top of page
  • Black Facebook Icon
  • Instagram

Welcome to the world where truth doesn't hurt

พอเขาบอกจะแบนพลาสติก ผมเลยรีบใช้พลาสติกให้มันส์มือไปเลย

เรื่องและภาพ: ชีวิน กิตติ์ชรินดา @gun_b61

 

ผมถามแม่ว่าตอนเด็กๆ แม่เคยได้ยินเรื่องโลกร้อนไหม ?


“ตอนเด็กๆ แม่ก็ได้ยินเรื่องโลกร้อนนะ แต่มันก็ไม่หนักหนาสาหัสขนาดนี้ ฤดูต่างๆ ก็เป็นปกติ อากาศก็ไม่ได้แย่ขนาดนี้ รถก็ไม่ติดเท่าตอนนี้ แต่ผ่านไป 40 ปี ตอนนี้ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปหมดเลย สิ่งที่เคยได้ยินในตอนนั้นมันกลายเป็นจริงเกือบหมด”


ประเทศไทยเราใช้ถุงพลาสติกกันมันมือจริงๆ จะถุงร้อน ถุงเย็น ถุงหูหิ้ว ถุงอะไรก็ตามแต่ และผลของการใช้ถุงพลาสติกกันอย่างมันมือของเรา ก็ส่งผลให้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาประเทศเราได้อยู่อันดับที่ 7 ของการปล่อยขยะพลาสติกลงสู่ทะเล


เป็นเรื่องน่ายินดีที่ในที่สุดเซเว่นอีเลฟเว่นก็ประกาศเสียทีว่าจะเลิกแจกถุงพลาสติก ตอนที่ผมเห็นสแตนดี้พี่ตูนชูหนึ่งนิ้วให้ช่วยลดถุง ผมก็คิดว่าแปลกดีที่ป้ายรณรงค์ให้ลดพลาสติกดันทำด้วยพลาสติก พอนึกภาพสแตนดี้พี่ตูนจำนวนหกหมื่นห้าพันกว่าตัวตามจำนวนสาขาของเซเว่นมากองกันเมื่อปลดระวาง อาจต้องใช้พื้นที่ขนาดสนามหลวงเพื่อทิ้งพี่ตูน ขยะมหึมาทีเดียว

ขยะพลาสติกเป็นปัญหาใหญ่ของโลกเรามาอย่างยาวนาน ในชีวิตประจำวันของเราจะมีพลาสติกเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ แต่เราสามารถใช้ชีวิตแบบไม่ต้องยุ่งกับพลาสติกได้หรือเปล่า?

สองอาทิตย์จากนี้ ผมจะเอาตัวเองทำการทดลองใช้ชีวิตสองแบบ;

อาทิตย์แรกแบบไม่ปฏิเสธถุงพลาสติกและผมจะเก็บพลาสติกทุกชิ้นที่ผมได้


ส่วนอาทิตย์ต่อมาผมจะใช้ชีวิตแบบเลี่ยงถุงพลาสติกให้มากที่สุด เพื่อดูว่ามันจะทำให้ชีวิตประจำวันยากง่ายแค่ไหน


 

พอสิ้นสัปดาห์แรกของการใช้ถุงพลาสติกแบบไม่คิดไม่แคร์ ผมก็พบว่าแพทเทิร์นในการใช้พลาสติกของผมจะคล้ายๆ กันทุกวันตามแพทเทิร์นชีวิตของผม


แค่ชั่วโมงแรกของวันใหม่ก็ฟาดไปแล้วสี่ถุง


7.30 น. - ผมก็เหมือนกับคนกรุงเทพฯ อีกเป็นล้านคนที่มีหมูปิ้งเป็นอาหารเช้า อาหารซิกเนเจอร์ของคนไทยที่กินกันได้ตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงผู้ใหญ่ มีอยู่ทุกที่ทั่วไทย ถ้าเป็นอาทิตย์ก่อนที่ยังไม่ได้เริ่มโครงการผมก็คงไม่ใส่ใจเลย ชื้อเสร็จแล้วก็กิน กินเสร็จแล้วก็ทิ้ง แต่วีคนี้ผมต้องสังเกตการณ์พลาสติกที่ตัวเองใช้ว่ามันจะเยอะมากขนาดไหน


หมูปิ้ง 1 ชุด ต้องใช้พลาสติก ถึง 4 ชิ้นด้วยกัน; ถุงใส่หมูปิ้ง, ถุงใส่ข้าวเหนียว, ถุงใส่น้ำจิ้มแจ่ว ทั้งหมดบรรจุลงในถุงหูหิ้วอีก 1 ถุง ภายในระยะเวลาไม่ถึง 3 นาที ผมใช้ถุงพลาสติกไปถึง 4 ชิ้น นั่นหมายความว่าถ้าแต่ละเช้าหมูปิ้งแผงนี้ขายให้เด็กนักเรียน 30 เราก็จะได้พลาสติก 120 ชิ้นไปแล้ว นี่ยังไม่ทันเข้าแถวเคารพธงชาติกันเลยด้วยซ้ำ แล้วคิดดูว่าถ้าคนกรุงเทพฯ ล้านคนได้พลาสติกเซ็ตเดียวกันนี้ เช้าหนึ่งเราผลาญพลาสติกกันไปแล้วกี่ตัน แล้วเดือนนึงล่ะ?

 

หลอดกับแก้วพลาสติก ขยะชิ้นเล็กๆ ที่ร้ายกว่าที่คิด


หลอดเป็นขยะที่ตกข้างอยู่ในทะเลเป็นอันดับสองรองจากถุงพลาสติก มันเป็นอันตรายร้ายแรงต่อสัตว์น้ำ แต่บางครั้งหลอดก็มาอยู่กับตัวเราแบบไม่ทันตั้งตัว เช่น ชื้อน้ำในเซเว่น พนักงานก็จะยัดใส่ถุงพลาสติกโดยอัตโนมัติ หรือแม่ค้าร้านข้าวก็จะหยิบแก้วน้าพร้อมหลอดมาให้เสมอ หลอดพลาสมีขนาดที่ยากต่อการเก็บและมันก็กลายเป็นขยะตกค้างอยู่ตามที่ต่างๆ ที่รอไปอีก 400 ปีกว่าจะย่อยสลายได้ นั่นหมายความว่า หลอดที่ถูกทิ้งตอนสมัยกรุงศรีอยุธยา (สมมุติว่าตอนนั้นเขามีหลอดนะ) เพิ่งจะย่อยสลายเสร็จในยุคเรานี่เอง

แก้วกาแฟพลาสติกเป็นขยะอีกประเภทที่มีจำนวนมากมายมหาศาลในแต่ละวัน แล้วร้านกาแฟบ้านเราก็เยอะเหลือเกิน การดื่มกาแฟครั้งหนึ่งต้องใช้พลาสติกถึง 3 ชิ้น 1.แก้วกาแฟ 2.ฝาปิดกาแฟ 3.หลอดพลาสติก หรือบางร้านอาจจะมีถุงพลาสติกใส่แก้วกาแฟอีก และไม่ใช่ทุกร้านที่จะใช้แก้วเซรามิคแม้กระทั่งร้านที่ตั้งอยู่กับที่ก็ตาม ลองนึกภาพถ้าพนักงานในตึกออฟฟิศใหญ่ใจกลางกรุงเทพฯ ทุกคนเอาแก้วกาแฟมาทิ้งในที่เดียวกัน เราก็จะได้ภูเขาพลาสติกขนาดมหึมาทุกวัน

 

บ่าย-กล่องข้าวเจ้าปัญหา

ด้วยความที่ต้องรีบไปทำงานในตอนเช้าผมจึงต้องสั่งข้าวใส่กล่องไปกินที่ทำงาน อาหารของผมก็พวกเมนูง่ายๆ อย่างข้าวกระเพราหมูสับ แต่อาหารง่ายๆ มาพร้อมกับ กล่องโฟม ช้อนส้อมพลาสติก ถุงพริกน้ำปลา ถุงใส่หูหิ้วใส่ทุกอย่างอีกที

กล่องโฟมนี่มันร้าย! มันใช้เวลาย่อยสลาย 500 – กัลปวสาน คือมันย่อยสลายไม่ได้ ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษระบุว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2555-2559) ปริมาณขยะประเภทโฟมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 56 ล้านใบต่อวันเป็น 61 ล้านใบต่อวัน คนไทยสร้างขยะประเภทเฉลี่ย 1 ใบต่อคนต่อวัน แล้วในเมื่อมันย่อยสลายไม่ได้ คุณคิดว่ามันไปอยู่ไหนหมดล่ะ ก็คงไปอยู่ในท้องนกโชคร้ายไม่รู้กี่ล้านตัว


แล้วก็นั่นล่ะ บางอย่างมันก็อยู่เหนือความควบคุมของเราอีกแล้ว เช่นถ้าคุณสั่ง Grab หรือไลน์แมนก็ไม่มีทางรู้ว่าเขาจะส่งกล่องแบบไหนมา ที่จริงไลน์แมนน่าจะมีการระบุด้วยว่าร้านไหนใช้ภาชนะประเภทไหน นี่ผมฟังดูเรื่องมากไปไหม? ไม่นะ ผมว่าเข้าท่าดีออก


ตลอดระยะเวลาเจ็ดวันที่ผมทดลองสะสมพลาสติกที่ตัวเองใช้ ผมก็ล้างๆ แล้วยัดๆ มันลงตระกร้าแบบไม่ได้นับ แต่เมื่อถึงสุดท้ายที่ผมเทมันออกมาดู มันก็เยอะเสียจนผมรู้สึกละอายใจ เยอะมากจนกล้องมือถือถ่ายไม่พอ ต้องลากเก้าอี้มาถ่ายมุมสูง


- ถุงก๊อบแก๊บ 25 ใบ: มาจากเซเว่น 7 ใบ มาจากร้านอาหาร 13 ใบ

- ขยะจากบรรจุภัณฑ์อาหาร (เช่นถุงร้อน ถุงน้ำจิ้ม ถุงหมูปิ้ง) 32 ใบ

- หลอดพลาสติก 13 หลอด

- แก้วพลาสติกและขวดน้ำ 10 ชิ้น

- ซองพลาสติกห่อบุหรี่ และพลาสติกห่อไฟแช็ค 2 ชิ้น


ที่จริงยังมีพลาสติกในชีวิตประจำวันเช่น หลอดยาสีฟัน ขวดยาสระผม ขวดสบู่น้ำ ซองปรับผ้าหนุ่ม แต่ยังใช้ไม่หมดผมจึงยังไม่นับ


และที่ไม่ได้นับอีกอย่างคือที่ก้นกรองบุหรี่ที่ผมสูบ ซึ่งเป็นขยะอันดับสองรองจากหลอดที่ลอยอยู่ในทะเลของเราตอนนี้เช่นกัน ในแต่ละปีทั่วโลกผลิตบุหรี่ราว 6 ล้านล้านมวน และนั่นคือตัวเลขของขยะก้นบุหรี่ อย่างผมสูบบุหรี่ประมาณวันละครึ่งซอง ก้นบุหรี่ยาว 3 ซ.ม. ถ้าเอามาเรียงกันหนึ่งซอง (20 มวน) จะได้ความ 60 ซม. เท่ากับว่า 1 อาทิตย์ผมสร้างขยะก้นบุหรี่ยาว 1.20 เมตร นอกจากจะเสี่ยงมะเร็งแล้วยังทำลายโลกอีกต่างหาก แต่ผมก็ยังเลิกไม่ได้เสียที

ก้นบุหรี่ 5 มวน

ทีนี้ก้นบุหรี่ทั่วโลก 6 ล้านล้านมวนต่อปี ถ้าเอามาร้อยต่อกันจะได้ความยาว 180 ล้านกิโลเมตร

คือเอามาพันรอบโลกได้ 4,491 รอบ หรือใช้ขึงระหว่างโลกกับดวงจันทร์ได้ 468 เส้น ย้ำอีกทีว่าอันนี้แค่ปีเดียว


 

ผมได้ยินว่าประเทศรวันดา ประเทศที่เคยบอบช้ำจากการสังหารหมู่เป็นล้านเมื่อสิบปีก่อน ระหว่างที่เขาค่อยๆ ซ่อมแซมฟื้นฟูประเทศที่พังอย่างโหดร้าย แผนการห้ามพลาสติกก็อยู่ในขั้นตอนด้วย ตอนนี้รวันดาเปลี่ยนไปมากจนเป็นประเทศปลอดภัยและน่าเที่ยวที่สุดในอัฟริกา เมื่อสองปีก่อนมีข่าวว่ารวันด้าออกกฏหมายแบนถุงพลาสติกแบบเด็ดขาดสายฟ้าฟาด กล่าวคือกฏหมายออกวันนี้ บังคับใช้อาทิตย์หน้า แล้วทันใดนั้น ประเทศก็ไร้พลาสติก

ป้ายสนามบินรวันด้าห้ามนำถุงพลาสติกเข้าประเทศ

แต่อันที่จริงแผนการลดพลาสติกของเขาค่อยๆ ทำมาทีละอย่างสองอย่างตั้งแต่ปี 2008 ปัจจุบันรวันดาห้ามผลิต ห้ามจำหน่ายและห้ามนำเข้าถุงพลาสติกอีกด้วย สนามบินจะมีการตรวจสัมภาระว่าไม่มีพลาสติกมาด้วย ยกเว้นหีบห่อที่จำเป็นจริงๆ เช่นพวกยาหรือสารเคมี เป็นประเทศที่น่าชื่นชมด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมอันดับต้นๆ ของโลก และซีเรียสกับปัญหาพลาสติกล้นโลกเป็นประเทศต้นๆ ของโลกเช่นกัน แต่ไม่ค่อยดังเพราะรวันด้าเป็นประเทศไม่ค่อยดัง


ธุรกิจพลาสติกมีขนาดใหญ่และสร้างงานให้ผู้คนมากมาย การจะเลิกใช้ทันทีจะทำให้เจ้าของธุรกิจหาทางออกไม่ทัน แม้ไทยเราจะเริ่มช้าไปหน่อย แต่ก็เริ่มแล้วตั้งแต่เมื่อต้นปีนี้ คือการเลิกใช้พลาสติก 7 โครงการ โดยเริ่มจากเลิกพลาสติก 3 ประเภท ได้แก่ 1.พลาสติกหุ้มฝาน้ำดื่ม 2.ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีส่วนผสมของสารประเภทอ็อกโซ่ 3. พลาสติกไมโครบีด (พวกเม็ดพลาสติกสีๆ ที่อยู่ในครีมขัดผิว)


ส่วนปี 2021 จะเลิกใช้พลาสติก 3 ประเภทที่อยู่ในความคุ้นเคยในชีวิตประจำวัน นั่นคือ พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียว ได้แก่ 1. ถุงพลาสติกหูหิ้ว 2. กล่องโฟมบรรจุอาหาร 3. แก้วพลาสติก 4. หลอดพลาสติก และพอถึงปี 2027 (อีก 7 ปี) ก็จะมีเป้าหมายนำขยะผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์พลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้ 100%


หลังจากลองใช้พลาสติกอย่างมันส์มือ ผมพบสิ่งที่จะเข้ามาหยุดจำนวนได้บ้างคือ ถุงผ้า กล่องข้าว ช้อนส้อม กระติกน้ำ แต่ของพวกนี้จะเพียงพ่อต่อการช่วยโลกหรือไหม? ก็เริ่มเลยแล้วกัน

 

สัปดาห์ที่ 2 : สัปดาห์การเลี่ยงใช้ถุงพลาสติกของผม


ถุงผ้า vs ถุงพลาสติก



ไดอารี่ที่รัก, พอมาลองใช้ถุงผ้าอย่างจริงจังในสัปดาห์ที่สอง ผมก็รู้สึกว่าแม้มันจะช่วยลดปริมาณพลาสติกได้จริงๆ แต่ก็เฉพาะพวกถุงหูหิ้ว เพราะหีบห่อสินค้าหลายอย่างก็อย่างยังคงเป็นพลาสติกอยู่ดี ก่อนหน้านี้ผมใช้ถุงพลาสติก 3 ใบต่อวัน ก็คิดเสียว่าผมช่วยลดพลาสติกไปได้ตั้งสามชิ้นก็ยังดี

ผมคิดว่าการใช้ถุงผ้ามันเป็นการแก้ที่ปลายเหตุมากกว่า เพราะถ้าจะให้ลดจริงๆ ก็คงต้องเริ่มที่ผู้ผลิตหีบห่อต่างๆ เพราะไม่ว่าเราจะพยายามแค่ไหน บางครั้งก็เหมือนโดนมัดมือให้ใช้พลาสติก ผมคิดว่าตอนนี้คงมีหลายคนกำลังวิจัยวัสดุที่จะมาแทนที่พลาสติกได้ ที่ทนทาน กันน้ำ หรือแม้แต่กันกระแทก มันต้องมีแล้วสิ ป่านนี้แล้ว


แล้วถุงผ้าสุดท้ายก็กลายเป็นขยะมาหาศาลเหมือนกัน อย่างที่บ้านของผมมีถุงผ้ามากมายที่ยังไม่ได้ใช้ ส่วนใหญ่จะมาในรูปแบบของแถม แต่บางใบผมก็ซื้อเพราะลายมันสวยและมองว่ามันเป็นสินค้าแฟชั่น ซึ่งสักวันมันก็กลายเป็นขยะอยู่ดีเช่นเดียวกับเสื้อผ้า คงแบบนี้นี่เอง ที่ทำให้แฟชั่นเป็นธุรกิจผลิตขยะใหญ่อันดับสองรองจากพลาสติก ถ้าขยะพลาสติกเกิดจารกการรักสบาย ขยะแฟชั่นก็เป็นขยะที่เกิดจากกิเลส ฉะนั้น การดับกิเลสก็ช่วยลดขยะได้ สาธุ สาธุ สาธุ

 

กล่องพลาสติก VS. กล่องโฟม

การเอากล่องข้าวพลาสติกนี้ไปชื้อข้าวแกงที่ตลาดช่วยลดขยะพลาสติกไปได้มากถึง 8 ชิ้นต่อมื้อเลย ทั้งถุงร้อน หนังยาง ถุงหูหิ้ว ผมกะว่าอาทิตย์หน้าจะให้แม่พกกล่องแบบนี้ติดไปตลาดแล้ว


แต่หลังจากลองใช้งานจริงๆ ก็พบว่าปัญหาคือความยุ่งยากในการถือกล่องหลายใบและหลายขนาดตามปริมาณอาหาร แล้วเราก็ไม่รู้ว่าแต่ละร้านจะให้กับข้าวมากน้อยแค่ไหน ยิ่งจำพวกแกงผมรู้สึกว่าการใส่กล่องแบบนี้มันได้น้อยเหลือเกิน แล้วพอมันเป็นน้ำแกงผมก็ต้องหากล่องที่มันลึกกว่า ในแง่นี้ผมจึงคิดว่าปิ่นโตนี่เป็นอะไรที่เวิร์คมาก ซ้อนๆ กันมาจากตลาด ถึงบ้านถ้าขี้เกียจล้างเยอะก็ไม่ต้องเทใส่ชาม หรือจะเทก็ได้เพื่อความรื่นรมย์ในการทาน ส่วนร้านข้าวแกงที่ตักใส่ถุงอยู่รอวางขายอยู่แล้วนี่ตัดทิ้งไปได้เลย

พูดถึงปิ่นโตแล้วก็นึกถึงหนังเรื่องนี้ขึ้นมา (The Lunchbox, 2013)

ผมจึงโทรหาไอ้เติร์กเพื่อนผม เพราะบ้านมันเป็นร้านอาหารประเภทยำและอาหารทะเล คือคนที่เกี่ยวข้องกับพลาสติกโดยตรง


ผม: เติร์ก ถ้าวันหนึ่งรัฐบาลประกาศให้มึงเลิกใช้พลาสติกในการบรรจุอาหาร มึงจะทำยังไงกับธุรกิจตัวเอง?

เติร์ก: กูก็พร้อมจะเปลี่ยนแปลงเสมอ แต่ราคาของวัสดุธรรมชาติจะต้องถูกลงด้วย อาจจะไม่ต้องถูกเหมือนกล่องพลาสติกแต่ขอให้มันถูกลงหน่อย อย่างตอนนี้กูใช้กล่องพลาสติกที่มันโอเคหน่อยราคาเลยสูง กล่องพลาสติกตกใบละ 3 บาท แต่ราคากล่องไบโอตกใบละตั้ง 7 บาท ราคาต่างกันตั้งเท่าหนึ่ง โดยส่วนตัวถ้าธุรกิจดีขึ้นกูก็พร้อมที่จะเปลี่ยนไปใช้กล่องแบบนั้นนะ แต่ถ้ายังขายไม่ดีแบบนี้ก็ยังไม่เปลี่ยน


ผม: คิดว่าเรื่องนี้ต้องแก้ที่ใคร?

เติร์ก: กูเองก็ยอมรับผิดที่เป็นตัวการใช้พลาสติก แต่ถ้าให้คิดจริงๆ กูคิดว่าผู้ผลิตพลาสติกก็มีส่วนผิด และคิดว่ารัฐบาลก็ควรทำอะไรบางอย่างเหมือนกัน ไม่ใช่จะออกแต่กฎไม่ให้ใช้พลาสติกอย่างเดียว ถ้ารู้ว่าต้นทุนการผลิตกล่องไบโอมันแพง รัฐบาลก็ควรเข้าไปช่วยเหลือหรือทำอะไรบางอย่างให้ราคามันถูกลง ไม่สิ พวกเค้าควรจะทำเพราะมันคือหน้าที่ของพวกเค้าอยู่แล้ว

 

ขวดน้ำสแตนเลส Vs. แก้วน้ำ หลอดน้ำ

ข้อดีของมันคือสามารถเก็บความเย็นได้นานถึง 4-5 ชั่วโมงเลยทีเดียว และบางขวดก็มีน้ำหนักเบา แต่การกรอกน้ำมาจากบ้านกินได้แค่ครึ่งวันก็หมดแล้ว แล้วการหาที่เติมน้ำแต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอีก แล้วมันจะช่วยอะไรถ้ายังต้องชื้อน้ำขวดพลาสติกมากรอกใส่ขวดแสตนเลสอีกที จริงอยู่ว่ารัฐบาลรับประกันว่าน้ำจากท่อประปาทั่วไปสามารถใช้ดื่มได้ไม่เป็นอันตราย รับรองความปลอดภัยโดยกรมอนามัย แต่ผมก็ยังไม่รู้จักใครที่ดื่มทุกวัน ผมว่าไทยเราต้องมีการสร้างภาพลักษณ์น้ำประปาดื่มได้ให้ดูน่ามั่นใจเหมือนในยุโรปหรือญี่ปุ่น ที่ดื่มได้แบบไม่ตะขิดตะขวงใจและกลิ่นไม่แปร่งเหมือนน้ำประปาไทย

อีกความยากของการพยายามลดการใช้พลาสติก คือเจ้าของกิจการไม่ได้สนใจ ยังมีร้านกาแฟหลายร้านที่ต่อให้เอาแก้วสแตนเลสไป พนักงานก็หยิบแก้วพลาสติกมาตวงก่อนแล้วก็เทใส่แก้ว สรุปก็คือไม่ได้ช่วยอะไรเลย หรือพนักงานเซเว่นบางคนปากก็ถามว่ารับถุงไหมคะ แต่มือนี่ควักถุงเตรียมคว้าของใส่แล้ว

 

สองอาทิตย์กับการทดลองใช้และไม่ใช้พลาสติกอย่างจริงจัง ผมพบว่าที่การใช้มันพลาสติกมันง่ายเพราะเราถูกบังคับและยัดเยียดให้ใช้พลาสติก แล้วเราก็ชอบเพราะมันทำให้ชีวิตเราง่ายดาย การพยายามขัดขืนไม่ใช้ต้องใช้ตัวช่วยสารพัด


ทุกครั้งที่มีข่าวว่าที่นั่นที่นี่จะเลิกแจกถุงพลาสติกจะมีทั้งคนที่เห็นเป็นเรื่องน่ายินดี และคนที่บ่นว่าใครมันจะไปพกถุงผ้าทุกวัน หรือถุงก๊อบแก๊บที่ได้มาก็ไม่ได้เป็นขยะเสียหน่อยเพราะเอาก็ไปใช้ใส่ขยะ


ผมว่ามันเป็นเรื่องความเคยชิน แต่คนเราสามารถสร้างความเคยชินใหม่ๆ ได้เสมอ ในอนาคตอันใกล้เราอาจได้กลับไปกินข้าวห่อใบตองกันใหม่ แต่รอบนี้อาจมีเทคโนโลยีพาสเจอไรซ์ใบตอง หรือไม่แน่เราอาจจะมีเครื่องรีไซเคิลทุกบ้าน ใส่พลาสติกเข้าไปแล้วกลายเป็นเม็ดพลาสติกเลย อันนี้ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำได้หรือเปล่า แต่ผมว่าธุรกิจใบตองห่ออาหารทำได้จริง

สิ่งที่ผมรู้สึกภูมิใจหลังจากการทำการทดลองนี้ คือทุกครั้งที่ผมจะใช้พลาสติกมันจะรู้สึกละอาย เพราะถ้าคุณได้ลองตั้งใจเลี่ยงมันแค่วันเดียว คุณจะรู้สึกเหมือนเดินถอยออกมาเห็นภาพใหญ่ทั้งเฟรม และได้รับรู้ว่าบ้านเราใช้พลาสติกกันเยอะจริงๆ แล้วผมก็ภูมิใจที่พอผมพูดถึงปัญหาและหาทางแก้ให้คนรอบข้าง แทบทั้งหมดเขาก็เห็นด้วยและพยายามจะแก้ไขไปด้วยกัน อย่างทุกวันนี้แม่ผมไปตลาดก็เอากล่องพลาสติกใช้ซ้ำไปใส่กับข้าวตามร้านต่างๆ แล้วพฤติกรรมนี้ก็เป็นเรื่องพูดคุยกับแม่ค้า และสร้างความเคยชินใหม่ๆ ในการขายของให้แม่ค้า


ตอนนี้ที่จะมีกฏหมายลดพลาสติกออกมาอีกสารพัดจนแทบจะห้ามใช้ในที่สุด ผมคิดว่าการเตรียมสร้างความเคยชินกับวิถีชีวิตปลอดพลาสติกตั้งแต่ตอนนี้เป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นดีออก


แล้วเราทุกคนต่างก็รู้กันดีว่ามันเป็นเรื่องที่ดี :-)

bottom of page