top of page
  • Black Facebook Icon
  • Instagram

Welcome to the world where truth doesn't hurt

เผยลายแทงปาร์ตี้ Dudesweet 90s ศุกร์นี้ เพราะเหมาทั้งตึก แล้วตึกมันใหญ่

ศุกร์หน้า Dudesweet ปิด Whiteline เหมาตึก เพราะจะจัดปาร์ตี้ธีม 90s รวมเพลงทุกแนวที่พอจะนึกออกในยุคนั้น ***ปีนี้มีห้องเพลงไทยด้วย*** ใครอยากฟังแนวไหนก็ให้วิ่งขึ้นวิ่งลง เข้าให้ถูกห้อง แล้วก็จะได้เจอดีเจเหล่านี้

 

สิ่งแรกที่คุณจะได้เจอเมื่อเดินเข้างานคือชั้นเรียน drawing ของ โอ๊ต มณเฑียร ศิลปินนู้ด ที่นายแบบชายและหญิงจะยืนเปลือยให้ผู้ที่สนใจอยากเขียนหุ่นเปลือยได้มาฝึกมือกับโอ๊ต โดยแบบจะเปลี่ยนท่าทุก 15 นาที สำหรับคนที่สนใจอยากลองวาดหุ่นเปลือย ต้องรบกวนแจ้งชื่อและเบอร์โทรให้เราหลังไมค์ล่วงหน้า Facebook หรือ Instagram ของ Dudesweet เพื่อที่เราจะได้เตรียมอุปกรณ์ไว้ให้คุณ facebook.com/DudesweetWorld Instagram.com/DudesweetWorld


 

ตุล ไวฑูรเกียรติ / อพาร์ตเมนต์คุณป้า

TW: คุณเปิดเพลงอยู่ชั้นไหน เป็นเพลงอะไร

ตุล: ชั้น 2 เปิดเพลงร็อกเเก่ๆ


TW: เพลงที่คุณชอบเปิดที่สุด เพราะอะไร

ตุล: ชอบเปิด Oasis - Champaign Supernova ไล่เเขก มันเป็นเพลงส่งคนกลับบ้านที่ให้ความรู้สึกงงๆ เเต่โรเเมนติก

TW: บรรยากาศดนตรียุคนั้นกับยุคนี้ต่างกันยังไงบ้าง

ตุล: ยุคนั้นวัยรุ่นเรื้อนกว่ายุคนี้ การไปปาร์ตี้คือต้องเยิน ต้องเมา ต้องเละ เเละการอ้วกเป็นเรื่องปกติ ยุค 90s เด็กฟังเพลงจังหวะหนักกว่าคนเเก่ ยุค 2020 คนเเก่ฟังเพลงจังหวะหนักกว่าเด็ก

TW: ยุค 90s มีดียังไง

ตุล: ยุค 90s มีดีเพราะเรายังรู้จักเสน่ห์ของการรอคอย ไม่มีอะไรได้มารวดเร็วดั่งใจ เราจึงจำทุกโมเมนต์ได้นาน

 

พิชญ์ วิซ / DJ Pichy

TW: คุณเปิดเพลงอยู่ชั้นไหน เป็นเพลงอะไร

พิชญ์: ชั้น 1 เปิด Hiphop, R&B ค่ะ

TW: เพลงที่คุณชอบเปิดที่สุด เพราะอะไร

พิชญ์: Eric B & Rakim - Paid In Full เป็นเพลงประจำตัวพิชญ์เลยค่ะ เล่นทุกครั้ง เล่นเป็นประจำทุกปาร์ตี้ ไม่เคยเบื่อเลย (หัวเราะ) ที่จริงแล้ว Album นี้ออกมาในปี 1987 ภายใต้ชื่ออัลบัม Paid In Full แต่พิชญ์มารู้จักและซื้อเทปของ Eric B & Rakim ในช่วงที่พิชญ์กำลังอินกับเพลง Rap/Hiphop ในปี 1994 ค่ะ

ตอนเด็กๆ ชอบเพลงนี้เพราะบีตก่อนเลย ยังฟังไม่ค่อยออกว่าเขาร้องว่าอะไร เพียงแต่ชอบมากๆ แล้วรู้สึกว่าเพลงนี้โคตรเจ๋งเลย พอเริ่มโตมา ถึงจะเข้าใจในภาษาเขา (ภาษา Rap ภาษา Rhymes) เพลงนี้ถือว่าเป็น Masterpiece ของเพลงที่อยู่ในหมวดหมู่ Rap/Hiphop ตลอดกาลและตลอดไปค่ะ :)


TW: บรรยากาศดนตรียุคนั้นกับยุคนี้ต่างกันยังไงบ้าง

พิชญ์: ถามว่าต่างไหม พิชญ์ว่าจริงๆ ทุกยุคมันก็มีเสน่ห์ในตัวของมันนะคะ ดนตรีมันคือการขับเคลื่อนวัฒนธรรมของแต่ละยุคด้วย ถ้าให้ยกตัวอย่างง่ายๆ ตอนเด็กๆ ที่พิชญ์เริ่มอินกับเพลง Rap/Hiphop เราก็เริ่มอยากจะแต่งตัวเหมือนศิลปินนั้นๆ ละ อย่างยุค Kriss Kross ใส่กางเกงกลับด้าน เราเองก็ใส่ตามเขา พอมายุค Spice Girls เฟื่องฟู เราก็อยากจะเป็น Mel C (Sporty Spice) พอมาถึงยุคทาทาเฟื่องฟู เราก็อยากจะใส่รองเท้า Chippy หนังแก้วเหมือนทาทา พอมายุคโบ-จอยส์ ปี 1999 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของยุค 90 ละ เราก็อยากใส่สายเดี่ยวเกาะอก แล้วก็ร้องเท้า Swear เหมือนโบ-จอยส์ ไปเดินสยามอะไรแบบนี้อะค่ะ (หัวเราะ)


ส่วนถ้าจะให้พูดถึงเรื่องบรรยากาศเพลง ทั้งในคลับ ทั้งคอนเสิร์ต ตอนไปคลับ (ซึ่งแต่ก่อนเรียกผับกัน) ไปคอนเสิร์ตสมัยวัยรุ่น คุณพ่อกับคุณแม่ก็พาไปแหละค่ะ บังเอิญที่บ้านคุณพ่อ คุณแม่ ของพิชเอง เขาก็ชอบดริ้งค์ ชอบเที่ยวไปฟังดนตรีตามที่ต่างๆ มันก็เลยทำให้เราได้ซึมซับกับการได้ออกไปนั่งฟังเพลงเป็นประจำกับคุณพ่อ คุณแม่ ตั้งแต่เด็กๆ แล้ว ซึ่งสมัยนั้นมันดีตรงที่มันไม่มี Smart Phone มั้ง เราไปที่ไหน เราก็ได้จดจ่อ มีสมาธิกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า อินกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าจริงๆ ซึ่งถามว่าสมัยนี้มี Smart Phone แล้วดีไหม ก็ต้องตอบว่าดี ดีมากด้วย ทุกอย่างมันสะดวก มันง่าย มันเข้าถึงอะไรได้ง่ายไปหมด แต่ไอ้ความที่ง่าย มันก็คือง่าย ซึ่งบางทีมันก็ขาดเสน่ห์อะไรบางอย่างไป

TW: ยุค 90s มีดียังไง

พิชญ์: จริงๆ วีดีโอโปรโมทที่ Dudesweet ทำ มันก็อธิบายอยู่ในตัวแล้ว ว่ามันมีดียังไง (หัวเราะ) ถ้าให้ลิสต์แบบง่ายๆ สั้นๆ ว่ายุค 90s มีดียังไง สำหรับพิชญ์ก็

  • มี Tower Records ให้ไปยืนฟังเพลงหลังเลิกเรียน

  • มีเพลงเพราะมากๆ ทั้งไทยและสากล

  • มี ลาน Ice-skate / World Trade ชั้น 7

  • มีแดนเนรมิต สวนสนุกใจกลางเมือง

  • มีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อเมียวโจ้ ซึ่งมันอร่อยมาก

สั้นๆ เท่านี้แหละค่ะที่นึกออก :)

 

วิสกี้—วชิรปาณี มากดี aka DJ คุณน้า


TW: คุณเปิดเพลงอยู่ชั้นไหน เป็นเพลงอะไร

วิสกี้: เปิดอยู่บาร์เกย์ลับๆ ที่ชั้น 3 เน้นเพลงเต้นรำกะเทยๆ เชยๆ ยุค 80s-90s


TW: เพลงที่คุณชอบเปิดที่สุด เพราะอะไร

วิสกี้: เพลง All Around The World ของ Lisa Stansfield เพราะไม่มีคนรู้จัก และไม่มีใครเปิดแล้ว อยากเปิดเต้นเอง

TW: บรรยากาศดนตรียุคนั้นกับยุคนี้ต่างกันยังไงบ้าง

วิสกี้: เพลงเต้นยุคก่อนมีเมโลดี้วาดมือวาดไม้ ส่ายสะโพกโยกไหล่จัดระเบียบร่างกายสวยๆ ได้ เต้นแล้วรู้สึกสวย เดี๋ยวนี้มีแต่บีตย่ำๆ เต้นละไม่สวย


TW: ยุค 90s มีดียังไง

วิสกี้: ยุค 90s สูบบุหรี่ในบาร์ได้ สูบบุหรี่ไปเต้นไป หมั่นไส้ใครก็เขี่ยบุหรี่ใส่หัวมัน


 

เอี่ยว—ชาครีย์ ยุทธารักษ์-บุณยรัตพันธุ์ / DJYP, Trasher Bangkok



TW: คุณเปิดเพลงอยู่ชั้นไหน เป็นเพลงอะไร

เอี่ยว: ชั้น 3 โซนเพลงไทย และเป็นเพลงไทยยุค 90s ที่วางแผงก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 1999 (2542) ครับผม

TW: เพลงที่คุณชอบเปิดที่สุด เพราะอะไร

เอี่ยว: 'เปล่าหรอกนะ' โดย แอม—เสาวลักษณ์ ลีละบุตร จากอัลบั้ม 'งานซนคนดนตรี นานที 10 ปีหน' ปี 2536 (1993) เวอร์ชันแรกขับร้องโดยคริสติน่า อากีล่าร์ ในปี 2533 อัลบั้ม 'นินจา' ครับ ส่วนตัวคิดว่านี่คือเพลงที่ remixed/rearranged ได้เยี่ยมที่สุด จากเพลงป๊อปบัลลาดกลายมาเป็นฟิวชั่นแจ๊สแบบ 'ทำถึง' และเอาเข้าจริงแทบไม่มีคนไทยทำดนตรีแบบนี้อีกแล้ว


TW: บรรยากาศดนตรียุคนั้นกับยุคนี้ต่างกันยังไงบ้าง

เอี่ยว: เอาเข้าจริงต่างกันไม่มากและเปิดกว้างพอๆ กัน สมัยนั้นมีฮิปฮอป สมัยนี้ก็มี สมัยนี้มี EDM สมัยก่อนเรามี rave นะเว้ย อย่างเอา อันนี้คิดว่าความแตกต่างมันอยู่ที่คนฟังและเทรนด์มากกว่าน่ะครับ 

เรื่องที่รู้สึกว่าแตกต่างจริงๆ คือคนยุคเราเล่น mosh pit หรือ wall of death ในเพลงร็อก แต่สมัยนี้กลับกลายเป็นเล่นกันในเทศกาลดนตรี EDM ดูแล้วก็รู้สึกว่าเออ เราแม่งแก่แล้วจริงๆ นั่นแหละ 

TW: ยุค 90s มีดียังไง

เอี่ยว: เราถือว่าเราโชคดีที่อยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านจากอนาล็อกเป็นดิจิทัล ฉะนั้นเราเลยไม่ค่อยช็อกกับความเปลี่ยนแปลงเหมือนรุ่นใหญ่ที่มองข้ามมาในยุคนี้ หรือรุ่นน้องที่มองกลับไปยังยุคนั้น เราขวนขวายและมีความสุขกับการได้อ่านปกเทปหรือหาเนื้อร้องจากแม็กกาซีน เราแลกเทปใต้ดินกันฟังทุกสัปดาห์ และสิ่งที่ชอบที่สุดคือการไปต่อคิวซื้อบัตรคอนเสิร์ต จะวงไหนก็ได้ รับประกันว่าคุณจะได้เจอคนพันธุ์เดียวกันตัวเป็นๆ


ผมไม่ได้บอกว่ายุคนี้ไม่ขวนขวายนะครับ ยุคนี้ง่ายกว่าเสียด้วยซ้ำ ดีซะอีก ผมชอบเลยแหละ แต่สิ่งที่ยุค 90s ดีกว่ายุคนี้แน่ๆ คืออย่างน้อยเราก็ยังได้โตมาในยุคที่คนเที่ยวตั้งแต่ทุ่มครึ่ง และร้านเลิกตีห้าหกโมงเช้าอย่างถูกกฎหมายนะครับ อ้วกเสร็จออกมาใส่บาตรก่อนเข้าบ้าน เก๋จะตาย (หัวเราะ)

 

เอม—ธิติพันธุ์ อนะวัชพงษ์ / SLUR / DJ GAYAIMS

TW: คุณเปิดเพลงอยู่ชั้นไหน เป็นเพลงอะไร

เอม: ชั้น 2 เปิดเพลง Rape Me ของ Nirvana คิดถึงกรันจ์ คิดถึงกีตาร์เสียงแตก


TW: เพลงที่คุณชอบเปิดที่สุด เพราะอะไร

เอม: Suede - Beautiful Ones เพราะคือเพลงชาติแห่งประเทศ Dudesweet

TW: บรรยากาศดนตรียุคนั้นกับยุคนี้ต่างกันยังไงบ้าง

เอม: สมัยนั้นเรารู้จักศิลปินผ่านอัลบั้มและบทสัมภาษณ์ สมัยนี้เรารู้จักศิลปินผ่านยอดวิว YouTube และ Facebook Algorithm


TW: ยุค 90s มีดียังไง

เอม: เวลาไปดูคอนเสิร์ต ไม่ต้องกลัวคนข้างหน้าเอามือถือขึ้นมาบัง

 

DR. POPLIGHT / ศิลปิน / หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Dudesweet

TW: คุณเปิดเพลงอยู่ชั้นไหน เป็นเพลงอะไร

ป๊อปไลท์: ชั้น 4 ครับ เปิดเพลงเร้กเก้ ฮิปปี้ ชาวเกาะต่างๆ ชั้นนี้ผมให้คนนั่งเสื่อ นั่งพื้น ทำตัวติดดิน


TW: เพลงที่คุณชอบเปิดที่สุด เพราะอะไร

ป๊อปไลท์: ถ้าเพลงเร็กเก้ก็มีฟังแต่บ๊อบ มาเลย์นั่นล่ะ ไม่ค่อยอิน มันไม่มัน แต่สมัยนั้นก็มีรู้จักแค่นั้นล่ะ เพราะไม่ค่อยมีสื่อไรมาก แล้วที่ตอน 90s มันฮิตคงเพราะมันดูดปุ๊นแล้วฟังไรงี้ เร้กเก้นี่ส่วนใหญ่เป็นเด็กใต้จะชอบ แต่เพลงที่ชอบเปิดที่สุดคือ Nirvana ซึ่งเป็นการฟังเพลงฝรั่งวงแรกเพราะเพื่อนให้ฟังซาวเบาท์ เพลง Smells Like Teen Spirit แปลกดี ทึ่ง ชอบมาก


TW: ยุค 90s มีดียังไง ป๊อปไลท์: ยุค 90 มีเทปผีราคาถูก ตลับละ30บาท ไม่มีสื่อต่างๆมากมาย

 

เอ้อ งานนี้เขาห้ามเอามือถือและกล้องดิจิทัลเข้า (แต่เอากล้องฟิล์มเข้าได้ นับเป็นนวัตกรรมยุคอนาล็อก) เราก็มีบริการรับฝากมือถือด้านหน้า จะได้สนุกกับปาร์ตี้ของเราได้เต็มอรรถรส ถ้าใครงงระบบการจัดการในส่วนนี้ ขอเชิญคุณนกมาอธิบาย


นก: "ถ้าใครซื้อบัตรมาแล้ว เราจะมีริสต์แบนด์ที่มีหมายเลขระบุอยู่บนนั้น หมายเลขอันนั้น จะเป็นเบอร์เดียวกับที่ใช้ฝากโทรศัพท์ ซึ่งเราจะคืนให้แค่ครั้งเดียวตอนจบงาน แปลว่า ถ้าใครทนไม่ไหว อยากจะขอดูโทรศัพท์ก่อนเวลา เราจะคิดค่าบริการหยิบให้ครั้งละ 40 บาท ถ้าทนไม่ไหวอยากดูอีก ก็ต้องเสียอีก อ้อ เราไม่มีบริการรับฝากกระเป๋านะคะ รับฝากแค่มือถืออย่างเดียว"


ทราบรายละเอียดแล้วก็สบายใจได้ ไม่ต้องกลัวหาย คิดซะว่าเป็นการฝึกความจิตแข็ง digital detox ไปในตัวด้วยเลย ฮิฮิ


 
Dudesweet 90s Art School
Friday 16th October
at Whiteline, Silom Soi 8 Dress Code: DIY / Cheap ตั๋วออนไลน์ราคา 400 บาท (หน้างาน 600 บาท) CLICK HERE TO BUY 400 BHT. TICKETS
bottom of page