ทำไมเพลง ONE NIGHT IN BANGKOK จึงเป็นเพลงเหยียดเมืองบางกอก

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ยังมีสิ่งที่ไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในโลกสิ่งหนึ่ง ชื่อว่า “การเคารพความต่าง” (Political Correctness หรือ PC) ได้มีเพลงๆ หนึ่ง แต่งขึ้นเพื่อใช้ประกอบละครเวทีชื่อ Chess เพลงนั้นมีชื่อว่า “One Night in Bangkok”
เนื้อเพลงเป็นการเปรียบเปรยชีวิตเมืองบางกอกยามราตรีกับเกมส์หมากรุก หยอกเย้ากับความใจกว้างของสาวๆ ในเมืองนี้ ทั้งแบบที่มีมดลูกและไม่มี อย่างสนุกสนานจนกลายเป็นเพลงฮิตติดชาร์ตอันดับ 3 ในอเมริกา และกลายเป็นเพลงเกี่ยวกับกรุงเทพฯ ที่ดังที่สุดจนถึงบัดนี้
ตั้งแต่ยุค 90s เป็นต้นมา ความ PC ถูกพูดถึงมากขึ้น ว่าการเข้าใจเขา-เข้าใจเราจะทำให้สังคมลดความกระทบกระทั่งได้ แต่เรากลับไปดูกันอีกครั้ง ว่าเพลง “บางกอกคืนเดียวก็เสียวได้” จากปี 1984 เพลงนี้ นี้พูดถึงกรุงเทพฯ ว่าอย่างไรบ้าง เอาแค่ท่อนฮุคพอ
“One night in Bankok and the worlds’s your oyster The bars are temples but the pearls ain’t free You’ll find a god in every golden cloister And if you’re lucky then the god’s a she I can feel an angel sliding up to me”
คืนเดียวที่บางกอก จะทำให้คุณเป็นเจ้าปฐพี มีบาร์เป็นโบสถ์ที่ความโสดสดไม่ฟรี พระเจ้าอยู่ในทุกวิหารทองอร่ามยิ่ง หากฟ้าเมตตาพระเจ้าของคุณจะเป็นสตรีจริง เทวีตัวน้อยสอดกายใส่ตัวฉันนี้
“
One night in Bangkok makes a hard man humble Not much between despair and ecstasy One night in Bangkok and the tough guys tumble Can’t be too careful with your company I can feel the Devil walking next to me”
คืนเดียวในบางกอก ชายแข็งปั๋งยังต้องสลด บอกได้ไม่ครบว่าควรหู่หดหรือปรีดี คืนเดียวในบางกอก ใครที่ว่าแน่ยังต้องสยบ ความชื่นมื่นที่พบข้างกายจงระวังให้ดี ฉันรู้สึกเหมือนภูติร้ายเดินขนาบทุกนาที
อนึ่ง เราติดต่อ Murray Head นักร้องเพลงนี้ จุดประสงค์ไม่ได้เพื่อล่าแม่มด แต่เพื่อถามถึงมุมมองที่มีต่อกรุงเทพฯ ของคนแต่งเพลงจากยุค 80s ว่าสังคมในยุคนั้นตอบรับกับเพลงนี้อย่างไร แต่ไม่ได้รับการตอบกลับจากตัวศิลปิน
เราเลยไปคุยกับ จุฑาธร ประวัติยากูร Associate Scholar มหาวิทยาลัย Harvard ที่ศึกษาเรื่องสิทธิโสเภณีและความหลากหลายทางเพศ ให้เธอลองฟังเพลงนี้อีกทีว่าคิดเห็นอย่างไร เธอตอบกลับมาเป็นบทความดังนี้

ทำไมเราถึงไม่ควรสนับสนุนเพลง One night in Bangkok โดย จุฑาธร ประวัติยากูร
เริ่มจากมิวสิควีดีโอที่สร้างมาเหมือนไม่ได้ทำการบ้านเรื่องเมืองไทยเลยแต่พยายามจะเสนอภาพ ‘ความเป็นไทย’ (ซึ่งอันนี้ต้องถกเถียงกันยาวต่ออีก ว่าความเป็นไทยคืออะไรและมีอยู่จริงหรือไม่?) แต่เสนอมาด้วยภาพเหมารวมแบบผิดๆ เช่น นางเอก MV เป็นผู้หญิงหน้าตาตะวันตกใส่ชุดกึ่งจีนกึ่งเวียดนาม ตัวแสดงอื่นๆ มาในลักษณะใส่งอบพร้อมชุดจีน กินอาหารด้วยตะเกียบ ผู้ชายไทยแก้ผ้าท่อนบนตัวมอมแมม มู่ลี่ห้องแบบเอเชียตะวันออก
มิวสิคว่าแย่แล้ว ถ้าดูเนื้อเพลงแบบละเอียดยิ่งน่าถอนหายใจยาวๆ ไปกันใหญ่ เนื้อเพลงมีปัญหาเรื่องการเหมารวมกรุงเทพอย่างชัดเจน ว่าเป็นดินแดน Exotic (แปลกประหลาดน่าพิศวง) โดยมีนัยยะหลักๆ เรื่องผู้หญิงบาร์ วัด อาบอบนวด การค้าบริการทางเพศ การตีตรากะเทยกับการขายบริการทางเพศ
นี่คือปัญหาการเหมารวมแบบ Eurocentric (การเอาคนขาวเป็นศูนย์กลางที่เหนือกว่าชาติพันธุ์อื่น) และ exoticize (สร้างความแปลกประหลาด) ให้แก่ชนชาติอื่นๆ ที่นอกเหนืออเมริกาและยุโรป (หากสนใจหัวข้อนี้ให้หาหนังสือเกี่ยวกับเรื่อง Orientalism ของEdward Said)
ซึ่งหลายคนวิเคราะห์ว่าการสร้างภาพ exotic ให้ชนชาติอื่นก็เพื่อสร้างปมผู้เหนือกว่า (superiority complex) เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ชาวตะวันตกในยุคล่าอาณานิคม และวิธีคิดแบบนี้ก็ตกทอดยาวมาถึงยุคปัจจุบัน แต่มาในรูปแบบการล่าอาณานิคมใหม่ ซึ่งมาในรูปแบบของวัฒนธรรม แฟชั่น ดนตรี อาหาร และทุกสิ่งอย่าง
บทความนี้ไม่ได้ชี้แนะสร้างกระแสชาตินิยมแต่อย่างใด เพราะไม่เกี่ยวกับความเป็นชาตินิยม แต่เราอยากเสนอว่ามันสมควรแล้วเหรอ ที่มีเพลงสากลเกี่ยวกับกรุงเทพฯ ที่โด่งดังชนิดที่ว่าถ้าถามคนทั่วโลกถึงเพลงเกี่ยวกับเมืองไทย ชาวต่างชาติจำนวนมากจะนึกถึงเพลงนี้เป็นเพลงแรก แต่ดันเป็นเพลงที่มีเนื้อหาดูถูกผู้หญิงไทยเหมือนเป็นสินค้า–บริการ สร้างภาพกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าตื่นเต้นพิศวง จากความด้อยกว่าและล้าหลัง เรียกง่ายๆ ว่าวิธีคิดและเพลงแบบนี้แหละที่ยัดเยียดความเป็น third world ให้ชนชาติที่ไม่ใช่คนขาวอย่างแท้จริง โดยที่คนแต่งเพลงไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องสังคม ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทยร่วมสมัย
–จบ–
เราเองก็ไม่อยากจะโทษไรคนแต่งเขามากหรอก เพราะถ้าว่ากันตามจริง ไอ้ที่เขาพูดมันก็มีอยู่จริงทั้งนั้น แล้วตอนนั้นความ PC มันก็ยังไม่ซีเรียสเท่าตอนนี้ ที่บางคนก็ซีเรียสจนน่ารำคาญ
แต่ต่อให้เนื้อเพลงไม่พูดถึงเมืองไทย เราก็คิดว่ามันเป็นเพลงป๊อปที่ห่วยอยู่ดี เพราะมันก้ำกึ่งไปเสียทุกอย่าง นิวเวฟมึงก็จะเอา ฟังก์มึงก็อยากได้ แร็ปที่เป็นของใหม่ในยุคนั้นกูก็อยากทำ ผลที่ได้คือไม่มีอะไรหนักแน่นสักอย่างยกเว้น bassline
เป็นเรื่องน่าน้อยใจนัก ที่ปารีส ลอนดอน โตเกียว เซี่ยงไฮ้ นิวยอร์ก มีเพลงเขียนถึงเป็นร้อยเป็นพัน ชื่นชมความงาม แม่น้ำ ผู้คน หรือความยุ่งเหยิงอันงดงาม แต่ของกรุงเทพฯ เรามีเด่นอยู่แค่เพลงนี้ที่อายุ 34 ปีแล้ว
เราคิดว่าสาเหตุที่กรุงเทพฯ ไม่ค่อยมีใครอยากแต่งเพลงให้ เพราะมันไม่ใช่เมืองที่โรแมนติก มันไม่ใช่เมืองซึ้งๆ เพราะมันไม่ร่มรื่นพอ แล้วความโรแมนติกมักเกิดจากความเรียบง่ายระดับพื้นดิน ไม่ใช่ยอดตึก ไม่ใช่ในห้าง และไม่ควรต้องเสียตังค์
ลองคิดดูแล้วกันว่านอกจากย่านริมน้ำแล้ว กรุงเทพฯ มีที่ไหนให้เดินจูงมือกันแหววๆ ได้อีก อุดมสุข? พระโขนง? สะพานควาย? ลาดพร้าว? ก็เดินจูงกันไปสิ แต่เดี๋ยวทุกห้านาทีก็ต้องปล่อย ตอนที่มอเตอร์ไซค์มันขี่ขึ้นมาบนฟุตปาธ