ช่อใส่ชุดซำ้ คนแฟชั่ลรับได้ไหม?

ถ้ารับไม่ได้ก็ คปต เป็นธรรมดาที่บุคคลมีชื่อเสียงจะโดนจับตามองเรื่องเสื้อผ้าหน้าผมเมื่อออกงาน ตั้งแต่เซเล็บบนพรมแดง, นักการเมือง ไปจนถึงเจ้าหญิงแห่งราชวงศ์อังกฤษ
เรื่อง พัทธ์ธีรา เกียรติสุดาเกื้อกูล @lordpline
ช่อ พรรณิการ์ พรรคอนาคตใหม่เปิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภาฯ ในชุด Poem ชุดเดียวกับตอนวันเปิดประชุมสภา ไม่แปลกที่จะโดนแฟชั่นนิสต้าโลกเก่าเม้าว่าชุดซ้ำ
แอร๊ยยย...นี่ยังไม่รู้หราว่าการใส่ชุดซ้ำมันคือเทร็นด์ใหม่!
เป็นเวลาช้านาน ที่ความฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อของเซเล็บกับกฏชุดห้ามซ้ำ สร้างค่านิยมให้ผู้หญิงชนชั้นกลางต้องกลุ้มใจทุกทีตอนที่ต้องหาชุดใส่ไปงานแต่ง สาเหตุหนึ่งก็เพราะกลัวโดนแซวว่าชุดซ้ำ แต่ปัจจุบันผู้หญิงสวยรวยฉลาดในแวดวงแฟชั่นและฮอลลีวู้ดกลับแข่งกันขุดชุดเดิมมาใส่ออกงานและอยากให้คนจำได้ด้วยว่าใส่ชุดซ้ำ เพราะมันแสดงถึงความรักโลกอีกรูปแบบ อีกทั้งยังต่อต้านทุนนิยมไปในตัว ดูเป็นคนฉลาดมีความรับผิดชอบต่อสังคมไปอีก มันเก๋ตรงนี้
ธุรกิจแฟชั่นก่อเกิดมลพิษต่อโลกมากเป็นอันดับสองรองจากน้ำมัน และผลิตขยะมากเป็นอันดับสองรองจากพลาสติก ปีหนึ่งประมาณ 92 ล้านตัน และทุกปีจะมีขยะเสื้อผ้าขายไม่ออกมูลค่ากว่า 16,000 ล้านบาทที่ถูกเผา ไม่ก็ฝังกลบลงพื้นดิน

เจน ฟอนด้าใส่โค้ตสีแดงไปประท้วงทุกอาทิตย์และบอกว่านี่จะเป็นเสื้อตัวสุดท้ายที่เธอจะซื้อ / เคต มิดเดลตันดัชเชสแห่งสหราชอาณาจักรชอบ mix and match ชุดเก่าบ่อยๆ และบางชิ้นก็ราคาแค่หลักพัน / โจ๊กเกอร์-วาคิน ฟีนิกส์ใส่ทักซิโด้ Stella McCartney ตัวเดิมตลอดการเดินสายงานรับรางวัลที่ผ่านมา / เคต บลันเชตต์ก็ใส่ชุดซ้ำบ่อยๆ เพื่อแสดงจุดยืนเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่นชุด Armani จากงาน Golden Globe 2014 ฉายซ้ำอีกทีเทศกาลเมืองคานส์ปี 2018 /และคนที่นิยมใส่ชุดซ้ำบ่อยมาก ก็คือยานแม่แฟชั่น แอนนา วินทัวร์ ที่โชว์ให้ผู้หญิงเห็นว่าเสื้อตัวเดิมแต่ถ้าฉลาดแต่ง ใส่กับเครื่องประดับรองเท้าหรือแจ็คเก็ตที่ต่างไปมันก็ดูต่างเวอร์ชั่นกัน




แต่แฟชั่นอยู่ได้ด้วยการยั่วกิเลสให้คนอยากซื้อของใหม่ทุกซีซั่น ก็ถ้าซื้อเสื้อตัวนึงแล้วใส่ไปอีกสิบปีจนมันพังจึงจะซื้อใหม่ แล้วปราด้า ชาแนล ยูนิโคลจะเอาอะไรกิน? ด้วยความหิวเงินของแฟชั่นแบบนี้ ทำให้แฟชั่นมักมีสำนึกเรื่องสังคมโลกช้ากว่าวงการอื่นเสมอ เช่นเรื่องความหลากหลายทางเชื้อชาติที่เขาเรียกร้องกันมาไม่รู้กี่ทศวรรษ ก็เพิ่งจะห้าปีนี้เองที่แฟชั่นเพิ่งจะคิดได้ว่าควรมีคนดำขึ้นปกถี่กว่าปีละครั้งสองครั้งอย่างแต่ก่อน หรือจำนวนโมเดลผิวสีบนรันเวย์ควรมีพอๆ กับคนผิวขาว ส่วนเรื่องโลกร้อนก็เพิ่งจะมาตื่นรู้เอาสามปีนี้เองมั้ง เพราะรู้แล้วว่าถ้าแบรนด์ไหนยังไม่เปลี่ยนวิธีคิด คนรุ่นใหม่ที่จะเป็นกลุ่มลูกค้าในอนาคตเขาก็ไม่เอาเหมือนกัน
จากผลการสำรวจของ Neisen (และทุกสำนักในโลก) ชี้ว่าคนรุ่นมิลเลนเนียลและ Gen Z ให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืน (sustainability) มาก พวกเขาเลือกสนับสนุนสินค้าที่ห่วงใยสิ่งแวดล้อมและมองว่ามันเป็นเรื่องเท่

แบรนด์ที่ทาร์เก็ตคนหนุ่มสาวอย่างพวกแบรนด์สตรีทหรือฟาสต์แฟชั่นอย่าง คอนเวิร์ส, ไนกี้, H&M, ซาร่า หรือยูนิโคล จึงเร่งคิดค้นนวัตกรรมรีไซเคิลสิ่งทอ แต่ในทางกลับกัน ฟาสต์แฟชั่นก็ผลิตขยะมหาศาลเพราะพอเน้นขายเยอะขายถูก ถ้าผลิตคุณภาพดีมากก็ไม่คุ้ม แล้วพอมันถูก คนก็ไม่เสียดายที่จะหายหรือทิ้ง นี่เป็นเหตุให้ค่าเฉลี่ยของการใช้งานเสื้อตัวหนึ่งตั้งแต่ซื้อมาจนถึงโยนทิ้งคือ 7-10 ครั้งเท่านั้นเอง โดยคำนวนจากยอดขายและยอดขยะ
ส่วนแบรนด์สำหรับพวกป้าๆ อย่างชาแนล ดิออร์จะขยับตัวเรื่องนี้ช้ามาก อย่างหนึ่งก็เพราะลูกค้าส่วนใหญ่แก่ๆ ด้วยแหละ และเรารู้กันดีว่าพวกคนแก่รวยๆ จะไม่ค่อยตื่นตัวเรื่องพวกนี้เท่าไหร่ เขาให้ค่าความหรูหรามากกว่าความยั่งยืน

แบรนด์ไฮเอนด์ที่ตื่นตัวหน่อยนอกจาก Stella McCartney ที่เริ่มเป็นเจ้าแรกๆ ก่อนกระแสรักโลก ก็มีปราด้าที่ทำเป็นระยๆ ล่าสุดเพิ่งปล่อยคอลเล็คชั่น Re-Nylon ที่ใช้ไนลอนรีไซเคิล 100% จากพลาสติกในทะเลและแหตกปลา ไปจนถึงเส้นใยเศษผ้ามาทำกระเป๋า แล้วราคาของรีไซเคิลแบบนี้แพงไหม? ตอบ: แพง เพราะที่จริงขั้นตอนการรีไซเคิลวัสดุเพื่อนำมาใช้ไหม่ให้ได้คุณภาพนั้น มีต้นทุนสูงและยุ่งยากกว่าการผลิตเส้นใยหรือเม็ดพลาสติกใหม่
แต่เราในฐานะผู้บริโภคที่ไม่ได้มีอำนาจอะไรในกระบวนการผลิต แต่มีอำนาจในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า นอกจากเลือกสินค้าจากกระบวนการผลิตแล้ว เรายังช่วยสิ่งแวดล้อมและน้องสัตว์เพื่อนร่วมโลกได้โดยการการหยุดช็อปปิ้งเสื้อผ้าใหม่บ่อยๆ

วิธีการลดขยะทุกชนิดที่ดีที่สุดคือการลดกิเลส หยุดซื้อซะมั่ง! อะไรมันยังไม่พังก็ยังไม่ต้องซื้อใหม่ อะไรใส่แล้วสวยใส่แล้วมั่นใจก็ควรใส่ซ้ำมิใช่รึ? เอาเงินไปซื้ออาหารอร่อยๆ หรือทริปชายทะเลสวยๆ สงบๆ แล้วนอนแก้ผ้าผึ่งลมให้รู้ว่าบางทีไม่ต้องมีเสื้อผ้าเลยก็รู้สึกสวยได้
และงานแต่งครั้งต่อไป ถ้าเห็นเพื่อนสาวคนไหนใส่ชุดซ้ำ นั่นแสดงว่าเขาใช้เงินเป็นและมีความรับผิดชอบต่อสังคมโลก ซึ่งเป็นเรื่องน่าชื่นชม