top of page
  • Black Facebook Icon
  • Instagram

Welcome to the world where truth doesn't hurt

MCQ ของ Alexander McQueen ลบ IG ทิ้งเริ่มนับหนึ่งใหม่ และคุณอาจเป็นดีไซเนอร์ให้เขาได้

เป็นที่รู้กันดีว่า MCQ เป็นแบรนด์ลูกของ Alexander McQueen แต่เมื่อห้าเดือนที่แล้ว แบรนด์นี้โละทุกอย่างที่เคยเป็นมาทิ้งทั้งหมด เริ่มจากลบ IG ที่มีคนฟอลอยู่ห้าแสนคนทิ้งแล้วสร้างแอคเคาท์ใหม่ ทำโลโก้ใหม่ ส่วนชื่อแบรนด์ก็ต้องอ่านใหม่ว่า เอ็ม-ซี-คิว

 

ถ่ายภาพ: ธนัท สว่างแจ้ง @byron.oliveir สไตล์ลิสต์: @xedleopard

แต่งหน้า ทำผม: ศศิพัศศ์ พฤกพัฒนาชัย @ssiphat__

โมเดล ขวัญตา @kwanta_ch

นน @nonrtnpch__

ไพร่า @onlypyra ฟัส @fuswoo ยูโร @smdleuro

 

แต่แค่ลบไอจีกับเปลี่ยนโลโก้ดูเป็นเรื่องธรรมดาไปเลย เมื่อเทียบกับทิศทางใหม่ของแบรนด์ที่โละวิธีคิดเดิมทิ้ง ด้วยการเปลี่ยนเป็นแบรนด์ที่ไม่มีดีไซน์เนอร์ประจำ เปลี่ยนสไตล์เสื้อผ้าจากที่เคยมีความแกลม ความโรแมนติคแบบดาร์คๆ ก็กลายเป็นแนวสตรีท/อันเดอร์กราวด์ ที่เน้นเทคโนโลยีและวัตกรรมการผลิตเสื้อผ้าใหม่ๆ

โลโก้ใหม่ของ MCQ ตัดทอนจากธงชาติอังกฤษ
ลบ IG ที่เคยมีคนฟอลเกือบหกแสนทิ้งแล้วเริ่มใหม่

เราต่างคุ้นกันดีกับข่าวดีไซเนอร์แบรนด์นั้นย้ายไปทำแบรนด์นี้ราวกับนักบอลย้ายทีม เราต่างรู้กันดีว่าทุกแฟชั่นโชว์ที่เห็นดีไซน์เนอร์มาโค้งคำนับรับเสียงปรบมือตอนจบเพียงคนเดียวนั้น แท้จริงเกิดจากนักออกแบบอีกหลายคนหลังบ้าน และพวกเขาไม่เคยถูกเห็น -- MCQ ไม่เล่นเกมนั้นอีกต่อไปแล้ว

แบรนด์ปฏิวัติตัวเองให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับคนที่มีความคิดสร้างสรรค์จากทั่วโลก ซึ่งคนๆ นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นคนดังหรือมียอดฟอลมหาศาล ขอแค่มีผลงานสร้างสรรค์ที่ชัดเจนในสาขาที่ตัวเองถนัด โดยทีม MCQ ในลอนดอนจะติดต่อพวกเขามาร่วมสร้างคอลเล็คชั่นด้วยกัน และทุกคนจะได้เครดิตการทำงานอย่างหนักแน่นโดยมีชื่อตัวเองบนป้ายยี่ห้อที่แปะกับสินค้าทุกชิ้นที่ขายทั่วโลก แล้วพอคอลเล็คชั่นนั้นวางขายก็เป็นอันเสร็จงาน รอบต่อไปก็จะเป็นคนกลุ่มใหม่เข้ามาทำ เปลี่ยนทีมไปเรื่อยๆ แบบนี้ทุกสี่เดือน ซึ่งทำให้เกิดผลงานที่มีเรื่องราวแต่ละรอบไม่ซ้ำกันเลย และไม่มีซีซั่นอีกต่อไป

การทำงานรูปแบบนี้สอดคล้องกับทิศทางของโลกปัจจุบันและในอนาคต ที่ไม่ว่าคุณจะอยู่มุมไหนของโลกก็ร่วมงานกันได้ เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดของคนหลากเชื้อชาติวัฒนธรรม และนั่นหมายความว่าคุณผู้อ่านที่รักของเราก็อาจเป็นคนออกแบบเสื้อผ้าของแบรนด์ระดับโลกนี้ได้

ยกตัวอย่างคอลเล็คชั่น ARCADE ที่เกิดจากการออกแบบร่วมกันของนักดนตรีและดีเจชาวมาเลเซีย x ผู้กำกับหนังสั้นชาวจีน x สไตลิสต์ชาวอังกฤษ x คลับเธคโนอันเดอร์กราวด์ในจีน ได้ผลลัพธ์เป็นคอลเล็คชั่นที่มีอิทธิพลของดนตรีเรฟยุค 90s แต่เล่าด้วยสีสันและลวดลายแบบฟิวเจอริสต์

ในเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่เป็นประเด็นเร่งด่วนตอนนี้ MCQ ใช้วิธีสร้างคอมมิวนิตี้ของแบรนด์เอง โดยสร้าง app ที่เป็นเหมือน blockchain ของแบรนด์ คือถ้าแสกนป้ายยี่ห้อ ก็จะรู้ว่าเสื้อรุ่นนี้อยู่ที่ใครบ้าง และมีใครต้องการจะขายต่อหรือแลกกับเสื้อรุ่นอื่นหรือเปล่า ซึ่งการขายต่อหรือแลกเปลี่ยนกันใส่นี้ เป็นการยืดอายุการใช้งานของเสื้อผ้าให้คุ้มค่าและยาวนานที่สุด เพราะปัจจุบันธุรกิจแฟชั่นผลิตขยะเยอะเป็นอันดับสองรองจากพลาสติก

ส่วนการลดขยะจากหีบห่อ แบรนด์ใช้วิธีแพ็คของเสร็จเรียบร้อยพร้อมขายจากโรงงานของ MCQ แล้วส่งให้สาขาต่างๆ ทั่วโลก ทำให้หน้าร้านไม่ต้องเปลืองวัสดุห่อของให้ลูกค้าอีก เพราะเป็นการผลิตขยะเพิ่ม

เป็นการเดินเกมที่แปลกประหลาดและกล้ามากสำหรับแบรนด์ซึ่งที่จริงไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรขนาดนี้ก็อยู่ได้สบายๆ ภายใต้ร่มเงาของ McQueen แต่ก็นั่นล่ะ สูตรแบรนด์แฟชั่นแบบหนึ่งดีไซน์เนอร์ ปีละสองซีซั่นนั้นมันอยู่มาป็นร้อยปีแล้ว และใครสักคนคงต้องเป็นผู้กล้านำเสนอวิธีใหม่ๆ เพื่อปูลู่ทางให้คนอื่นได้เดินตามบ้าง

 

MCQ available at: Central Embassy and Central @Central World

bottom of page