top of page
  • Black Facebook Icon
  • Instagram

Welcome to the world where truth doesn't hurt

ติดยา ค้าประเวณี หนีออกจากบ้าน แล้วงัย ใครแคร์?



เขียนชีวิต เสกสรร รวยภิรมย์ ใช้ศิลปะช่วยพัฒนาจิตใจเด็กเร่ร่อน


“เด็กพวกนี้ไม่มีพ่อมีแม่ ถ้าตกลงมาตายก็ไม่มีใครฟ้อง มันมีคนจ้างงานที่ไม่โอเคหลายอย่าง แต่จ้างเด็กพวกนี้เพราะเอาเปรียบได้”


เป็นวัยรุ่นนี่มันเหนื่อย ยิ่งเป็นวัยรุ่นที่หนีออกจากบ้าน ติดยา ค้าประเวณียิ่งเหนื่อย สังคมก็เหนื่อยจนถอนใจ ไม่ให้ค่า แต่เสกสรรเป็นหนึ่งในคนที่เห็นค่าของเด็กเหล่านั้น เขาคุยกับเด็กๆ เหมือนพี่ชาย ให้คำปรึกษา ไปจนถึงจัดนิทรรศการศิลปะมันส์ๆ ให้เด็กเร่ร่อนและด้อยโอกาส


เติบโตในอเมริกาจนเรียนจบด้านจิตวิทยาจาก New York University สิ่งแรกๆ ที่เขาทำเมื่อกลับมาเมืองไทยเมื่อห้าปีก่อน คือขึ้นดอยไปช่วยเหลือเด็กในถิ่นทุรกันดารเรื่องสุขภาพและการศึกษา และก่อตั้งมูลนิธิสติ (SATI) เพื่อช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส ต่อมาองค์กรเดอะฮับสายเด็ก ตรงถนนไมตรีจิตร (หัวลำโพง) ก็ชวนให้เขาไปลองพูดคุยกับเด็กเร่ร่อนแถวหัวลำโพง ว่าจะช่วยอะไรพวกเขาได้บ้าง สิ่งหนึ่งที่เขาพบว่าช่วยได้ คือการใช้กิจกรรมด้านศิลปะเป็นเครื่องมือขัดเกลาจิตใจและเปิดใจพวกเขาเพื่อร่วมแก้ปัญหาด้วยกัน


น้องๆ พวกนี้มีมาจากไหนกันบ้าง? ผมว่ามันเป็นหลักการเดียวกันทั่วโลกเลย ว่าที่ไหนมีสถานีรถไฟ มีสถานีรถเมล์ ที่นั่นจะมีเด็กหนีออกจากบ้าน ผมเคยคุยกับน้องที่เป็นทอมคนหนึ่ง เขาบอกว่าเจอแฟนบนเฟซบุ๊ก แล้วแฟนบอกให้มาเจอที่กรุงเทพ เขาก็เลยหนีออกจากบ้าน แต่พอมาถึงพ่อแม่ของแฟนไม่ให้เข้าบ้าน เขาเลยต้องมาตรงนี้ [หัวลำโพง] พอมาตรงนี้ก็มาเจอคนชวนเล่นยา ชวนนั่นนี่ ผ่านไปสามปีก็ยังไม่กลับ ก็ถามว่าทำไมไม่กลับ คำตอบหนึ่งคืออิสระ อีกข้อคืออาย อายเพราะออกมาจากบ้านแล้ว ซึ่งตอนที่เขาอยู่บ้านมันก็มีความรุนแรงอะไรบางอย่างทำให้เขาอยากหนีออกมา น้องเขาบอกว่า ถ้ากลับไปที่บ้านก็คงตบ แล้วกลับไปแบบไม่มีอะไรเขาไม่กลับหรอก รอให้มีงานมีเงินถึงจะกลับ





หัวหน้าแก๊ง: บรรยากาศการเรียนการสอนของมูลนิธิสติ (SATI) ที่เดอะฮับสายเด็ก

การที่เกิดมาต่างกัน จะมีวิธีเข้าใจปัญหาชีวิตของเขาได้อย่างไร ปัญหาของพวกเขาก็เหมือนปัญหาวัยรุ่นทุกคนในโลก แต่การแก้ปัญหาของเขาต่างไป เพราะเมื่อเขาไม่มีโครงสร้างทางครอบครัว และมีแต่เพื่อนที่ก็ขาดเหมือนกัน เขาก็อาจพากันไปในทางที่ไม่ถูกต้อง บางคนก็ทำร้ายตัวเอง เพราะไม่มีสิ่งที่จะมาชี้ให้เขาเข้าใจว่าโลกนี้มันยังมีอย่างอื่นอีก


แต่ผมเชื่อในทางเลือก เด็กบางคนเกิดมาก็เห็นพ่อแม่เล่นยาหรือขายบริการต่อหน้าแล้ว คือมันไม่มีทางเลือก ซึ่งผมว่าเรื่องนี้มันเป็นปัญหาจริงจัง ดังนั้น [การจะเข้าใจปัญหา] มันจึงอยู่ที่การสัมผัสมากกว่า ปัญหามันเป็นเรื่องของความคิด การที่ประสบการณ์เรากับเขามันต่างกัน มันก็ต้องหาจุดที่เจอกันได้ประมาณหนึ่ง ผมก็เลยพยายามเปิดตัวเองให้มากที่สุด ฟังเขาให้มากที่สุด เพื่อพยายามรู้จักโลกของเขามากที่สุด อย่างผมไม่เคยดมกาว แต่ก็จะถามเขาไปเลย ว่าดมที่ไหน ซื้อที่ไหน ดมแล้วรู้สึกอย่างไร


และเมื่อเราเข้าใจโลกของเขาแล้ว เราก็ต้องแก้ปัญหาด้วยวิธีของเขา ไม่ใช่ด้วยวิธีของเรา เพราะถ้าเราเอาวิธีของเราไปแก้ปัญหาของเขา มันจะกลายเป็นว่าเราต้องการช่วยตัวเอง



เสกสรร รวยภิรมย์ (ภาพ: พันธ์สิริ สิริเวชชะพันธ์)


แล้วที่เลือกกิจกรรมศิลปะเข้ามาใช้เพราะอะไร? เพราะตอนแรกๆ ผมสอนเขาแบบอาจารย์สอนนักเรียนเลย มีไวท์บอร์ด มีตารางหน้าห้อง แต่เขานั่งมองไม่ถึงห้านาทีก็ไปแล้ว คือวัยรุ่นมันก็สมาธิสั้นอยู่แล้ว พอยิ่งเป็นเด็กที่ดมกาวหรือใช้ยาเสพติด ความจำกับสมาธิเขายิ่งสั้นเข้าไปอีก วันแรกเจอเด็กประมาณ 15 คน แต่ทุก 5 นาทีก็จะหายไปทีละคน ออกไปดูดบุหรี่แล้วก็ไม่กลับมาอีก แต่ผมก็ยังไปสอนเรื่อยๆ อาทิตย์ละครั้ง เพื่อพยายามหาวิธีที่จะสอนให้ถูกต้อง ก็เลยคิดว่าต้องเปลี่ยนหลักสูตรนิดหน่อย ก็คิดว่าต้องหากิจกรรมให้เขาทำ โดยเริ่มด้วยกิจกรรมส่วนตัว เช่นเราชอบอะไรเราก็เอาเข้ามา เช่นชอบมวยไทยก็เอาครูมวยมาสอน เพื่อดึงให้เด็กเขาออกกำลังกายอย่างมีความสุข ชอบถ่ายรูปก็ชวนเพื่อนช่างภาพเข้ามา พอผ่านไปสักพักหนึ่งเขาจะเริ่มสนิทกับเรา พอรู้จักเราเขาก็จะเข้ามาคุยทีละคน



สติเป็นองค์กรไม่หวังผลกำไร ที่ปัจจุบันทำงานทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

ได้ผลอย่างไรบ้าง มีโปรเจ็คต์หนึ่ง คือการถ่ายรูป เหตุผลที่เริ่มคือผมเคยพาคนมาสอนวาดรูป แล้วมีเด็กคนหนึ่งเขาวาดรูปพระอินทร์ละเอียดมาก ผมก็ถามว่าทำไมวันนี้วาดรูปพระอินทร์ล่ะ เขาบอกว่า เวลาเขาเมากาวเขาจะเห็นพระอินทร์มาหา ตอนแรกผมก็คิดว่าไอ้เด็กนี่แม่งเพี้ยนเว้ย แต่พอกลับบ้านไปนั่งคิด เราก็เข้าใจ ว่าบางคนเวลาเมาจุดอ่อนเขาจะออกมา อย่างน้องเขารู้สึกต้องการคนคุ้มครอง เพราะชีวิตเขาไม่มีคนดูแล เขาก็เลยเห็นเทพมาดูแล ก็เลยมีความสุข ผมจึงคิดว่าศิลปะเป็นสิ่งที่ไปถึงใจคนได้อย่างเป็นธรรมชาติ และไปด้วยความเร็วด้วย


แต่จะให้ทุกคนวาดรูปก็คงไม่ได้หรอก เพราะมันไม่ได้เป็นสกิลที่ง่าย ก็เลยคิดว่าการถ่ายรูปนี่มันเห็นผลการศึกษาที่ค่อนข้างเร็ว ก็เลยพยายามคิดรูปแบบ โดยเอาช่างภาพมาทำคอร์สสิบอาทิตย์ โจทย์หมุนเวียนไปเรื่อยๆ จนมีอาทิตย์หนึ่งเป็นแฟชั่น เราก็เลยสลับรูปแบบ คือแทนที่จะให้เด็กเป็นคนถ่าย ก็ให้เด็กเป็นแบบ เพราะเขาไม่เคยรู้สึกว่าเขาสวย เขาหล่อ วันนั้นก็มีแพรี่ พาย มาแต่งหน้าให้ มีคนมาบริจาคเวลาเพื่อเด็ก พอถึงตอนที่จะเริ่มถ่าย ตอนแรกผมก็คิดถึงแต่เรื่องภาพ แต่พอเห็นสถานการณ์ตรงนั้น ผมก็ได้เข้าใจว่ามันมีอะไรลึกกว่านั้น


คือรู้มั้ย เวลาที่สำคัญที่สุดมันไม่ใช่ตอนที่เขาโดนถ่ายภาพ แต่คือตอนที่ช่างแต่งหน้า ช่างทำผมอยู่กับเขา ภาพเด็กคนหนึ่งมีคนสี่ห้าคนยืนล้อม แล้วเขาก็นั่งอยู่ตรงนั้น เหมือนเขากลายเป็นคนสำคัญ จากที่ชีวิตเขาไม่เคยมีใครสนใจ แต่ เวลานั้นมันมีคนรายล้อม ผมเห็นตาเขาเป็นประกายเลย


การที่ทำให้คนมีความหวังแบบนี้ มันจะทำให้น้องเขายึดติดกับเราเกินไปไหม นี่เป็นข้อหนึ่งที่ผมระวัง โดยเฉพาะเวลาผมพาอาสาสมัครเข้าไป ผมจะค่อนข้างเลือก เพราะน้องพวกนี้เขามีชีวิตที่มีแต่คนทิ้งเขา แล้วถ้ามีอามาสมัครที่มาทำให้เขามีความสุขวันเดียวแล้วไม่กลับมาอีก ออกไปจากชีวิตเขาอีกแล้ว มันก็คือการสร้างปัญหาเดิม ดังนั้นสองปีที่ผ่านมา ตัวผมจึงพยายามไปเกือบทุกอาทิตย์ อาจจะมีขาดบ้าง แต่ก็พยายามมาเรื่อยๆ ให้เขารู้สึกโอเคกับเรา



พี่ไม่ได้มาเล่นๆ: ผลงานภาพถ่ายจากน้องๆถูกนำมาจัดแสดงอย่างมืออาชีพที่ CASE Space Revolution (ชั้น 2 ร้าน Broccoli Revolution ปากซอยสุขุมวิท 49) เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

แนวทางการแก้ปัญหาที่ใช้อยู่เป็นอย่างไร เวลาที่เรามองปัญหา คนเรามักจะมองเป็นภาพรวม เช่นนี่คือปัญหายาเสพติด นี่ปัญหา HIV แต่ที่จริงคนเราเจอปัญหาแบบเดียวกันไม่เหมือนกัน เช่นมีคนสามคนติดยา เหตุผลที่แต่ละคนติดยามันไม่เหมือนกัน จึงต้องแก้ปัญหาบุคคล ซึ่งมันก็เหนื่อยตรงนี้ เพราะโลกนี้มีคนตั้งเท่าไหร่ หลายคนเขาจึงแก้แบบภาพรวมโดยใช้เรื่องสถิติ เช่นเอาเงินมาหนึ่งล้าน ซื้อหมอนแจกคนพันคน แล้วก็เอาสถิติเหล่านี้ไปชี้ว่าปัญหาลดลง เพราะได้หมอนครบหมดแล้ว แต่ในความเป็นจริง เรื่องจิตใจมันอีกอย่างหนึ่ง เราต้องถามปัญหาจากเขา ไม่ใช่แก้ปัญหาที่เราคิดเองว่าเขามี อย่างสมมุติมีเด็กคนหนึ่งขโมยตังค์ เขาก็อาจจะไม่ได้ทำเพราะมีความทุกข์ก็ได้ ซึ่งเราก็ต้องเริ่มดูในเรื่องเบสิคก่อน ว่าเขามีอาหารกินเปล่า เขามีที่นอนหรือเปล่า เขาติดยาหรือเปล่า


แล้วเหตุผลของกิจกรรมต่างๆ ก็เพื่อสร้างให้เขามีความมั่นใจ พอเขาได้รู้สึกคุณค่าในตัวเองกลับมา มันถึงจะไปต่อได้ และอยู่ด้วยตัวเองได้ ไม่ว่าจะออกไปทำอาชีพอะไร




น้องส่วนใหญ่ไม่มีวุฒิ ไม่มีบ้าน ถ้าเขาจะไปสมัครงานมันลำบากไหม ก็มีไปสมัครตลอดนะ แต่มันมีหลายคนในสังคมที่เอาเปรียบเด็ก อย่างมีน้องคนหนึ่งไปเป็นยาม ผมเจอเขาใส่ชุดยาม ท่าทางภูมิใจมากเลย แต่ผ่านไปสองอาทิตย์ เจอกันอีกทีเขาบอกไม่ได้ทำแล้ว เพราะเขาให้ทำงาน 3 วันรวดแบบไม่มีหยุดเลย หรืออย่างช่วงตรุษจีนที่มีการเต้นเชิดสิงโตกันเยอะๆ ช่วงนั้นเด็กจะหายไปทำงานกันหลายคน เพราะมีองค์กรบางแห่ง ที่จะหาเด็กไปอยู่บนยอด เพราะว่าเด็กพวกนี้ไม่มีพ่อมีแม่ ถ้าตกลงมาตายก็ไม่มีใครฟ้องไง มันมีคนจ้างงานที่ไม่โอเคหลายอย่าง แต่จ้างเด็กพวกนี้เพราะเอาเปรียบได้


การที่ต้องอยู่กับปัญหาคนอื่นเยอะๆ แบบนี้ เราจะอยู่กับอารมณ์ของตัวเองได้ยังไง ปัญหาของคนอื่นมันไม่เข้ามาบั่นทอนจิตใจตัวเองหรือ มันเข้า แต่ว่าเราก็ใช้หลักการศาสนาพุทธนิดหน่อย คือการปล่อยวางกับการอยู่กับปัจจุบัน ไม่หวังว่าทุกอย่างจะเป็นอย่างที่เราอยากเห็น เพราะการหวังเป็นสิ่งที่เราสร้าง ไม่ใช่เขาสร้าง


มีเคสไหนที่รู้สึกประสบความสำเร็จบ้าง? ไม่มี เพราะถ้ารู้สึกว่าประสบความสำเร็จ นั่นมันคือความต้องการของตัวเองแล้ว มันก็มีบางคนที่เขาดีขึ้น มีบางคนกลับไปเรียนหนังสือ ซึ่งผมถือว่าผมไม่ได้ประสบความสำเร็จ แต่เขาต่างหากที่ประสบความสำเร็จ  เพราะมันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับผมเลย มันคือตัวเขา เราก็แค่เป็นตัวเสริม 


ติดตามกิจกรรมเพื่อสังคมของมูลนิธิสติ ได้ที่ Facebook ของ SATI Foundation


บทความนี้สนับสนุนโดย ปากกา Quantum



留言


bottom of page