอายุ (แสดงบัตร) ราคา 300 บาท

หากต้องการซื้อเป็นกลุ่ม ติดต่อไดที่ shop@rivercity.co.th

bottom of page