top of page
  • Black Facebook Icon
  • Instagram

Welcome to the world where truth doesn't hurt

ฆ่าตัวตายแต่ดันไม่ตาย เลยถ่ายรูปตัวเองมาทำงานศิลปะดีกว่า



มันก็ผ่านมาได้สองปีแล้ว เอลี่เล่าว่าวันนั้นเธอคิดอะไรก็ไม่รู้ จู่ๆ ก็อยากตายขึ้นมา ตอนนั้นเป็นช่วงสองทุ่ม เธออยู่ที่คอนโดแถวท่าพระ มีเพื่อนกลุ่มหนึ่งมาเล่นเกมกันสนุกสนานอยู่หน้าทีวี ส่วนเอลี่ที่ตอนนั้นอายุ 17 ปี อยู่นอกระเบียงคนเดียว เธอเหม่อออกไปนอกระเบียง แล้วรู้สึกอยากโดดลงไปให้ตายๆ ซะ แต่ในความซึมเศร้า ยังมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม คือเธอกลัวว่าถ้าตายไปแล้วเดี๋ยวคนในคอนโดจะกล้วผีเฮี้ยน เธอจึงกลับเข้าไปข้างใน เดินผ่านเพื่อนที่กำลังเล่นเกมกันโวยวายหน้าทีวี ไปเข้าห้องน้ำ นั่งลงแล้วหยิบขวดน้ำยาล้างห้องน้ำกรอกปากตัวเอง แต่ถือว่าชะตายังไม่ขาด เพราะวันนั้นเธอกินยี่ห้อมาจิค คลีน “หมอบอกว่าโชคดีที่ไม่มีเป็ดโปร เพราะถ้าเป็นเป็ดโปรไส้หายไปแล้ว” เอลี่บอก และเมื่อรอดมาได้จนร่างกายโอเค ก็ต่อด้วยกระบวนการพบจิตแพทย์และให้ยาอยู่เป็นปี หมอวินิจฉัยว่าเธอมีอาการซึมเศร้ามาตั้งแต่ประถมแล้ว สาเหตุเกิดจากการโดนเพื่อนแกล้งมาตลอด ทั้งด้วยวาจาและด้วยกำลัง เธอบอกว่าชีวิตมัธยมของเธอไม่เคยมีวันไหนที่มีความสุขเต็มที่เลย “ทำไมเพื่อนเขาถึงชอบแกล้งเอลี่ล่ะ” ผมถาม “ไม่รู้เหมือนกันพี่ คงเป็นคนงงๆ มั้ง แล้วคนชอบมองว่าเราแรง แล้วก็คงเป็นคนพูดจาขวานผ่าซากด้วย” เธอบอก

เอลิชา ธรรมสุทธศีล (photo: สีสัน) 

ตัดกลับมาปัจจุบัน ตอนนี้เอลี่อายุ 19 ปี เธอกำลังแสดงงานนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรก เป็นนิทรรศการภาพถ่ายตัวเอง (self-portrait) และเพราะยังเป็นศิลปินหน้าใหม่ ยังไม่มีแกลเลอรี่ดังที่ไหนเขาไว้ใจโปรไฟล์ให้พื้นที่แสดงงาน เอลี่จึงทำในแบบที่ศิลปินรุ่นใหม่ควรทำ คือไปขอร้านคนรู้จักแสดงงาน นิทรรศการของเธอจัดเธอที่ชั้นสอง ร้านบ้านบาร์ ซอยรางน้ำ (ติดกับ King Power) ร้านที่ตอนกลางวันเป็นร้านอาหารขนาดคูหาเดียว พอตกดึกแปลงร่างเป็นบาร์พังก์ เอลี่บอกว่ายังไม่ค่อยกล้าเรียกตัวเองเป็นศิลปิน เพราะนี่ก็แค่งานแสดงเดี่ยวครั้งแรก และเนื้อหาของงานก็เป็นเรื่องส่วนตัวมากๆ แต่ก็ยังไม่รู้จะหาคำไหนมาใช้แทนได้ ก็ใช้ๆ คำนี้ไปก่อน งานนิทรรศการเล็กๆ ในบาร์เขรอะๆ ของเอลี่- เอลิชา ธรรมสุทธศีล นี้ มีเนื้อหาสื่อสารถึงช่วงเวลาที่เธอค้นพบวิธีการอยู่กับตัวเองให้ได้ และรักตัวเองให้ได้ มันเป็นผลงานภาพนู้ดตัวเองหน้ากระจกใช้ มีเทคนิคอื่นเข้ามาผสม เช่นเลเยอร์ของภาพถ่ายที่พิมพ์บนกระดาษไข หรือการเผาชิ้นงานบางส่วนเพื่อสื่อสารความรู้สึกที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เธอทนตัวเองไม่ได้

เอลี่: “[ช่วงที่หดหู่หนักๆ ] มันมีบางวันที่เรารู้สึกเหมือนมีอะไรในใจ เพราะเราสามารถร้องไห้ได้ตลอด พอเริ่มอยู่คนเดียวมันจะรู้สึกอยากร้องได้ขึ้นมา แล้วมีวันนึงที่เราร้องไห้หนักมาก โทรไปหาเพื่อนก็ไม่มีใครว่างคุย แล้วพอดีมองตัวเองในกระจก แล้วก็ทำใจคิดขึ้นมาได้ ว่าสุดท้ายก็เหลือแต่ตัวเราในช่วงเวลาที่แย่ที่สุด แล้วตัวเราก็อยู่กับเราในช่วงเวลาที่ดีที่สุดด้วย” “ลี่จึงอยากแชร์ช่วงเวลานั้นให้ผู้ชมได้รับรู้ด้วย เป็นการบอกกับคนอื่นที่อาจกำลังรู้สึกแย่ ว่าลองคิดสิ ว่าถ้าไม่รักตัวเอง คนในกระจกก็คือเพื่อนของเราอีกคนนึง ถ้าตอนนี้เพื่อนของคุณร้องไห้อยู่ คุณจะทำยังไง คุณจะบอกเขาเหรอ ว่าเออ จริงๆ มึงก็ไม่ดี คุณก็ต้องให้กำลังใจเพื่อนของคุณใช่ไหม? แล้วทำไมคุณไม่ให้กำลังใจตัวคุณเองล่ะ” “ลี่เคยได้ยินคำว่า self-love จากสื่อต่างๆ ส่วนใหญ่ก็จะพูดว่า ‘มารักตัวเองกันเถอะ’ ลี่ก็สงสัยว่า ถ้าเราไม่ได้รักตัวเองตลอดเวลา มันจะยังเป็น self-love ได้หรือเปล่า จนลี่ได้คุยกับศิลปินหลายๆ ท่าน และได้คุยกับตัวเองด้วย ทำใ้ห้รู้สึกว่า สิ่งที่เรียกว่า self-love จริงๆ คือการ be honest to yourself ตอนเริ่มทำงานนี้ ทีแรกก็อยากจะหานางแบบสักคนที่ตรงใจมานำเสนอ แต่คิดไปคิดมา ในเมื่อมันเป็นเรื่องของตัวเราเอง เป็นเรื่องส่วนตัวที่เราอยากจะพูดกับคนอื่น ทำไมเราไม่เอาตัวเราเองเป็นแบบไปเลย และถ่ายตัวเองไปเลย”

ถาม: ทั้งหมดมันเกี่ยวกับปมที่สั่งสมมาตั้งแต่เด็กหรือเปล่า ที่บอกว่าถูกแกล้ง ถูก bully บ่อยๆ ตอบ: ก็คงมีส่วน เพราะตอนมัธยมไม่ค่อยมีเพื่อน พอโตมาทำให้รู้สึก insecure เรื่องเพื่อนมากๆ เช่นเวลาใครเข้ามาคุยกับเรา เราก็อยากเป็นเพื่อนกับทุกคนเลย จนบางทีคนคิดว่าตีสนิทกับเขาเกินไปหรือเปล่า แต่ความจริงที่เราเป็นคนเฟรนด์ลี่ เพราะอยากมีเพื่อนมาตลอด แต่สุดท้ายแล้ว บางทีมันก็เหลือแค่ตัวเราเอง ก็มาคิดว่า ทำไมเราต้องพยายามขนาดนั้นที่จะไป treat คนอื่นดีๆ แม้แต่กับคนที่เขาทำให้เรารู้สึกแย่ เพราะกลายเป็นว่า มันกลับเป็นตัวเราที่เรามองข้าม แล้วที่เป็นกระจกเพราะคือว่า มันก็มีบางทีที่เราเห็นตัวเองแล้วรู้สึกว่า เอ๊ย วันนี้ฉันรู้สึกน่ารักจัง วันนี้ฉันชอบตัวเองจัง แต่ก็มีบางวันที่เราก็แต่งหน้าแต่งตัวเหมือนเดิม แต่กลับพูดกับตัวเองว่า มึงแม่งไม่ได้เรื่องว่ะ เราเลยอยากนำเสนอเรื่องราวตรงนี้ ว่านี่คือสิ่งที่เราเห็น ว่ามันก็ไม่แปลกเหมือนกัน ที่เราจะรู้สึกับตัวเองอย่างนั้น แค่เราอยู่กับมันให้ได้ แค่รู้ความต้องการของตัวเอง เคารพตัวเอง

ลี่คิดว่าความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้น มันก็แค่เกิดจากความสับสนของวัยรุ่นหรือเปล่า ก็ส่วนหนึ่ง แต่ลี่คิดว่า ต่อให้เราอายุสี่สิบ ห้าสิบ คนเราก็ยังมีความสับสนตัวเอง โกรธตัวเองอยู่ ต่อให้เราโตแค่ไหน  ในเมื่องานชุดนี้มันเป็นเรื่องส่วนตัวมากๆ แถมยังเอาตัวเองมาถ่ายนู้ดถ่ายด้วย ดังนั้นคำวิจารณ์อาจเลยเถิดจากตัวงานไปจนถึงรูปร่างได้ พร้อมจะรับมือเรื่องนี้อย่างไร มันก็ต้องโดนวิจารณ์อยู่แล้วล่ะค่ะ งานนี้ลี่ก็บอกตรงๆ ว่าก็ประหม่าอยู่เหมือนกันว่าคนดูเขาจะเก๊ตไหม แต่สุดท้ายแล้ว ที่ลี่คิดไว้ก็คือ ถ้าเขาเก๊ตมู้ดเรา ต่อให้เขาเอาไปพูดต่อ ไม่ว่าจะในแง่ไหนมันก็แล้วแต่เขา เพราะเราก็ยอมรับว่างานเรามันยังไม่ดีพอ แต่ลี่ก็อยากให้งานครั้งนี้เป็นการทดลองครั้งหนึ่งของเรา ที่จะโตไปพร้อมกับเรา หมายความว่า เราอาจจะมีงานหัวข้อเดียวกันออกมาในอีกสี่ปี แต่อาจจะออกมาคนละ format กัน ก็ขอแค่ให้งานมันค่อยๆ โต ค่อยๆ พัฒนาไปทีละสเต็ปพร้อมกับตัวเรา เมื่อมีประสบการณ์มากขึ้น แต่ความโหดของศิลปะ คืออายุน้อยก็เรื่องนึง ตัวงานก็อีกเรื่องนึง อายุช่วยป้องกันการถูกวิจารณ์ไม่ได้ ที่เราพูดเพราะแค่เป็นห่วง ว่า ไม่ใช่พอทำงานแล้วโดนคนด่าเยอะๆ จะกลับไปเป็นโรคซึมเศร้าอีกนะ ด่าได้ค่ะ เพราะเอลี่ถือว่าได้ออกมาพูดในสิ่งที่อยากพูดแล้ว แล้วถ้ามีคนไม่เก๊ต ซึ่งมันต้องมีแน่ๆ อยู่แล้ว ก็ไม่เห็นเป็นไร

งานนี้คือการระบายอารมณ์เหรอ ไม่ถึงขั้นระบายอารมณ์ มันจะเป็นเหมือนเพื่อนสาวเล่าเรื่องมากกว่า เพราะจุดประสงค์ในการทำทีแรก ลี่ไม่ได้คิดถึงคนไม่รู้จักเลย เราคิดแต่ว่าอยากให้คนรอบตัวเราได้เห็นในมุมองของเรา อย่างน้อยก็อยากให้แม่มาเห็นงาน และอยากให้คนที่เขาเป็นห่วงเราในตอนนั้นรับรู้ว่าที่เราผ่านมาได้ เพราะให้กำลังใจตัวเองด้วยวิธีแบบนี้ ตอนนี้มองโลกยังไง โลกนี้มันดีพอในสายตาเธอหรือเปล่า โลกก็คือโลกค่ะ มันก็เป็นของมันอย่างนี้ ต่อให้มันไม่ดีพอเราก็ต้องอยู่กับมัน กะจะฆ่าตัวตายอีกไหม ไม่ มั่นใจนะ มั่นใจ เพราะถ้าทำอีกแล้วรอดออกมาได้ ค่ารักษามันแพงมากด้วย เพราะประกันไม่ยอมจ่าย ตอนนั้นหมดไปเกือบเจ็ดหมื่น นี่ทุกวันนี้แม่ยังพูดอยู่เลย คือหนูไม่เอาแล้ว ตอนนี้กูไม่ยอมตายแล้ว กูพอแล้ว


 

นิทรรศการภาพถ่าย “My Best Friend, เพื่อนสนิทของฉัน” โดย เอลี่-เอลิชา ธรรมสุทธศีล จัดแสดงระหว่างวันที่ 22-29 กันยายน ที่ชั้น 2 ร้านบ้านบาร์ ซอยรางน้ำ (ติด King Power) ชมได้ตั้งแต่เวลา 12.00 น. – 24.00 น. งานเปิดนิทรรศการ วันเสาร์ที่ 22 กันยายน เวลา 19.00 น. เป็นต้นไป คลิก FB Event Page เพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม

bottom of page