top of page
  • Black Facebook Icon
  • Instagram

Welcome to the world where truth doesn't hurt

เอาแต่เล่นเกมส์ วันๆ ไม่ทำอะไร โตไปจะทำอะไรกิน?


สัมภาษณ์โดย พีรมณฑ์ ตุลวรรธนะ


ลืมคำว่ากีฬาคือการเสียเหงื่อ บริหารกล้ามเนื้อทั้งตัวไปเลย เพราะเรากำลังจะพูดถึง eSport หรือกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นกีฬาประเภทบุคคลหรือทีมชนิดหนึ่ง ที่เกี่ยวกับกับการแข่งขันวิดีโอเกม โดยมีการแข่งตามประเภทของวิดีโอเกมเช่น เกมวางแผนการรบ, เกมต่อสู้, เกมยิงกันทั้งแบบจากมุมมองของคนเดียวหรือหลายคน (MOBA-Multiplayer Online Battle Arena) โดยการแข่งขันแบ่งออกเป็นระดับสมัครเล่น กึ่งอาชีพ และระดับมืออาชีพ รวมถึงมีทัวร์นาเมนต์ และลีกต่าง ๆ เช่นเดียวกับกีฬาทั่วไป และลือกันว่าโอลิมปิค 2024 ที่ปารีส ก็อาจมีการบรรจุ eSport เป็นกีฬาด้วย


ในไทยก็มีดราม่าอยู่ช่วงหนึ่ง ที่ทางภาครัฐจะไม่มีการส่งนักกีฬา eSport ไปแข่ง แต่ภายหลังเดือนกรกฎาคมก็ได้บรรจุอีสปอร์ตเป็นกีฬาแล้ว แต่วงการกีฬา eSport ก็ยังเหมือนอยู่ในกลีบเมฆอยู่ดี


สัมภาษณ์คุณสันติ โหลทอง นายกสมาคม eSport

ตอนนี้ทีม eSport ของไทยมีขนาดใหญ่แค่ไหน มีผู้เล่นกี่คน แต่ละทีมมีโค้ชไหม ลงแข่งเกมอะไรบ้าง? มีจำนวนทีมเยอะมาก แต่เป็นความเยอะที่เกิดจากกระแสนิยม และยังไม่มีระบบอะไรไปครอบเขา อย่างทัวร์นาเมนต์ล่าสุดก็มีคนมาสมัครแข่งมีทีมประมาณ 500-1,000 ทีม ทุกเดือนจะมีทีมที่ได้แชมป์ประมาณสี่รายการ สี่ทีม เกมส์ที่ใช้แข่งมี Overwatch, Dota 2, CHEO แม้กระทั่ง Ragnarok เพราะประเทศไทยมันก็จะมีแบบ ใครอยากแข่งอะไรก็แข่งกันไป


ก็เหมือนกับกีฬาทุกๆ ชนิดที่อยู่บนโลกนี้ ที่จะมีแชมป์แค่ไม่กี่ทีม ทีมส่วนใหญ่ไม่มีโค้ช ยกเว้นทีมที่คาดหวังว่าจะคว้าแชมป์ได้ เป็นทีมขาประจำ อย่างเช่น Signature, MITH, First, หรือ Ozone พวกนี้เขาก็จะมีผู้จัดการทีม แล้วก็จะมีแผนกที่ทำกราฟิกดีไซน์ แผนกวิดีโอทีเซอร์ ตัดต่อ พีอาร์ มีทุกแผนก ซึ่งพวกนี้มีไม่เกินยี่สิบทีมในประเทศไทย


ทีมใหญ่ๆ พวกนี้แข่งเกมส์อะไรบ้างคะ? เขาก็จะโฟกัสไปตามทัวร์นาเมนต์ระดับนานาชาติก่อน เกมส์จะแบ่งออกเป็นสองแนว แนวนึงก็จะอยู่ในสังกัดของ Garena กับอีกแนวคือ Electronic Extreme เกมส์ในสังกัดของสองค่ายนี้ ถือว่าถ้าจัดแข่งกันเมื่อไหร่ ประเทศไทยไม่เป็นรองใครในโลกนี้ ยกเว้น LoL (League of Legends) ที่มีสิงคโปร์เป็นคู่แข่งอยู่ แต่ถ้า HoN (Heroes of Newerth) หรือ FIFA เนี่ยเราเตะหามเลย อีกกรุ๊ปนึงที่ทีมใหญ่ๆ ชอบแข่งกันเนี่ย ก็จะเป็น Dota 2, CHEO, Overwatch, Club-g, Starcraft เพราะฉะนั้นเกมส์ก็จะมีเท่านี้แหละครับ


ปกติผู้เล่นทำอาชีพอื่นไหม หรือเล่นเป็นอาชีพหลักอย่างเดียว? ส่วนใหญ่จะไม่ได้ทำอาชีพอื่น ถ้าเป็นมืออาชีพจริงๆ อยู่ในช่วงที่ฟอร์มร้อนแรง ในวัยที่กำลังดี กำลังสด เขาก็จะไม่ทำอย่างอื่นเลย จะแข่ง eSport อย่างเดียว แต่เมื่อใดก็ตามที่เขาเติบโตขึ้น แก่ขึ้น แข่งแล้วสู้คนอื่นไม่ได้ จะมีธุรกิจที่เกี่ยวกับเกมหรือ eSport มารองรับเขาอยู่ เพราะเขาถือเป็น specialist ของวงการ มีความเข้าใจในคอนเทนต์มากกว่าหลายๆ คน ยกตัวอย่างคุณป้อง CEO ของ Mineski เป็นนักกีฬาeSport รุ่นใหญ่ เดิมทีเขาเปิดร้านเกมของเขาชื่อร้าน How มีอยู่ยี่สิบสาขา แต่ How มีความเป็นธุรกิจท้องถิ่น พอ Mineski จากฟิลิปปินส์อยากจะลงทุน เขาก็ร่วมลงทุนด้วย ไปเปิดร้านเกมส์ร่วมกับบริษัทต่างชาติ เขาใช้ความเป็นนักกีฬา eSport ของเขาทำธุรกิจ ถึงเดี๋ยวนี้เขาแข่งไม่ไหวแล้ว แต่เขาก็ไม่ต้องเสียเวลาไปแย่งชิงเงินรางวัลกับนักกีฬารุ่นใหม่ๆ เขากลายเป็นส่วนหนึ่งของโปรดักชั่น เป็นฟันเฟืองตัวนึงที่ขับเคลื่อนวงการ eSport


อย่างคุณป้องนี่เขาแข่งมีกี่ปีแล้วคะ ตั้งแต่ปี 2000 แล้วครับ ไม่ใช่เด็กแล้ว เป็นทีมที่ผมเคยให้การสนับสนุนด้วย เดี๋ยวนี้ต้องเรียกคุณป้องแล้ว เพราะเขารวยมาก ฮ่าๆๆ


นักกีฬาเตรียมตัวไปแข่งยังไงคะ ฝึกหนักแค่ไหน กี่ชั่วโมงต่อวัน เราต้องแยกก่อนว่าเกมเมอร์กับกลุ่มมือโปร eSport เขาซ้อมไม่เหมือนกัน กลุ่มที่เป็นคนที่ชอบเล่นเกมก็จะซ้อมแบบหูดับตับไหม้ไปเลยนะ คือไม่สนใจเสียงทัดทานใดๆ เพราะเขาสนุกกับการวิ่งอยู่ในเกม แต่สำหรับโปรเลย เขาจะมีความรู้สึกว่าถ้าเล่นมากไป เขาจะเลี่ยน พอล้า เขาก็หยุดแล้วก็วางแผน

เพราะฉะนั้นคำตอบ ผมจะขอโฟกัสไปที่มืออาชีพอย่างเดียว นั่นคือ จะต้องมีการควบคุมเวลา และมีการวางแผนซ้อมจริง การซ้อมก็ไม่ใช่แค่ไปเล่นธรรมดา ยกตัวอย่างว่า คุณชอบเล่นเกมนี้มาก คุณค่อยๆ ไต่ rank ของตัวเอง เก็บเลเวลไปเรื่อย จนกระทั่งจังหวะได้เสียชิงชัยอยู่ที่สามสิบนาทีสุดท้าย รูปเกมเป็นแบบนี้ แต่ตอนซ้อมไม่ใช่แบบนี้ ตอนซ้อมต้องนัดกันเลยว่า จังหวะแบบนี้อย่างเดียวเท่านั้น ก็มาลองดูกันว่าได้ผลมั้ย ถ้าไม่ได้ผล ก็เอาใหม่ กลับไปที่จังหวะเดิมใหม่อีกครั้ง ซ้อมครั้งแล้วครั้งเล่า จนกระทั่งจำมันได้ว่าทำยังไง แล้วก็ใช้มันเป็นแผนของเรา คิดแผนสอง แผนสาม แผนสี่ ไปเรื่อยๆ นี่คือกีฬา eSport


แต่ถ้าอีกกลุ่มนึง ไม่อยากพูดถึง ก็คือกลุ่มที่เป็นฮาร์ดคอร์ ที่เล่นแบบหูดับตับ เพราะเขาไม่สนใจอะไรเลย กลุ่มนี้ก็เก่งนะ อาจจะมีเซอร์ไพรส์ อาจจะมีกลยุทธ์ใหม่ๆ มา แต่อย่าลืมว่าเทคนิคมันก๊อปปี้กันได้ 


แสดงว่าทีมที่เป็นโปร ก็จะมีกลยุทธ์ในการซ้อมมากกว่า ถูกต้องครับ เขาจะมีเป้าหมายชัดเจน มีความจริงจังต่อหน้าที่ของตัวเอง ไม่ใช่แค่จริงจังต่อการเล่นเกมนะ แต่จริงจังต่อ position ของตัวเอง ว่า คุณเป็นซัพพอร์ท (ฝ่ายสนับสนุน) คุณเป็นแทงค์ (ฝ่ายโจมตี) คุณเป็นตัวแครี่ (ฝ่ายนำ) หรือเป็นอะไรก็แล้วแต่ ต้องจริงจัง และต้องเป๊ะในหน้าที่ของตัวเอง


ก่อนแข่งประชุมกันแค่ไหนคะ? ประชุมกันทั้งวันเท่าที่จะทำได้ อย่างเก็บตัวนักกีฬาเนี่ย จะมีครบเลยนะครับ แม้ว่าส่วนนึงมันจะเป็นการสร้างภาพก็เถอะ แต่มันกำลังจะเป็นที่ยอมรับไปในที่สุด นั่นคือ ตื่นเช้ามาต้องกินข้าวเช้า ออกกำลังกาย ประชุมทีม แล้วก็ซ้อม


ออกกำลังกายด้วยเหรอคะ? มีครับ มีหลักสูตรการออกกำลังกาย แต่ก็ไม่ได้เหมือนนักกีฬาอื่นๆ ทั่วไป อาจจะมียืดเส้นยืดสาย วิ่งจ๊อกกิ้งเบาๆ ให้เหงื่อออก ให้เลือดลมมันเดิม อาจจะต้องมีการกายภาพนิดนึง ซึ่งทางสมาคมกำลังทำเรื่องพวกนี้ร่วมกับ กกท.อยู่ เราก็ต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยา นักวิทยาศาสตร์ทางการกีฬา เพื่อที่จะใช้สิ่งที่เป็นกีฬาอยู่แล้วมาครอบ eSport อีกที การตรวจสุขภาพก็อาจจะเกิดขึ้น แต่ตอนนี้ยังไม่มีนะ


แสดงว่านักกีฬา eSport นี่จะผิดกับภาพที่คนคิดภาพเหมือนเด็กติดเกมทั่วไป คือถ้าเรามองในมุมนั้น ก็แสดงว่าเรามองติดลบมาตลอด คนติดเกม สมมติว่ามีคนสองคนที่ติดเกม นายเอ ติดเกม แต่รับผิดชอบตัวเองดีทุกอย่าง เข้านอนเป็นเวลา ทำงาน ดูแลสุขภาพ แต่ติดเกม ในขณะที่นายบีติดเกมเหมือนกัน นายบีไม่เข้านอน สูบบุหรี่ กินเหล้า ไม่ทำงาน ไปเรียนสาย ถามว่าบีผิดหรือไม่ ทั้งที่นายเอกับนายบีก็ติดเกมเหมือนกัน


เกมมันไม่ใช่พิษ แต่สิ่งที่คนทำอยู่ต่างหาก ที่เป็นพิษของตัวเอง แล้วพอมาทำเยอะๆ มันเลยกลายเป็นปัญหาสังคม ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้ว่าเราต้องเข้าไปช่วยกันดูแล เราต้องดึงกันไปในทางที่ดี

วางแผนก่อนแข่งอย่างไร จริงจังขนาดไหนคะ จริงจังขนาดที่เรียกว่า เหมือนไปยึดประเทศกันเลย เข้าอย่างนี้ จุดยุทธศาสตร์ตรงนี้ เราก็ต้องมองแล้วว่า position อย่างนี้ สไนเปอร์อย่างนี้ ต้องเล็งแบบไหน สามารถเล็งผ่านช่องเล็กๆ ช่องเดียวได้อย่างไร นับกันเป็นทั้งหมดภายในกี่วินาที และจะต้องรู้ว่าฝ่ายตรงข้ามมีสิทธิ์จะใช้แผนไหนซ้อนแผนเราบ้าง


แสดงว่าเราก็ต้องพอรู้แผนของคู่ต่อสู้สิคะ ครับ อย่างน้อย ครึ่งนึงเราต้องรู้ จะมีหน้าใหม่โผล่มาบ้าง พวกฮาร์ดคอร์ที่จะพลิกชนะไปได้ๆเรื่อยๆ แต่ปัญหาของนักกีฬาหน้าใหม่คือเรื่องประสบการณ์ ทำให้เข้ารอบได้ไม่ลึก หลายๆ ครั้งทัวร์นาเมนต์นี้ลงมานี่มองได้เลยว่าแปดทีมสุดท้ายจะมีใครบ้าง เนื่องจากวงการ eSport บ้านเรา ความแข็งแรงยังไม่กระจายไปในสังกัดต่างๆ มันเลยไปกระจุกอยู่ที่ไม่กี่ทีม


เวลาชนะนี่คุ้มทุนมั้ยคะ? ถ้าเราดูรายการนึงในประเทศไทย แชมป์ได้ล้านหรือสองล้าน แค่ทัวร์เดียวก็เกินทุนแล้ว แต่ต่างประเทศสูงกว่านี้เยอะ ต่ำๆ ก็ห้าล้าน พอเราได้แชมป์หนึ่งรายการ ก็จะมีสปอนเซอร์มาหนุนอีก พอเราเก่ง เดี๋ยวสปอนเซอร์เขาก็มาเอง eSport ไม่ใช่การลงทุน แต่เป็นเรื่องของพรสวรรค์ที่ทำให้คนสามารถสร้างอาชีพใหม่ๆ ได้บนโลกที่มีเทคโนโลยี มีนวัตกรรมใหม่ๆ จะสังเกตดูเด็กรุ่นใหม่ไม่ได้ฝันจะเป็นสถาปนิกหรือหมอ กลุ่มนึงอยากมาทำงานสายนี้ เพราะอัตราค่าจ้างมันสูง และโบนัสจากสิ่งรอบๆ มันเยอะมาก

คิดว่าอนาคต eSport ไทยจะไปในทิศทางไหนคะ ถึงแม้ว่าวันนี้เราจะมีศักยภาพแล้ว มีรายได้หล่อเลี้ยงวงการ เลี้ยงตัวเองด้วยเงินหมุนเวียนของวงการ eSport ไทยในหลักร้อยล้านที่กระจายกันออกไป ไม่ใช่แค่นักกีฬาแต่รวมทั้งบริษัทออร์แกไนซ์หรือสื่อด้วย เราควรจะมีระบบของประเทศไทย สิ่งที่พัฒนาควรจะสร้างคน สร้างระบบที่ดี สร้างโอกาส นักกีฬารุ่นแรกต้องกลายเป็นต้นแบบที่ดีให้กับนักกีฬาเยาวชนรุ่นต่อไป

ผมไม่อยากให้เห็นว่านักเรียนนักศึกษามองว่า eSport คือช่องทางทำเงิน ผมจะบอกว่า มันก็มีโอกาสไม่ได้เงิน แต่อยากให้คุณไปดูต้นแบบเสียก่อน การมีระบบมา จะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดได้ ไม่ต้องการให้คนไปอ้างว่า เล่นเกมส์เพราะจะซ้อม eSport นักกีฬาไทยจะกลายเป็นคนที่สามารถสร้างชื่อเสียงให้ประเทศได้ในฐานะนักกีฬาตัวแทนประเทศ

ที่ผมเน้นคำว่านักกีฬาไทยนี่ เป็นเพราะไปคุยกับภาครัฐ เราได้เห็นแนวทางที่เขาอยากให้เราเดิน นั่นคือใช้กีฬาสร้างคนให้เป็นคน ใช้กีฬาเพื่อให้เกิดมิตรภาพ ให้เกิดการอยู่ร่วมกันในสังคม รู้จักแพ้ รู้จักชนะ รู้จักน้ำใจนักกีฬา

อะไรคืออุปสรรคต่อการพัฒนา อย่างนึงคือเราตอบคำว่า eSport คืออะไรให้กับคนที่อยู่นอกวงการ eSport ให้เข้าใจได้ยาก และก็จะมีการโต้ตอบกันอย่างดุเดือดเผ็ดมันกันอยู่เรื่อย รวมถึงผู้ใหญ่ทางภาครัฐอีกหลายๆ กระทรวงยังลำบากใจกับการที่ eSport ถูกบรรจุเป็นกีฬา

อีกอันคือ ภาคธุรกิจ เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในฐานะของผู้ซื้อมากกว่าผู้ผลิต เพราะฉะนั้นงบทางการตลาด การจะให้ eSport ไทยทัดเทียมนานาประเทศ จะต้องเกิดจจากธุรกิจในประเทศ มันถึงจะได้เงินก้อนใหญ่ โอกาสที่จะได้เงินจากแบรนด์คอมพิวเตอร์ที่มาจากไต้หวัน เกาหลี หรืออเมริกา มาทำอีเวนท์ใหญ่ๆ ในประเทศได้ก็มี แต่ก็ไม่สามารถทำให้ใหญ่ได้เท่าประเทศต้นทางได้ แต่ในอุปสรรคข้อนี้มันมีทางออกของมัน คือจะต้องสามัคคีกัน อย่าเอาแบรนด์เดียวมาทำ ต้องทำหลายแบรนด์ แต่ก็ไม่เคยเห็นรวมกันจริงจังสักที

สำหรับนักกีฬา ผมก็อยากบอกว่า ถึงเงินเป็นสิ่งสำคัญ นักกีฬาแข่งเพื่อให้ได้เงินมา แต่สิ่งหนึ่งคือนักกีฬาต้องเสียสละ นึกภาพนางสาวไทยเขาชนะแล้ว ได้เงินแล้ว เขาก็ยังต้องไปทำภารกิจโน่นนี่ นักกีฬาก็ควรจะมีคุณค่า คุณชนะแล้ว คุณก็ควรจะไปแชร์ประสบการณ์ด้านเกมส์ของคุณ ก็เป็นหน้าที่ของนักกีฬาที่จะสร้างโอกาสให้วงการขยับขยาย 

ส่วนคนที่อยู่ในกลุ่มเกมเมอร์ คือเกมส์มันถูกสร้างมาเพื่อให้ผ่อนคลาย มากกว่าที่จะให้เครียด ให้เกิดอาการหัวร้อน และอะไรที่เขาดูถูกเรา ว่าเด็กเล่นเกมส์แล้วการเรียนเสีย สุขภาพเสีย คุณก็ทำให้มันสวนทางสิ่งที่เขาดูถูกคุณ ดูแลตัวเอง รักษาสุขภาพ มีความรับผิดชอบ เขาก็มาว่าคุณไม่ได้แล้ว ไม่ต้องไปเถียงกับใคร

Comments


bottom of page